รู้จักชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในมิติคุณพ่อที่ต่อสู้เพื่อลูกชายหูหนวก
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นทางการค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ได้รับการคัดเลือก เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17
โดยตลอดระยะเวลาการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เราเห็นคุณชัชชาติลงพื้นที่หาเสียง ออกรายการให้สัมภาษณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องนโยบาย แนวคิดในการบริหารจัดการหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งต่างๆ ถูกถ่ายทอดออกมามากมาย รวมไปถึงการพูดถึงเรื่องของลูกชายหูหนวกของตนเอง ซึ่งก็เป็นการสะท้อนให้เห็นบทบาทของคุณชัชชาติในอีกมิติหนึ่ง
คุณชัชชาติเองได้เคยพูดไว้ในรายการป๋าเต็ด ทอล์ก เกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองภาคภูมิใจที่สุดว่าคือการที่สามารถต่อสู้ ฟันฝ่าเรื่องราวเปลี่ยนชีวิตที่เกิดขึ้นกับลูกชายของตนเอง เมื่อผ่านปัญหาต่างๆ มาได้จนในปัจจุบันลูกชายสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันได้ตามปกติ นั่นจึงนับเป็นสิ่งที่คุณชัชชาติในฐานะผู้เป็นพ่อรู้สึกถึงความปีติมากที่สุด
สำหรับคุณชัชชาติ มีลูกชายหูหนวก ซึ่งเจ้าตัวก็บอกกับหลายสื่อว่า ครั้งแรกที่รู้ว่าลูกชายหูหนวกถือเป็นวินาทีเปลี่ยนชีวิต เพราะคิดไปว่าลูกจะอยู่อย่างไร อนาคตจะเป็นยังไง ตอนนั้นสับสนทำอะไรไม่ถูก ไปไหว้พระบนบานขอให้หาย เปิดเพลงให้ฟังหวังกระตุ้นให้ลูกได้ยิน แต่ลูกก็หูหนวกสนิท ต้องผ่าตัดประสาทหูเทียมเท่านั้น
เมื่อได้สติคุณชัชชาติหาข้อมูลต่างๆ จึงตัดสินใจพาลูกไปรักษาที่ออสเตรเลีย ตอนนั้นต้องบอกว่าหนักมากๆ เพราะคุณชัชชาติต้องทุ่มเทเพื่อสอบเอาทุนไปทำวิจัย จะได้ไปอยู่ใกล้ๆ ลูก พร้อมทั้งสอนลูกเรียนรู้ความซับซ้อนในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และจากความทุ่มเทมุ่งมั่นตั้งใจปัจจุบันลูกคุณชัชชาติเป็นเด็กหูหนวกหนึ่งในไม่กี่คน ที่เรียนโรงเรียนเด็กปกติได้
นอกจากนี้ คุณชัชชาติ ได้ตอบคำถามในรายการ TheStandard ดีเบตผู้ว่าฯ กทม. ในประเด็นที่ว่าให้ คิดนวัตกรรมสำหรับคนพิการคนละหนึ่งอย่าง? โดยคุณชัชชาติตอบคำถามนี้ว่า "ผมมีความผูกพันกับคนคนพิการ ที่เป็นเด็กพิการเราเห็นปัญหาเลยว่า เด็กพิการเป็นเด็กที่มีความต้องการที่ต้องได้รับการสนับสนุนมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดเราลงพื้นที่เราเห็นเลยว่ากลุ่มที่เปราะบางที่สุด คือ กลุ่มที่มีลูกพิการซ้ำซ้อน เพราะพิการซ้ำซ้อน พ่อแม่หนึ่งคนต้องดูแลลูกแล้ว อีกคนต้องออกไปทำงาน ยิ่งช่วงโควิดงานหมด โดนออกจากงาน กลายเป็นไม่มีคนทำงานเลย บทบาท กทม. ที่ผ่านมายังไม่ได้เข้มแข็งกับการดูแลจุดนี้
กลุ่มเปราะบางที่อยู่ตามชุมชน สิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้หรูหรา แต่จริงๆ แล้ว คือเครือข่ายผู้ปกครองที่มาร่วมมือกัน จะตัวที่ช่วยพยุงให้ครอบครัวที่มีคนพิการอยู่ด้วยสามารถผ่านวิกฤตไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิการซ้ำซ้อนเนี่ยเขาจะมีเครือข่ายที่เป็นเหมือนสมาคม ที่พ่อ-แม่ มารวมตัวกัน นำลูกมารวมตัวกัน แล้วหาสถานที่มาบำบัด มาแรกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แต่เท่าที่ดู กทม. ไม่ได้สนับสนุนตรงนี้ ทั้งที่อันนี้คือสำคัญมากเลย มันคือทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง
กทม. ทำฐานข้อมูลที่ชัดเจน ผู้พิการใน กทม. อยู่ที่ไหนบ้างในแต่ละชุมชน ผู้พิการ พิการแบบไหน หาพื้นที่ให้เขามารวมกันได้ไหม และเราสนับสนุนด้านวิชาการ ด้านอุปกรณ์ต่างๆ ผู้ปกครองที่มีประสบการณ์ มาแชร์ประสบการณ์กัน ดูตัวอย่างจากน้องที่ทำสำเร็จแล้ว นี่แหละที่เป็นนวัตกรรมที่ง่ายเชื่อว่าจะเปลี่ยนชีวิตครอบครัวของคนคนพิการได้"
และสำหรับใครที่ไม่ทราบว่าทำไม คุณชัชชาติ ถึงดูแลตัวเองออกกำลังกายจนฟิตมากๆ นั่นเป็นเพราะเขาต้องการดูแลลูกและครอบครัวให้นานที่สุดนั่นเอง