สู้งานแต่งานสู้กลับ รับมือด้วย 6 ความฉลาดทางอารมณ์

สู้งานแต่งานสู้กลับ รับมือด้วย 6 ความฉลาดทางอารมณ์

สู้งานแต่งานสู้กลับ รับมือด้วย 6 ความฉลาดทางอารมณ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการทำงานนั้น เราอาจจะเจอกับปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ชีวิตทำงานของใครหลาย ๆ คนเป็นเช่นนี้ หากเป็นเวลานี้ ประสบการณ์ดังกล่าวอาจไปตรงกับข้อความไวรัลที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย “เป็นคนสู้งาน แต่งานสู้กลับ” เมื่อนึกย้อนไปถึงวันแรกที่สมัครงาน เราอาจเขียนใส่เรซูเม่ลงไปว่าเราเป็นคนที่อดทนและรับมือกับความกดดันได้ แต่พอได้ลองมาลงสนามจริง ๆ การอดทน และต้องรับมือกับความกดดันต่าง ๆ มันกลับยากกว่าที่คิด หรือเพราะงานสู้เรากลับจริง ๆ

ปัญหาในการทำงานนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวงานจริง ๆ หรือปัญหาที่เกิดจากคนที่ทำงานร่วมกัน คนก็มีอีกหลายระดับที่เราต้องรับมือ เพื่อนร่วมงานรับมืออย่าง ลูกน้องอย่าง หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาก็ต้องรับมืออีกแบบ แต่ละวันมีแต่เรื่องหัวจะปวด ถึงอย่างนั้น การที่เรารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเวลานี้นี่แหละที่เราจะได้ใช้ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Skills ที่บรรดานายจ้างมองหาในตัวลูกจ้างยุคใหม่ เพื่อให้นำมาใช้ในการรับมือกับนานาปัญหาที่เกิดขึ้น

เพราะเวลาที่เกิดปัญหาแล้วเราต้องตามแก้ มักจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราขาดสติได้ง่ายที่สุด มีแนวโน้มที่เราจะปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือตรรกะต่าง ๆ ดังนั้น คำพูดที่ว่า “ถ้าคุณไม่จัดการอารมณ์ อารมณ์จะจัดการคุณเอง” จึงไม่เกินจริง มันเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ประกอบการสมัครงาน ก็เพื่อที่จะควบคุมอารมณ์และจัดการกับปัญหาอย่างชาญฉลาด ด้วยความฉลาดทางอารมณ์ 6 ข้อ ที่จะจำเป็นต่อการต่อสู้กับปัญหาจากการทำงาน

Empathy ความเข้าอกเข้าใจคนอื่น
เป็นความสามารถในการเข้าใจคนอื่นในมุมมองที่พวกเขาเป็น เหมือนเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความรู้สึกหรือสถานการณ์ที่บุคคลอื่นกำลังเผชิญ เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผล และความรู้สึกนึกคิดจากมุมมองของคนคนนั้นจริง ๆ โดยไม่ตัดสินถูก-ผิดใด ๆ เพราะเราจะไม่เอาความรู้สึกและมุมมองส่วนตัวของเราไปตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในการทำงานร่วมกัน ทุกคนในทีมต่างต้องการความรู้สึกที่ปลอดภัย ต้องการกำลังใจ คนที่รับฟังมากกว่าพูด และความช่วยเหลือตามกำลัง ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานของทีมที่ประสบความสำเร็จ

Adaptability ความสามารถในการปรับตัว
โลกเปลี่ยนไปทุกวัน อย่างไรก็ดี เหมือนว่าทุกวันนี้โลกจะหมุนเร็วขึ้น เพราะอะไรหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปชนิดที่เราเผลอแป๊บเดียวก็ตามแทบไม่ทัน ทักษะนี้จึงเป็นการมองการณ์ไกล ว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องมีความยืดหยุ่น ว่องไว เพื่อที่จะได้เตรียมตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลง สามารถตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากด้วยความมั่นใจ สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์และความต้องการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ยิ่งเราปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็วเท่าไร พร้อมเปลี่ยนแปลงได้มากเท่าไร โอกาสก้าวหน้าก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

Compassion ความกรุณาซึ่งกันและกัน
เป็นการมีเมตตากรุณาและใจดีต่อกันนั่นเอง ปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งไม่ใช่แค่ความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือเดือดเนื้อร้อนใจเวลาที่เห็นคนอื่นเป็นทุกข์แล้วอยากเห็นเขาเป็นสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่มันคือการที่เข้ามาช่วยเหลือตามที่ตัวเองพอจะช่วยได้ มองเห็นความต้องการของผู้อื่นและตอบสนองให้ด้วยความจริงใจจากใจจริง สามารถเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนได้ ซึ่งการมีความกรุณาให้กับคนอื่น ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงบุคคล แต่เพราะมองเห็นถึงผลกระทบในวงกว้างในการทำงานร่วมกัน

Self–awareness ความตระหนักรู้ในตนเอง
คือ ความสามารถในการมองเห็นตัวเอง และตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างชัดเจน ผ่านการรับรู้และเข้าใจสภาวะต่าง ๆ รู้อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง รู้ข้อดี-ข้อเสียของตนเอง รู้เท่าทันความต้องการของตนเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เรานำมาใช้ในการควบคุมตัวเอง ดังนั้น เราจะรู้ตัวเสมอจากการประเมินตัวเอง ในการเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่ต้องการ รวมถึงกระบวนการไตร่ตรองและตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง จึงสามารถก้าวไปข้างหน้าได้แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ

Relationship Management การจัดการความสัมพันธ์
การทำงานเป็นทีมจำเป็นที่ต้องมีหัวหน้าทีม ก็เพื่อให้ความสนับสนุนความเป็นทีม มีจิตวิทยาในการบังคับบัญชา สั่งงาน สอนงาน ให้คำปรึกษา แก้ปัญหา มีวิธีที่จะจูงใจให้คนในทีมเดินไปยังทิศทางที่ต้องการ รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเสมอ พยายามที่จะสร้างข้อตกลงและวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพราะการที่เราต้องมาทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างมีความเป็นตัวเอง ถ้าไม่ทำให้ทุกคนรวมกันเป็นหนึ่งย่อมทำงานด้วยกันยาก จึงจำเป็นต้องมีทักษะนี้มาช่วยจัดการความสัมพันธ์ของทุกคนให้เข้ากันให้ได้ ให้คนในทีมสามารถทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

Self-control การควบคุมตนเอง
ข้อก่อนหน้ากล่าวถึงการตระหนักรู้ในตนเอง ส่วนในข้อนี้ก็คือรู้แล้วก็ต้องควบคุมตนเองให้ได้ เพราะรู้ดีถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้ตัวเองทำอะไรแบบขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามอารมณ์ คนที่มีความสามารถในการควบคุมตนเองจะนิ่ง สุขุม และใช้ความคิดอย่างรอบคอบเพื่อแก้ไขปัญหา ยับยั้งอารมณ์ พฤติกรรม และความปรารถนาตามธรรมชาติได้ ต่อให้ในใจจะฝืนแค่ไหน แต่ก็จะไม่แสดงออกถึงความตื่นตระหนกใด ๆ จะค่อย ๆ แก้ปัญหาไป อย่างคนที่พยายามสงบสติอารมณ์ตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook