URBAN HEAT ISLAND : เมื่อความร้อนในเมืองใหญ่ เป็นอุปสรรคใหม่ต่อการมีสุขภาพที่ดี

URBAN HEAT ISLAND : เมื่อความร้อนในเมืองใหญ่ เป็นอุปสรรคใหม่ต่อการมีสุขภาพที่ดี

URBAN HEAT ISLAND : เมื่อความร้อนในเมืองใหญ่ เป็นอุปสรรคใหม่ต่อการมีสุขภาพที่ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ช่วงนี้จะมีความหนาวเย็นพัดผ่านเข้ามาจนน่าแปลกใจ แต่อากาศร้อนเหมือนยกประเทศไทยไปอยู่ใจกลางดวงอาทิตย์ คือสิ่งที่ชาวเมืองหลายคนบ่นอุบ เมื่อพูดถึงอุณหภูมิในฤดูร้อน (มาก ๆ) ที่อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนเทียบเท่าอุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส เมื่อบวกรวมกับค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศแล้ว


แต่ทำไมเมืองใหญ่ถึงร้อน จนถูกเรียกว่าเป็น "เกาะ" ที่สามารถกักเก็บอุณหภูมิดังกล่าวไว้ได้ ทั้งที่เมื่อเดินทางออกไปยังพื้นที่ชนบท อากาศก็ไม่ได้อบอ้าวจนอยากร้องขอชีวิตกับดวงอาทิตย์ขนาดนั้น

นี่คือเรื่องราวของ Urban Heat Island ในวันที่โลกร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กับอุปสรรคขนานใหญ่ต่อผู้คนเมืองที่อยากมีสุขภาพดี

เกาะความร้อน
หัวเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ต่างได้เผชิญกับความร้อนที่พุ่งทะยานขึ้นตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากปัจจัยหลัก ๆ อยู่สองประเด็น คือการเติบโตของเมือง ที่มีทั้งตึกรามบ้านช่องใหม่ เข้ามาเป็นที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย และสถานที่ใช้สอยเพื่อรองรับประชากรที่ย้ายเข้ามามากขึ้น ควบคู่กับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งมีค่าสูงขึ้นอยู่ทุกปี ส่วนหนึ่งจากภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะภาวะโลกร้อนอย่างที่หลายท่านทราบกัน

หากลองกวาดสายตาไปรอบพื้นที่ตัวเมือง คุณมองเห็นอะไรบ้าง ? ถนนลาดยาง ตึกระฟ้าที่เรียงติดกัน ยานพาหนะจำนวนมาก ห้างสรรพสินค้า และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ อันล้วนแต่เป็นตัวการกักเก็บความร้อน จนกลายเป็นปรากฎการณ์ Urban Heat Island ขึ้นมา
 
อากาศร้อนแล้วเราทำอะไร ? ใช่แล้ว คุณอาจเลือกเปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อทำให้อุณหภูมิในห้องหรือบนรถเย็นลง แต่อุปกรณ์ดังกล่าวทำงานโดยการดูดความร้อนออกมาปล่อยสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งแปลว่าพื้นที่ดังกล่าวก็จะยิ่งรู้สึกร้อนขึ้น อันนำไปสู่ความต้องการแอร์มาทำความเย็นมากตามลำดับ และกลายเป็นลูปแบบนี้ ที่ทวีความรุนแรงของภาวะเกาะความร้อนขึ้นไปได้อีก

ปรากฎการณ์ดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นได้จากนอกโลก ผ่านอุปกรณ์บนดาวเทียมของหน่วยงานอวกาศ ที่แสดงให้เห็นความร้อนภายในหัวเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก, โตเกียว, หรือกรุงเทพฯ ซึ่งร้อนจนเห็นถึงความแตกต่างจากพื้นที่โดยรอบอย่างชัดเจน  โดยสามารถเข้าไปลองรับชมข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ NASA World View ได้ที่ https://go.nasa.gov/3LGGPXn

urbanheatisland005

แม้ความร้อนในตอนกลางวันก็แย่และหนักหนามากพอแล้ว แต่ช่วงหัวค่ำคือช่วงเวลาที่ Urban Heat Island แสดงผลลัพธ์ความต่างระหว่างเขตเมืองกับชนบทได้ชัดเจน เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ถนนและตึกต่าง ๆ ได้คายความร้อนที่ดูดซับจากดวงอาทิตย์มาตลอดวัน จนทำให้เรารู้สึกว่าอุณหภูมิช่วงกลางคืนของเขตเมือง ไม่ได้เย็นลงมาจากตอนกลางวันมากนัก

ข้อมูลในปี 2012 พบว่าอุณหภูมิในกรุงเทพมหานคร กับพื้นที่ปริมณทลนั้นมีความแตกต่างกันมากถึง 7 องศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่ในปี 1998 และมีโอกาสที่ค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไปได้อีก จากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน

นอกจากความร้อนของตัวเมืองจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ก็กำลังทำให้การออกกำลังกายในตัวเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม

ร้อนแล้วเหนื่อยง่าย
เทรนด์การดูแลสุขภาพของชาวเมือง เป็นสิ่งที่กำลังมาแรงในช่วงหลายปีให้หลัง เช่นกันกับความร้อนในตัวเมืองที่เพิ่มขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

โดยปกติแล้ว การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายของเราร้อนขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนพลังงานกลในกล้ามเนื้อ ให้กลายเป็นพลังงานความร้อน  ซึ่งมนุษย์เรามีสมองส่วนไฮโปทาลามัส เป็นตัวคอยควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่สูงไปมากกว่า 37 องศาเซลเซียส โดยหัวใจจะปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น เพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว และนำความร้อนจากในเลือดที่อุ่นกว่า ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกทางผิวหนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมหัวใจเราถึงเต้นแรงขึ้นในระหว่างการออกกำลังกาย

นอกจากกระบวนการ Vasodilatation ในข้างต้นแล้ว ร่างกายเรายังขับความร้อนส่วนเกินออกมาผ่านเหงื่อได้เช่นกัน โดยเหงื่อนั้นเป็นของเสียจากร่างกาย ที่ถูกขับออกมาจากต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง ซึ่งมักพบได้มากในบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าของคนเรา

การออกกำลังกายขณะที่มีอุณหภูมิสูงนั้น ร่างกายจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อคอยควบคุมให้อุณหภูมิร่างกายยังอยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่ ซึ่งนี่ไม่ใช่ปัญหาหากไม่มีความชื้นในอากาศสูงมากนัก เพราะเหงื่อของเราสามารถระเหยออกไปจากผิวหนังได้ดี และทำให้การระบายความร้อนยังดำเนินไปได้ในแบบที่ควรเป็น

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าช่วงไหนที่มีความชื้นในอากาศอยู่ค่อนข้างสูง เหงื่อจะเกาะติดอยู่บนผิวหนังของเรา ที่นอกจากจะทำให้รู้สึกเหนอะหนะแล้ว ความร้อนในร่างกายก็ไม่ถูกระบายออกไปได้ด้วยเช่นกัน จนอาจทำให้เกิดอาการเล็กน้อยอย่างมึนหัว, เป็นลม, หน้ามืด, ตะคริวแดด, เพลียแดด, หรือถึงขั้นเป็นฮีทสโตรค ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลย

นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างปัญหาฝุ่นละอองแบบ PM2.5 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง หรือสภาพทางเดิน พื้นที่สาธารณะให้ใช้เพื่อออกกำลังกาย ที่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้ ซึ่งเหตุผลเหล่านี้อาจทำให้การมีสุขภาพที่ดีของชาวเมือง เป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้นมากว่าเดิม

คลื่นความร้อน ได้กลายเป็นภัยธรรมชาติที่พรากชีวิตคนไปมากเป็นอันดับที่หนึ่งในสหรัฐอเมริกา นำหน้าทั้ง ทอร์นาโด, น้ำท่วม, ฟ้าผ่า, และเฮอร์ริเคน จากค่าเฉลี่ยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับค่าที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน

โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2020 (ซึ่งต้องโยกไปจัดในปี 2021 ด้วยสาเหตุที่ทุกคนทราบกัน) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถูกระบุว่าเป็นการแข่งขันโอลิมปิกที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ จากปรากฎการณ์ Urban Heat Island ในตัวเมือง จนต้องย้ายการแข่งขันวิ่งมาราธอน และเดิน 20 กับ 50 กิโลเมตร ไปแข่งขันที่เมืองฮอกไกโด ซึ่งมีอุณหภูมิที่เย็นกว่าแทน และนอกจากการแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว 400 เมตร ทั้งประเภทชายหญิงแล้ว เราไม่เห็นการทำลายสถิติโลกในโอลิมปิกครั้งนี้เลย

คำถามคือ กับปัญหาความร้อนที่หลายมุมเมืองกำลังเผชิญอยู่ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาวะเกาะความร้อนทวีความรุนแรงไปได้มากกว่านี้ได้บ้าง

ออกแบบเพื่ออนาคต
หนึ่งในตัวอย่างเมืองที่กำลังต่อสู้กับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ ผู้ริเริ่มแนวคิดเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองมาตั้งแต่ปี 1967 ทั้งผ่านการมีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ และโครงการระดมเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ทำให้ยอดจำนวนต้นไม้ทั่วประเทศเพิ่มจากราว 158,600 ต้นในปี 1974 มาเป็น 1.4 ล้านต้นในเวลาเพียง 40 ปีให้หลัง

 

ต้นไม้ช่วยให้เมืองร่มเย็นขึ้นได้อย่างไร นอกจากร่มเงาที่ช่วยให้การสัญจรมีความร่มเย็นขึ้นแล้ว กระบวนการคายน้ำของต้นไม้ยังทำงานเหมือนเหงื่อในร่างกาย ซึ่งช่วยทำให้อุณหภูมิโดยรอบเย็นลงไปได้ตั้งแต่ 1-5 องศาเซลเซียสด้วยกัน

แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกหนึ่งเดียวของ สิงคโปร์ เพราะพวกเขาจัดตั้งหน่วยงานอย่าง "Cooling Singapore" เพื่อศึกษาและหาวิธีลดอุณหภูมิจากปรากฎการณ์ Urban Heat Island ในตัวเมืองลง โดยอาศัยการออกแบบสิ่งปลูกสร้างในเมืองให้ลมถ่ายเทได้สะดวก ใช้แหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นตัวระบายความร้อน เลือกวัสดุที่สะท้อนแสงและไม่กักเก็บความร้อน ไปจนถึงการลดจำนวนของรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงลงจากท้องถนน

 
พวกเขาได้ศึกษายุทธศาสตร์มากกว่า 86 รูปแบบ เพื่อนำมาต่อสู้กับสภาพแวดล้อมในเมืองที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเช่นนี้ พร้อมกับมีคำแนะนำให้กับประชาชน เช่น ถ้าทุกคนร่วมกันปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้มากกว่าเดิม 4 องศาเซลเซียส จะช่วยลดความร้อนในเมืองลงได้อย่างเห็นผล รวมถึงการทาสีตัวบ้านหรืออาคารให้มีโทนอ่อน เพื่อช่วยลดการดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ลงมากักเก็บไว้ได้ ซึ่งด้วยสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับบ้านเรา ไอเดียจากประเทศเพื่อนบ้านรายนี้ อาจช่วยให้หัวเมืองใหญ่ในไทยลดความร้อนลงมาได้เช่นกัน

สิ่งที่สำคัญคือโลกของเรากำลังเผชิญปัญหาอย่างจริงจัง และหากเรายังต้องการอยู่ในบ้านหลังเดียวบนจักรวาลที่อ้างว้างแห่งนี้ต่อไป ก็คงถึงเวลาที่ต้องกลับมาดูแล และแก้ปัญหา Climate Change ต่าง ๆ กันแบบเต็มรูปแบบเสียแล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินกว่าจะกลับมาแก้ไขได้ทันการ

แหล่งอ้างอิง:

Arifwidodo, Sigit D., and Takahiro Tanaka. "The Characteristics of Urban Heat Island in Bangkok, Thailand." Procedia - Social and Behavioral Sciences, Elsevier, 26 July 2015, https://doi.org/10.1016/j.sbspro.2015.06.484. 
https://www.theverge.com/2021/7/27/22596152/athletes-tokyo-2020-olympics-urban-heat-island
https://economictimes.indiatimes.com/news/science/air-conditioning-is-the-worlds-next-big-threat/articleshow/69999842.cms?from=mdr
https://www.epa.gov/heatislands/using-trees-and-vegetation-reduce-heat-islands
https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/fitness/in-depth/exercise/art-20048167
https://eresources.nlb.gov.sg/history/events/a7fac49f-9c96-4030-8709-ce160c58d15c
https://www.youtube.com/watch?v=PM101DvvG4Q
https://www.ura.gov.sg/Corporate/Resources/Publications/Skyline/Skyline-Issue10/Beat-the-heat

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook