5 หลักการสำคัญในการสร้างทีมงานให้ประสบความสำเร็จ

5 หลักการสำคัญในการสร้างทีมงานให้ประสบความสำเร็จ

5 หลักการสำคัญในการสร้างทีมงานให้ประสบความสำเร็จ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการทำงานในองค์กรหนึ่ง ๆ แทบจะทุกที่ที่จะต้องมีการสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อนรองรับ “การทำงานเป็นทีม” ให้พนักงานทุกคนทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อพิชิตเป้าหมายสูงสุดขององค์กร ซึ่งมันคือความสำเร็จที่องค์กรต้องการให้ผู้ร่วมงานทุกคน ทุกระดับ ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนไปให้ถึง เขาจึงจ้างให้เราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมทำงาน และเป็นฟันเฟืองหนึ่งในองค์กร ไม่ว่าในทีมย่อย ๆ ใครจะสังกัดทีมไหน แต่ทุกคนก็ทำงานภายใต้ทีมใหญ่ทีมเดียวกันอยู่ดี ซึ่งก็คือองค์กรนั้น ๆ

แต่ก่อนที่จะนึกไปถึงความสำเร็จที่จะได้จากการร่วมงานของทีมเดียวกัน สิ่งหนึ่งจะมองข้ามไม่ได้คือวิธีในการสร้างทีมให้มีประสิทธิภาพ แล้วประสิทธิภาพของทีมถึงจะนำไปสู่ความสำเร็จได้อีกที ซึ่งทีมงานที่จะสามารถร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีหลักการอะไรเข้ามาเป็นองค์ประกอบบ้าง

การเอาใจใส่
การเอาใจใส่ เป็นการเริ่มต้นแสดงออกถึงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเพื่อนร่วมทีม แถมยังเป็นการลงทุนที่เราอาจไม่ต้องเสียอะไรเลยด้วยซ้ำไป เพราะจุดเริ่มต้นของการเอาใจใส่ที่ง่ายที่สุด แค่ยิ้มให้และทักทายเท่านั้นเอง มันก็คือการเริ่มต้นสร้างมิตรภาพ ไม่ปล่อยให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นต้องนั่งทำงานอยู่ตามลำพัง ในวันต่อมาก็ลองเอ่ยปากชมชุดที่เขาใส่มาทำงานว่าเข้ากับเขาดีนะ หรือจะชมว่าเขามีรสนิยมดีอะไรก็ว่าไป ถ้าเขาลาป่วย วันรุ่งขึ้นที่เขามาทำงานก็แค่พูดถามไถ่แสดงความห่วงใย ดูแล ช่วยเหลือตามสมควร ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เขาก็จะให้ใจกลับมา

นั่นหมายความว่าหากเขาไม่เริ่ม เราก็ลองเป็นคนเริ่มดูก่อนก็ได้ ลองให้ใจเขาไปก่อน โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าทีม ธรรมชาติของคนอยากได้รับการยอมรับ อยากเป็นคนสำคัญ การเริ่มต้นเอาใจใส่สิ่งเล็ก ๆ อาจได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กลับมา เขาอาจจะกลายเป็นบุคคลที่ทุ่มเทให้กับทีมมากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ได้ เมื่อเขารู้สึกว่าทุกคนในทีมสามารถรวมใจกันเป็นหนึ่งได้ เพียงเพราะการดูแลเอาใจใส่กันด้วยเรื่องเล็กน้อย อยากจะให้ใครเชื่อใจ ไว้ใจ หรืออยากได้ใจ เราอาจต้องแสดงความจริงใจของเราให้เขาเห็นก่อน

ลดอีโก้ส่วนตัว นำอีโก้ทีมมาใช้
การทำงานเป็นทีม จงลดอีโก้ของตัวเองลงให้เหลือต่ำที่สุด เพราะอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการทำงานร่วมกัน ก็คืออีโก้ของแต่ละคนนี่แหละ การเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเมื่อไรที่โดนทักก็ต้องฟัง มันแปลว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ เขาเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกไม่ควรไม่เหมาะ เขาจึงเตือนด้วยความหวังดี อีกอย่างการร่วมมือกันทำงานเป็นทีมนั้นจำเป็นที่ความเห็นส่วนใหญ่ต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมันเกิดมาจากการระดมความคิดเห็นและบูรณาการ ถ้าต่างคนต่างทำ เอาสิ่งที่ตัวเองคิดไม่ฟังใคร และยึดประโยชน์ตัวเองเป็นหลักก็คงไม่เรียกว่าทีม

ส่วนการนำอีโก้ทีมมาใช้ ก็คือการคิดเสมอว่าเมื่อทำงานเป็นทีม สมาชิกทุกคนคือหนึ่งเดียวกัน เหมือนเป็นคนคนเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าปังก็คือปังยกทีม แต่ถ้าพังก็พังยกแผงเหมือนกัน ไม่ได้มีแค่ตัวเราที่ได้หรือเสียประโยชน์ แต่ประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ การกระทำก็คือเน้นไปที่ทีมเป็นหลัก ไม่มีฉัน ไม่มีเธอ มีแค่พวกเรา เสียสละความสำเร็จส่วนบุคคลแล้วยกย่องให้เป็นความสำเร็จของทีม หากทุกคนทิ้งอีโก้ส่วนตัวแล้วมายึดอีโก้ความเป็นทีมในการทำงานต่าง ๆ จะต้องไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบอยู่คนเดียว เพราะทุ่มเทเพื่อทีมไปแล้ว นี่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างทีม

การฟัง
ทีมที่สามารถร่วมหัวจมท้ายกันได้ตลอดรอดฝั่ง คือทีมที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดี โดยเฉพาะศิลปะในการฟัง การเรียนรู้วิธีการฟังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างทีม การฟังที่ไม่ใช่การที่แค่ได้ยินเสียง แต่มันคือการที่รับรู้ เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน นำไปปฏิบัติได้ โต้ตอบถกเถียงได้หากเห็นต่าง ถามกลับได้ถ้าไม่เข้าใจ นี่คือปฏิกิริยาที่แตกต่างจากการได้ยินธรรมดาที่สมองอาจไม่ได้ประมวลผลตาม ดังนั้น ถ้าใครสักคนในทีมทำงานเพียงเพราะได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง คนผู้นั้นอาจเป็นคนทำลายงานทั้งหมดของทีมให้ย่อยยับลงได้ก็ได้ จะสำเร็จหรือล้มเหลว ตัวแปรคือการฟัง!

ในการทำงานเป็นทีม จงฟังให้มากกว่าพูด ฟังให้จบแล้วใช้สมองกับมือทำงาน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงมีเพียง 1 ปาก แต่มีหูตั้ง 2 หู นั่นก็เพื่อที่จะให้เราได้รู้จักใช้อวัยวะที่มีจำนวนมากกว่าให้เต็มที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามพูด แต่ให้พูดหลังจากที่ฟังจบแล้ว ปากพูดเมื่อจำเป็นต้องพูด พูดตอนที่เขาเปิดโอกาสให้พูด และพูดแต่สิ่งที่สมควรจะพูด ถ้าพูดแล้วไม่ได้มีใครได้ประโยชน์ มีแต่เรื่องไร้สาระจับใจความไม่ได้ หรือดีแต่สร้างความเสียหายก็อย่าพูด เพราะทำให้คนอื่นต้องมาเสียเวลาฟัง ที่สำคัญ ยังใช้แสดงความโง่หรือฉลาดได้ด้วย จากคำพูดที่หลุดออกมา

การให้เครดิต
รู้ไหมว่าความไม่พอใจในตัวเพื่อนร่วมงานนั้น ส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากเรื่องเล็กน้อยทั้งนั้น ค่อย ๆ สะสมเป็นความคับแค้นใจจนถึงจุดบาดหมางในที่สุด โดยเฉพาะการถูกแย่งซีน ถูกตัดหน้า หรือถูกแย่งความดีความชอบ กรณีตัวอย่างที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือการไปขอคำปรึกษาหรือไอเดียเรื่องงานกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น อีกฝ่ายก็เต็มใจช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะคิดว่าอย่างไรเสียก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะเราทำงานกันเป็นทีม แต่เมื่องานเสร็จได้รับคำชื่นชม กลับทำเหมือนว่าตัวเองเป็นคนทำอยู่คนเดียว รับความดีความชอบไปเต็ม ๆ ไม่เห็นหัวคนอื่น ๆ ที่ร่วมด้วยช่วยคิดสักนิด

ฉะนั้น อย่าได้หาทำเช่นนี้หากไม่อยากถูกเกลียด รู้จักขอบคุณและให้เครดิตคนที่มีส่วนร่วมเสมอ ทำให้เป็นนิสัย ไม่ใช่แค่ดูเป็นมืออาชีพ แต่ยังดีต่อใจคนที่ทำงานด้วยกัน อย่าลืมว่าก่อนที่งานจะสำเร็จ คนอื่นก็ต้องสละเวลาของเขามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่ความจริงก็แบ่งงานกันทำตามหน้าที่แล้ว ถ้าเขาไม่ช่วยในตอนนั้นก็คงไม่มีหน้ามาลำพองอยู่เหมือนตอนนี้ หากจริง ๆ แล้วงานนี้ต้องทำด้วยตัวเองแต่เอาไปปรึกษาคนอื่น ก็อย่าทำเหมือนว่าเนรมิตงานนี้ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง หรือประเภทลงเรือลำเดียวกัน ช่วยกันพาย แต่พอถึงฝั่งรับหน้าคนเดียวเฉย แบบนี้ก็ไม่น่ารักเหมือนกัน

ร่วมสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกของทีม
การเรียนรู้วิธีที่จะสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ หมายรวมถึงการรู้วิธีสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกของทีมด้วย เมื่อการทำงานเป็นทีมเริ่มต้นขึ้น ควรรู้ว่าทีมที่ดีควรมีอะไรบ้างตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การสร้างเป้าหมายเดียวกัน สร้างความมุ่งมั่น และร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อที่บรรลุเป้าหมายให้ได้ สร้างระบบการทำงานที่ชัดเจน แบ่งงานกันทำ ทุกคนรู้หน้าที่ ต่างตั้งใจปฎิบัติสิ่งที่ตนเองได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด สร้างความร่วมมือ ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการที่ได้ชื่นชมความสำเร็จร่วมกัน ภาคภูมิใจไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตลอดจนมีการประเมินผล และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

อย่างที่บอกว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้น ความสำเร็จมักจะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของสมาชิกในทีมทุกคน แต่การที่แต่ละคน ซึ่งปกติก็จะมีอัตตา มีความคิดเป็นของตัวเองจะมารวมตัวกันเพื่อทำงานในระบบทีมนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย หลัก ๆ ต้องอาศัยใจจริง ๆ ที่จริงใจของแต่ละคน ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปหากมีวัฒนธรรมและระบบการจัดการที่ดี มีการสร้างแรงจูงใจที่จะผลักดันให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของบุคคล วัฒนธรรมเชิงบวกจะเป็นตัวควบคุมให้เกิดสิ่งนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook