การฝืนตัวเองไม่ให้ร้องไห้ ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเพิกเฉยต่อความรู้สึกตัวเอง
สมัยตอนที่ผมยังเป็นเด็กมักได้ยินเสมอเวลาร้องไห้เสียใจว่า “เด็กผู้ชายเขาไม่ร้องไห้กันหรอก” ซึ่งเชื่อว่าเป็นประโยคคลาสสิคที่ยังคงฮิตติดปากพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาถึงสมัยนี้ ไม่ใช่ผมคนเดียวหรอกที่เจอแบบนี้ เราอยู่ในสังคมที่ชื่นชมเด็กที่อยู่เงียบ ๆ ไม่รบกวนคนอื่น เวลาไปไหนแล้ว ‘ไม่ร้องไห้’ กระจองอแงก็จะได้รับการชื่นชมจากผู้ใหญ่ว่าเป็นเด็กเรียบร้อย หรือบางทีเจอสถานการณ์ที่น่ากลัว ไม่คุ้นเคย ตกใจ หรือ เจ็บตัว ก็พยายาม ‘กลั้นน้ำตา’ เอาไว้เพราะรู้สึกว่าการร้องไห้เท่ากับตัวเองอ่อนแอ
ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้นที่มีความเชื่อแบบนี้ ในหลาย ๆ วัฒนธรรมทั่วโลกล้วนชื่นชมยกย่องเด็กที่ไม่ร้องไห้ เข้มแข็ง และไม่ค่อยอดทนกับเสียงงอแงของเด็ก ๆ เพราะรู้สึกว่ามันไร้สาระ ร้องไห้อีกแล้ว เรื่องแค่นี้เอง ร้องทำไม “หยุดร้องได้แล้วน่ารำคาญ!” กลายเป็นประโยคติดปากผู้ใหญ่และทำร้ายจิตใจของเด็ก ๆ มากมายนับไม่ถ้วน
การ ‘อดกลั้น’ และ ‘กดทับ’ ความรู้สึกที่แย่ ๆ เอาไว้ข้างในดูจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอย่างดี มันจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ในตอนนี้เราเห็นคนให้ความสนใจกับผู้อื่นน้อยลง เอาตัวเองเป็นหลัก และไม่ค่อยคิดถึงความรู้สึกของคนอื่น ในรายกายพอดแคสท์ “Speaking of Psychology” ตอนหนึ่ง (The decline of empathy and the rise of narcissism) ที่พูดถึงเรื่องของ “Empathy” หรือ “ความเห็นอกเห็นใจ” ที่งานวิจัยบ่งบอกว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่จะสนใจคนอื่นน้อยลงกว่าเดิม และจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองคิดเท่านั้น ความรู้สึกที่มนุษย์คนอื่นมีอยู่ข้างในมักถูกมองข้ามและละเลย ส่วนอารมณ์ความรู้สึกทางด้านลบของตัวเองก็พยายามกดไว้ (โดยเฉพาะความโกรธหรือความเศร้า) เพราะเราอยู่ในสังคมที่การแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมากลายเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แสดงถึงความอ่อนแอของจิตใจและไม่น่าสนใจ ทั้ง ๆ ที่มันควรได้รับการดูแลเอาใจใส่โดยเฉพาะในวัยเด็กที่พวกเขายังไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นยังไง
เรามักถูกบอกตั้งแต่ยังเด็กว่าควรแสดงออกเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น และควรจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นให้เร็ว ๆ ด้วย (หยุดร้องได้แล้ว!) อารมณ์โกรธกลัวเศร้าเหล่านี้แสดงออกทางกายภาพอย่างชัดเจน การร้องไห้ ตัวสั่น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นถูกกระตุ้นโดยระบบลิมบิกของสมองของเรา (ส่วนจัดการอารมณ์) ที่จะมาควบคุมพฤติกรรมของเรา เชื่อมกันระหว่างร่างกายและจิตใจของเรา ทำให้ร่างกายเราพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ เลือดสูบฉีด พลังงานที่เก็บเอาไว้ถูกนำออกมาใช้ กล้ามเนื้อหดเกร็ง หายใจหอบถี่ เป็นการรับมือของร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ “การสู้” หรือ “หนีเอาตัวรอด” (ซึ่งเป็นเหตุผลที่เมื่อเวลาที่โกรธควรออกไปวิ่ง)
การร้องไห้เป็นเหมือนสัญญาณขอความช่วยเหลือทางอารมณ์ที่แสดงออกทางกายภาพ ซึ่งแบ่งได้สามแบบคือ
1. Basal : น้ำหล่อเลี้ยงตา มีลักษณะเป็นแผ่นน้ำตาฉาบที่ผิวลูกตาตลอดเวลา
2. Reflex : น้ำตาที่ไหลออกมาเมื่อมีสิ่งกระตุ้น องค์ประกอบไม่ต่างจากน้ำหล่อเลี้ยงตานัก ช่วยชำระล้างสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ตาของเรา เช่น ฝุ่น ผง แสง หรือเกิดขึ้นตอน ไอ หาว หรืออาเจียน (หรือตอนที่หั่นหอมหัวใหญ่ก็ใช่เช่นกัน)
3. Psychic : น้ำตาจากการร้องไห้หรือน้ำตาที่เกิดจากอารมณ์ต่าง ๆ มีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างจากน้ำตาสองประเภทแรก มีอะดรีโนคอร์ติโคโทรพิก (Adrenocorticotropic Hormone, ACTH) ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับความเครียดและ ลู เอ็นคีฟาลิน (Leu Enkephalin) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเหมือนเป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ว่าร้องไห้แล้วทำไมเราถึงรู้สึกดีขึ้น
น้ำตาจึงช่วยให้เราสงบลงเพื่อจะได้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น ความโกรธหรือเศร้าเป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อเอาตัวรอด อารมณ์ทำให้เกิดการกระทำที่ตามเพื่อ ให้เราแก้ไขสถานการณ์ ปรับตัว เติบโตและพัฒนาขึ้นในครั้งต่อไป ดังนั้นเมื่ออารมณ์ของเราถูกกดทับโดยพยายามกลั้นเอาไว้หรือปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล พวกมันก็สามารถเริ่มกัดกินความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจของเราได้เลย เมื่อเราโกรธสะสมก็จะเพิ่มความเครียดไปด้วย และสิ่งที่มีโอกาสจะตามมาคือเมื่อมันเอ่อล้นทะลักก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ ควบคุมไม่อยู่ บางทีก็ในเวลาและสถานที่ที่ไม่เหมาะสมด้วย อย่างถ้าเราเห็นว่าเด็ก ๆ ร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผลหรือปลอบยังไงก็ไม่หยุด บางทีมันมีต้นตอที่ฝังอยู่ในอดีตที่เขาพยายามกลั้นเอาไว้มานานแล้วก็ได้
การ ‘กลั้นน้ำตา’ หรือบอกว่า ‘ไม่รู้สึกอะไร’ แต่ข้างในกำลังร้อนรุ่มจนกำมือแน่นกัดริมฝีปากตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ดี อารมณ์ทางด้านลบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่หรือสังคมส่วนใหญ่เชิดชู บางคนบอกมันน่ารำคาญ บางคนบอกไร้สาระ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่จำเป็นและการร้องไห้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพราะเขาอยากร้อง แต่พวกเขากำลังจัดการกับอารมณ์ข้างในตัวเองอยู่ เราในฐานะผู้ใหญ่ต้องพยายามให้มากกว่านี้ที่จะเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้น ไม่ควรไปบอกว่า ‘อย่าไปคิดมาก’ และให้เด็กพยายามกดอารมณ์เหล่านั้นไว้เพราะมันดูยุ่งยากที่จะจัดการ การชื่นชมว่าเด็ก “เก่งจังหนูล้มแล้วไม่ร้องไห้เลย” หรือ “เยี่ยมไปเลย หนูโดยเพื่อนแกล้งแล้วไม่ร้องไห้เลย” สามารถส่งผลเสียอย่างมากเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ถึงตอนนั้นอาจจะเพิกเฉยต่ออารมณ์ของตัวเองและความรู้สึกของคนรอบข้างเพราะทำแบบนี้มาโดยตลอดก็ได้ อาจจะเหมือนแกล้งเป็นไม่แคร์ อาจจะทำอะไรเสี่ยง ๆ ทำตัวเหมือนไม่ได้สนใจอะไร สร้างกำแพงขึ้นมากั้นระหว่างอารมณ์กับตัวเราเองเพียงเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการมันยังไงดี
เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เราเห็นลูก ๆ กำลังกำหมัดด้วยความโกรธ พยายามกลั้นน้ำตาเพราะความเศร้า ลองคุกเข่าลงไปข้างหน้าเขาและดึงเขามากอดแล้วบอกว่า “ร้องไห้ได้นะลูก มันไม่เป็นไร ร้องไห้เป็นเรื่องที่โอเค”
เชื่อเถอะครับว่ามันจะดีต่อตัวพวกเขาเอง และที่จริงเรื่องนี้ก็ใช้กับผู้ใหญ่ได้ด้วย