ทำไม Deadline จึงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ ของคนใกล้หมดไฟ

ทำไม Deadline จึงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ ของคนใกล้หมดไฟ

ทำไม Deadline จึงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ ของคนใกล้หมดไฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านไปแล้วครึ่งปี อีกไม่กี่เดือนก็จะได้หยุดยาวกันอีกครั้ง อาจทำให้หลายคนคิดข้ามช็อตไปแล้วว่าตัวเองกำลังจะได้หยุดพักผ่อนหรือไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง แต่พอดีดนิ้วเรียกสติกลับมาที่ปัจจุบัน ดันมีงานและภาระที่รอให้สะสางจนล้นมือไปหมด แถมยังพ่วงมาด้วยความกดดันว่าต้อง “ทำให้เสร็จ” เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยงานมหาศาลและความเครียดอย่างมากทีเดียว

“หมดไฟ” อาจเรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากประจำปีของใครบางคน ที่แม้แต่จะถอนหายใจยังขอแค่สั้น ๆ เลย เพราะตอนนี้ไม่ได้แค่รู้สึกเหนื่อยหรือเกิดอาการขี้เกียจธรรมดา ๆ แล้ว แต่มันคือ “ภาวะหมดไฟ” เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไป อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการ ในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี

เพราะหมดไฟ เลยทำให้หมดใจ
สาเหตุที่ไม่อยากให้คิดไปเองว่าอาการตอนนี้เป็นแค่ความเหนื่อยล้าหรือความขี้เกียจนั่นก็เพราะว่า ภาวะหมดไฟ มักจะมาแบบที่เราไม่รู้ตัว ผลกระทบที่เกิดจากภาวะหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้กับชีวิตเราในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น “ด้านสุขภาพ” เมื่อเครียดหรือกดดันมาก ๆ ก็จะก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว หากเป็น “ด้านจิตใจ” ก็จะส่งผลให้นอนไม่หลับ มากไปกว่านั้นคือ “ด้านการทำงาน” เพราะเมื่อเราเกิดความเครียดจากคิดงานไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดการขาดงานบ่อย ลางานบ่อย มาทำงานสาย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ถึงไฟหมดไป ก็เติมใหม่ได้
วิธีการนี้ทำได้ง่ายมาก ๆ ปลีกตัวออกจากหน้าคอมหรือกองเอกสารแล้วไปสนุกกับกิจกรรมข้างนอกบ้าง อาจจะเป็นกีฬาหรือการออกกำลังกายที่ต่างไปจากชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความสนุกและน่าตื่นเต้นให้กับชีวิต พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้เรามีพลังงานและมีสมาธิกับงานได้ นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาพจิตของตัวเองด้วยการระงับอารมณ์ที่ไม่ดีต่อคนรอบข้างอย่างเพื่อนร่วมงาน เข้าใจว่าบางทีคนอื่นก็ชอบหาเรื่องให้เราหงุดหงิด แต่ถ้าจิตใจขุ่นมัว จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขุ่นมัวลงไปด้วยเช่นกัน

ภาวะหมดไฟ อาจแก้ได้ด้วยพลังของเดดไลน์ เพราะเดดไลน์ช่างน่ากลัวเหลือเกิน แต่เราก็ยังเห็นหลายคนที่ชอบทำงานแบบใกล้ ๆ เดดไลน์ ใกล้มาก ใกล้น้อย ตามอัธยาศัย ทำไมคนเราถึงทำแบบนั้นกันนะ? อาจเหมือนมีนิ้วคอยดันหลังให้เราเดินหน้าแบบไม่หยุด กลายเป็นว่ายิ่งใกล้เรายิ่งมีไฟในการทำงาน เพราะมันจะต้องส่งแล้วน่ะสิ แต่แนวคิดนี้มันก็อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคน

เมื่อเราต้องทำงานในช่วง Deadline เราจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้นเรื่องเวลา ซึ่งแม้ว่าอาจจะนำไปสู่ความเครียดบ้าง แต่อีกมุมหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวหลายครั้งกลับเป็นตัวกระตุ้นช่วยดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเราออกมาใช้ได้มาก

ถ้ารู้ว่ายังมีเวลาเหลือ สมองก็พร้อมที่จะผัดวันประกันพรุ่งเสมอ
สมองของคนเราฉลาดกว่าที่เราคิด เพราะสมองมีเป้าหมายในการบริหารพลังงานให้ถูกใช้ออกไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น อะไรก็ตามที่สมองรู้สึกว่ายังมีเวลาเหลือ มันก็จะเริ่มสั่งการให้เราผลัดการทำงานนั้นออกไปก่อน และพอมารู้ตัวอีกทีว่าเวลาเหลือน้อยแล้ว ใกล้จะต้องส่งงานแล้ว สมองก็จะสั่งให้เราทำงานนั้น ๆ ทันที เราจะรู้สึก Productive อย่างมาก บางคนก็ไอเดียหลั่งไหล หัวไวแบบไม่มีสาเหตุ ไม่ว่าเราจะอดหลับอดนอนแค่ไหน ก็พร้อมมีพลังทำให้งานนั้นเสร็จตามเดดไลน์

Deadline เชื้อเพลิงชั้นดี ปั่นงานให้มีประสิทธิภาพ
ขึ้นชื่อว่าเดดไลน์แล้ว สำหรับหลาย ๆ คน อาจเป็นคำที่ทำให้รู้สึกเครียดและไม่ดีสักเท่าไร แต่ก็มีหลาย ๆ ครั้ง ที่เมื่อใกล้เดดไลน์ เรากลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หัวแล่น คิดอะไรก็ไว อดหลับอดนอนได้ทั้งคืน อาจคิดว่า หากเราทำงานนี้เสร็จตามกำหนดเวลา เราจะได้หยุดพัก และเมื่ออยากได้เวลาในการพักผ่อนที่เร็วขึ้น จึงทำให้เรามีสมาธิในการทำงานมากขึ้น

นอกจากการสร้างเดดไลน์ให้พอดีกับความสามารถในการทำงานให้เสร็จของตัวเองแล้ว ลองวิธีที่ท้าทายตัวเองขึ้นมาอีกนิดด้วยการกำหนดเวลาให้สั้นกว่าเวลาที่ใช้ทำงานจริงเล็กน้อย เพื่อจะได้ดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะสมองจะสามารถดึงทรัพยากรที่มีเพื่อมาทำงานให้เสร็จทันเดดไลน์ที่ตั้งไว้ เป็นทริกเล็กน้อยเพื่อพัฒนาขีดจำกัดของตัวเอง

สรุปคือ พลังแห่งเดดไลน์ เป็นตัวช่วยให้เราขยับเขยื้อนร่างกาย ลุกจากความขี้เกียจ และเริ่มทำงานได้เสียที ถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะมีภาวะหมดไฟในการทำงานมากแค่ไหน แต่คำว่ารับผิดชอบก็ยังค้ำคออยู่ การทำงานในสภาวะบีบเค้นมาก ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราทำงานได้ดีที่สุดเสมอไป และบางครั้งเราก็อาจเซอร์ไพรส์ตัวเองได้ด้วยงานที่ออกมาดีเกินคาดก็อาจเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook