ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร

ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร

ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อที่หาซื้อได้ในร้านขายยามีอยู่ด้วยกันหลายชนิด การเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของการอักเสบ หรือบางทีอาจไม่ต้องใช้ยาบรรเทาอาการเลยก็ได้ถ้าหากอาการปวดเมื่อย ปวดอักเสบ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้งานในชีวิตประจำวัน

ความแตกต่างของยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อแต่ละชนิด

ชนิดสเปรย์ สเปรย์บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ทั้งแบบร้อน - แบบเย็น, อัดแก๊ส - ไม่อัดแก๊ส ข้อดีของยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อชนิดสเปรย์ คือ บรรเทาอาการได้ตรงจุด ใช้งานง่าย พกพาสะดวก และที่สำคัญ คือ ดูดซึมได้ไว แห้งง่ายไม่เลอะมือเวลาใช้งาน ทั้งนี้สเปรย์บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อยังมีประเภทที่มีส่วนผสมของยาชา ใช้ในกรณีบาดเจ็บฉุกเฉินมักใช้กับนักกีฬาเพราะสามารถลดอาการปวดได้อย่างเฉียบพลัน แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องการรักษาเพราะเมื่อหมดฤทธิ์จากอาการชา อาการปวดก็จะกลับมาเช่นเดิม

ชนิดทา ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อชนิดทามีทั้งประเภทครีมและเจล, สูตรร้อน – สูตรเย็น ซึ่งแต่ละประเภทจะแตกต่างกันตรงความเข้มข้นและส่วนผสมของตัวยา เช่น บางประเภทผสมเมนทอล, ยูคาลิปตัส หรืออาจมีแอลกอฮอล์ผสม เป็นต้น ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกร้อน - เย็น และเป็นตัวทำละลายให้มีการดูดซึมเข้าผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้การดูดซึมตัวยาประมาณ 5% ของยาที่รับเข้าไปยังน้อยกว่าชนิดทาน แต่ชนิดทาสามารถออกฤทธิ์ได้ตรงจุดมากกว่า เพราะสามารถทาตรงบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อได้โดยตรง แต่ก็ข้อเสียคือ เลอะมือหรืออาจเลอะเสื้อผ้าเวลาใช้งาน และเก็บรักษาค่อนข้างยาก

ชนิดทาน ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อชนิดทานมักถูกสั่งจ่ายในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการปวดไม่ทุเลาลง หรือใช้ในระยะการรักษาอาการปวดเรื้อรังที่มากกว่า 3 เดือน หรือในกรณีที่อาการปวดมีการอักเสบร่วมด้วย เพราะการทานยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อจะเป็นการดูดซึมตัวยาได้เต็มที่ ตัวยาจะถูกดูดซึมไปตามกระแสเลือดและเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ ทำให้การอักเสบทุเลาลงได้รวดเร็ว แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรง เนื่องจากยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อชนิดทานอาจรักษาได้ไม่ตรงจุด และอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น มึนงง ง่วงซึม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะตัวยาที่ดูดซึมเข้ากระแสเลือด หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์

ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดอักเสบกล้ามเนื้อควรใช้ภายใต้การดูแลของเภสัชกรหรือแพทย์เท่านั้น หากอาการปวดเมื่อย ปวดอักเสบไม่บรรเทาลงภายใน 1 - 2 สัปดาห์หลังจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

โค้ชนิว วีระเดช ผเด็จพล
MSc. Sport & Exercise Nutrition, Leeds Beckett University, UK
Certified Strength & Conditioning Specialist (NSCA)
Certified Personal Trainer (NSCA)
Co-founder of Fit-D Fitness

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook