เติมเชื้อไฟให้กับคนทำงานวัย 40+ ที่หมดไฟ
สำหรับคนวัย 35-50 ปี ที่ทำงานมาแล้วเป็นระยะเวลานานหลายปี อาจต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤติวัยกลางคน” ที่รู้สึกว่าการใช้ชีวิตที่เคยสนุกดีแต่ตอนนี้มันกลับน่าเบื่อ เฉยชากับเรื่องตื่นเต้น เริ่มที่จะไม่มีความสุขกับชีวิต มีความกังวล มีความรู้สึกผิดหวังเพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพก็เริ่มชัดเจนขึ้น ในด้านการทำงานก็รู้สึกหมดไฟ เบื่องาน หมดแพชชัน ภาวะแบบนี้เป็นภัยคุกคามชีวิตรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลทางลบให้กับคนทำงาน
ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกเป็นสิบปีกว่าจะถึงช่วงวัยเกษียณ แต่ในเมื่อรู้สึกหมดไฟ เบื่องาน เบื่อหน่ายที่จะลุกจากเตียงมาทำเรื่องซ้ำซากในทุกวัน เวลาทำงานก็คอยมองแต่นาฬิกา การปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงอายุเท่านี้ไม่ใช่เรื่องดีแน่ Tonkit360 จึงมีวิธีเติมเชื้อไฟในการทำงานมาฝากคนวัยกลางคนทุกคน
1. ให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลางานและเวลาส่วนตัวให้ชัดเจนขึ้น
การทำงานที่ดีต้องมีความสมดุลระหว่างเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม คนที่ไม่แบ่งแยกเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวเลยจะทำให้เหนื่อยหรือเบื่อง่ายกว่าปกติ เพราะการทำงานที่หนักมากเกินไปทำให้เราเหนื่อยล้าและเกิดความเครียดสะสม ด้วยความที่คุณทำงานมานานแล้ว อีกทั้งร่างกายก็เริ่มเสื่อมสภาพไปตามอายุ ทางที่ดีคือคุณควรหันมาให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลาให้เหมาะสมได้แล้ว เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยแล้วจะได้มีแรงไปทำงานต่อ
2. เข้านอน-ตื่นนอนให้เป็นเวลา
ถ้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน คุณเป็นคนที่ใช้ร่างกายแบบไม่ทะนุถนอม โดยเฉพาะเรื่องการนอน เพราะคิดว่าอายุยังน้อย เวลานี้แหละที่คุณจะเริ่มโดนเอาคืนแล้ว ยังไม่สายที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิต แล้วรักษาไว้ให้เป็นเหมือนเดิมทุกวันดู นอนเวลาเดิมตื่นเวลาเดิม นอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ตื่นเช้ามาจะได้สดชื่น อาจตื่นสายได้กว่าวันธรรมดานิดหน่อย แต่พยายามอย่าให้ผิดเวลาไปจากเดิมมากนัก คุณจะใช้ร่างกายเปลือง ๆ แบบเดิมไม่ได้แล้ว
3. ตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ที่เห็นผลได้ไว
การสร้างแรงจูงใจ ยังเป็นสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการกระตุ้นให้ตัวเองทำงานและปลุกไฟให้กลับมาทำงาน เพราะชีวิตจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ช่วงวัยหนุ่ม ๆ สาว ๆ คุณอาจใช้บางมุกในการปลุกไฟจนเบื่อแล้ว ในเวลานี้คุณจึงต้องพยายามตั้งเป้าหมายใหม่ที่แตกต่างออกไปจากที่เคยทำ เป็นอะไรที่ง่าย ๆ เห็นผลไว อย่างการออกไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดยาวครั้งหน้า หรืออาจรื้อฟื้นความฝันวัยเด็ก หรือสิ่งที่คิดมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำสักทีก็ได้ มันก็น่าตื่นเต้นดีนะ
4. หาแรงบันดาลใจใหม่
หาอะไรใหม่ ๆ ที่หลุดจากชีวิตที่จำเจทำดูบ้าง เพราะคุณใช้ชีวิตวนลูปเดิม ๆ แบบนี้มาตั้งกี่สิบปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองอยากรู้หรือสนใจก็ได้ เพราะวันหยุด 1 วันนั้นก็มีเวลามากพอที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ มาเพิ่มพูนให้ตัวเอง และยังได้สกิลใหม่ ๆ ไปใช้ต่อยอดในการทำงาน การได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนก็เหมือนกับการก้าวออกจาก Comfort Zone ที่เราคุ้นเคย ไปสู่อะไรที่มันท้าทาย ให้ได้ตื่นเต้นกับเรื่องใหม่บ้างก็กระตุ้นสมองได้ดีเหมือนกัน
5. ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ
ลองหาวิธีออกกำลังกายที่ถนัด ทำแล้วไม่ฝืนตัวเองดู เพราะการได้ออกแรงบ้างก็มีส่วนช่วยให้เราสดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้น เพราะร่างการได้หลั่งสาร “เซโรโทนิน” หรือสารแห่งความสุขออกมา ลุกหนีจากหน้าคอมที่ทำให้เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมและทำให้เราขี้เกียจไปบ้าง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้มีสมาธิ และนอนหลับได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ อย่าตามใจปากแค่ของที่ตัวเองชอบเท่านั้น
6. หาคุยกับคนที่มีพลังงานบวก
หากเริ่มรู้สึกว่าภาวะหมดไฟทำให้ไม่มีความสุขขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรจะปรึกษาคนอื่นดูบ้าง ลองเข้าไปพูดคุยกับคนที่เก่ง ๆ หรือคนที่แอคทีฟในการทำงานมาก ๆ คนคิดบวก จะช่วยเพิ่มพลังบวกให้กับชีวิตได้ แล้วก็ยังสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ด้วย เพราะคนเหล่านี้จะมีทริกดี ๆ หรือประสบการณ์ชีวิตเจ๋ง ๆ ที่ช่วยให้เรามีไอเดียใหม่มาปรับใช้ในชีวิต ได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ต่างจากโลกการทำงานเดิม ซึ่งคนคนนั้นอาจจเป็นรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าก็ได้นะ
7. มีสติที่จะแยกแยะอารมณ์ชั่ววูบ
เวลาที่คนเราเบื่อมาก ๆ มักจะแยกไม่ออกหรอกว่าอะไรคืออารมณ์ชั่ววูบ แล้วอะไรคือความต้องการจริง ๆ เพราะความเบื่อจะทำให้เราพาลใช้อารมณ์กับทุกอย่าง แต่คุณต้องมีสติที่จะมาคิดทบทวนดูให้ดี ๆ ว่าอะไรที่ทำให้คุณเบื่องานหรือหมดไฟ เพื่อที่คุณจะได้หาวิธีเติมเชื้อไฟให้ตัวเองได้ก่อน ทบทวนอย่างเปิดใจให้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงลองนึกย้อนถึงช่วงก่อนหน้านี้ที่คุณเคยเป็นคนที่ไฟแรง กระหายที่จะปล่อยของเสมอ ใช่! คุณก็ยังเป็นคนเดิมไง