ทำไมเด็ก ๆ ถึงโกหก? : เหตุผลและวิธีแก้ไขในแต่ละช่วงวัย

ทำไมเด็ก ๆ ถึงโกหก? : เหตุผลและวิธีแก้ไขในแต่ละช่วงวัย

ทำไมเด็ก ๆ ถึงโกหก? : เหตุผลและวิธีแก้ไขในแต่ละช่วงวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ทุกคนล้วนเคยโกหกด้วยกันทั้งสิ้น” นี่คือประโยคที่น่าจะเป็นความจริงที่สุดประโยคหนึ่งแล้วหล่ะครับ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ (ตัวดีเลย) วัยเตาะแตะ วัยอนุบาล วัยรุ่น จนกระทั่งทำงานมีครอบครัว ทุกคนล้วนเคยโกหกด้วยกันทั้งสิ้น บางทีอาจจะเป็นการโกหกเพื่อรักษาน้ำใจคนอื่น บางทีอาจจะทำอะไรผิดมาแล้วอยากกลบเกลื่อนความผิด หรือบางทีอาจจะเป็นการโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดีและวางแผนเอาไว้อย่างแนบเนียนแล้ว ฯลฯ ไม่ว่ายังไงก็ตาม โกหกก็คือโกหก

พ่อแม่ทุกคนนั้นไม่อยากให้ลูกของตัวเองโกหก แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการของเด็ก ในบทความของเว็บไซต์ข่าว NPR บอกว่า “ในวัยเด็กนั้นการโกหกสะท้อนถึงก้าวสำคัญในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของเขากับสิ่งรอบตัว” เพราะว่าเด็กจะไม่สามารถโกหกได้เลยจนกว่าจะเข้าใจว่าคนอื่น ๆ นั้นมีความเชื่อที่แตกต่างจากตนเองและไม่มีความเข้าใจที่แตกต่างกัน คิดง่าย ๆ แบบนี้ก็ได้ครับว่าการฝังความเชื่อหรือความคิดแบบผิด ๆ ให้คนอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองนั้นเป็นกระบวนการทางความคิดและสติปัญญาที่ซับซ้อนมาก (ที่จริงแล้วเราควรดีใจ?)

แต่ถึงยังไงก็ตาม เป้าหมายของการเป็นพ่อแม่คือการสอนคุณค่าและความสำคัญของความซื่อสัตย์ แต่มันก็ท้าทายมาก ๆ เช่นกันเมื่อลูกน้อยของเราเริ่มโกหกและไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันยังไง แถมไม่พอในแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกันด้วย เพราะฉะนั้นในโพสต์นี้เราจะมาดูกันว่าเด็กแต่ละช่วงวัยนั้นเหตุผลในการโกหกคืออะไรและเราควรรับมือกับมันยังไงดี

ช่วงทารก (2-3 ขวบ)

เด็กวัยเตาะแตะโกหกด้วยเหตุผลหลายอย่างเลย แต่ไม่มีอะไรที่น่ากังวลใจ จิตแพทย์เด็กและนักเขียน อลิซาเบธ เบอร์เกอร์ (Elizabeth Berger) ชี้ให้เห็นว่าเด็กในวัยนี้ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ความจริง ฝันกลางวัน ความปรารถนา จินตนาการ และความกลัว” พวกเขาอาจยังเด็กเกินไปที่จะรู้ว่าการโกหกเป็นสิ่งผิด เหมือนกำลังเล่นอยู่ระหว่างโลกแห่งจินตนาการและความเป็นจริง พยายามหลีกเลี่ยงปัญหา หรือบางทีอาจจะลองพูดเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ บางครั้งอาจจะโกหกเพียงแค่อยากให้สิ่งที่พวกเขาคิดเป็นจริงขึ้นมาแค่นั้น

สำหรับพ่อแม่ของเด็กวัยนี้ต้องเข้าใจว่าพวกเขายังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจว่าทำไมสิ่งที่พวกเขาทำนั้นผิด การจะลงโทษหรือตักเตือนต้องระวังให้ดีเป็นพิเศษ บางทีพวกเขาอาจจะหยิบคุกกี้มากินโดยไม่รับอนุญาต สิ่งที่คุณทำได้อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คุณคาดหวังคือความจริงนะ โดยไม่ได้เค้นบังคับ อาจจะบอกไปว่า ‘แม่/พ่อสงสัยนะว่าคุกกี้มันหายไปไหนแล้วเสื้อลูกเปื้อนช็อกโกแลตได้ยังไงนะ’

การมานั่งสอนถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์อาจจะยากเกินไปที่เด็กวัยนี้จะเข้าใจ การไปบังคับขู่ลูกว่า “ลูกกินคุกกี้โดยไม่ได้รับอนุญาตใช่ไหม?” จะยิ่งทำให้พวกเขาโกหกมากไปอีก แต่อาจจะบอกว่า “ทานเสร็จแล้วอย่าลืมไปล้างมือด้วยนะ วันหลังบอกพ่อ/แม่ด้วยเวลาจะทาน เสื้อจะได้ไม่เปื้อน”

ช่วงอนุบาล (4-5 ขวบ)

เมื่อเด็กๆ พูดสื่อสารได้มากขึ้น แถมยังเริ่มรู้แล้วด้วยว่าสถานการณ์ที่พวกเขาจะโดนลงโทษ การโกหกก็มีโอกาสเกิดบ่อยขึ้น พวกเขาจะโกหกเพราะตอนนี้พ่อแม่กำลังโกรธและหวังว่าตัวเองไม่น่าทำแบบนั้นเลย คิมบอล ลูวิส (Kimball Lewis) ซีอีโอของเว็บไซต์ Empowering Parents ได้แชร์วิธีการจัดการปัญหาการโกหกในวัยเด็กว่า “อย่ามองว่าการโกหกเป็นปัญหาทางศีลธรรม แต่ให้ถือว่าเป็นปัญหาด้านพฤติกรรม เมื่อลูกโกหกคุณ เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกถูกหักหลังและโกรธ แต่นี่คือความจริง การโกหกเป็นปัญหาพฤติกรรมปกติของเด็ก จำเป็นต้องแก้ไข แต่สำหรับเด็กส่วนใหญ่ นี่ไม่ใช่ความบกพร่องของพวกเขาและไม่ใช่ปัญหาด้านศีลธรรม แต่เป็นวิธีแก้ไขปัญหาแบบเด็ก ๆ ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น” ซึ่งการมองในแง่นี้จะช่วยให้พ่อแม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นด้วยความสงบและสร้างสรรค์มากขึ้น

สิ่งที่จะทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ลดลงได้คือการเน้นย้ำถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์อยู่เสมอ เป็นตัวอย่างที่ดีของความซื่อสัตย์ด้วยเช่นกัน ชี้ให้เห็นถึงผลของการโกหกและจัดการกับมันทันทีหลังจากที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ลูกยังจำได้อยู่ แต่ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าลูกอยู่ในสภาวะทางอารมณ์ที่สงบ (และเราด้วย) ก่อนที่จะคุยกัน

ช่วงจังหวะที่ลูกยังอายุประมาณนี้ แพทย์ก็ยังแนะนำว่าให้พูดถึงเรื่องนี้อย่างสบาย ๆ คุณอาจพูดว่า “อ๋อ หมีขั้วโลกมากินคุ้กกี้ของหนูเหรอเนี้ย? ทำไมเขาถึงทำแบบนั้นนะ?” ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จะทำให้คุณแปลกใจก็คือว่าเขาอาจจะพร้อมรับว่าเป็นคนโกหกเองโดยที่เราไม่ต้องบอกอะไรเลย

ประถมต้น (6-8 ขวบ)

เมื่อเด็กอยู่ในช่วงประถมต้นจะพูดโกหกเพื่อ “ทดสอบขอบเขต” ของตัวเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เบอร์เกอร์กล่าวว่า “กฎระเบียบและความรับผิดชอบของวัยนี้มักจะมากเกินไปสำหรับเด็ก จึงเป็นผลทำให้พวกเขามักจะโกหกเพื่อเอาใจคนที่มีอำนาจเหนือกว่าที่ต้องการให้พวกเขาทำเกินกว่าที่จะทำได้จริงๆ” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าโกหกเพื่อให้ตัวเองรอดจากความรับผิดชอบต่างๆนานา ตั้งแต่ที่โรงเรียน การบ้าน คุณครู หรือแม้แต่เพื่อน เด็กวัยนี้แม้จะเริ่มโกหกได้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น แต่ก็ง่ายมากที่จะบอกว่าลูกกำลังโกหกอยู่

ในวัยนี้ ให้พูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความสำคัญของความซื่อสัตย์ต่อไปเรื่อยๆ หลีกเลี่ยงการต้อนลูกให้จนมุมจนจำเป็นต้องโกหกด้วยคำถามที่เรารู้อยู่แล้วว่าคำตอบนั้นเป็นอย่างไรเช่น “ลูกทำความสะอาดห้องแล้วหรือยัง?” เน้นย้ำให้รู้ว่าคุณจะไม่โกรธตราบใดที่พูดความจริงและทำตามสัญญาที่เขาให้ไว้ กระตุ้นให้พวกเขาสวมบทบาทเป็นคนอื่นบ้างโดยถามว่า “ลูกจะรู้สึกอย่างไรถ้าเพื่อนสนิทของลูกพูดโกหก?”

คอยสังเกตและชื่นชมแบบพอดีเมื่อลูกซื่อสัตย์และพูดความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความซื่อสัตย์นั้นอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเลย ในวัยนี้เราอาจจะตอบสนองต่อการโกหกแบบตรงไปตรงมาได้มากขึ้น พูดกันแบบเหตุผลและสิ่งที่เกิดขึ้นเลย Victoria Talwar รองศาสตราจารย์ในภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการให้คำปรึกษาที่มหาวิทยาลัย McGill บอกว่า “ในการตอบสนองต่อคำโกหก จงมั่นคงและจริงจังและพูดว่า 'ดูเหมือนหนูไม่ได้พูดความจริงนะ' หรือ 'ลูกแน่ใจเหรอว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น' ทำให้ชัดเจนว่าคุณทราบดีว่านี่คือคำโกหก แต่อย่าใช้อารมณ์ มีเหตุผล หลังจากฟังเรื่องราวของลูกก็ค่อยๆ แก้ไข พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะหนัก ๆ หรือขุดคุ้ยความจริงจนเกินไป ยกเว้นแต่สถานการณ์จะร้ายแรงและต้องการความสนใจมากจริง ๆ เท่านั้น”

ก่อนวัยรุ่น (9-10 ขวบ)

เมื่อเด็กเข้าสู่วัยใกล้วัยรุ่น ตอนนี้พวกเขาไม่ใช่เด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ยังไม่ใช่วัยรุ่น เหตุผลในการโกหกเริ่มเปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่งดังที่นักจิตวิทยา ดร. เจฟเฟอรี เบิร์นสไตน์ (Dr. Jeffery Bernstein) เขียนในเว็บไซต์ Psychology Today ว่า “เด็กก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นสามารถโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ปกป้องเพื่อนที่พวกเขาชอบ หรือโกหกเพราะพวกเขาอารมณ์เสียเกินกว่าจะพูดถึงประสบการณ์ที่เจ็บปวด เช่น การถูกเพื่อนปฏิเสธ สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำได้คือพยายามสงบสติอารมณ์และไม่ให้แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกินไปกับคำโกหกของลูก หากคุณแสดงปฏิกิริยามากเกินไปจะกลายเป็นการสร้างกำแพงใหญ่กั้นระหว่างคุณกับลูกและไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดใจ”

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ปกครองอย่าเอาเรื่องนี้มาโทษตัวเอง เน้นยำกับลูกว่าคุณจะไม่อารมณ์เสียหรือลงโทษพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาพูดและทำตามนั้นจริง ๆ อย่าลำเอียงเมื่อลูกบอกเรื่องที่เกิดขึ้น พยายามค่อย ๆ พูดถึงอารมณ์หรือความกลัวที่ลึกข้างในที่ผลักให้พวกเขาโกหกตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องทำให้พวกเขาละอายใจหรือตัดสินอะไรพวกเขาทั้งสิ้น

เว็บไซต์ Empowering Parents กล่าวว่า “มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่การโกหก เด็กๆ มักจะโกหกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจากการทำผิด (หรือไม่สามารถรับผิดชอบอะไรสักอย่างได้)” อย่าเพิกเฉยต่อการโกหกที่เกิดขึ้น แต่ให้ทำความเข้าใจและขัดขวางพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดขึ้นได้อีก ซึ่งในวัยนี้คุณยังสามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างการโกหกที่ผิดเสมอกับ “การโกหกเล็กๆ น้อยๆ” เป็นครั้งคราวเพื่อรักษาความรู้สึกของใครบางคนได้ด้วย เช่นว่าคุณยายทำขนมให้แต่มันอาจจะหวานไปนิดหน่อยก็อาจจะบอกยายว่า “อร่อยมากนะครับ แต่ติดหวานไปนิดหนึ่ง”

เมื่อใดก็ตามที่เด็กยอมรับการโกหกหรือทำอะไรผิด ให้ชื่นชมและตอบรับพฤติกรรมเชิงบวกนี้ให้ดี “ขอบคุณมากที่ซื่อสัตย์กับพ่อ/แม่นะ ตอนนี้เรามาดูสิว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้ไหม”

เข้าวัยรุ่น (11-12 ขวบ)

ในช่วงวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์อย่างรวดเร็วทำให้วัยรุ่นรู้สึกอ่อนไหวกว่าที่เคยเป็นมา พวกเขาอาจโกหกเพื่อให้เข้ากับสังคมที่ตัวเองอยู่ได้ดีขึ้น เพื่อสร้างรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความมั่นใจในตนเองเพราะความรู้สึกที่ไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้นข้างในตัวเอง โกหกเพื่อให้ตัวเองรู้สึกพิเศษกว่าคนอื่นหรือหลีกหนีสถานหารณ์ที่อึดอัด พวกเขาอาจฝ่าฝืนกฎของพ่อแม่และโกหกเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะเจอแรงกดดันทางสังคมอยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ หรือทำบางอย่างเพื่อให้ดู “เท่” ในสายตาคนอื่น

พวกเขาอาจโกหกเพียงเพราะอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในช่วงเปลี่ยนผ่านของการปลีกตัวออกจากพ่อแม่ของเพื่อแสวงหาความเป็นอิสระ หรืออาจจะโกหกเพียง “เพราะพวกเขาทำได้” เพื่อยืนยันความรู้สึกในการมีตัวตนอยู่ของตนเอง ในความเป็นอิสระและอำนาจ  และแน่นอนเพื่อหลีกเลี่ยงผลจากการกระทำด้วยเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอแนะของเบิร์นสไตน์คือการปรับแนวทางการแก้ปัญหานี้ฐานะพ่อแม่ “ให้คิดว่าตัวเองเป็น ‘ผู้ฝึกสอนด้านอารมณ์’ แทนที่จะเป็นผู้ฝึกวินัยที่พยายามแสดงว่าใครมีอำนาจเหนือกว่า” ซึ่งรวมถึงการพูดคุยกับพวกเขาว่าการบอกความจริงอาจจะทำให้รู้สึกกลัว และการโกหกอาจจะสร้างภาพลวงตาว่ามันคือการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายกลับสร้างความเครียดมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเวลาผ่านไป คอยพูดเตือนพวกเขาว่าเหนือสิ่งอื่นใดให้เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนนั้นคนนี้ พูดจาโอ้อวดเกินจริงเพียงเพื่อจะพยายามแสดงให้คนอื่น ๆ เห็นว่าพวกเขาพิเศษมากขนาดไหน

วัยรุ่น (13-17 ปี)

การศึกษาเรื่องการโกหกฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Science Direct พบว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่โกหกมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ (ซึ่งการศึกษาชิ้นอื่นๆ ก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายกัน) ดร. แนนซี่ ดาร์ลิง (Dr. Nancy Darling) หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาที่วิทยาลัยโอเบอร์ลิน ​(Oberlin College) ซึ่งทำการวิจัยเรื่องการโกหกในวัยรุ่นมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แบ่งวัยรุ่นที่โกหกออกเป็นสามประเภทใหญ่ ๆ คือ 1. การโกหกโดยการหลีกเลี่ยง (โกหกเพราะไม่อยากคุยเรื่องนั้น) 2. โกหกโดยไม่พูดทั้งหมด (ไม่บอกข้อมูลสำคัญ) และ 3. โกหกโดยตั้งใจ (วางแผนโกหกโดยเจตนา)

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่วัยรุ่นมักโกหกคือการพยายามหลีกเลี่ยงจากปัญหา ทำสิ่งที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ รักษาความเป็นส่วนตัว สร้างความเป็นอิสระ หรือเพราะพวกเขาคิดว่ากฎของพ่อแม่ไม่ยุติธรรม พวกเขามักจะโกหกเรื่องการใช้จ่ายเงิน ไปเที่ยวกับใคร ทำอะไร ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์คนรัก และแน่นอนเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดด้วย

ในขั้นตอนนี้ เบิร์นสไตน์เขียนว่า "ต้องตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างการโกหกที่ปกปิดพฤติกรรมเสี่ยงรวมถึงการใช้ยา เมื่อเทียบกับการโกหกเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน" การโกหกเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยหรือผิดกฎหมายต้องได้รับการแก้ไขโดยตรงและรวดเร็ว

การศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตของวัยรุ่นในปี 2017 พบว่าความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและไว้วางใจระหว่างลูกกับพ่อแม่ (โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างแม่) มีส่วนทำให้การโกหกและการดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่นลดลง พูดอีกอย่างคือวัยรุ่นจะซื่อสัตย์กับพ่อแม่มากขึ้นเมื่อพวกเขามองว่าพวกเขาได้รับความรักและสนับสนุนจากพ่อแม่ และมีแนวโน้มที่จะโกหกมากขึ้นเมื่อรู้สึกว่าถูกควบคุมและจับผิดมากเกินไป

สิ่งที่ดีที่สุดประการหนึ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้กับวัยรุ่นได้คือการส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการสื่อสารที่เปิดกว้างและไม่ตัดสิน เมื่อวัยรุ่นไม่กลัวที่จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง พวกเขามักจะพูดความจริง นี่ไม่ได้หมายความว่า "ไม่มีกฎเกณฑ์" แต่หมายถึงการมีขอบเขตที่ชัดเจนและมีการบังคับใช้ที่สมเหตุสมผล

ลูวิสจาก EmpoweringParents แนะนำว่าให้แยกผลลัพธ์ของพฤติกรรมและการโกหกออกจากกัน “ถ้าลูกของคุณกลับบ้านช้ากว่าเคอร์ฟิวแล้วโกหก ให้แบ่งผลลัพธ์ออกเป็นสองอย่าง หนึ่งสำหรับการเลยเคอร์ฟิวและอีกประการหนึ่งสำหรับการโกหก วิธีนี้จะทำให้ครั้งต่อไปที่ลูกของคุณกลับบ้านเกินเคอร์ฟิว พวกเขามีตัวเลือกที่จะซื่อสัตย์และรับผลที่ตามมาหรือโกหกและได้รับสองผลลัพธ์อีกอันด้วย”

และอย่ากลัวที่จะบอกลูกวัยรุ่นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่คุณทำผิดพลาดหรือทำอะไรผิด และคุณบอกความจริงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ตรงนั้นได้ยังไง “พ่อ/แม่ทำผิดพลาดในรายงานแล้วก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมากเลย แต่ก็ตัดสินใจบอกเจ้านายทันทีแทนที่จะรอให้เจ้านายมาเจอเอง” การเห็นคุณเป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์ก็จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาทำตามได้เช่นเดียวกัน

การรับรู้ว่าลูกของตัวเองกำลังโกหกนั้นเป็นสิ่งที่เจ็บปวดสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นครับว่าเราทุกคนนั้นล้วนเคยโกหกด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ในฐานะพ่อแม่เองเราต้องคอยรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ให้ดี ปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้อยู่กับเขาตั้งแต่ยังเล็ก คอยพูดเตือนพวกเขาให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา หนักแน่น อย่าปะทะด้วยอารมณ์ ใช้เหตุผล ฟังเรื่องราวและความรู้สึกที่ลูกต้องการที่จะสื่อ ค่อยๆ แก้ไข และที่สำคัญต้องพร้อมที่จะให้อภัยพวกเขาด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook