"เลิก" 15 อย่างนี้ ถ้าอยากเป็นพ่อแม่ที่มีความสุขมากขึ้น
นอกจากอยากจะเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง มอบความรัก ความมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับลูกแล้ว เชื่อว่าเป้าหมายของคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนคืออยากเป็นพ่อแม่ที่มีความสุข แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบมากมายทำให้เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งท้าทายอยู่ตลอดเวลา แต่อย่าเพิ่งท้อใจไปเพราะในบทความนี้เราจะมาพูดถึงสิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรเลิกทำเพราะมันกำแพงกั้นความสุขเอาไว้อยู่ ลองอ่านดูและซื่อสัตย์กับตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองได้มีความสุขและลูก ๆ ของคุณก็จะมีความสุขไปด้วย
1. เลิกมองว่าอะไร “ควรเป็นแบบนั้นแบบนี้”
เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่าครอบครัวควรเป็นแบบนั้นแบบนี้ พ่อแม่บางคนอาจจะเคยถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่เป็นระบบระเบียบ เด็ก ๆ ไม่มีปากมีเสียง พอมีลูกก็คิดว่านี่แหละคือส่ิงที่มันควรเป็น ซึ่งยิ่งเรายึดติดกับแบบแผนหรือรูปแบบของอะไรบางอย่างมากจนเกินไป บางทีเราอาจจะพลาดอะไรดี ๆ ไปเลยก็ได้ สมมุติว่าถ้าลูกออกความเห็นอะไรสักอย่าง ลองฟังเขาดูบ้าง บางทีเหตุผลเขาอาจจะไม่ได้เหลวไหลอย่างที่คุณคิด หรือลองถามตัวเองดูว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในการเป็นพ่อแม่คืออะไรและทำไม
2. เลิกนับแต้มว่าใครทำอะไรมากกว่ากัน
แน่นอนว่าในครอบครัว การแบ่งเบาภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการเลี้ยงลูกเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่แต่ละครอบครัวก็แบ่งหน้าที่ไม่เท่ากัน การช่วยกันเหลือกันเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย แต่หลายครั้งพ่อแม่แตกแยกกัน นับแต้มว่าฉันทำอันนี้แล้ว เธอต้องทำอันนั้น ฉันไปงานโรงเรียนลูก เธอไปส่งลูกที่เรียนพิเศษสิ ฉันทำมากกว่านะ ฉันเหนื่อยนะ ฯลฯ การนับแต้มมันเสียพลังงานมากเลย พ่อแม่นั่งคุยกันเลยดีกว่าครับว่าตรงไหนที่คิดว่าตัวเองรับผิดชอบได้ อย่างสอนการบ้านลูกพ่อชอบเรียนคณิตศาสตร์ก็รับหน้าที่สอนเลขลูกไป หรือบางทีแม่ชอบงานศิลปะก็พาลูกไปทำกิจกรรมงานฝีมือก็ได้ อะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถนัดหรือชอบก็แบ่งกันทำ อย่าไปคิดว่าใครทำมากกว่าใคร พยายามหาจุดที่ลงตัวให้ได้
3. เลิกบังคับขู่เข็น
หน้าที่หนึ่งของพ่อแม่คือการสร้างขอบเขตให้กับลูก อย่างเช่นการนั่งดูการ์ตูนไม่ควรเกินวันละกี่นาที หรือการกินอาหารที่มีประโยชน์ไม่ใช่แค่ขนม แต่ลูกมักท้าทายขอบเขตนี้เสมอ พ่อแม่ก็จะใช้อำนาจบังคับทันทีว่า ‘ไม่ได้’ แต่อยากให้ลองถามตัวเองและลูกด้วยครับว่า ‘ทำไมหล่ะ?’ ลองนึกถึงตัวเองในมุมของเด็ก เราอยากให้ลูกมองว่าเป็นคนบ้าอำนาจ หรือคนที่เขาเชื่อฟังคำแนะนำ ก็อยู่กับเรา ลองถามว่าทำไมหล่ะ ลูกถึงไม่อยากกินอาหาร ยังอิ่มอยู่เหรอ หรือ มันไม่อร่อย ถ้าลองคุยกับเขาก็อาจจะได้เห็นมุมมองที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็ได้
4. เลิกตะโกน
ถ้าคุณไม่ใช่คนชอบตะโกน เรื่องนี้อาจจะข้ามไปได้เลย แต่เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนมีจังหวะปี๊ดแตกเมื่อเจอลูกกวนประสาทและรู้สึกอารมณ์เสียทุกครั้งที่เป็นแบบนั้น พอตะโกนปุ๊บก็จะรู้สึกผิดภายหลังว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย การตะโกนด่าเกิดจากอารมณ์โกรธและทำให้เด็กกลัวและขยาด ทำลายความเชื่อใจและความรู้สึกปลอดภัยของลูกไปเลย ลองดูว่าตัวเองทำมันตอนไหนและเมื่อรู้ว่าควรเปลี่ยนก็ทำทันทีเลย
5. เลิกพยายามทำให้ตัวเองดูสมบูรณ์แบบ
บอกเลยครับว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนเพอร์เฟ็ก เพราะฉะนั้นยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง บางเรื่องไม่ได้ตั้งใจให้มันผิดพลาดก็ลองทำใหม่ พ่อแม่ก็คือมนุษย์ ผิดพลาด เรียนรู้ และทำให้ดีขึ้น
6. เลิกห่วงมากเกินไป
การเป็นห่วงจนอยู่ไม่สุขเช่น การตามไปนั่งเฝ้าลูกที่โรงเรียนทั้งวันหรือห้ามทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น แถมยังสอนให้เด็กใช้ชีวิตด้วยความกลัวอีกด้วย ที่ควรทำคือการสอนว่าควรดูแลตัวเองยังไง ให้เขาปลอดภัยที่สุด และปล่อยวางให้มากขึ้น
7. เลิกคิดให้ลูกเหมือนคนอื่น
เด็กทุกคนแตกต่างกัน ลูกเพื่อนอาจจะดูเรียบร้อย ทำไมลูกเราถึงคึกจัง เด็กคนหนึ่งชอบร้องเพลง อีกคนอาจจะชอบคณิตศาสตร์ก็ได้ อย่าไปใช้กฎหรือข้อบังคับเดียวกันกับเด็กทุกคน เด็กทุกคนควรได้รับอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเอง เติบโตในทางที่อยากทำ แน่นอนว่ากฎอย่างการให้เกียรติซึ่งกันและกันควรเป็นสากล แต่กฎหลาย ๆ อย่างเช่นต้องทำตัวให้เหมือนพี่ ตั้งใจอ่านหนังสือเหมือนน้อง ฯลฯ มันไม่แฟร์สักเท่าไหร่สำหรับเด็กแต่ละคน
8. เลิกสู้กับลูกเรื่องอาหาร
เข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบมื้อ บางทีก็ต้องขู่เข็ญกัน ให้กินนับเป็นคำ ๆ เหมือนเป็นการออกไปรบในสงครามที่คุณไม่มีทางชนะได้ ลองปรับเมนูดูครับ เอาความชอบของลูกมาเป็นตัวเลือกด้วย เช่นลูกชอบแครอทก็ลองหาเมนูที่ผสมแครอทลงไปด้วยก็จะดี หรือถ้าอยากลองใส่เมนูใหม่ ๆ ก็ปรับไปเรื่อย เอาให้มันดีกับสุขภาพแทนที่จะยัดเยียดอาหารที่เขาไม่ชอบดีกว่า
9. เลิกที่จะเจ้ากี้เจ้าการไปซะทุกเรื่อง
ถ้าคุณรู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่มันเหนื่อย เหมือนวิ่งอยู่บนลู่วิ่งที่ใส่ลงไปเท่าไหร่ก็ไม่ไปไหนสักที บางทีคุณอาจจะทำมากเกินไปก็ได้นะ จริงอยู่ว่าเราต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ของลูก แต่ไม่มันจำเป็นที่จะต้องลงรายละเอียดทุกอย่าง ลูกต้องกินข้าวกับอะไรทุกมื้อ เวลาเท่าไหร่ ต้องอ่านหนังสือวันละกี่หน้า คัดไทยวันละกี่ตัว อย่าไปทำร้ายตัวเองและลูกแบบนั้น วางแผนให้เขาได้พัฒนาตัวเอง ความสามารถ สนับสนุนลูกในสิ่งที่เขาอยากทำ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวคุณเองและลูกด้วย
10. เลิกเสียสละตัวตนของตัวเอง
การเป็นผู้ให้ผู้เสียสละคือหน้าที่ของพ่อแม่ ให้ความรัก เวลา และการเอาใจใส่ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรเสียสละคือตัวตนของตัวเอง เช่นคุณเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ก็จัดเวลาให้ตัวเองได้อ่านหนังสือ หรือคุณเป็นคนชอบแต่งตัวสวย ๆ ก็อย่าละทิ้งสิ่งเหล่านี้ เพราะเมื่อเราต้องทิ้งสิ่งที่เป็นตัวเป็นก็เหมือนเป็นการสอนลูกว่าความต้องการของตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญอะไรด้วย
11. เลิกรู้สึกผิด
ต่อเนื่องจากข้อด้านบน พ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าสู่วังวนของกสนเสียสละความเป็นตัวของตัวเองส่วนใหญ่เพราะรู้สึกผิด ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดีเมื่อเราทำอะไรที่ผิดแล้วอยากแก้ไขให้ดีขึ้นในอนาคต แต่ความรู้สึกผิดจนทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่านั้นไม่ใช่เรื่องดีเลย คุณเป็นพ่อแม่เหมือนอย่างพ่อแม่ทุกคน ผิดบ้าง พลาดบ้าง แก้ไขและปรับปรุง เลิกรู้สึกผิดและกดตัวเองจนไร้ค่าได้แล้ว
12. เลิกคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด
ความเป็นผู้ใหญ่มาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า ‘ฉันผ่านมาก่อน’ รู้เยอะกว่าลูก เข้าใจโลกมากกว่าลูก แม้ในหลาย ๆ ครั้งประสบการณ์ทำให้เราตัดสินใจได้ดีกว่าเด็ก ๆ แต่มันก็ไม่ได้ถูกเสมอไป ลองถามความเห็นลูกด้วยว่าต้องการอะไร มีความสุขแบบไหน การให้เขาได้ร่วมมีส่วนในการตัดสินใจจะช่วยทำให้เขารู้สึกว่าความเห็นของตัวเองมีค่า กล้าที่จะออกความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
13. เลิกคำพูดเชิงลบเหล่านั้นซะ
น่ารำคาญ เสียงดัง ขี้อาย อ้วน สอดรู้สอดเห็น น่าเบื่อ เยอะ พูดมาก ทำตัวแบบนี้เลยไม่มีเพื่อน หยุดยุกยิก พูดชัด ๆ หน่อย อยู่นิ่ง ๆ ยิ้มหน่อยสิ ฯลฯ ลองเปลี่ยนมุมที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเช่นว่าเรารู้ว่าลูกพูดเก่งพูดไม่หยุด ‘พูดเก่งแบบนี้ หนูน่าจะมีเพื่อนเยอะแน่ ๆ เลย’ หรือลูกอาจจะน้ำหนักเยอะไปสักหน่อย ‘แม่ว่าช่วงนี้แม่ทานแต่ของอ้วน ๆ เดี๋ยวเรามาลองทานผักให้เยอะขึ้นด้วยกันดีกว่าไหม?’
14. เลิกเอาประสบการณ์ตัวเองไปตัดสินลูก
อะไรคือประสบการณ์ที่เราเกลียดตอนเป็นเด็ก? ถูกล้อที่โรงเรียน? ไม่มีเงินซื้อขนม? รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ? สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นกับดักทำให้คุณกระวนกระวายใจ ไม่อยากให้ลูกมาเจอแบบเดียวกัน จริงอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถป้องกันไม่ให้ทุกอย่างเกิดกับลูกได้ แต่เราก็ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในอดีต สร้างอนาคตที่เราอยากให้เกิดขึ้น ดีกว่าที่ติดอยู่กับสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นดีกว่า
15. เลิกที่จะล้มเลิก
พ่อแม่หลายคนล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้นแล้วไม่ว่าพยายามแค่ไหนก็ตาม แต่มันไม่มีอะไรที่สายเกินไปที่จะเป็นพ่อแม่ที่มีความสุข แม้ว่าลูกจะอายุ 3 ขวบ หรือ 30 ปี พวกเขาก็ยังตอบสนองต่อความรักของพ่อแม่อยู่ดี ความผิดพลาดที่เราทำในฐานะพ่อแม่บางทีส่งผลต่อลูกในระยะยาวกว่าที่คิด แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้คนเป็นพ่อแม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี
การเป็นพ่อแม่ที่มีความสุขคือสิ่งที่จำเป็น เพราะมันจะทำให้ท้ังครอบครัวนั้นมีความสุขไปด้วย หายใจลึก ๆ ความสุขอยู่ไม่ไกล ปล่อยวางให้เยอะขึ้นอีกนิดและเริ่มมีความสุขกันเถอะ