การทำงานรูปแบบไหน ที่คนทำงานยุค Next Normal ตามหา
อีกไม่กี่เดือนก็จะครบ 3 ปีเต็ม ที่ชาวโลกยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับ COVID-19 กันต่อไป โดยที่มองไม่เห็นปลายทางเลยแม้แต่น้อยว่ามันจะไปจบที่ตรงไหน วิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหันมาเป็น New Normal ปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในช่วงที่จะก้าวเข้าสู่ Next Normal เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น และเราอาจจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตนั้น ส่งผลให้เราจำเป็นต้องปรับตัวกันอีกครั้งในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะรูปแบบของทำงาน ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันมาตั้งแต่ช่วงที่ COVID-19 ระบาดรุนแรง
ในช่วงเริ่มต้นที่เราต้องหันมา Work from Home กัน หลาย ๆ คนอาจไม่ชิน แต่ทุกวันนี้คนปรับตัวได้เกือบหมดแล้ว และพบว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไรนักที่บริษัทจะต้องบังคับเข้าออฟฟิศทุกวันทำงาน ขาดความยืดหยุ่นไม่เหมาะกับยุคสมัย ในเมื่อเกือบทุกคนเคยทำงานที่บ้านมาแล้ว และพบว่าส่วนใหญ่ก็ทำงานได้ค่อนข้างดี มีความรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพในการทำงานแทบไม่ต่างจากการทำงานในออฟฟิศ
ช่วงเวลาที่หลายองค์กรต้องเปลี่ยนรูปแบบจากการทำงานที่ออฟฟิศ ไปเป็นการทำงานนอกสถานที่ ซึ่งอาจจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน หรือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงเวลานั้น เมื่อสถานการณ์โรคระบาดมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งเรายังควรปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้มากกว่า เวลานี้มีรูปแบบการทำงานแบบไหนบ้างที่เราปฏิบัติกันอยู่ และคิดว่าตัวเราเหมาะที่จะทำงานแบบไหนมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงจุดเด่นและจุดด้อยของการทำงานแต่ละแบบ
การทำงานแบบ Work at Office (WAO)
เป็นการทำงานในรูปแบบปกติที่เราคุ้นเคยกันดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือก่อนที่จะมีสถานการณ์โรคระบาดเกิดขึ้น เราสามารถเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศได้แบบเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน หลาย ๆ คนไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองด้วยซ้ำไปว่าลักษณะการทำงานของตนเองนั้นจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันหรือเราสามารถทำงานจากที่อื่นได้ไหม แต่เพราะ COVID-19 กลายเป็นสถานการณ์จำเป็นที่บังคับให้ผู้คนต้องหันไปทำงานจากที่บ้านกันแทนการเดินทางเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ จากแรก ๆ ที่ก็ไม่ค่อยชินเท่าไร แต่ทุกวันนี้กลับเป็นบทพิสูจน์ว่าเราทำจากที่บ้านก็ได้ ทำจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ (ทุกวัน) ก็ได้นี่นา
ถึงอย่างนั้นหลายองค์กรก็ยังสนับสนุนการทำงานที่ออฟฟิศอยู่ดี ด้วยเหตุที่ว่ามันจำเป็นสำหรับบางสายงานที่ลักษณะงานจะต้องติดต่อประสานงานกับบุคคลอื่นเป็นประจำ การเจอหน้ากันและกันมันคล่องตัวกว่าจริง ๆ ทั้งในเรื่องของการประสานงาน การสร้างเครือข่าย การสื่อสารแบบตัวต่อตัว การทำงานเป็นทีม ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมทีมและข้ามทีม องค์ประกอบทั้งหมดล้วนมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งสิ้น การพบเจอหน้ากันตัวเป็น ๆ มันสะดวกต่อการระดมสมอง การแสดงความคิดเห็น จนเกิดเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์ ความร่วมมือประสานงาน ตลอดจนความผูกพัน สร้างบรรยากาศการร่วมงานที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าการทำงานร่วมกันทางออนไลน์
การทำงานแบบ Work from Home (WFH)
เมื่อนึกถึงช่วงแรก ๆ ของการระบาดของ COVID-19 เราจะพบว่าจุดเปลี่ยนของการทำงานที่บ้านเริ่มจากจุดนี้ แม้ว่าหลายคนจะทำงานที่บ้านมานานแล้ว แต่สำหรับบางคนมันเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องปรับตัวยกใหญ่ ด้วยสภาพแวดล้อมของสถานที่ บรรยากาศ และอุปกรณ์ต่าง ๆ มันไม่เอื้อสำหรับการทำงานเท่าไรนัก ทำให้เรารู้สึกโฟกัสกับงานได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งการที่ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน การมีอิสระเต็มที่ มีความยืดหยุ่นสูง ก็เป็นเรื่องยากอยู่ที่จะกำหนดว่าตัวเองควรตื่นนอนตอนไหน ควรจัดการธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนเข้าสู่โหมดนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ อาจมีผ่อนคลายได้บ้างแต่ก็ต้องเป็นช่วงเวลา ทำงานในเวลางาน และเลิกงานในเวลาเลิกงาน
การทำงานที่บ้านมักเกิดปัญหาคือประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจากตอนที่ทำงานที่ออฟฟิศ (แต่ไม่ใช่ทุกคน คนที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นก็มี) สาเหตุหลักก็มาจากการที่ควบคุมตนเองไม่ได้นี่เองอะไรต่ออะไรเลยรวนไปหมด การที่ไม่ต้องรีบนอน ไม่ต้องตื่นเช้ามืด ไม่ต้องเดินทาง อยู่ไกลสายตาผู้บังคับบัญชา มีเวลาให้แอบอู้เหลือเฟือ ทำให้หลายคนเฉื่อยแฉะมากเกินไป โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยทำงานจากที่บ้านแบบเต็มรูปแบบมาก่อน มันจึงทุลักทุเลอย่างมากับคนที่กำลังปรับตัว แต่มาถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีเกือบจะครบ 3 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การทำงานที่บ้านแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนบางคนไปแล้ว เมื่อต้องกลับออฟฟิศ ก็น่าจะดีถ้ายังได้ทำงานจากบ้านบ้างในรอบสัปดาห์
การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere)
เหนือกว่าการนั่งทำงานติดที่อยู่กับบ้าน คือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ การทำงานนอกสถานที่ หรือการทำงานทางไกล นั่นหมายความว่า คนทำงานจะพาตัวเองไปนั่งทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ไม่สำคัญว่าตัวเราจะอยู่ที่ไหน ขอแค่ทำงานได้เสร็จตรงเวลา งานมีคุณภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานเต็มเปี่ยม ตามตัวประชุมด่วนได้ ติดต่อลูกค้าได้ ไม่มีปัญหากับอุปกรณ์เท่านี้ก็พอแล้ว อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน นี่จึงกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่ใครหลาย ๆ คนฝันถึง เพราะมันคงจะดีไม่น้อยเลยถ้าเราได้เปลี่ยนบรรยากาศการนั่งทำงานจากห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ มุมเดิม ๆ มาเป็นริมทะเล ทำงานไปจิบน้ำมะพร้าวไปด้วย
แต่การให้อิสระกับพนักงานมากขนาดนี้ คนทำงานต้องไม่ลืมว่าองค์กรย่อมคาดหวังสูงกับผลงานที่ได้ เพราะมันมีความท้าทายอยู่มากในการที่พนักงานแต่ละคนออกไปทำงานนอกสถานที่ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมเดียวกันแต่นั่งทำงานกันคนละที่ บ่อยครั้งที่เหมือนทุกอย่างจะหยุดนิ่ง การตามงานทำได้ช้ามากแม้ว่าจะมีประชุมออนไลน์ร่วมกัน แอปพลิเคชันที่ใช้ส่งข้อความพูดคุยงานกันได้ การติดต่อสื่อสารและประสานงานก็ไม่เหมือนเวลาที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเดียวกันโต๊ะข้าง ๆ กัน แต่ถ้าองค์กรไหนจะจูงใจพนักงานด้วยวิธีการทำงานรูปแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่แค่ทุกคนควบคุมตัวเองได้ ทั้งผู้บริหารและพนักงานจะต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถยกระดับวิธีการทำงานในที่สุด
การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working)
ถ้าการทำงานในแต่ละรูปแบบดังที่กล่าวมาแล้วล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียคละ ๆ กันไป แล้วถ้าจับเอารูปแบบทั้งการทำงานที่ออฟฟิศ และการทำงานที่บ้าน (บางบริษัทอาจอนุญาตให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ด้วย) มาผสมผสานกันล่ะ มันจะลงตัวไหม จริง ๆ หลายบริษัทก็เริ่มมีการวางแนวทางการทำงานรูปแบบนี้ไว้บ้างแล้ว คือ พนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน และทุกคนสามารถทำงานได้จากที่บ้าน (หรือที่ไหนก็ได้) โดยจะมีการแบ่งจำนวนวันในสัปดาห์ว่าพนักงานต้องเข้าออฟฟิศกี่วัน และจะทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้ได้กี่วัน แทนที่เราจะต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน เพื่อให้อิสระกับพนักงานได้มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น มุ่งหวังประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน
การทำงานแบบไฮบริดนี้เริ่มได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมันมีความอิสระและยืดหยุ่นต่อคนทำงาน ด้วยเราพิสูจน์กันมาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันเราก็สามารถทำงานกันได้ ทว่าเงื่อนไขก็อาจจะมีการตกลงกันอีกทีว่าบริษัทจะกำหนดตายตัวหรือไม่ว่าวันที่ต้องเข้าออฟฟิศคือวันไหนบ้าง วันที่ให้ทำงานข้างนอกได้คือวันอะไร หรือจะให้พนักงานจัดสรรได้เองว่าจะเข้าวันไหนไม่เข้าวันไหน ขอแค่จำนวนวันที่เข้ากับไม่เข้าเป็นไปตามที่ตกลง ซึ่งก็หมายความว่าพนักงานจะมีส่วนร่วมในการออกแบบการทำงานของตนเองไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ก็ต้องมองให้เห็นถึงความท้าทายและข้อจำกัดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมันคงไม่ง่ายนัก
เชื่อว่าคนทำงานหลายคนคงจะประเมินตัวเองได้แล้วว่าลักษณะนิสัยในการทำงานของตัวเองนั้นเหมาะกับรูปแบบการทำงานแบบไหน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่ามันไม่ใช่สิ่งที่พนักงานจะกำหนดได้ด้วยตัวเองว่าอยากทำงานแบบไหนในยุค Next Normal แต่มันขึ้นอยู่กับองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัวและหาจุดที่เหมาะสมว่าการทำงานรูปแบบไหนที่เหมาะกับองค์กรมากที่สุด และช่วยส่งเสริมการทำงานของพนักงานมากที่สุดเช่นกัน