6 ขั้นตอนลดความประหม่า เมื่อต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้คน
Thailand Web Stat

6 ขั้นตอนลดความประหม่า เมื่อต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้คน

6 ขั้นตอนลดความประหม่า เมื่อต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในกระบวนการของการทำงานนั้น หลังจากที่ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ขั้นตอนที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ การรายงานความคืบหน้าและการนำเสนอผลงานที่ทำ สำหรับใครหลาย ๆ คน การนำเสนอผลงานต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่หรือการพูดในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องยาก พวกเขาสามารถผ่านมันไปได้เหมือนกับการพูดคุยในชีวิตประจำวันปกติ ทว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่รู้สึกตรงกันข้าม การออกไปนำเสนองานต่อหน้าคนอื่น ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกกลัว ตื่นเต้น ประหม่า เรียกได้ว่ามีอาการแบบนี้ทุกครั้งเมื่อต้องออกไปพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก

ลักษณะของคนที่มักจะประหม่าเวลาที่ตัวเองต้องเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจนั้น อาจเป็นคนขี้อายเป็นทุนเดิม มีบุคลิกที่เก็บตัว ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร ไม่ชอบการแสดงออก ไม่ชอบการเป็นจุดสนใจ กลัวการโดนวิพากษ์วิจารณ์ และที่สำคัญก็คือ เป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง คนประเภทที่ไม่เชื่อว่าตนเองทำได้ ในเมื่อพวกเขาไม่เชื่อมั่นในตัวเอง สำหรับพวกเขาแล้วจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ที่จะให้มาพูดนำเสนออะไรยาว ๆ ต่อหน้าคนจำนวนมาก

แต่เราไม่สามารถปฏิเสธการนำเสนอผลงานได้ตลอดไป โดยเฉพาะในสังคมการทำงานที่ทุกอย่างวัดกันที่ผลงาน เราอาจเลี่ยงได้ในบางสถานการณ์ อย่างการทำงานเป็นทีมแล้วในทีมมีคนที่รับหน้าที่นั้นอยู่ ถ้าเป็นงานส่วนตัว อย่างไรเสียก็ต้องนำเสนอเอง หากทำไม่ได้ก็ไม่อาจอยู่ในสังคมของการทำงานรอด เพราะไม่ว่าจะทำงานอะไรก็หนีไม่พ้นที่จะต้องนำเสนองานให้กับผู้บังคับบัญชา แต่เวลาจะต้องนำเสนองานในที่ประชุมทีไรจะต้องประหม่าขาสั่น มือไม้เย็น พูดเสียงสั่น ฟังดูติด ๆ ขัด ๆ ไปซะทุกที แบบนี้จะทำอย่างไรดีให้ประหม่าน้อยลง ในเมื่อเลี่ยงการนำเสนองานไม่ได้

เตรียมความพร้อมของตนเอง
ขั้นแรกคือการเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง เริ่มตั้งแต่การเตรียมเนื้อหางานที่จะนำเสนอพร้อมทั้งทำความเข้าใจเนื้อหา หากงานนี้เราเป็นคนลงมือทำหรือมีส่วนร่วมในการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนกระทั่งจบกระบวนการ เราก็จะรู้ทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ เมื่อเราเข้าใจทุกส่วนดีแล้วก็ไม่มีอะไรต้องกังวล การนำเสนอไม่ใช่ปัญหาใหญ่ พูดไม่เก่งไม่เป็นไร เน้นพูดให้รู้เรื่อง คนฟังเข้าใจก็พอ ซึ่งนอกจากเตรียมความพร้อมด้านเนื้อหาแล้ว อย่าลืมเตรียมความพร้อมด้านร่างกายด้วย ก่อนวันนำเสนองานพักผ่อนให้เพียงพอ ในวันนำเสนองานก็อย่าปล่อยให้ท้องว่าง เท่านี้ก็ราบรื่นแล้ว

วางโครงเรื่อง จัดเรียงเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอก่อน-หลัง
หากมองว่าการนำเสนองานก็เหมือนกับการเล่านิทานเรื่องหนึ่ง ผู้นำเสนอก็ต้องตระหนักให้ได้ว่าคนฟังจะฟังรู้เรื่องหรือไม่ หากคนพูดนึกจะพูดอะไรก็พูด เอาตอนจบมาไว้ตอนต้น เอาตอนต้นไปเล่าตรงกลาง ไม่มีการเรียงลำดับเนื้อหาก่อน-หลัง ฟังแล้วเหมือนงานไม่มีขั้นตอนในการทำงานเลย แน่นอนว่าคนฟังจับต้นชนปลายไม่ถูกหรอกเพราะเขาไม่ใช่คนที่ทำงานชิ้นนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผู้นำเสนอต้องรู้จักวางโครงเรื่องที่จะนำเสนอก่อน จะเอาอะไรขึ้นก่อน-หลังก็ได้ตามแต่เทคนิคของแต่ละคน แต่จะต้องทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาโดยรวมและขั้นตอนการทำงานให้ได้

Advertisement

ซ้อมพูดหน้ากระจก
แทนที่จะซ้อมพูดด้วยการเดินไปเดินมาในห้อง หรือนั่งอ่านเนื้อหาที่เรียบเรียงแล้วอยู่บนที่นอน ให้ลองใช้วิธีซ้อมพูดหน้ากระจกดู เพื่อที่เราจะได้เห็นว่าบุคลิกของเรานั้นเป็นอย่างไรในขณะที่กำลังพูดอยู่ต่อหน้าคนอื่น ๆ ทุกอย่างจะถูกสะท้อนอยู่หน้ากระจก หากไม่พอใจตรงไหนจะได้แก้ไขได้ตรงจุด เช่น การสบตากับผู้ฟัง รอยยิ้มที่ยิ้มให้ผู้ฟัง ท่ายืน อวัจนภาษาที่ใช้ เป็นต้น ขยันซ้อมบ่อย ๆ เพื่อกลบจุดด้อยที่ทำให้ตัวเราไม่มั่นใจ เมื่อถึงเวลานำเสนอจริง ความประหม่าจะหายไปเอง เพราะเราซุ่มซ้อมปรับปรุงความมั่นใจต่อหน้าตัวเองมาตั้งหลายรอบแล้ว

ทำการบ้านเกี่ยวกับผู้ฟัง
“ใครบ้างที่จะเข้าฟังการนำเสนองานของเรา” นี่เป็นสิ่งที่ผู้นำเสนอต้องรู้และไปทำการบ้านมาให้ดี เพราะผู้ฟังนี่แหละที่มีโอกาสจะทำลายความมั่นใจของผู้นำเสนอลงได้ หากผู้นำเสนอรู้จักผู้ฟังไม่ดีพอ โดยเฉพาะการที่ไม่รู้ว่าผู้ฟังมีความต้องการหรือคาดหวังอะไรจากข้อมูลที่เราจะนำเสนอ ผู้ฟังคนนี้มักจะต้องการข้อมูลแบบไหน เขาอยากฟังอะไรจากปากเรา หรือจะต้องโน้มน้าวใจเขาแบบไหน ต้องทำการบ้านเพื่อจะได้เตรียมไปให้พร้อม เพราะผู้นำเสนออาจสะดุดจนไปต่อไม่เป็น หากเจอคำถามที่ไม่คาดคิดจากผู้ฟังเข้า ไม่มีทั้งคำตอบและข้อมูล ที่ทำดีมาตลอดก็อาจกลายเป็นศูนย์

ทำสมาธิก่อนนำเสนอผลงาน
สำหรับคนพูดไม่เก่ง ขี้อาย ขี้ประหม่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากจะรู้สึกสติแตกขึ้นมาเสียดื้อ ๆ ตอนที่กำลังจะนำเสนองาน ไม่เป็นไรไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ เมื่อใกล้ถึงคิวที่จะนำเสนอ ให้ใช้เวลาสั้น ๆ ประมาณ 5 นาที ในการเรียกสติและสมาธิกลับมา ให้ตัวเองผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวล และสงบลงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งการทำสมาธิอาจมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนที่ได้ผลกับตัวเองมากที่สุด ก็ให้เลือกวิธีนั้น จำไว้ว่าเราจะเอาชนะปัญหาทุกปัญหาได้ หากเรามีสติ และสตินำมาซึ่งปัญญา!

สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง
ความไม่มั่นใจในตัวเอง มันเริ่มต้นมาจากการที่คนเรา “สงสัยในความสามารถของตนเอง” การที่ไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้ไหม หรือการด้อยค่าและตัดสินตัวเองล่วงหน้าไปแล้วว่าเราทำไม่ได้หรอก มันล้วนเป็นความคิดที่บั่นทอนความมั่นใจของตัวเองทั้งนั้น ถ้าเรายังไม่เชื่อมั่นในตัวเองเลยแล้วใครจะกล้าเสี่ยงมาเชื่อเรา ดังนั้น คิดใหม่ทำใหม่ แค่เชื่อว่าตนเองจะทำได้ และทำได้ดีด้วย แค่ความคิดในเชิงบวกก็นำมาเราไปหาเรื่องดี ๆ ได้แล้ว อีกประการคือ การปรับบุคลิกภาพ กิริยาท่าทางของเรานั้นส่งผลต่อความรู้สึกได้ ท่าทางที่เรารู้สึกว่าเราดูดี จะช่วยให้เรามีความมั่นใจขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้