Mom & Dad Guilt : เราเป็นพ่อแม่ที่ดีพอไหม? ภาวะหนักใจของพ่อแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ

Mom & Dad Guilt : เราเป็นพ่อแม่ที่ดีพอไหม? ภาวะหนักใจของพ่อแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ

Mom & Dad Guilt : เราเป็นพ่อแม่ที่ดีพอไหม? ภาวะหนักใจของพ่อแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีคำถามนี้ในหัว

“ฉันเป็นพ่อ/แม่ที่ดีพอไหมนะ?”

เริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับพ่อแม่คนอื่น ๆ ที่ดูสมบูรณ์กว่า เพียบพร้อมกว่า ลูกพัฒนาการเร็ว เดินได้ไว พูดได้เก่ง สองขวบว่ายน้ำได้แล้ว ฯลฯ เราอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง เป็นตัวถ่วงลูก ทำอะไรผิดพลาดตรงไหน รู้สึกแย่กับตัวเอง กังวลต่าง ๆ นานา นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Mom & Dad Guilt” หรือความรู้สึกผิดของการเป็นพ่อแม่นั่นเอง

สำหรับคุณแม่แล้วความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเหมือนว่าคุณไม่ได้ทำให้ลูกมากพอ ยกตัวอย่างเช่นลูกเกิดมาแล้วไม่มีน้ำนมให้ลูกก็โทษตัวเองว่าไม่ได้ดูแลสุขภาพมากเพียงพอ บางทีลูกอาจจะตัวเล็กจนต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าที่คิด หรือร้ายแรงถึงขั้นเข้าของ NICU บางคนผ่านพ้นช่วงนั้นมาแล้วเจอปัญหาเรื่องการดูแลลูกที่ไม่เป็นไปตามคาดอย่างลูกไม่ยอมให้อุ้ม ไม่งับเต้า ไม่ยอมนอน พัฒนาการอาจจะช้าไปกว่าเด็ก ๆ คนอื่นนิดหน่อย ตัวเล็กไป โตไป น้ำหนักไม่ได้ ป่วยบ่อย (ซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้ป่วยจริงๆก็มี) แม่บางคนรู้สึกผิดที่ต้องกลับไปทำงานหลังจากวันลาคลอดหมดลงไปด้วย รู้สึกผิดที่ต้องทำงานเต็มเวลา ไม่มีเวลาให้เหมือนแม่ที่ลาออกมาเลี้ยงลูกอย่างเดียว

สำหรับคุณพ่อเองก็มีความรู้สึกผิดไม่ต่างกับคุณแม่ เพราะแนวคิดของสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกนั้นได้เปลี่ยนไปแล้วจากสมัยก่อน คุณพ่อในยุคนี้มีส่วนช่วยกับการเลี้ยงลูกไม่น้อยไปกว่าคุณแม่ แบ่งเบางานและเลี้ยงดูเด็ก ๆ ในบ้านที่เกิดมาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นในฐานะพ่อก็มีหลายครั้งที่รู้สึกผิดอย่างเช่นการต้องทำงานเต็มเวลาเพื่อหาเงินมาให้ครอบครัว แต่กลับไม่ได้ใช้เวลากับลูกอย่างที่ต้องการ บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อที่ไม่ได้เรื่อง อยากสอนลูกให้ดี แต่กลับโดนคนรุ่นปู่รุ่นย่าด่าทอว่าเลี้ยงลูกไม่ได้เรื่อง ทำอะไรก็ดูผิดที่ผิดทาง ไม่ดีพอสักอย่าง

วัฒนธรรมและสังคมเองก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ความรู้สึกนี้ยิ่งชัดเจนและเลวร้ายลงไปมากกว่าเดิม บอกว่าพ่อแม่ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ต้องคิดบวก ต้องพูดกับลูกยังไง เลี้ยงลูกตามหมอคนนี้ ป้าข้างบ้านมาอวดลูกตัวเองที่เพิ่งเรียนติดหมอ หลานตัวเองที่เพิ่งสอบเข้าอนุบาลหนึ่งโรงเรียนดังได้ พ่อแม่ตัวเองที่กดดันทุกอย่างทุกด้าน แถมไม่พอยังเจอโซเชียลมีเดียที่คนอวดลูกกันเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเราทำไม่ได้เหมือนอย่างเขาหรือผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาอย่างที่คาดหวัง รังแต่จะเสียสุขภาพจิต นอยแดกและรู้สึกผิดตามมาอย่างช่วยไม่ได้

เจ้าความรู้สึกผิดนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่เรามองตัวเอง รู้สึกตัวเองไม่ได้เรื่อง เป็นพ่อแม่ที่แย่ และทำให้ความมั่นใจลดลงไปด้วย บางคนถึงขั้นอับอายในสิ่งที่ตัวเองเป็นเลยทีเดียว ซึ่งถ้าวความรู้สึกนี้ไม่ได้รับการจัดการแบบเร่งด่วน ปัญหาจะยิ่งฝังรากลึกลงไปเรื่อย ๆ แม่บางคนที่ประสบกับเรื่องโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) หรือมีความวิตกกังวลอยู่แล้วจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม จากสถิติแล้วแม่ 1 ใน 7 คนจะเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้าในช่วง 3 เดือนแรกของการมีลูก และ 1 ใน 5 ภายในปีแรก ส่วนคุณพ่อจะอยู่ที่ประมาณ​ 1 ใน 10 ซึ่งถ้าไม่รีบดูแลอาจจะนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เลวร้ายอย่างการทำร้ายตัวเอง ครอบครัว หรือลูก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

ข้อสังเกตว่าตอนนี้คุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่รู้สึกผิดอยู่รึเปล่า

1. หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับ - มนุษย์ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามจะไม่อยากเผชิญหน้ากับความรู้สึกในด้านลบของตัวเองทั้งสิ้น คนที่เป็นพ่อแม่อย่างเราก็เช่นกัน พยายามหาทางหลบหลีก เลี่ยงไม่ยอมรับถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างใน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เวลานั่งทานข้าวก็จะเงียบ ๆ นั่งเล่นมือถือ หรือบางคนก็หนีไปทำอย่างอื่นเช่นทำงานหนักล่วงเวลาเพื่อไม่ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกแย่ ๆ ที่อยู่ข้างใน

2. ตามใจตัวเอง - พ่อแม่บางคนอาจจะรับมือแบบผิด ๆ โดยการหาอะไรที่เป็น ‘ความสุขแบบทันที’ (Instant Gratification) มาเติมในชีวิตตลอดเวลาอย่างการกินด้วยอารมณ์ (กินของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ กินเยอะ ๆ - Emotional Eating) ดื่มแอลกอฮอล์หนัก ๆ ใช้สารเสพติด หรือใช้เวลาบนมือถือและโซเชียลมีเดียตลอดเวลา

วิธีการรับมือกับความรู้สึกแบบนี้ต้องทำยังไง

1. ให้เวลากับตัวเองสักหน่อย - พ่อแม่คือมนุษย์ เราทุกคนทำผิดพลาดกันได้ เด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือการใช้งาน (ซึ่งขนาดว่ามีคู่มือการใช้งานหลายคนยังไม่อ่านเลย) เพราะฉะนั้นให้เวลากับตัวเองได้เรียนรู้การเป็นพ่อแม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นงานที่หนักมากที่สุดอย่างหนึ่งในโลกเลย (ใครบอกพ่อแม่สบาย ขอเถียงขาดใจเลย) การเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่งโดยไม่มีพี่เลี้ยงหรือว่าปู่ย่าตายายมาแตะมือเปลี่ยนถือว่าหินสุด ๆ จำเอาไว้ว่าการเป็นพ่อแม่ไม่มีคู่มือที่ดีที่สุด การอ่านหนังสือเป็นล้านเล่มก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะพร้อมและทำได้ทันที ทุกอย่างต้องมาจากประสบการณ์ลงมือทำทั้งสิ้น อุ้มลูกแบบไหนลูกถึงนอนหลับ ตบหลังให้ลูกเรอทำยังไง หรือบางทีการป้อนข้าวลูกให้ไม่เละเทะเหมือนสงครามโลกมีวิธีการแบบไหน เมื่อเหนื่อยก็แตะมือกับคนข้าง ๆ บอกขอพักแป๊บหนึ่ง อาจจะไปออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ไปเดินเล่นซื้อของซุปเปอร์มาเก็ต หรือแม่แต่การนั่งหลับตาเฉย ๆ สักครึ่งชั่วโมงก็ช่วยได้ไม่น้อยเลย ที่สำคัญให้เวลากับตัวเองบ้าง

2. ตบบ่าตัวเองบ่อย ๆ แล้วบอกตัวเองว่า ‘คุณกำลังทำได้ดีแล้ว’ - การบอกตัวเองแบบนี้คือการแสดงความรักต่อตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก ปลอบตัวเอง แสดงความเห็นอกเห็นใจให้ตัวเองบ่อย ๆ ยิ่งต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากลำบาก รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีเพียงพอ รักตัวเองให้มาก ยอมรับในสิ่งที่เป็น เราไม่ได้สมบูรณ์แบบและกำลังพยายามอย่างเต็มที่ มองไปรอบตัวจะทราบดีว่าคุณไม่ได้รู้สึกแบบนี้อยู่คนเดียว อาจจะลองเข้าไปในกลุ่มของพ่อแม่มือใหม่เพื่อพูดคุยกับพ่อแม่คนอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับอารมณ์หม่นเศร้าคล้ายกัน ลองฝึกการนั่งสมาธิให้มีสติอยู่ปัจจุบันขณะให้มากขึ้น เพื่อให้เห็นว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ไม่ต้องตัดสินว่าถูกหรือผิด เพียงแค่รับรู้แล้วก็ปล่อยวางลงไป

3. พูดกับคู่รักของคุณบ่อย ๆ - สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้เรื้อรังและไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วก็คือการไม่พูดคุยถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างในให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนที่เป็นคู่ครองที่กำลังร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคุณ เก็บงำเอาไว้คนเดียวเพราะคิดว่าจะจัดการมันได้หรืออะไรก็ตามแต่ ในสถานการณ์ที่รู้สึกแบบนี้ให้พูดคุยกับคู่ครองให้เร็วที่สุดครับ

4. เข้าสังคมบ้าง - การเป็นพ่อแม่นั้นถือเป็นงานที่หยุดไม่ได้ เข้าแล้วลาออกกลางคัน ยื่นซองขาวแจ้งล่วงหน้าสองอาทิตย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีปลดปล่อยความเครียดบ้างถ้ามันสะสม วิธีที่ดีที่สุดคือการโทรคุยกับเพื่อน หรือนัดเมาท์กันกับกลุ่มพ่อแม่ ในที่นี้ไม่ได้มาอวดหรือแข่งลูก (อันนี้จะยิ่งเครียด) แต่เป็นการคุยกันว่ารับมือกับแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง ช่วยกันปลอบใจกัน หรืออาจจะหาพี่เลี้ยงมาช่วยสักวันหนึ่งต่ออาทิตย์อะไรแบบนี้ก็ได้ เวลาทำงานยังมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ให้ผ่อนคลาย การเลี้ยงลูกก็ควรมีช่วงเวลาเว้นว่างบ้าง

5. เข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่จำเป็น - เอาหล่ะครับถ้าทุกอย่างที่กล่าวมาไม่ได้ผล คุณยังรู้สึกผิดและไม่สามารถหาทางแก้ไขความรู้สึกที่ว่าคุณไม่ได้เรื่องหรือเป็นพ่อแม่ที่ห่วยแต่ เครียด ซึมเศร้า มีความคิดด้านลบ (ทำร้ายตัวเอง หรือคนรอบข้าง) ขอให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วนครับ ซึ่งการไปพบแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย ทุกคนเครียดในระดับที่แตกต่างกัน การเดินเข้าไปเจอแพทย์ใช้ความกล้าหาญและหัวใจที่เด็ดเดี่ยวด้วยซ้ำ ในการรักษาแพทย์จะค่อย ๆ เจาะลงไปเรื่อย ๆ ว่ารากของปัญหาอยู่ตรงไหนแล้วก็ค่อย ๆ รักษาจากตรงนั้น อาจจะเป็นปัญหาที่คุณไม่เคยรู้เลยว่ามีมาก่อนอย่างความสัมพันธ์ของคุณกับพ่อในวัยเด็กหรือความเครียดจากเรื่องงานที่คุณต้องรับผิดชอบ การพบแพทย์ไม่ได้ดีสำหรับตัวคุณเองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนรอบตัวและชีวิตน้อย ๆ ที่ต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่จากคุณอีกคนด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook