พาสำรวจคีย์พีซเด่นจาก PIAGET ประจำปี 2022

พาสำรวจคีย์พีซเด่นจาก PIAGET ประจำปี 2022

พาสำรวจคีย์พีซเด่นจาก PIAGET ประจำปี 2022
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วกับ Altiplano Ultimate Concept (AUC) หน้าปัดสีเขียว ที่สะท้อนถึง La Côte-aux-Fées สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นของเมซง ซึ่งแทรกตัวอยู่ในพื้นที่เขียวขจี ณ เมือง Neuchâtel ในเขตเทือกเขา Jura มาปีนี้กับซีรีส์ภาคต่อ ที่เพียเจต์รังสรรค์ขึ้นเพื่อสดุดีให้กับความเป็นเลิศของเรือนเวลา AUC รุ่นบุกเบิก โดยหยิบเอานาทีประวัติศาสตร์มาสอดแทรกไว้ในตัวเรือนรุ่นล่าสุดในทุกองค์ประกอบ

The Concept

จากจุดเริ่มต้นของแนวคิด วิสัยทัศน์ และความฝัน ก่อนหล่อหลอมออกมาเป็น Altiplano Ultimate Concept (AUC) ที่แสนขบถ แทบไม่มีใครเชื่อเลยว่าแบรนด์จะทำได้สำเร็จ แต่หากเป็นเพราะปรัชญาของเมซงนั่นเองที่ผลักดันให้ท้าทายขีดจำกัดได้อย่างสุดขั้ว ดังเช่นที่ Valentin Piaget ชอบพูดเสมอว่า "to do what has never been done before"

โดยหลังจากที่ทีมดีไซเนอร์ วิศวกรการออกแบบ และช่างทำนาฬิกา เดินหน้าค้นหาโซลูชั่นและพัฒนาร่วมกันกว่า 4 ปี วันที่แบรนด์ได้ประกาศชัยชนะอย่างเต็มภาคภูมิก็มาถึง เมื่อสามารถเปลี่ยนไอเดียในอดีตให้กลายเป็นเรือนเวลา AUC บนโลกแห่งความเป็นจริงได้สำเร็จ ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017 เวลา 07:47 น.

The Journey So Far

การรังสรรค์กลไกและเรือนเวลาที่มีความเพรียวบางเป็นพิเศษ ถือเป็นสิ่งที่เมซงยึดมั่นมาตลอด ย้อนกลับไปยุคบุกเบิกราวปี 1874 Georges Edouard Piaget ผู้ก่อตั้ง คือบุคคลที่ได้รับการยอมรับในแวดวงนาฬิกาแถบ Swiss Jura เป็นอย่างมาก แม้ขณะนั้นเพียเจต์จะเป็นเพียงโรงงานผลิตชิ้นส่วนกลไกที่เริ่มต้นจากเวิร์คช็อปขนาดย่อมในโรงนาของครอบครัว แต่แบรนด์แทบไร้คู่ต่อสู้ – เพราะทุกชิ้นส่วนและกลไกคุณภาพสูงที่พัฒนาขึ้น ล้วนถูกกว้านซื้อโดยบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำในแถบ Swiss Jura เพื่อนำไปรังสรรค์เรือนเวลาของตนเองทั้งสิ้น

ปี 1957 เมซงเปิดตัวกลไกจักรกลที่บางที่สุดในโลกอย่าง Caliber 9P ที่มีความหนาเพียง 2 มิลลิเมตร ก่อนสร้างสถิติความบางอันเหลือเชื่ออย่างต่อเนื่อง อาทิ กลไก 12P กลไกอัตโนมัติที่บางที่สุดในโลก ที่เปิดตัวในปี 1960, กลไก 1200P และ 1208P ปี 2010 ไปจนถึง 900P ปี 2014 แม้การครองสถิติโลกจะเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความสำเร็จของแบรนด์ แต่อีกนัยยะคือการสะท้อนความอุตสาหะของเมซงในการแสวงหาความสง่างามอย่างที่สุดมาให้เหล่าผู้ครอบครองนั่นเอง

The AUC Story

AUC ถูกพูดถึงอย่างมากในกลุ่ม watch community และสื่อมวลชนทั่วโลก หลังถูกนำเสนอครั้งแรกในงาน Watches & Wonders ปี 2018 ณ นครเจนีวา จากนั้นอีก 2 ปี แบรนด์สามารถส่งมอบนาฬิการะบบกลไกที่บางที่สุดในโลกสู่ผู้ใช้งานตัวจริงได้สำเร็จในเดือนเมษายน 2020 พร้อมคว้ารางวัล Aiguille d’Or อันทรงเกียรติ หรือ รางวัลนาฬิกายอดเยี่ยมประจำปี 2020 จาก Grand Prix d’Horlogerie de Genève ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ตั้งแต่นั้นมา AUC ก็เป็นที่จับจ้องของบรรดานักสะสมทั่วโลกที่ชื่นชอบความท้าทายในระดับ Micro engineering ทั้งยังคงเป็นหนึ่งในเรือนเวลาที่บางที่สุดในโลกในปัจจุบัน

A Feat of Technology

เป็นที่รู้กันว่านาฬิกาส่วนใหญ่ประกอบด้วย 4 เลเยอร์หลัก ๆ คือ 1) ขอบตัวเรือนและคริสตัล 2) หน้าปัดและเข็มนาฬิกา 3) กลไก และ 4) ฝาหลัง

แต่สำหรับเพียเจต์ แนวคิดอันแสนขบถของแบรนด์คือการรังสรรค์เรือนเวลาในแบบไม่ตามใคร โดยการถอดโครงสร้างทั้ง 4 ชั้นออก และหลอมรวมให้เป็นชิ้นเดียว โดยด้านหนึ่งเป็นองค์ประกอบพวกบริดจ์ หน้าปัด และเข็มนาฬิกา ขณะที่ด้านตรงข้ามเป็นชิ้นส่วนฝาหลัง กลไก เมนเพลท และขอบตัวเรือน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวการันตีด้วยสิทธิบัตรถึง 5 ฉบับด้วยกัน ทำให้เมซงสามารถผลิตนาฬิกาที่มีความหนาของตัวเรือนเพียง 2 มิลลิเมตร โดยวัดจากด้านล่างของฝาหลังไปจนถึงส่วนบนสุดที่เป็นกระจกหน้าปัด

An Horological Adventure

สำหรับเรือนเวลารุ่นล่าสุดนี้ ถือเป็นการเฉลิมฉลองการเดินทางที่แสนท้าทายของ AUC โดยเมซงสอดแทรกดีเทลที่ชวนให้นึกถึงการเดินทางอันน่าทึ่งไว้ในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น

·       ด้านบนสุดของหน้าปัด ประดับโลโก้ "Piaget" แต่ดีไซน์กลับดูแปลกตากว่าทุกครั้ง เพราะ     แบรนด์เจาะจงใช้ historic font ตัวเดียวกับที่ใช้ทำป้ายโลโก้ที่โรงงานผลิตนาฬิกาในหมู่บ้าน La Côte-aux-Fées นั่นเอง - สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นและยังคงเป็นฐานผลิตให้กับเมซงจนถึงปัจจุบัน

·       บนวงแหวนของอินเด็กซ์บอกเวลา คุณจะพบกับวงกลม 2 วงท่ามกลางจุดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งตรงกับเวลาประวัติศาสตร์ 7:47 ที่ AUC เรือนแรกถือกำเนิดขึ้นนั่นเอง

·       นอกจากเลขนาทีประวัติศาสตร์แล้ว ที่ตำแหน่ง 2:30 แบรนด์ยังสลักวันเกิดของ AUC ไว้อีกด้วย ซึ่งตรงกับ 7th February 2017

·       บน ratchet wheel สลักคำว่า "La Côte-aux-Fées" พร้อมระบุพิกัด GPS ของโรงงานไว้อีกด้วย

·       พลาดไม่ได้กับความสง่างามของพื้นหน้าปัดเคลือบสารเรืองแสง Super-LumiNova ที่จำลองทะเลดาวขณะส่องแสงระยิบระยับเกลื่อนฟากฟ้าเหนือ La Côte-aux-Fées ณ วันและเวลาที่ AUC ถือกำเนิดมาถ่ายทอด 

Piaget Altiplano Ultimate Concept (G0A47505) มาในตัวเรือนขนาด 41 มิลลิเมตร ทำจากโคบอลต์ผสมอัลลอยด์ ซึ่งเข้ากันได้อย่างลงตัวกับเพลทเคลือบ PVD สี dark slate blue ขัดแต่งแบบพ่นทราย ขณะที่ฝาหลัง ขอบตัวเรือน และขานาฬิกาขัดเงาซาติน ตัดกับ case band แบบขัดด้าน จับคู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำเงินเข้มที่มีความบางไม่ถึง 1.5 มิลลิเมตร ซึ่งปรับขนาดลงเพื่อสร้างสถิติความบางแบบสุดขั้วให้สำเร็จ สำรองพลังได้ยาวนาน 40 ชั่วโมง

เรือนเวลาที่ไม่มีใครเหมือน กับดีไซน์ที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวของ La Côte-aux-Fées ทั้งยังสดุดีให้กับความเป็นเลิศของเรือนเวลา AUC รุ่นบุกเบิก เป็นอีกบทพิสูจน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญที่  เพียเจต์ปลูกฝังมาเป็นเวลานาน ว่าสามารถก้าวข้ามขีดจำกัด และหลอมรวมดีไซน์และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Show Time for The Limelight Gala

เพียเจต์พาสำรวจคีย์พีซเด่นจากซีรีส์  Limelight Gala ที่เหล่าสุภาพสตรีใฝ่ฝันอยากมีไว้ประดับข้อมือ กับ 2 ลุคห้ามพลาดที่เมซงนำมาถอดรหัสให้ได้ชมในซีซั่นนี้ อย่าง Limelight Gala High Jewellery และ Limelight Gala Precious

Limelight Gala High Jewellery

เรือนเวลาชั้นสูงล่าสุดที่ชวนสะดุดตาด้วยซิกเนเจอร์ทางด้านดีไซน์ของเมซง ทั้งยังผสมผสานความแตกต่างของเพชรเจียระไนหลากคัท ไม่ว่าจะเป็น บริลเลียนต์คัต, ทรงบาแก็ตต์ และ ทรงมาร์คีส์ได้อย่างน่าหลงใหล และนี่คือดีเทลแบบโคลสอัพที่แบรนด์รวบรวมมาให้ชม

The Marquise Cut

ทรงมาร์คีส์ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของเมซง เมื่อ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสมีประสงค์ให้ช่างฝีมือเจียระไนเพชรทรงใหม่ที่สะท้อนถึงรอยยิ้มงดงามของมาดามอันเป็นที่รักอย่าง 'Marquise de Pompadour' ซึ่งซิกเนเจอร์คัตเลื่องชื่อนี้ได้สะท้อนประกายงามอย่างเป็นเอกลักษณ์บนชิ้นงานที่เมซงรังสรรค์มานับไม่ถ้วน ตั้งแต่คอลเลคชั่น Haute Joaillerie patrimony ในยุคเริ่มแรก ไปจนถึงนาฬิกาจิวเวลรี่ที่เปิดตัวในช่วงทศวรรษที่ 1960 และอีกหลากหลายไอเท็มคุ้นตาในปัจจุบัน

The Art of Stone Setting

Limelight Gala High Jewellery เป็นมากกว่านาฬิกาจิวเวลรี่ทั่วไป เพราะนี่คือผลลัพธ์แห่งความสำเร็จที่หลอมรวมศาสตร์ที่บ่มเพาะความเชี่ยวชาญมากว่าทศวรรษ อย่างการทำทองและการฝังอัญมณีไว้ด้วยกัน และนี่คือความน่าสนใจก่อนจะกลายมาเป็นเรือนเวลาชั้นสูงที่สะท้อนนิยามของคำว่า “เพอร์เฟกต์”

- เมซงใช้เวลากว่า 175 ชั่วโมง ในการประดับเพชร 250 เม็ดทั่วทั้งตัวเรือนไวท์โกลด์

- ประกายงามของเพชรที่ประดับบนชิ้นงาน ก็พิเศษต่างกันไปตามการเจียระไน ตำแหน่งและรูปแบบในการฝังเพชร ซึ่งเมซงประยุกต์ใช้ถึง 4 เทคนิคด้วยกัน อาทิ claw setting สำหรับเพชรทรงมาร์คีส์, snow setting สำหรับบริเวณหน้าปัด, channel setting สำหรับเพชรทรงบาแก็ตต์ ปิดท้ายด้วย grain setting สำหรับเพชรบริลเลียนต์คัตบนสายรัดข้อมือ

- เพื่อดึงเอาประกายงาม สีสันและเอกลักษณ์ของอัญมณีชนิดนั้น ๆ ออกมาให้เด่นชัดที่สุด การฝัง     อัญมณีจึงเป็นศาสตร์ที่อาศัยชั้นเชิงของช่างทองในอเตลิเยร์ไม่แพ้กัน หากกล่าวว่าความเป็นเลิศทางเทคนิคอยู่ในดีเอ็นเอของช่าง ทักษะงานศิลป์ก็คืออีกหนึ่งสกิลที่ถูกผนวกเข้าไปในทุกขั้นตอน

- ไม่เกินจริงสำหรับคำว่า “เพอร์เฟกต์” เพราะนอกจากความงามต้องเป็นที่ประจักษ์ gem-setter ยังต้องรักษามู้ดแอนด์โทนของชิ้นงานให้ไล่เรียงเฉดสีกันอย่างกลมกลืน ซึ่งการฝังอัญมณีแต่ละชนิดก็ใช้เทคนิคที่ต่างกันออกไป โดยคำนึงถึงฟังก์ชั่นและสุนทรียศาสตร์ในการออกแบบ ไปจนถึงองค์ประกอบอื่น ๆ อย่าง ความเปราะบาง ความโปร่งใส การเจียระไน และขนาดของอัญมณี

  • ที่ “Atelier de l’Extraordinaire” คือ แหล่งบ่มเพาะเหล่าช่างฝีมือชั้นเลิศที่เดินตามปรัชญา ”Always do better than necessary” ของเพียเจต์อย่างยึดมั่น แต่ละชิ้นงานจึงไม่ใช่การออกแบบตามกระแส แต่เป็นการสร้างสรรค์เรื่องราวบทใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง อย่างเช่น Limelight Gala High Jewellery ชิ้นนี้ ที่     ท้าทายขีดจำกัดด้วยการปรับแต่งรูปแบบการฝังอัญมณีให้หลากหลาย เพื่อให้เกิดประกายในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม

The Limelight Gala Precious

Radiance, intensity, และ vibrancy คือ 3 คำจำกัดความของ Limelight Gala Precious โดยไฮไลท์อยู่ที่สีเขียวของหน้าปัดมาลาไคท์ ท่ามกลางซาวอไรต์และเพชรรายล้อม โดยเกณฑ์ที่เมซงหยิบมาใช้ในการเลือกมาลาไคท์ คือ มีโทนสีเขียวเข้มตัดสลับลวดลายกับวงสีอ่อน, มีเส้นโค้งเว้า และต้องปราศจากผลึกแทรกตามโครงสร้างของอัญมณี

Limelight Gala Precious คือ เรือนเวลาที่ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ และถ่ายทอดนิยามใหม่จากคอลเลคชั่น patrimony ของเมซงในอดีต กับตัวเรือนไวท์โกลด์ขนาด 32 มิลลิเมตร โดดเด่นด้วยหน้าปัด   มาลาไคท์ที่มาพร้อมวงกลมประดับเพชร ณ ตำแหน่งศูนย์กลาง ซึ่งแต่ละเม็ดถูกฝังอย่างประณีตด้วยเทคนิค snow setting

Tsavorites

ความท้าทายของเมซงในครั้งนี้ นอกจากจะต้องสรรหาซาวอไรต์ที่ไล่เฉดสีงดงามแล้ว แต่ละเม็ดต้องผ่านกระบวนการเจียระไนแบบบริลเลียนต์คัตเพื่อส่งมอบแสงระยิบระยับให้เด่นชัดที่สุด ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการใช้รูปแบบการเจียระไนนี้กับกลุ่มหินสี ในแง่ทางสุนทรียศาตร์ จำนวนเหลี่ยมของซาวอไรต์ก็ถูกเจียระไนให้เท่ากับเหลี่ยมของเพชรอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังปรับแต่งสัดส่วนให้รับกับฐานรองได้อย่างไร้ที่ติ

ขณะที่การแสวงหาก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือนเพื่อให้ได้เฉดสีตามมาตรฐานที่เมซงกำหนด เพราะไม่เพียงแค่ร้อยเรียงอย่างวิจิตรบนเรือนเวลาแต่ละชิ้นเท่านั้น แต่นักอัญมณีศาสตร์ต้องการนำเสนอเฉดสีให้กลมกลืนทั่วทั้งคอลเลคชั่นอย่างแท้จริง นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่า ทำไมความยากในการตามหายิ่งทวีคูณ

Limelight Gala Precious จับคู่สายรัดข้อมือที่คราฟต์ขึ้นอย่างประณีตด้วยวัสดุชนิดเดียวกัน โดยแบรนด์เลือกใช้เทคนิคหัตถศิลป์เก่าแก่อย่าง Palace Décor มาผสานไว้ได้อย่างแยบยล มอบสัมผัสที่พลิ้วไหวราวกับชุดเดรสโอต์ กูตูร์ ที่หรูหรา ขอบตัวเรือนประดับเพชร 174 เม็ด และซาวอไรต์ 22 เม็ด ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 22 ชั่วโมงในการตกแต่ง ทั้งยังเสริมความเป็นเลิศด้วยการใส่ระบบกลไกอัตโนมัติที่ผลิตขึ้นในโรงงานของเมซง อย่าง 501P1 ไว้อีกด้วย

และนี่คืออีกบทพิสูจน์ของแบรนด์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการสร้างสรรค์เรือนเวลาในมิติที่แตกต่างออกไป โดยที่ไม่ละทิ้งเทคนิคระดับสูงแม้แต่น้อย กับ 2 คีย์พีซเด่นจากซีรีส์  Limelight Gala อย่าง Limelight Gala High Jewellery และ Limelight Gala Precious ที่พร้อมเจิดจรัสไปกับเหล่าสุภาพสตรี

สัมผัสเรือนเวลาและเครื่องประดับชั้นสูงจากเพียเจต์ (Piaget) ได้แล้ววันนี้ ณ เพียเจต์ บูติค โดย เอส ทีไดเมนชั่น ชั้น M สยามพารากอน โทร . 02-610-9678

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook