วิธีสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน เพื่อการบรรลุผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
หัวใจของการทำงานเป็นทีม คือการที่สมาชิกทุกคนในทีมต้องมีความสมัครสมานสามัคคี รวมใจเป็นหนึ่งเดียวในการทำงานเพื่อทีม แต่บางครั้งแรงจูงใจที่จะทำเพื่อทีมมันก็สามารถแผ่วลงได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะด้วยความเหนื่อยล้าส่วนบุคคลหรือเพราะปัญหาความขัดแย้งภายในทีม ซึ่งถ้าปล่อยไปแบบนั้น แต่ละคนก็จะทำงานด้วยสภาพซังกะตาย เป้าหมายที่เคยมีร่วมกันว่าทีมต้องมาเป็นที่หนึ่งเลือนรางลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดต่างคนก็ไม่มีใจที่จะทำงานเพื่อทีมอีกต่อไป
การสร้างแรงจูงใจให้กับเหล่าสมาชิกในทีมจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น หัวหน้าทีมแต่ละทีมจะต้องหมั่นสร้างแรงจูงใจให้กับทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกคนยังสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปกติสุข บรรลุผลลัพธ์และความสำเร็จของทีมที่ตั้งไว้ร่วมกัน สร้างทีมที่แข็งแกร่งที่มีพลังในการทำงานอย่างเต็มขีดจำกัด นี่คือวิธีในการสร้างแรงจูงใจให้กับบรรดาทีมงาน เพื่อให้ทีมของคุณทำงานได้ดีและบรรลุผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
1. เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ทำไม”
การกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน อาจทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเริ่มเปิดประเด็นโดยการตั้งคำถามว่า “ทำไม” เนื่องจากมันเป็นคำถามปลายเปิดที่จะนำไปสู่การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย มีการอภิปราย หรือถกเถียงกันในทีมว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สร้างบรรยากาศของการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม ต่างคนต่างได้สื่อสารถึงสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาเพื่อให้ตอบคำถามที่ถามว่า “ทำไม” ให้มากที่สุด อย่างไรก็ดี หากมีสมาชิกคนใดที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในขณะประชุม หัวหน้าทีมอาจต้องเข้าไปพูดคุยรายบุคคลเป็นการส่วนตัว อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขารู้สึกไม่สบายที่แสดงความคิดเห็นในขณะที่มีเพื่อนร่วมงานร่วมโต๊ะประชุมอยู่เยอะ ๆ จะได้ไม่เพิกเฉยความคิดเห็นของพวกเขาด้วย
2. ระดมสมองกับผู้ที่เชี่ยวชาญ
การทำงานเป็นทีม ทุกคนในทีมมักจะได้ทำหน้าที่ตามที่ตนเองถนัด นั่นหมายความว่าแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่ทีมควรต้องรู้ว่าใครเก่งเรื่องอะไรเพื่อที่จะได้มอบหมายงานให้ได้ถูกคน การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดทำให้พวกเขาทำงานได้ดีกว่า ได้งานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ใครคนใดคนหนึ่งจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบงานมากเกินไป เมื่อรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมคนไหนถนัดอะไร เวลาประชุมงานก็ระดมสมองกับทุก ๆ คนที่ถนัดในด้านต่าง ๆ กัน เป็นบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นดีเหมือนกันนะที่ถูกรายล้อมไปด้วยคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่แตกต่างกัน
3. รู้จักการขอความช่วยเหลือ
อย่างที่บอกว่าคนในทีมไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ซึ่งบางครั้งก็อาจเป็นไปได้ที่ทีมของเราจะขาดคนที่เก่งเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งไป แล้วบังเอิญว่าครั้งนี้ต้องการคนที่เก่งด้านนี้มาทำงานด้านนี้ แทนที่จะดันทุรังให้คนที่ไม่ถนัดมาฝึกทำให้ถนัด ให้ใช้วิธีขอความช่วยเหลือแทนจะดีกว่า เช่น ขอกำลังเสริมจากทีมอื่นมาสนับสนุนชั่วคราว จะได้ไม่เสียเวลา และไม่ต้องฝืนใจใครมาช่วยทำในสิ่งที่เจ้าตัวเก้ ๆ กัง ๆ เพราะไม่ถนัด ซึ่งมีส่วนทำให้งานไม่เดินด้วย ดังนั้น ถ้าจำเป็นและต้องการความช่วยเหลือล่ะก็ ขอเลยไม่ต้องอาย ในเมื่อเราทำเองไม่ได้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือให้เป็น
4. ขอคำปรึกษา ให้คำแนะนำ
ทีมงานที่รักใคร่สามัคคีและแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่แล้วแต่ละคนจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว สามารถขอคำปรึกษาหรือให้คำแนะนำกันได้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว (เป็นบางเรื่อง) นอกจากนี้คนในทีมหลาย ๆ คนก็มีคอนเนกชันกับคนอื่น ๆ อีกมากมายด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากต้องการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมในการทำงาน ก็ลองสอบถามจากเพื่อนร่วมทีมดูว่าจะเข้าถึงและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนอื่น ๆ ในเครือข่ายได้อย่างไร บางทีอาจมีการแชร์กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ยินดีจะแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ ให้ได้ไปเข้าร่วม หรือพวกหลักสูตรการพัฒนาตนเองที่น่าสนใจ
5. ตั้งเป้าหมาย
เป้าหมายคือตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในที่สุด ดังนั้น การตั้งเป้าหมายที่ดีก็จะนำมาซึ่งแรงจูงใจที่ดีเช่นกัน เพราะอยากเห็นผลลัพธ์ดี ๆ ไม่ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไรไว้ มันจึงเป็นแผนที่จะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์นั่นเอง ลองกำหนดให้ทีมมีเป้าหมายต่าง ๆ เป็นรายไตรมาส และสร้างตัวชี้วัดในแต่ละไตรมาสขึ้นมาประเมินผลว่าการทำงานในทุก ๆ 3 เดือนนั้นเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ มันจะช่วยให้ทีมเห็นว่ามาถูกทางหรือยัง และอะไรคือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หากได้ผล จะประยุกต์จากแผนดำเนินงานของทีมมาเป็นแผนส่วนบุคคลก็ได้
6. พัฒนาแผนอย่างต่อเนื่อง
อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าเป้าหมายที่ดีจะนำมาซึ่งแผนการที่ดี ต่อด้วยแนวทางการปฏิบัติที่ดี และผลลัพธ์ที่ดีในที่สุด ถ้าขั้นตอนการตั้งเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็สามารถดำเนินการตามแผนการได้เลย จากหัวข้อก่อนหน้า หลังจากที่ประเมินผลลัพธ์รายไตรมาสแล้ว ก็มาดูกันว่าต้องมีข้อบกพร่องอะไรที่ต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิมบ้าง แล้วต้องพัฒนาอย่างไร อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป และค่อย ๆ เริ่มนำเอากลยุทธ์ใหม่มาเพิ่มทีละกลยุทธ์ ลงมือทำ แล้วประเมินผล ทำแบบนี้ให้เป็นกระบวนการ ถ้าดีก็ทำต่อและเริ่มกลยุทธ์ใหม่ไปเรื่อย ๆ อะไรที่ไม่ดีก็ปรับปรุงหรือตัดทิ้งไป
7. วัดการทำงานของทีม
การทำงานเป็นทีมที่ดีก็ต้องมีการวัดผลการทำงานร่วมกันของทีมด้วย ในเมื่อทุกคนเป็นสมาชิกในทีมเดียวกัน ต้องหมั่นเช็กเสมอว่าทีมยังรักใคร่สามัคคีกันดีอยู่หรือเปล่า ก่อนที่อะไร ๆ จะแย่ลงไปเกินจากที่คาด เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งในทีมขึ้นได้เสมอ ทั้งแบบเผชิญหน้ากันโต้ง ๆ และการทำสงครามประสาทใส่กัน คำแนะนำคืออย่าเช็กอย่างเป็นทางการ เพราะอาจได้คำตอบที่ไม่จริง ลองสำรวจความคิดเห็นโดยไม่เปิดเผยตัวตน ผลลัพธ์จะแตกต่างกันไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสมาชิกในทีมของคุณและภายในองค์กร ความคิดเห็นที่ได้จะสะท้อนปัญหาความขัดแย้งภายในทีมที่ต้องกำจัดหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
8. แรงใจหมดต้องเติม
ทำงานเป็นทีมไปนาน ๆ มันก็นำไปสู่ภาวะหมดไฟและหมดใจได้เหมือนกัน ซึ่งปัญหามันอยู่ที่ถ้าเกิดหมดไฟหรือหมดใจไปพร้อม ๆ กันเกือบยกทีม แล้วใครจะมีกะจิตกะใจทำงาน ดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าทีมเริ่มทำงานแผ่วลง ต้องมีวิธีเพิ่มแรงใจให้กับสมาชิกทีมได้แล้ว อาจเป็นการพาไปเที่ยวพักผ่อน outing กันในทีม การจัดให้มีกิจกรรมอื่น ๆ แทรก เพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายจากการทำงานบ้าง หรือเชิญวิทยากรที่น่าสนใจมาพูดบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลว ฉะนั้น อย่าละเลยสัญญาณเตือนเรื่องความอ่อนล้าของทีม ต้องจุดประกายแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง หากคนในทีมคือหัวใจในการทำงานเป็นทีมแล้วล่ะก็ ต้องให้ความสำคัญให้มาก ๆ
9. ทำซ้ำ
ตลอด 8 ข้อที่ผ่านมา หากได้ลองทำกันจริง ๆ ก็จะรู้แล้วว่ามีกลยุทธ์อะไรบ้างที่ใช้ได้ผลและอะไรที่ใช้ไม่ได้ผล ถ้ากลยุทธ์ไหนที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็ต้องทำซ้ำ พัฒนาไปเรื่อย ๆ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือต้องไม่หยุดพัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ เช่นกัน ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งมันก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยได้ การพัฒนาก็ง่ายมาก แค่กลับไปที่จุดเริ่มต้น ตั้งคำถามเกี่ยวกับกลยุทธ์เหล่านั้นว่า “ทำไม” ให้ทุกคนได้ช่วยกันทบทวนแต่ละขั้นตอนและระดมความคิดเห็นแบบที่เคยทำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับทีมอย่างต่อเนื่อง