Lifelong Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเอาตัวรอดในการทำงาน
ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ฉลาดขึ้นทุกวันและพร้อมที่จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ได้ทุกเมื่อ เด็กจบใหม่ที่สถานบันการศึกษาผลิตออกมาทุกปี บางคนที่แม้จะมีประสบการณ์การทำงานน้อยกว่า แต่ทักษะแน่นและปฏิบัติงานได้ยืดหยุ่นกว่าคนทำงานเดิม ๆ ที่เห็น ๆ กันอยู่ว่าทำงานกันอย่างไร มีอะไรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และโรคระบาดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทำงานหลาย ๆ รู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน เราอาจจะกลายเป็นคนที่ว่างงานได้ตลอดเวลา หากไม่พัฒนาและปรับตัว
ซึ่งหนึ่งใน Soft Skills ยุคหลัง COVID-19 ของคนทำงาน คือ ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ข้อมูลต่าง ๆ อัปเดตทุกชั่วโมง โดย Lifelong Learning ก็คือรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่จำกัดว่าตนเองจะอายุเท่าไร นี่จึงเป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาตนเองให้ยังคงเป็นที่ต้องการขององค์กร
จากข้อมูลของ World Economic Forum พบว่าเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น ที่ทำให้ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานถึง 35 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้พร้อมกับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่เราต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ สำหรับการทำงานทั้งปัจจุบันและอนาคต เพราะความรู้หรือทักษะการทำงานเดิม ๆ อาจไม่พอที่จะสู้กับคู่แข่งได้ คู่แข่งที่ว่าก็คือเทคโนโลยี เด็กรุ่นใหม่ ๆ และสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลโดยตรงต่อการจ้างงาน
การเริ่มต้นกลับมาเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หลังจากพ้นจากสถานศึกษามานานอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะทำไม่ได้ ซึ่งถ้าหากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้น Lifelong Learning ได้อย่างไร Tonkit360 มีคำตอบ
มีแนวคิดแบบ Growth Mindset เป็นคนที่ไม่ชอบการหยุดนิ่ง
Growth Mindset เป็นลักษณะความคิดและความเชื่อว่า “ฉันนี่แหละที่จะเป็นคนกำหนดเองว่าฉันต้องรู้อะไร” คนที่มีลักษณะแบบนี้จะเปิดรับการเรียนรู้ทุกอย่าง เพื่อนำมาใช้พัฒนา ปรับปรุง และเติมเต็มในส่วนที่เดิมไม่มี เพราะเชื่อว่าความเก่ง ความฉลาดเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เก่งก็ฝึกต่อไป จงทำงานหนัก อย่าหยุดนิ่งที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ แนวคิดแบบ Growth Mindset จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนที่รักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning นั่นเอง มีทัศนคติที่คิดแต่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด ทั้งการพัฒนาตนเอง สังคมรอบตัว รวมถึงองค์กรที่ทำงานอยู่ จะได้รับข้อดีจากการไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนา
อยากเป็นคนแบบไหน ให้พาตัวเองไปอยู่ในสังคมนั้น ๆ
เคยได้ยินคำที่ว่า “อยากได้แฟน (หรือเพื่อน) แบบไหน ให้พาตัวเองไปอยู่ในที่แบบนั้น” บ้างหรือไม่ นั่นคือหนึ่งในวิธีหาแฟนเพื่อให้ได้สเปกตามที่ต้องการ แต่ก็เหมือนกันเลย การพัฒนาตนเองก็ใช้หลักการเดียวกัน “ถ้าอยากเป็นคนแบบไหน ก็ให้พาตัวเองไปอยู่ที่แบบนั้น” เพราะทั้งสภาพแวดล้อมและผู้คนที่อยู่รอบข้างจะส่งพลังงานบางอย่างมาถึงเรา โดยเราจะซึมซับเอาพฤติกรรมแบบนั้นมาโดยไม่รู้ตัว รวมถึงยังได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ มาโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยด้วยซ้ำ เราอาจได้เห็นหรือได้ยินมาแบบบังเอิญ ดังนั้น ถ้าเริ่มที่จะเรียนรู้สิ่งใด ให้เริ่มจากจุดนี้ก่อน เริ่มรับสิ่งดี ๆ ที่เป็นพลังบวก และเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้เราอยากจะทำแบบนั้นอยากจะเป็นแบบนี้บ้าง
ลงมือทำเพื่อสัมผัสประสบการณ์จริง
คนเราจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีถึงแก่นแท้ ก็ต่อเมื่อลงมือทำให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ด้วยตนเอง ที่การลงมือทำทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าการนั่งฟัง การท่องจำทฤษฎีเฉย ๆ เพราะเราได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง ๆ ความรู้สึก ณ ขณะนั้น ได้เห็นกับตาว่าความสำเร็จเป็นอย่างไร หรือถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังได้เห็นปัญหาเองอยู่ดีว่าความผิดพลาดมันอยู่ที่ตรงไหน กระบวนการนี้จะทำให้เราจดจำมันไว้ อีกทั้งในขณะที่ได้ลงมือทำ ยังเกิดการเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เคยศึกษาในอดีตเพื่อมาประยุกต์ใช้จริง ซึ่งอาจเห็นถึงองค์ความรู้อื่นที่จะนำไปต่อยอดในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปได้ ทั้งยังป้องกันการลืมความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียนอีกด้วย ค่อย ๆ ต่อยอดความรู้ที่มีจากการลงมือทำไปเรื่อย ๆ
หาให้เจอ วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง
ด้วยความคนเรานั้นไม่เหมือนกัน วิธีอย่างหนึ่งที่คนอื่นทำ เมื่อเรานำมาลองทำตามบ้าง อาจพบว่ามันไม่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และตัวตนของเราเท่าไรนัก ก็อย่าเพิ่งท้อแท้หมดกำลังใจไป ในเมื่อการเลียนแบบหรือทำตามอย่างคนอื่นมันไม่ได้ผล ก็จงหาให้เจอว่าวิธีการเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะสมและตอบโจทย์ชีวิตตัวเรามากที่สุด อาจจะลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ เพราะการลองผิดลองถูกก็เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบหนึ่งเช่นกัน การหาวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะกับตัวเองจะช่วยให้อะไร ๆ ควบคุมง่ายขึ้น ด้วยความที่เรากำหนดได้เองในแบบที่เราต้องการ เราจะมีอิสระที่สามารถเลือกทางเลือกของตัวเองได้เอง ช่วยเพิ่มศักยพัฒนาในการพัฒนาตนเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด
กระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้
เนื่องจากการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง หลายคนต้องมาเริ่มในวัยทำงาน หลังจากที่รู้ว่ามันคือวิธีการเอาตัวรอดหากไม่อยากเป็นคนที่ตกงานด้วยปัจจัยต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน หลายคนห่างหายจากการเรียนมานาน เพราะเรียนจบ หลุดออกจากวงจรชีวิตในสถานศึกษามาตั้งหลายปีแล้ว มันไม่มีอะไรมากระตุ้นหรือปลุกเร้าว่าต้องเรียนนะ และก็ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความหลงใหลอะไรด้วย ดังนั้น เราจึงต้องสร้างมันขึ้นมาเองแม้ว่าจะอยู่ไกลจากห้องเรียนมานาน วิธีง่าย ๆ คือการพาตัวเองไปอยู่ในที่แบบนั้น ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในข้อก่อน ๆ หน้า ส่วนวิธีอื่น ๆ อาจต้องพึ่งความชอบส่วนตัวมาเป็นแรงกระตุ้น แล้วค่อย ๆ โยงไปสู่เรื่องที่จะหาความรู้เพิ่มเติม