ซ่อมรอยร้าวของความสัมพันธ์ เมื่อปัญหาอยู่ที่การไม่ฟังกัน
ต้นเหตุที่แท้จริงของการทะเลาะโต้เถียงกันของบรรดาคู่รัก ไม่ใช่การที่พวกเขามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่เป็นเพราะการที่แต่ละฝ่ายยึดมั่นในมุมมองของตนเองมากจนไม่รับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย รับไม่ได้ที่จะฟังสิ่งที่ต่างออกไปจากที่ตนเองเชื่อ ต่างคนต่างก็หาข้ออ้างสารพัดมาลบล้างความเชื่ออีกฝ่าย หลาย ๆ คู่ แค่เห็นว่าคนรักเริ่มแสดงออกว่าคิดเห็นต่างออกไป ก็รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกท้าทายในความเชื่อนั้น ยิ่งอีกฝ่ายพยายามชี้แจงมากเท่าไร เราก็ยิ่งรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม เหมือนว่าคนรักกำลังสั่นคลอนความเชื่อของเราและโน้มน้าวให้เลิกเชื่อแบบนั้น
เมื่อความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนี้ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของคู่รัก กลายเป็นเรื่องยากที่คนคู่นี้จะสนทนากันได้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่ทะเลาะกันหากมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน การพูดคุยที่สมเหตุสมผลจะไม่เกิดขึ้นหากคู่รักขาดทักษะในการรับฟังคนอื่นและทักษะในการยอมรับความคิดเห็น ความรู้สึกที่แตกต่างของกันและกัน การสนทนาที่มีใครคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วย อาจนำมาซึ่งปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรง ปฏิกิริยาดังกล่าวทำให้คนสองคนพูดคุยกันต่อไม่ได้ เพราะสูญเสียความสามารถในการได้ยินเสียงที่ตัวเองไม่อยากได้ยินไปแล้ว
เมื่อต่างคนต่างยึดถือว่าความคิดตัวเองถูกต้อง กลายเป็นทิฐิและอคติที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง การโต้เถียงมีแต่ท่าทีที่แข็งกระด้าง ความพยายามจะเอาชนะเป็นไปอย่างดุเดือด และหากมีการตัดสินว่าฝ่ายใดคือฝ่ายถูก อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายผิดโดยอัตโนมัติทันที ทำให้คนทั้งคู่ไม่มีทางที่จะพูดคุยกันดี ๆ ได้เลย ต่างคนต่างหาความชอบธรรมให้กับความคิดความเชื่อตัวเอง โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่ากำลังปฏิบัติต่อกันในลักษณะเดียวกัน
ถ้าคนสองคนยังไม่อยากต้องเลิกรากันด้วยความเข้าใจผิดว่าคนรักพยายามตั้งตัวเป็นศัตรู ต้องเริ่มที่การแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารกัน ทว่าทั้งคู่ต้องเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยน ใช้ความประนีประนอมในการต่อสู้กับอคติที่ตัวเองมีมานาน
1. รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคู่ของคุณ เพราะการทะเลาะกันในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน มันเป็นปัญหามานานแล้ว ถ้ายังรักกัน ทั้งคู่ต้องเต็มใจที่จะพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทุกครั้งที่ต้องเจรจากัน แต่ละคนจะยึดติดว่าความคิดของตนถูกเสมอและอีกฝ่ายผิดตลอดไม่ได้ คอยสังเกตว่าเมื่อไรที่คนทั้งคู่สูญเสียความสามารถในการฟังและเข้าใจอีกฝ่าย เมื่อนั้นต้องเริ่มเตือนตัวเองว่าอาจจะมีสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า 1 ข้อ คนสองคนถึงมีความเห็นไม่ตรงกัน
2. เข้าใจว่าการทะเลาะกันแบบนี้เป็นตัวบ่อนทำลายความสัมพันธ์ อย่าให้ทิฐิ การยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตัวเอง และการไม่ฟังใครเลยเข้ามาแทนที่กระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ลองคุยกันว่าคุณสองคนจะพยายามเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตัวเองให้มากขึ้น แม้ว่ามันจะขัดใจแค่ไหนก็ตาม คนทั้งคู่มีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับความคิดของอีกฝ่าย แต่ควรจะรับฟังความคิดเห็นนั้นอย่างปราศจากอคติก่อน ลองเข้าอกเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผล และความรู้สึกนึกคิดจากมุมมองของอีกฝ่ายจริง ๆ
3. เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายอย่างลึกซึ้งโดยไม่รีบตัดสินถูก-ผิด ตัดความคิดที่ว่าพวกเขาพยายามพูดแบบนั้นเพราะมีความผูกพันกับสิ่งที่พูดถึงอยู่ออกไปก่อน แต่ลองพิจารณาว่าสิ่งที่พวกเขากำลังพูดอยู่อาจมาจากอิทธิพลภายนอกหรือไม่ ง่าย ๆ ก็คือเขาหรือเธอพูดในมุมที่ตัวเองได้ประโยชน์หรือพูดในมุมที่เป็นคนนอกจริง ๆ
4. มองหาความคล้ายคลึงกันว่าคุณสองคนมีวิธีปกป้องมุมมองของตัวเอง (บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก) อย่างไร เพื่อดูว่าอะไรที่เป็นอคติที่ทำให้คุณแต่ละคนมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เพียงทางเดียว เพราะจริง ๆ แล้วอคตินั้นอาจทำให้คุณรู้สึกกลัวที่จะต้องละทิ้งสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จากนั้นลองดูว่าพวกคุณจะวางอคตินั้นลงได้อย่างไรเมื่อต้องเจรจากันอีกครั้ง
5. ลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความรู้สึกและสภาพจิตใจของอีกฝ่าย นึกภาพในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับความไร้เหตุผลและต้องการจะเอาชนะลูกเดียวของคุณ คุณรู้สึกอย่างไรที่เห็นตัวเองเป็นแบบนั้น แล้วรู้สึกยินดีหรือไม่ที่จะสูญเสียความสัมพันธ์นี้ไป การเถียงชนะคนรักสำคัญกว่าการเสียใครไปหรือไม่
6. เปิดหูและเปิดใจฟังสิ่งที่สมเหตุสมผลในมุมมองของอีกฝ่าย ลองคิดตามเพื่อที่จะลองเห็นด้วยกับเขาหรือเธอดู ถ้าฟังแล้ว คิดตามแล้วยอมรับสิ่งนั้นไม่ได้จริง ๆ ก็พูดตรง ๆ ว่าไม่เห็นด้วย อธิบายว่าทำไมคุณถึงไม่เห็นด้วย แต่ไม่ต้องพยายามจะไปลบล้างความคิดเห็นของอีกฝ่ายโดยบอกว่าสิ่งที่เขาหรือเธอเชื่อมันผิด!
7. ในระหว่างสนทนากัน ลองเปลี่ยนทัศนคติและท่าทางของตัวคุณเอง จากที่แต่ก่อนจะพยายามวางตัวว่ามีอำนาจเหนือกว่า ต้องการที่จะควบคุมอีกฝ่าย แข็งกร้าวไม่ยอมใคร ดื้อรั้นจะเอาชนะ ตนเองเป็นฝ่ายชอบธรรม มาเป็นการแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ การร่วมมือ ความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา และความปรารถนาที่จะอยู่เคียงข้างกันมากกว่าเป็นศัตรู
8. สร้างทัศนคติและความเชื่อใหม่ที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งรวมเอาความคิดและความรู้สึกของคุณสองคนเข้าไว้ด้วยกันให้มากที่สุด มุ่งมั่นที่จะทำความเข้าใจกันมากกว่าการโต้เถียงเพื่อเอาชนะ
9. พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำ ปัญหาการสื่อสารมักเริ่มต้นจากการที่คนทั้งคู่ไม่สื่อสารกัน ต่างคนต่างทำจนยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองถูกต้องแค่คนเดียว แต่ให้ระมัดระวังว่าจะกลับไปทะเลาะโต้เถียงกันด้วย ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีพูดคุยที่ไม่ใช้อคติ ไม่มีการประณามกัน หรือโต้เถียงเพื่อเอาชนะ ถ้าความรักมีคุณค่ามากกว่า คุณสองคนจะไม่ยอมเสียมันไป แต่จะพยายามปรับความเข้าใจกัน