ความรักไม่จำกัดเพศ ความรักไม่ได้มีได้แค่ชาย-หญิง
ความรัก เป็นสิ่งสวยงามของโลกใบนี้ที่ใคร ๆ ก็ปรารถนาที่จะมี เป็นความต้องการพื้นฐานทางด้านจิตใจเมื่อมนุษย์ต้องเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความต้องการอยู่รวมเป็นกลุ่ม ต้องการการยอมรับให้เป็นหนึ่งในสมาชิก อยากเป็นส่วนหนึ่ง อยากมีส่วนร่วม กระทั่งเกิดเป็นความผูกพันระหว่างความสัมพันธ์ขึ้นมา ในความผูกพันนั้นก็อาจมีความรู้สึก “รัก” ตามมาด้วย เริ่มจากความชอบ มีใจ ห่วงใย เสน่หา ความต้องการฉันชู้สาว และอีกประการที่สำคัญ ความรักก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สนับสนุนการสืบพันธุ์ เพื่อให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นิยามของความรักไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นความรู้สึกในความสัมพันธ์แบบคู่รักเท่านั้น ใคร ๆ ก็สามารถมีความรักให้กับใครหรือสิ่งใดก็ได้ เหมือนอย่างที่เรารักพ่อแม่ รักญาติพี่น้อง รักเพื่อน รักสัตว์เลี้ยง รักวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ฉะนั้น มันยังมีความรักอีกหลายรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องหาคำจำกัดความให้กับมันก็ได้ แค่ปล่อยให้เป็นเรื่องของความรู้สึก ตราบใดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น หรือไม่ได้ผิดลูกผิดเมียใครจนเข้าข่ายหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมและสำนึกผิดชอบชั่วดี
อีกประเด็นของความรักที่น่าสนใจในยุคสมัยปัจจุบันก็คือ “ความรักที่ไม่จำกัดเพศ” ในเมื่อความรักสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เราจะรู้สึกรักและผูกพันกับใครหรืออะไรก็ได้ แม้แต่กับสิ่งไม่มีชีวิตก็ตาม มันจึงไม่จำเป็นที่จะต้องถูกล้อมกรอบด้วยนิยามของเพศ ซึ่งโดยทั่วไปสังคมและวัฒนธรรมก็มักจะกำหนดว่าเพศก็คือ “ชาย” หรือ “หญิง” เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง โลกใบนี้ยังมีเพศอีกหลากหลายตามที่จิตใจของเราจะเลือกนิยาม ดังเช่นการเกิดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมา พวกเขาหลุดออกจากชายหรือหญิงที่สังคมกำหนดไปแล้ว เพราะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเป็น
ความรักที่อิสระ ต้องไม่ถูกจำกัดความว่าเป็นเรื่องของเพศไหน
ในเมื่อโลกใบนี้ยังมีความหลากหลายทางเพศอยู่อีกมากมาย ไม่ได้มีแค่ “หญิง” และ “ชาย” ที่ถูกแบ่งตามเพศสภาพของสรีระและอวัยวะที่บ่งบอกเพศ ความรักที่เกิดขึ้นจริง ๆ จึงไม่เคยถูกจำกัดเพศ มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าชายต้องคู่กับหญิงอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันความรักมีหลายรูปแบบกว่านั้น เพียงแต่ในอดีตกรอบความคิดและมายาคติต่าง ๆ คอยจำกัดให้ความรักของหญิงชายเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับ และมองว่าความรักที่แท้จริงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนรักเพศเดียวกัน ทำให้ความรักแบบหญิงรักหญิง ชายรักชาย และอื่น ๆ กลายเป็นเรื่องที่ต้องปิดบังเป็นความลับช่วงหนึ่ง
ปัจจุบัน หลาย ๆ สังคมเริ่มเปิดกว้างและค่อย ๆ เปิดใจยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และความรักในรูปแบบของคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น อย่างในโลกของวรรณกรรม ความรักในลักษณะนี้ถูกสอดแทรกและถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้อยู่เสมอ สร้างความเข้าใจว่าคนที่รักเพศเดียวนั้นไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากความรักทั่วไป มันจึงค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องที่ปกติขึ้นมาในยุคปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่สามารถนำเสนอความรักในมุมที่แตกต่างได้อย่างเปิดเผย ทว่ายังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางด้วย กระนั้น โลกของวรรณกรรมก็ยังมีบางมุมที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง และยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ดังนั้น ความรักที่ไม่จำกัดเพศอาจไม่จำเป็นต้องพยายามคิดอะไรให้ยาก แค่เข้าใจว่าความรักมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องของคู่ชายหญิงเพียงเท่านั้น แต่มันอยู่ที่ว่าเป็นเรื่องของใครรักกับใครมากกว่า ความรักที่ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการอยู่กินฉันสามีภรรยา ที่ความหมายของสามีและภรรยา คือ “ชายที่เป็นคู่ครองของหญิง” และ “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย” แต่เป็นคู่ชีวิต ที่สามารถอยู่กินกันได้ฉันคู่สมรส อยู่เคียงข้างกันและกันไปจนแก่เฒ่า หรือจนกว่าจะตายจากกันไปข้าง
เมื่อ “เพศ” กลายเป็นอุปสรรคของความรัก
ถ้านิยามว่าความรักเป็นเรื่องชายหญิงแล้วล่ะก็ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วคนที่เขาไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นชายหรือหญิงล่ะ แปลว่ามีความรักไม่ได้อย่างนั้นหรือ การกำหนดเพศในความรักจะทำให้เพศกลายเป็นอุปสรรคของความรักไปในทันที อันที่จริง แม้ว่าทุกวันนี้สังคมจะเปิดกว้างเรื่องเพศที่หลากหลายมากกว่าในยุคก่อน ๆ แต่พอพูดถึงความรัก กลับกลายเป็นว่าต้องจัดหมวดหมู่ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศออกไปต่างหาก ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ การแยกออกไปเป็น “ความรักของคนเพศเดียวกัน” เพราะถ้าพูดถึง “ความรักทั่วไป” จะไม่เห็นภาพความรักลักษณะนี้ขึ้นมาเด่นชัดเท่าความรักของคู่ชายหญิง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการที่คู่รักเพศเดียวกันหลาย ๆ คู่ไม่สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยได้ว่าเป็นคู่รักกัน ต้องเก็บเป็นความลับเพราะกลัวจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานและสถานะทางสังคม รวมถึงด่านยากที่สุดอย่างครอบครัว ถ้าผู้ใหญ่บ้านไหนใจกว้างพอ สามารถเปิดใจรับต่อความหลากหลายทางเพศได้ เปิดกว้างและเข้าใจความรักไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดให้เป็นเรื่องของชายหญิงเท่านั้นก็นับว่าเป็นเรื่องโชคดี แต่ในความเป็นจริงอันน่าขมขื่น ผู้ใหญ่เปิดกว้างแบบนี้มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้น มีแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่โชคดีแบบนี้
มันไม่ง่ายเลยหากคู่รักที่มีเพศสภาพเดียวกันจะแสดงออกว่าเป็นคู่รักกันได้อย่างเปิดเผยเหมือนคู่ชายหญิง ถ้าหากมีสายตาที่มองเข้ามาอย่างมีอคติและตั้งคำถาม และไหนจะอีกสารพัดสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรังเกียจและรังแกให้เป็นเหยื่อความรุนแรง ให้กลายเป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ การถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกตราหน้าว่าผิดเพศผิดปกติทางจิต ถูกล้อเลียนส่อเสียด ถูกประทุษร้ายร่างกายทั้งกายและวาจา ความเกลียดชังมันรุนแรงขนาดที่ลุกขึ้นมากระทำราวกับว่าพวกเขาไม่ใช่คน ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งที่พวกเขาก็เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากเรา ๆ ทั้งหลายเลย
ความรักระหว่าคน 2 คนควรจะสวยงามในแบบของมันเอง เพราะความรักเป็นความรู้สึกที่มาจากจิตใจ ไม่ใช่มาจากนิยามของสังคมว่าจะต้องหญิงชายเท่านั้นถึงจะรักกันได้ แต่การไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และกำหนดว่าเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้นถึงจะเป็นคู่รักได้ ทำให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องดิ้นรน ต่อสู้ เรียกร้องถึงสิทธิ เสรีภาพ ความชอบธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนและคู่รักทุกคู่พึงได้รับอย่างเสมอภาค เหตุใดการจะมีความรักในแบบที่พวกเขาต้องการ จึงต้องพิสูจน์อะไรมากมายทั้งที่คู่ชายหญิงไม่เห็นจำเป็นจะต้องทำ
เป็นคู่ชีวิต แต่ไม่อาจได้สิทธิ์สมรส
ความรักที่ไม่สามารถก้าวข้ามคำว่าหญิงชายไปได้ ยังปรากฎในรูปของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 1448 ได้บัญญัติสิทธิการสมรสไว้เฉพาะเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสโดยชอบตามกฎหมายได้ คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับสิทธิที่พึงได้จากการใช้ชีวิตคู่ ง่าย ๆ ก็คือกฎหมายบ้านเราสงวนการใช้ชีวิตคู่แบบชอบธรรมไว้เฉพาะเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น
ซึ่งการไม่ได้รับสิทธิที่พึงได้จากการใช้ชีวิตคู่นี่เองที่เป็นปัญหา แค่พวกเขาไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ความรักของพวกเขาก็ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว ส่งผลถึงเรื่องความมั่นคงของชีวิตในอนาคต สิทธิต่าง ๆ ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย แม้กระทั่งเรื่องฉุกเฉินเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล คนกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ไม่มีสิทธิที่จะดูแลคนรักของตนเองได้ ไม่สามารถเซ็นอนุญาตอะไรได้ ซึ่งถ้าหากเกิดเป็นอะไรร้ายแรงหรือฉุกเฉิน นี่เป็นข้อจำกัดที่พวกเขาไม่สามารถยื้อชีวิตคนรักของตัวเองได้เช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มหลากหลายทางเพศคาดหวังในเรื่องของกฎหมายก็คือ การมีสิทธิ์ในการสมรสตามกฎหมายเหมือนคู่สมรสชายหญิง ใน “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” มีการขอสิทธิต่าง ๆ เช่น
สิทธิในการหมั้น การแต่งงาน
การจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน
สิทธิในการรับมรดก
การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
สามารถทำนิติกรรมบางอย่างร่วมกันได้
มีอำนาจจัดการแทนคู่สมรสในคดีอาญา
สิทธิในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายกลายเป็นคนไร้ความสามารถหรือวิกลจริต
สิทธิในการเซ็นยินยอมให้คู่สมรสได้รับการรักษาพยาบาล
สิทธิในการจัดการศพ
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกลับถูกพยายามแทนที่ด้วย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ แตกต่างกันทั้งในเชิงหลักการและเชิงปฏิบัติ นั่นหมายความว่าหากอนาคต กฎหมายบังคับใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตจริง ๆ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้รับจากการเป็นคู่ชีวิตอยู่ดี ไม่มีสิทธิ์ที่จะสมรสกันให้ถูกกฎหมายด้วยซ้ำกรณีของ “สมรสเท่าเทียม” กฎหมายจะนิยามว่าเป็น “คู่สมรส” เหมือนกันหมด ไม่ใช่ “สามี-ภรรยา” ที่มีกรอบของเพศชายและหญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง แก้ไขการระบุเพศ “ชาย-หญิง” มาใช้คำว่า “บุคคล” เพื่อให้ครอบคลุมเพศที่ไม่ใช่ชายหญิง จะทำให้ทุกคู่มีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจึงสามารถสร้างครอบครัว และใช้ชีวิตคู่แบบที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเหมือนคู่สมรสทั่วไป
ในขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นเพื่อใช้กับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ “โดยเฉพาะ” โดยที่ยังได้รับสถานะ สวัสดิการ และสิทธิไม่เท่าเทียมคู่สมรสชายหญิง ซึ่งหากพิจารณาดี ๆ ก็เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจน เพราะยังมีความแตกต่างของคู่ชีวิตและคู่สมรส และไม่ได้ยึดหลักว่าคู่รักทุกคู่ควรมีสิทธิ์และถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันในทางกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งมันไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์กับคนกลุ่มนี้ให้เหนือกว่าคู่สมรสชาย-หญิงเดิม แต่มันคือการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนและคู่รักทุกคู่พึงได้รับ