วิธีปลอบใจ ให้กำลังใจ แก่เพื่อนร่วมงานที่กำลังทุกข์ใจ

วิธีปลอบใจ ให้กำลังใจ แก่เพื่อนร่วมงานที่กำลังทุกข์ใจ

วิธีปลอบใจ ให้กำลังใจ แก่เพื่อนร่วมงานที่กำลังทุกข์ใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าใครหลายคนจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานนั้นมันค่อนข้างจะเปราะบาง ต่างคนต่างไม่ได้รู้สึกถึงมิตรภาพที่ลึกซึ้งขนาดนั้น สัมผัสไม่ได้ถึงความใกล้ชิดกันทางใจและความรู้สึก เพียงแค่ต้องทำงานร่วมกันเท่านั้นเอง แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นเพื่อนร่วมงานของเรามีอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ดูมีความว้าวุ่นใจ เป็นกังวล เครียด ซึม ๆ เศร้า ๆ เป็นแบบนี้อยู่หลายวันก็ยังไม่กลับมาเป็นปกติ มันก็อาจจะดูแล้งน้ำใจไปหน่อยหากเราเมินเฉยปล่อยผ่านไป ดีไม่ดีการเมินใส่เพื่อนร่วมงานในวันนั้น อาจนำพาเรื่องใหญ่ตามมาก็ได้

ถ้าเราสังเกตเห็นความผิดปกติของเพื่อนร่วมงานมาสักระยะ โดยที่เขาไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย เราอาจต้องแสดงความมีน้ำใจกับเขาสักหน่อยด้วยการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ แสดงให้เขาเห็นว่าเรายังสนใจเขาอยู่นะ เขาไม่ได้ไร้ตัวตนหรือกำลังต่อสู้อยู่เพียงลำพัง เพราะปกติแล้วคนเราทุกคนต้องการเป็นที่ยอมรับและเป็นคนสำคัญของใครสักคน เพียงแค่เราทำให้เขารู้สึกว่าเขายังเป็นคนสำคัญในทีม พวกเขาก็จะได้รู้ว่าอย่างน้อยยังมีเพื่อน (ที่ไม่สนิทกัน) ที่อยู่ข้าง ๆ เวลาที่เขามีปัญหา เมื่อเห็นว่าพวกเขากำลังเป็นทุกข์หรือเศร้าใจ เราจะเริ่มปลอบใจเขาอย่างไรดี

แสดงความห่วงใยอย่างจริงใจ
ต้องเริ่มจากท่าทีของเราก่อน เมื่อเห็นว่าเพื่อนร่วมงานของเราแปลกไป ดูมีอะไรรบกวนจิตใจจนไม่สบายใจ แทนที่จะเดินเข้าไปถามตรง ๆ ว่าเป็นอะไรเหรอ มีปัญหาอะไรไหม ก็อาจจะเสียมารยาทไปหน่อย แถมยังดูสอดรู้สอดเห็นเรื่องของคนอื่นจนออกนอกหน้าด้วย ดังนั้น แค่ลองแสดงออกถึงความห่วงใยอยู่ห่าง ๆ ทำให้เขารู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา พร้อมทั้งบอกให้เขารู้ว่าเราเป็นห่วงเขานะ ถ้ามีอะไรที่ไม่สบายใจหรือต้องการความช่วยเหลือก็บอกมาได้เลยเราพร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ต้องเร่งเร้าให้เขาพูด เพราะถ้าเขาสบายใจกับเราเมื่อไร เขาจะเริ่มพูดเอง

แค่เป็นผู้ฟังที่ดี
คนที่กำลังทุกข์ใจอยู่ ส่วนมากเขารู้ดีว่าปัญหาที่เขาเผชิญอยู่นั้นไม่มีใครช่วยได้หรอกนอกจากตัวเขาเอง หรือตัวเขาเองก็อาจจะรู้วิธีแก้ปัญหาอยู่แล้ว ไม่ได้อยากได้คำแนะนำจากคนอื่นว่าทำอย่างนั้นสิทำอย่างนี้สิ และไม่ได้ต้องการให้ใครมาช่วยแก้ปัญหา สิ่งที่เขาไม่มีก็คือคนรับฟัง แค่ใครสักคนที่ปล่อยให้เขาได้ระบายความอัดอั้นตันใจทั้งหมดออกมาโดยไม่มีคำถาม ไม่ขัดจังหวะ ไม่ด่วนตัดสิน ไม่มีอคติ ไม่เร่งเร้าให้พูดหรือเล่าปัญหาทั้งที่ยังไม่พร้อมเท่านั้นเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ เขาแค่ต้องการผู้ฟังที่ดี คนที่จะรับฟังในสิ่งในสิ่งที่เขาอยากระบายเท่านั้นเอง

อย่าตัดสินกัน
ไม่ว่าเขาจะเล่าอะไรให้เราฟัง สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดคือการตัดสิน อย่าเอาตัวเองเข้าไปเป็นศูนย์กลาง ตัดสินตามมุมมองของตัวเอง แล้วพูดว่า “เรื่องง่าย ๆ แค่นี้เอง ไม่เห็นต้องคิดมาก” เพราะมันเท่ากับเราชี้หน้าบอกว่าเขาว่าเขาน่ะมัวแต่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องเล็ก ๆ แค่นี้เองเหรอ มันตีความได้ว่าดูไร้สาระมากเลย อย่าตัดสินว่าปัญหาของใครเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องง่าย ๆ ตราบใดที่เราไม่ได้มองจากจุดเดียวกันกับเขา มันอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ปัญหาที่แก้ง่าย ๆ ในมุมเรา แต่จากสถานะบางอย่างของเขาที่เราไม่รู้ อาจเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เขาก้าวข้ามผ่านมาไม่ได้ก็ได้

เสนอทางออกของปัญหาเท่าที่ทำได้
แม้ว่าคนที่กำลังรู้สึกแย่อยู่หลาย ๆ คนอาจไม่ได้ต้องการคำปลอบใจหรือการช่วยเหลือใด ๆ นอกจากต้องการคนที่รับฟังสิ่งที่พวกเขาพูด แต่หลายคนก็ต้องการความช่วยเหลือ เป็นคำแนะนำ วิธีหาทางออก หรือวิธีแก้ปัญหาเหมือนกัน ในกรณีที่พวกเขาคิดอะไรไม่ออกแล้ว จนปัญญาจริง ๆ มืดแปดด้านไปหมด บางทีทางออกที่เราเสนอให้พวกเขาอาจจะช่วยชี้ทางสว่างให้กับพวกเขาก็ได้นะ อย่างคำแนะนำง่าย ๆ ที่เราคิดได้ แต่มันอาจจะเป็นมุมมองที่พวกเขาเคยมองข้ามไป ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะลองถามพวกเขาดูก่อนก็ได้ว่าต้องการคำแนะนำหรือไม่ จะได้ไม่ก้าวล่วงกันเกินไป

ใช้ภาษากายในการปลอบประโลมใจ
การปลอบใจและให้กำลังใจนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดสวย ๆ คำคมให้ข้อคิด หรือสื่อสารด้วยวัจนภาษาเสมอไป เพราะถ้าหากว่าเราเป็นคนที่พูดไม่เก่ง พูดให้กำลังใจคนไม่เป็น คำพูดที่เราคิดว่าดีแล้วและพยายามจะส่งต่อให้ด้วยความหวังดี อาจให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามก็ได้ โดยเฉพาะกับคนที่กำลังเครียดมาก ๆ หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มักจะอ่อนไหวกับคำพูดหลาย ๆ คำ เขาอาจตีความเป็นอื่นไปได้ ดังนั้น ลองใช้ภาษากายในการปลอบประโลมแทน เช่น การกอดปลอบ (เพศเดียวกัน) การกุมมือ การแตะแขน การตบหลัง/ตบไหล่เบา ๆ เป็นต้น หลาย ๆ คนก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook