Feedback เพื่อนร่วมงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการทำงานร่วมกันที่ดี

Feedback เพื่อนร่วมงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการทำงานร่วมกันที่ดี

Feedback เพื่อนร่วมงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการทำงานร่วมกันที่ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่แต่ละมีผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการให้ฟีดแบ็ก (feedback) คำติชม ข้อเสนอแนะ หรือคำวิจารณ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อดี ข้อบกพร่องที่ควรแก้ไข เพื่อให้นำไปปรับปรุงในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อพูดถึงการฟีดแบ็ก วิพากษ์วิจารณ์ หรือคำติชม อาจทำให้หลายคนก็รู้สึกสั่นสะท้านด้วยความกังวล เพราะเรามักจะจินตนาการไปถึงการถูกตำหนิ การตักเตือน การที่ต้องนั่งฟังคนอื่นพูดถึงข้อบกพร่องของตัวเอง ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ธรรมชาติของคนเราไม่ค่อยอยากจะได้ยินอะไรแบบนี้เท่าไรนัก

ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นสิ่งที่คนในวัยทำงานยากที่จะหลีกเลี่ยง แทนที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น เปลี่ยนทัศนคติตัวเองให้กล้าเผชิญหน้ากับมันดีกว่า ใช้ข้อเสนอแนะที่ได้รับมาปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ต่อให้เป็นฟีดแบ็กเชิงลบก็ต้องมองให้เห็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต เผชิญหน้าเพื่อที่จะได้รู้ว่าปัญหาการทำงานมันอยู่ตรงไหน แล้วต้องเริ่มแก้จากไหน ยิ่งไปกว่านั้น คำติชมสามารถยังเปลี่ยนพฤติกรรมหรือนิสัยที่ไม่ดีของเราได้ด้วย สำหรับผู้ที่เป็นผู้นำ มันก็ช่วยให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้ และยังสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าและพนักงานได้อีกด้วย

การฟีดแบ็กเพื่อนร่วมงานอย่างสร้างสรรค์ จึงต้องเป็นการติชมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่การโจมตีส่วนบุคคล แต่วิจารณ์ถึงทักษะ ความสามารถหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงาน หรือที่เรียกว่า “ติเพื่อก่อ” ติเพื่อให้เกิดประโยชน์ คนที่ฟังคำติชมสามารถตกผลึก นำไปปรับปรุง ก่อผลให้เกิดการพัฒนา กระตุ้นให้คนในทีมร่วมแรงร่วมใจกันคิด และเพื่อการทำงานร่วมกันที่ดี

แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ
เงินอาจจะซื้อจิตใจคนอื่นไม่ได้ แต่สิ่งที่ซื้อได้คือความจริงใจ อยากให้ใครเชื่อใจ ไว้ใจ ให้ใจ เราก็ต้องแสดงให้เขาเห็นก่อนว่าเรามีให้เขา ส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราเป็นมิตรและจริงใจต่อเขาจริง ๆ ก่อนที่จะให้ฟีดแบ็กหรือวิจารณ์งานของเขา ควรบอกให้เขาได้เข้าใจว่าการให้ฟีดแบ็กหรือการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมานี้เป็นไปด้วยความหวังดี ใส่ใจในความสัมพันธ์ และเราคาดหวังว่าอยากจะเห็นผลงานที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก อาจใช้เทคนิคชื่นชมในแง่บวกก่อนแล้วค่อยติติงด้านลบทีหลัง เพราะมันเป็นเรื่องจริงนะที่เวลาได้รับคำชมบ่อย ๆ จะทำให้กลายเป็นคนที่มั่นใจมากยิ่งขึ้น

ชื่นชมต่อหน้าธารกำนัล แต่ตำหนิเป็นการส่วนตัว
การให้ฟีดแบ็กนั้นไม่ได้เป็นเรื่องทางบวกเสมอไป และก็ไม่ใช่เรื่องทางลบเพียงเท่านั้น เพราะมันคือการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานโดยดูจากสิ่งที่เคยทำ ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ดีอยู่แล้วและจุดบกพร่อง เพื่อให้นำไปปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ดี หากเป็นฟีดแบ็กในเชิงบวก สามารถชื่นชมต่อหน้าธารกำนัลได้เลย ใคร ๆ ก็ชอบคำชมเชย เพราะมันดีต่อใจ ช่วยให้ใจฟู มีกำลังใจที่จะทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นฟีดแบ็กเชิงลบ เช่น การตำหนิ การตักเตือน ให้เรียกคุยเป็นการส่วนตัว อย่าประจานให้คนอื่นได้ยินหรือรับรู้ เพราะดูไม่มืออาชีพ และบั่นทอนกำลังใจให้รู้สึกอับอาย

ใช้ข้อเท็จจริง เป็นกลาง ไม่อคติ
ข้อควรระวังในการให้ฟีดแบ็กเพื่อนร่วมงาน คือ อย่าใช้อารมณ์และอคติส่วนตัวตัดสินใคร ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เห็นได้จากผลงานที่เขาทำ พยายามมองอย่างเป็นกลางที่สุด เสนอแนะอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้าที่เห็น ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ตักเตือนและชี้แนะ และในกรณีที่มีเรื่องผิดพลาด ขอให้เข้าใจว่าไม่มีใครอยากจะให้เกิดเรื่องขึ้น ดังนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเรื่องไม่พึงประสงค์ไม่ใช่ความตั้งใจของใคร ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ใส่อารมณ์ ไม่ใช้วาจาสร้างความแตกแยก ขัดแย้ง อคติ ความเข้าใจผิด เพื่อให้คนฟังเปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและคำวิจารณ์เชิงลบได้

วิจารณ์ที่ตัวผลงานไม่ใช่ตัวบุคคล
เมื่อต้องให้ฟีดแบ็กกับเพื่อนร่วมงาน ขอให้แยกแยะให้ดีระหว่างความเป็นปัจเจกบุคคลกับผลงานที่เขาทำ ถ้าพฤติกรรมของเขาไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการทำงาน เขาไม่ได้ทำอะไรผิด แค่อาจจะไม่ค่อยถูกใจ ก็อย่าล้ำเส้นเข้าไปตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวตนของเขา แต่ให้โฟกัสที่ตัวผลงานที่เขาทำเท่านั้น โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ความสมเหตุสมผลอย่างเป็นมิตร เพราะปกติสถานการณ์แบบนี้มักจะไม่ค่อยชื่นมื่นเท่าไร คนส่วนใหญ่กลัวจะถูกตำหนิ จึงกล้า ๆ กลัว ๆ เกร็ง ๆ ด้วยความกดดันว่าจะทำอะไรที่ไม่เข้าท่า มันจะช่วยสถานการณ์ที่ทึม ๆ ดีขึ้น

ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม ไม่กำกวม
มันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากสักหน่อยเวลาที่จะให้ข้อเสนอแนะใคร หรือต้องวิจารณ์ใครในด้านลบ โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานอยู่ด้วยกันทุกวัน แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเราพยายามจะสื่อสารกับอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอารมณ์และอคติมาเกี่ยวข้อง พูดตามเนื้องานที่เห็นล้วน ๆ อีกฝ่ายก็จะมีวุฒิภาวะมากพอที่จะเปิดใจรับฟังคำแนะนำนั้นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขโดยไม่มานั่งคิดเล็กคิดน้อยว่าตนเองกำลังโดนกลั่นแกล้ง เพียงแต่ต้องพยายามทำให้ถูกต้อง พูดให้ตรงประเด็นไปเลย ไม่ต้องอ้อมค้อม หรือทำให้กำกวมจนเกิดความเข้าใจผิด เพราะมัวแต่เกรงใจไม่กล้าพูดตรง ๆ

รู้กาลเทศะ
การจะให้ฟีดแบ็ก หรือติชม หรือวิจารณ์ใคร ควรทำให้ถูกกาลเทศะ ถูกที่ถูกเวลาด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น การติชมผลงานของใครสักคน ถ้าไม่ใช่การทำงานที่ผิดคำสั่ง กรณีที่ว่าเขาไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องทำอะไรแล้วทำอีกอย่างนอกเหนือจากที่สั่ง ก็ควรปล่อยให้เขาได้ทำผลงานออกมาสำเร็จเสียก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปขัดกลางลำรีบวิจารณ์ในสิ่งที่ยังไม่เสร็จ จนทำให้เขาสะดุด การหยุดชะงักมันอาจทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจที่จะทำต่อ เพราะขั้นตอนการทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แรก ๆ มันอาจจะดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ถ้างานออกมาถูกต้องมันก็โอเค

อย่าละเลยความสำคัญของทักษะในการสื่อสาร
การสื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพจะนำมาซึ่งความสัมฤทธิ์ของผลลัพธ์ การให้ฟีดแบ็กเพื่อนร่วมงานก็เช่นกัน อย่าละเลยหัวใจของการสื่อสาร ซึ่งก็คือ “ภาษา” ภาษาในการสื่อสารจะรวมเอาทั้งวัจนภาษา พวกคำพูด ข้อความ และอวัจนภาษา หรือภาษากาย การแสดงออกท่าทางระหว่างสนทนา การใช้น้ำเสียงที่ไม่เจือปนอารมณ์ วิธีการพูดที่ไม่ชวนให้เกิดดราม่าจนนำไปสู่การทะเลาะวิวาท การใช้คำกำกวมชวนให้เข้าใจผิด เป็นต้น เรื่องทักษะในการสื่อสารนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่แท้จริงแล้วมันคือหัวใจที่จะช่วยให้การให้ฟีดแบ็กผู้อื่นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้เลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook