หากรักนี้มี “ข้อตกลง” ความสัมพันธ์ของเราจะเป็นอย่างไร

หากรักนี้มี “ข้อตกลง” ความสัมพันธ์ของเราจะเป็นอย่างไร

หากรักนี้มี “ข้อตกลง” ความสัมพันธ์ของเราจะเป็นอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในทุก ๆ กลุ่มหรือสังคมที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งที่เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรมและการกระทำต่าง ๆ ให้ทุกคนปฏิบัติตามเพื่อความสงบสุขโดยรวม คือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งปกติแล้วมันก็เกิดขึ้นมาจากการพูดคุยและตกลงกันระหว่างคนในกลุ่มหรือสังคมนั่นเอง หากใครจะเข้าร่วมกลุ่มหรือสังคมนั้น ๆ ก็จำเป็นต้องยอมรับในกฎเกณฑ์นั้นไปโดยปริยาย แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลหรือไม่ยุติธรรม ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเราก็มีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างและโต้แย้งได้เพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทุกอย่างอยู่ที่การตกลงกัน

ความรักก็เช่นกัน การที่คนสองคนมีความรู้สึกรักและปรารถนาดีต่อกัน จนตกลงปลงใจที่จะมีความสัมพันธ์กันแบบคู่รัก ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ ถ้าคนทั้งคู่ไม่สร้างข้อตกลงบางอย่างร่วมกันขึ้นมา แม้ว่าคนรักของเราอาจจะประทับใจตัวตนของเราที่เป็นแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุก ๆ การกระทำของเราจะทำให้เขาหรือเธอพึงพอใจได้ทั้งหมด คนเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ชอบใจ เราจึงไม่สามารถจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจได้ขนาดนั้น ต้องให้เกียรติและเกรงใจอีกฝ่ายด้วย เอาใจเขามาใส่ใจเรา สมมติว่าเราไม่ชอบอะไร เราก็คงไม่อยากให้คนรักมาทำแบบนี้กับเราเหมือนกัน

การที่เรายอมรับไม่ได้กับสิ่งที่คนรักทำให้เรารู้สึกไม่พอใจเป็นที่มาของการทะเลาะกัน ด้วยเหตุผลนี้นี่เองที่ทำให้ “ข้อตกลงร่วมกัน” ของทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญ ว่าทำไมเราถึงต้องพูดคุยกันให้ดีว่าอะไรที่ทำได้ ต้องทำ ทำไม่ได้ หรือพยายามอย่าทำจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน หาจุดพบกันตรงกลางให้ได้ ถ้าหลังจากนี้คนทั้งคู่ได้ตั้งปณิธานไว้แล้วว่าคู่ของเราจะทะเลาะกันให้น้อยลง รักกันให้มากขึ้น การทำข้อตกลงในความสัมพันธ์จะทำให้รักครั้งนี้เปลี่ยนไปอย่างไร

ทุกเรื่องมันชัดเจนขึ้น
ความสัมพันธ์ฉันคนรักก็เหมือนกับความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องการความชัดเจน มีอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้แบบไม่คลุมเครือ ไม่หมกเม็ด ไม่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งเกิดคำถาม (ที่ไม่กล้าถาม) ในใจ หรือนึกสงสัยลังเลในความสัมพันธ์ขึ้นมา ซึ่งถ้าอยากให้ความสัมพันธ์มันชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็จำเป็นที่คู่รักต้องสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างขึ้นมาเป็นข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับความรักที่ราบรื่นของทั้งคู่ โดยกฎเกณฑ์ที่ว่าต้องเกิดจากการพูดคุยกันแล้วว่าแต่ละฝ่ายยินดีจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จะปรับตัวเข้าหากันในลักษณะไหน เส้นกั้นที่เว้นช่องว่างให้กันอยู่ตรงไหน พบกันคนละครึ่งทาง หาตรงกลางให้เจอ เพราะข้อตกลงที่ดีจะต้องไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้สึกอึดอัดใจ

เป็นความยินยอมพร้อมใจ
เพราะข้อตกลงที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับความรักระหว่างคนสองคนนี้ เกิดมาจากการพูดคุยกันแล้วว่าจะเจอกันคนละครึ่งทาง แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะมีฝ่ายหนึ่งที่ดูจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายยอมทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการได้มากกว่า ส่วนอีกฝ่ายก็เหมือนจะเสียเปรียบไปบ้าง อย่างไรก็ตามมันก็เป็นสิ่งที่คนทั้งคู่ตกลงกันแล้วว่าจะให้มันเป็นแบบนี้ (ต่อให้ไม่ค่อยเต็มใจก็ตาม) ถ้าคิดว่าไม่ยุติธรรมก็ต้องแย้งหรือหาทางลงตั้งแต่ตอนสร้างข้อตกลง ก่อนที่ข้อตกลงจะถูกนำมาใช้ในความสัมพันธ์ มันจะกลายเป็นสิ่งที่คนทั้งคู่ให้ความยินยอมพร้อมใจที่จะปฎิบัติตามด้วยความสมัครใจ (?) รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรที่ต้องทำ และอะไรที่หลีกเลี่ยงซะ อย่าหาทำ ถ้าไม่อยากจะมีปัญหาทะเลาะกัน

สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน
ธรรมชาติของกฎเกณฑ์หรือข้อตกลง มันเป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันถึงหลักปฏิบัติหลาย ๆ ข้อที่คนที่เกี่ยวข้องจะต้องทำตาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคู่รัก การที่คนทั้งคู่มาพบกันและรักกัน เป็นไปได้ว่าคนสองคนอาจจะมีอะไรบางอย่างที่เหมือน ๆ กัน และมีอะไรอีกหลายอย่างที่แตกต่างกันสุดขั้วก็ได้ ความแตกต่างที่ตกลงกันได้ลงตัว ทั้งคู่เข้าใจตรงกันมันก็ไม่เกิดปัญหา ฉะนั้น กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงของคู่รักก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ พูดคุย ตกลง สร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่าเราจะรักกันแบบไหน ข้อตกลงที่ทั้งคู่ยอมรับได้ คุยกันให้รู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อความสัมพันธ์ที่ราบรื่น

การปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อคนสองคนมารักกันและตกลงคบหาดูใจเป็นคู่รัก จะเกิดการเรียนรู้กันและกันว่าอีกฝ่ายเป็นคนอย่างไร หลาย ๆ อย่างเราจะรู้ได้ก็เมื่อสถนะเปลี่ยน มีความสนิทสนมกันมากขึ้น แค่หมั่นสังเกตอาการคนรักก็พอจะจับทางได้ แต่การสังเกตกันไปมาว่าอีกฝ่ายชอบหรือไม่ชอบอะไรอาจจะทำให้แนวทางปฏิบัติยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร คนรักกันควรจะรู้ใจอ่านใจกันได้ระดับหนึ่งก็จริง แต่มันเป็นไปได้หรอกที่ทั้งคู่จะต้องมานั่งเดาใจกันไปเรื่อย ๆ โดยไม่พูดตรง ๆ พอเดาใจไม่ถูกก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่น่าพึงพอใจเช่นกัน ดังนั้น การมีกฎเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกันจะทำให้เกิดแนวทางการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันได้ง่ายขึ้น ในเมื่อคุยกันแล้วว่าอีกฝ่ายไม่ชอบอะไรก็จะได้ไม่ทำ ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกัน

มีทางออกเมื่อมีคนทำผิดข้อตกลง
กฎเกณฑ์และข้อตกลงมักจะมาพร้อมกับบทลงโทษเมื่อมีคนทำผิดกติกาอยู่แล้ว ซึ่งมันจะชัดเจนมากว่าเราต้องทำอะไรต่อไปถ้าอีกฝ่ายทำผิดข้อตกลงที่เคยยินยอมที่จะปฏิบัติตาม เช่น บอกว่าอย่าทำแบบนี้แต่ก็ยังจะทำ หรือต้องทำแบบนี้แต่ก็ไม่ยอมทำ ในเมื่อเราสร้างความเข้าใจที่ตรงกันพร้อมแนวทางปฏิบัติที่ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว แต่ถ้าอีกฝ่ายทำผิดข้อตกลงก็ต้องยอมรับสภาพ กรณีที่ที่ทำผิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้งที่คุยกันแล้วว่าอย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกจะมีทางออกอย่างไร จะยื่นคำขาดให้โอกาสครั้งสุดท้าย (จะให้อภัยหรือให้โอกาสกันกี่ครั้งก็แล้วแต่คุยกัน) หรือจะห่างกันสักพักดีไหมเผื่ออะไร ๆ จะดีขึ้นเมื่อห่างกัน หรือว่าจะเลิก ยุติความสัมพันธ์และแยกย้ายกันไปให้จบ ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook