รวมข้อผิดพลาดสัมภาษณ์งาน ไม่อยากชวดง่าย ๆ อย่าทำ!

รวมข้อผิดพลาดสัมภาษณ์งาน ไม่อยากชวดง่าย ๆ อย่าทำ!

รวมข้อผิดพลาดสัมภาษณ์งาน ไม่อยากชวดง่าย ๆ อย่าทำ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ยื่นเรซูเม่ไปพร้อมกับใบสมัครงาน สิ่งที่คนหางานทุกคนคาดหวังหลังจากนั้นก็คือ การถูกเรียกให้ไป “สัมภาษณ์งาน” หากคุณได้รับการติดต่อกลับ และได้รับการหยิบยื่นโอกาสให้เข้าไปสัมภาษณ์งานแล้ว ถือเป็นข่าวดีว่ากำลังจะมีงานทำ (หรือได้งานใหม่) ได้เดินทางมาถึงครึ่งทาง แต่อย่าลืมว่าอีกครึ่งทางที่เหลืออยู่ที่การสัมภาษณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ต่อจากนี้นี่เองที่จะเป็นตัวตัดสินว่าคุณจะได้ไปต่อหรือต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ที่ต้องเบรกเช่นนี้ เป็นเพราะมีผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้ตระเวนไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทต่าง ๆ นับสิบบริษัท แต่เพราะอะไรกันถึงไม่มีแม้แต่บริษัทเดียวที่รับเข้าทำงาน หลายคนเริ่มหาคำตอบแล้วว่าทำไมตนเองถึงพลาดตลอด ฉันไม่ดีตรงไหน หรือฉันทำอะไรผิดไปในวันที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์งาน หากทบทวนตนเองมาจนถึงจุดนี้ได้ แสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว บทความนี้จะขอยกเอาข้อผิดพลาดในการสัมภาษณ์งาน ที่ทำให้คุณชวดงานดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดายมาฝากกัน หลังจากนี้ไปคุณจะได้พยายามหลีกเลี่ยง แล้วยุติสถานการณ์การหางานทำไม่ได้ไปเสียที

ไม่เตรียมข้อมูลและไม่มีความพร้อมในการสัมภาษณ์
โดยเฉพาะคนที่คิดว่าตนเองเจนสนามการสัมภาษณ์งานพอแล้ว คุณอาจคิดว่าคุณมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานอยู่บ่อย ๆ จึงไม่มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวมากมาย แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้ง ต่างบริษัท ต่างคนสัมภาษณ์ สถานการณ์และปัจจัยภายนอกมันไม่เหมือนกัน และคุณก็ควบคุมมันไม่ได้ด้วย ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและผู้ที่จะสัมภาษณ์คุณให้ได้มากที่สุดเสมอ เพื่อแสดงให้กรรมการสัมภาษณ์ได้เห็นถึงความพร้อม ความสนใจ ความกระตือรือร้น และความตั้งใจจริงที่จะร่วมงานกับบริษัทนี้

สิ่งที่คุณต้องเตือนตัวเองเสมอก็คือ คนอื่น ๆ ที่เดินหอบเอกสารเข้ามาสัมภาษณ์งานพร้อมคุณ “เขาคือคู่แข่ง” ที่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าเขาเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน ซึ่งถ้าเขาเตรียมตัวมาดีกว่าและพร้อมกว่าคุณ คุณจะเอาชนะเขาได้อย่างไร บางคนนอกจากจะไม่เตรียมเรื่องข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ยังไม่เตรียมแม้กระทั่งความพร้อมของตนเอง เพราะประมาทว่าตอบได้หมดอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณเจออะไรบางอย่างไม่คาดฝันขึ้นมาจนสติแตก ความไม่พร้อมจะทำให้คุณไม่มั่นใจ และจะทำให้คุณไปต่อไม่ได้ ทำไม่ได้แม้กระทั่งการนำเสนอตนเองให้โดดเด่นจนกรรมการรู้สึกสนใจ

ควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์นั้นเป็นทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ที่ทุกวันนี้บริษัทไหน ๆ ก็มักจะมองหาในตัวผู้สมัครงาน นับเป็น Soft Skills ที่สำคัญต่อการทำงานเลยด้วยซ้ำไป แบบที่ว่าแค่เก่ง ฉลาด IQ สูงนั้นไม่พออีกต่อไปแล้ว คุณต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ด้วย เพราะมันคือทักษะที่ช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมืออาชีพ และมั่นคงในการทำงาน หากเขารับคุณเขาทำงานแล้ว คุณต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างทางอารมณ์ เพื่อจะบริหารจัดการความคิดและการกระทำต่าง ๆ

เมื่อคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์การสัมภาษณ์งาน อารมณ์ของคุณจะไม่นิ่ง อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะมีความรู้สึกตื่นเต้น เขินอาย หรือกังวลใจ หลาย ๆ คนอาจถึงขั้นกลัวเลยก็ได้เหมือนกัน หรือก่อนหน้านี้คุณอาจเจอเรื่องหัวร้อนแต่เช้าจนหงุดหงิดไปหมด คุณก็ต้องกำจัดอารมณ์เหล่านี้ทิ้งไปให้ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องควบคุมให้ดี ไม่ให้มันบั่นทอนความมั่นใจ เพราะพวกกรรมการสัมภาษณ์งานอาจสังเกตเห็นอารมณ์เหล่านี้ได้ผ่านสีหน้า แววตา และภาษากายของคุณ แต่ถ้าคุณเก็บอาการได้เป็นอย่างดี พวกเขาก็จะเห็นเช่นกันว่าคุณเป็นคนที่รับมือและเผชิญหน้ากับปัญหาได้ดีแค่ไหน

สารพัดความไม่น่าประทับใจ
จริงอยู่ที่ว่าคนเราไม่ควรจะตัดสินใครต่อใครที่ภายนอก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าทุกคนต่างก็มองกันที่บุคลิกภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งถ้าไม่เชิญชวนให้ประทับใจ ก็ไม่มีใครอยากจะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณไปมากกว่านี้ คุณจึงต้องนึกไว้อยู่เสมอว่าบุคลิกภายนอกเป็นด่านแรกที่จะทำให้คุณดูโดดเด่นจากคนอื่น แต่มันไม่ได้หมายความว่าคุณต้องไปทำให้ตัวเองดูปลอม ๆ แค่ดูดี เป็นตัวของตัวเอง ดูสุภาพในแบบของคุณก็พอ แต่งกายให้เหมาะสม รักษาความสะอาดของร่างกาย ผมเผ้า แต่งหน้าแต่งตาตามความเหมาะสม รักษาบุคลิกภาพ ทำให้ตัวเองดูดีที่สุดก็พอ

นอกจากนี้ยังมีความไม่น่าประทับใจจากกรณีอื่น ๆ อีก เช่น การไม่รักษาเวลา ไปสายจากเวลาที่นัดกันไว้ ไม่ค่อยรักษามารยาทในการเข้าสังคม หรือพูดจาวกไปวนมาจับใจความไม่รู้เรื่อง เวลาพูดคุยกับกรรมการก็ไม่สบตา ซึ่งการสบตาเวลาที่สนทนากันถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง หากคุณหลบตากรรมการตลอด พวกเขาอาจรู้สึกว่าผู้สมัครงานไม่ได้ให้ความสนใจกับคนที่ตนเองกำลังคุยด้วยมากเท่าที่ควร แม้จะเขินอาจหรือกล้า ๆ กลัว ๆ ก็ต้องพยายามใช้สายตาหรืออวัจนภาษาอื่น ๆ ในการโต้ตอบบ้าง จะดูเป็นธรรมชาติมากกว่า

ให้ความสำคัญกับตัวเงินจนเกินงาม
จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้ผิดอะไรหรอกหากคุณจะสนใจใคร่รู้ว่างานที่เขาจะให้คุณทำ หรือตำแหน่งที่คุณจะได้นั่งนั้น ค่าตอบแทนอยู่ที่เท่าไร เพราะจุดประสงค์ที่คุณต้องมาหางานทำก็เพื่อให้มีเงินใช้ แต่มันคงจะดีกว่าถ้าคุณจะเก็บอาการเรื่องที่เงินสำคัญเอาไว้ในใจ อย่าเพิ่งให้ความสนใจกับค่าจ้างจนออกนอกหน้าตั้งแต่วันแรกที่เจอกันแบบนี้ บรรยากาศในห้องสัมภาษณ์คงจะอึดอัดไม่ใช่เล่น หากผู้สมัครเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตานึกถึงเงินอย่างโจ่งแจ้ง แล้วพูดเรื่องเงินขึ้นมาก่อนที่จะรู้ด้วยซ้ำว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณมีอะไรบ้าง หากเขารับคุณเข้าทำงาน

ดังนั้น ถ้าอยากรู้เรื่องค่าตอบแทน คุณสามารถถามได้ แค่ต้องรู้จักอดทนอดกลั้นอดใจไว้ก่อน การสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ได้นานขนาดนั้น อย่างน้อย ๆ ก็ถามถึงเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะได้รับหากได้เข้ามาทำงานจริง ๆ ขึ้นมาก่อนก็ยังดี คำถามพวกรายละเอียดของงานที่จะทำ ลักษณะของการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ควรรู้ ความก้าวหน้า สวัสดิการ อะไรเทือก ๆ นี้ ส่วนเรื่องเงินก็รอให้ฝั่งกรรมการเป็นผู้เริ่มพูดขึ้นมาก่อน ปกติเขาจะเก็บไว้คุยเป็นเรื่องท้าย ๆ และเขาจะบอกเอง หรือจะเก็บไว้ถามในตอนสุดท้ายก็ได้ เพราะอย่างที่บอกมันเป็นสิ่งที่ถามได้ แค่ไม่ใช่คำถามแรก

การพูดถึงอดีตนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานในแง่ลบ
เป็นธรรมดาของคนเรานะ ที่ถ้ารู้สึกว่าพึงพอใจ ประทับใจ สนุก หรือมีความสุขกับที่ทำงานเก่าอยู่แล้ว ก็คงไม่คิดหางานใหม่หรอก ถ้าคนทำงานเริ่มมองหาที่ทำงานใหม่น่ะ แปลว่าต้องรู้สึกไม่ดีหรือไม่พอใจกับอะไรสักอย่าง อาจเป็นเพราะปัญหาส่วนตัว เช่น ย้ายที่อยู่แล้วทำให้ออฟฟิศเก่าอยู่ไกลเกินเดินทางไม่ไหวแล้ว งานหนักเกินไป ทำมาตั้งนานไม่มีความก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งปัญหาจากคน ซึ่งก็คืออดีตนายจ้างหรืออดีตเพื่อนร่วมงานตัวร้ายที่ทำให้ความอดทนขาดผึง แม้ว่าคุณจะไม่พอใจพวกเขา แต่คุณแสดงจะออกว่าเกลียดพวกเขาไม่ได้ในการสัมภาษณ์งานใหม่

ถ้าถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ พยายามตอบแบบกลาง ๆ ให้เข้าตัวน้อยที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่การอวยที่ทำงานเก่าขนาดนั้น เพราะถ้าดีอยู่แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องหางานใหม่ และแน่นอนว่าต้องไม่ใช่การตำหนิในแง่ลบแบบเดียวกับที่คุณเอาไปนินทาให้แก๊งเพื่อนสนิทฟัง อะไรที่พูดแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเมามันในอารมณ์ พอเขาถามก็ใส่ไม่ยั้งอย่างออกรส แบบนั้นเขาก็คงกลัวเหมือนกันว่าคุณก็จะนินทาเขาแบบนี้ลับหลังเขา ที่สำคัญ ในแต่ละวงการมันแคบ ถ้าบังเอิญว่าเขารู้จักกัน แล้วคุณอาจพูดเกินจริงไปหน่อยจนเป็นการใส่ร้ายอีกฝ่าย คุณจะเป็นคนไม่น่าเชื่อถือทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook