สัญญาณว่าบริษัทมีปัญหา และคุณอาจตกงานกะทันหัน

สัญญาณว่าบริษัทมีปัญหา และคุณอาจตกงานกะทันหัน

สัญญาณว่าบริษัทมีปัญหา และคุณอาจตกงานกะทันหัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้ข่าวสั่งปลดพนักงานในสังกัดของบริษัทต่าง ๆ ทั้งธุรกิจในประเทศและธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีให้เห็นเป็นว่าเล่นแทบจะวันเว้นวัน ปัจจัยหลัก ๆ ก็คือ เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และบางบริษัทก็สถานการณ์เลวร้ายจนไม่ได้ไปต่อ ประกาศปิดกิจการกะทันหัน มีผลให้พนักงานปัจจุบันทั้งหมดของบริษัทนั้นกลายเป็นว่าที่คนตกงานในทันที เรื่องราวที่ของคนที่ตกงานอย่างกะทันหันมันเกิดขึ้นเร็วมากแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น จากคนมีงานทำ มีรายได้ก็เตรียมเข้าสู่วงการคนว่างงานได้เลย

อันที่จริง ก่อนที่แต่ละบริษัทจะใช้มาตรการปลดพนักงานหรือปิดกิจการ มักจะไม่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ส่วนใหญ่จะมีเค้าลางให้เห็นมาสักพักใหญ่ ๆ แล้วว่าสถานการณ์ของบริษัทเริ่มไม่สู้ดี ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าพวกผู้บริหารหรือหัวหน้าพยายามจะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่พนักงานธรรมดาไม่ค่อยรู้สึกอะไร และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในทุก ๆ ที่ ก่อนที่คุณจะพบว่าตนเองอาจได้เปลี่ยนสถานะจากมนุษย์เงินเดือนไปเป็นคนว่างงาน สามารถสังเกตจากสิ่งใดได้บ้าง

1. ถูกกดดันในการทำงาน
ในเบื้องต้นของบริษัทที่เริ่มมีปัญหา ก็คือการที่งานเข้าบริษัทน้อยลงหรือแทบไม่เข้าเลย เมื่อไม่มีลูกค้าจ้างงาน ก็ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกตัวเลขเหล่านี้พนักงานตัวเล็ก ๆ จะไม่ค่อยทราบรายละเอียดเท่าไรนัก แต่ในขณะเดียวกันคนทำงานจะเริ่มถูกกดดันหนักขึ้น เริ่มมีการตั้งดัชนีวัดผลพนักงานแบบโหดขึ้น เช่น ฝ่ายขายอาจจะถูกบัญชาลงมาตรง ๆ เลยว่าเดือนนี้ต้องได้ลูกค้ากี่เจ้า ต้องทำยอดได้ไม่ต่ำกว่ากี่ล้าน ถ้าทำไม่ได้ต้องพิจารณาตนเอง ส่วนฝ่ายอื่น ๆ ก็ไม่รอด โดนกดดันตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ เวลาประเมินผลงานก็อาจถูกประเมินต่ำกว่าเกณฑ์

2. บรรยากาศตึงเครียด
จริง ๆ แล้วพนักงานกินเงินเดือนอย่างเรา ๆ อาจจะไม่ค่อยได้รู้ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทเท่าไรนัก อย่างออฟฟิศเล็ก ๆ ที่มีพนักงานไม่กี่คน ส่วนใหญ่พนักงานจะไม่รู้หรอกว่าสถานการณ์ของบริษัทเป็นอย่างไร แค่สนใจเฉพาะงานตัวเองก็นั่งก้นติดเก้าอี้ทั้งวันจนแทบไม่ได้ลุกไปไหนแล้ว แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มรู้สึกได้ว่าบรรยากาศของความตึงเครียดเริ่มกล้ำกราย โดยเฉพาะอารมณ์ของผู้บริหาร ถ้าเริ่มสังเกตว่าได้ว่าการปรากฏตัวของคนใหญ่คนโตของบริษัททำให้บรรยากาศในออฟฟิศตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ชอบเรียกหัวหน้าไปถกนาน ๆ แปลว่าเริ่มส่งเค้าลางที่ไม่ดีแล้ว

3. ผู้บริหารเริ่มอยู่ไม่สุข
จากข้อที่แล้ว หากเริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศตึงเครียดในที่ทำงาน ให้ลองสังเกตจากเหล่าผู้บริหารดู จำไว้ว่าเวลาที่มีข่าวไม่สู้ดีเกี่ยวกับบริษัท ผู้บริหารระดับสูงมักจะรู้ก่อนใครอยู่แล้วเพราะพวกเขาทำหน้าที่บริหาร พวกเขาจะรู้สถานการณ์ของบริษัทดี ถ้าบริษัทไปได้ไม่สวย ผลประกอบการไม่ดี รายได้บริษัทน้อยลง ขาดทุนย่อยยับ ผู้บริหารแต่ละฝ่ายก็จะเริ่มอยู่ไม่สุขแล้ว ต้องลงมาจัดการเอง พยายามวิ่งเต้นเพื่อแก้ปัญหาและประคับประคองบริษัทไว้ พวกเขาก็เลยดูเครียด ๆ กันตลอดเวลา นั่นแปลว่าถ้าเห็นว่าผู้บริหารดูวุ่นวานผิดปกติ คุณอาจกำลังจะตกงานในไม่ช้า

4. มีการออกกฎที่รัดกุมขึ้น
เมื่อบริษัทมีปัญหา ผู้บริหารมักจะมีการปรับกลยุทธ์การบริหารใหม่ จึงทำให้มีนโยบาย กฎ หรือมาตรการออกใหม่มารองรับกลยุทธ์นั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากสถานการณ์การเงินของบริษัทไม่สู้ดี รายได้น้อยลง รายจ่ายเยอะจะถึงขั้นขาดทุน ผู้บริหารก็จะมีกฎประเภทรัดเข็มขัดออกมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนของบริษัท ตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ถ้าเข้มงวดถึงขนาดนี้แล้วยังขาดทุนอยู่อีก ขั้นต่อไปก็คงถึงทีต้องสั่งปลดพนักงานหลายอัตราเพื่อตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนของพนักงานกลุ่มนี้ลง และถ้ายังไปต่อไม่ไหวอีก ก็คงถึงขั้นปิดกิจการล้มหายตายจากแล้วล่ะ

5. งานที่มีให้ทำน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
มนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยยิ้มกริ่มเมื่อรู้สึกว่างานที่ตัวเองรับผิดชอบนั้นน้อยลง หากที่ผ่านมาแต่ละคนเคยหัวฟู ปั่นงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ แต่รู้ไหมว่านี่คือสัญญาณอันตรายมาก ๆ ต่อหน้าที่การงานของคุณ โดยอาจมองกว้าง ๆ ได้ 2 ทาง คือ เป็นสัญญาณว่าคุณไม่เป็นที่ต้องการของบริษัทอีกต่อไปแล้ว ก็เลยไม่มอบหมายงานใหม่ ๆ ให้ ส่วนอีกทางก็คือ เพราะบริษัทก็ไม่มีงานจ้างเข้ามาเหมือนกัน เจ้านายหรือหัวหน้าก็เลยไม่มีงานอะไรจะมอบหมายให้คุณทำ ในกรณีนี้ ถ้าบริษัทแบกรับความขาดทุนไม่ไหวก็อาจจะปิดตัวลงในไม่ช้า ที่นี้ล่ะได้ว่างยาวแบบไม่ต้องทำงานเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook