ความผิดพลาด 3 อย่างที่พ่อแม่ทำแล้วลูกมีโอกาสเติบโตมาเป็นคนที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ความผิดพลาด 3 อย่างที่พ่อแม่ทำแล้วลูกมีโอกาสเติบโตมาเป็นคนที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ความผิดพลาด 3 อย่างที่พ่อแม่ทำแล้วลูกมีโอกาสเติบโตมาเป็นคนที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Narcissistic Personality Disorder หรือที่เราเรียกว่า ‘โรคหลงตัวเอง’ ซึ่งเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องการการยกยอชื่นชม ขาดความเห็นใจผู้อื่น และหมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตัวเอง โคดี อิซาเบล (Cody Isabel) เป็นนักประสาทวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่าความสัมพันธ์และการเลี้ยงดูในครอบครัวเป็นหนึ่งในตัวชี้นำที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งว่าเด็กที่โตมาในครอบครัวแบบไหนมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ โตมาด้วยความรู้ว่าตัวเองเหนือกว่าทุกคน ทำตัวยิ่งใหญ่และไร่ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

จากประสบการณ์ของเขานี่คือข้อผิดพลาด 3 อย่างที่พ่อแม่ทำแล้วลูกมีโอกาสเติบโตมาเป็นคนหลงตัวเองได้

1.    เมินเฉยต่อพฤติกรรมแย่ ๆ ของตัวเอง

เด็ก ๆ เรียนรู้โดยการสังเกตุ นั่นหมายความว่าพวกเขาจะเรียนรู้จะสิ่งที่คนรอบ ๆ ตัวทำ และถ้าพ่อแม่เป็นคนที่ไม่รับรู้ถึงพฤติกรรมแย่ ๆ ของตนเอง เด็กก็จะเลียนแบบเมื่อโตขึ้นมาด้วย

ยกตัวอย่างเช่นว่าไปนั่งทานข้าวที่ร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟเกิดทำน้ำหกใส่คุณ แทนที่จะรับมือกับสถานการณ์ด้วยอาการที่สงบ หาผ้า หากระดาษมาเช็ด แต่คุณกลับปี๊ดแตก โวยวาย ด่าพนักงานเสิร์ฟจนอับอาย เด็กที่อยู่ตรงนั้นก็จะคิดแล้วครับว่าสิ่งที่คุณทำมันคือ “โอเค”

การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นต้องสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงความสำคัญของความฉลาดทางด้านอารมณ์​ (EQ - Emotional Intelligence) ว่าเป็นยังไง โดยเฉพาะในส่วนสำคัญอย่างการเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่พ่อแม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้เสมอ

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาสคุยกับลูก ๆ ลองถามเขาว่าาสถานการณ์นี้เขารู้สึกแบบไหน อย่างโดนเพื่อนแย่งของเล่นไปแล้วร้องไห้ “หนูรู้สึกโกรธหรือเสียใจรึเปล่าที่เพื่อนแย่งของเล่นไป?” หรือไปเดินห้างแล้วอยากได้ของเล่นแต่พ่อแม่ปฏิเสธก็ลองถามเขาดูว่า “หนูผิดหวังที่ไม่ได้ของเล่นใช่ไหมครับ?” แล้วก็ค่อย ๆ อธิบายสถานการณ์นั้นให้ลูกฟัง การเรียนรู้และพัฒนา EQ จะช่วยทำให้เขาเข้าใจอารมณ์ตัวเองและคนอื่นมากขึ้นในอนาคตด้วย

2. ไม่สะท้อนความรู้สึกหรือรับทราบความรู้สึกของลูก

ถ้าคุณทำให้ลูกรู้สึกอายหรือไม่สนใจความรู้สึกของลูก สิ่งที่คุณกำลังทำคือการบอกเขาว่าสิ่งที่เขารู้สึกเป็นเรื่องที่ผิด นำมาซึ่งความเข้าใจผิด ๆ ในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ที่จะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ อีกมากมายที่ตามมาในอนาคต ตั้งแต่การพยายามกดความรู้สึกด้วยสารเสพติดหรือการพยายามทำตัวโดดเด่นดีกว่าคนอื่นเพื่อปกปิดความรู้สึกข้างใน งานวิจัยหลายชิ้นต่างบ่งบอกว่าความอับอาย รู้สึกไม่ปลอดภัยและความกลัว ต่างเป็นต้นตอของโรคหลงตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น

การสะท้อนความรู้สึกหมายถึงการที่คุณได้นั่งคุยกับลูก เข้าใจสิ่งที่เขารู้สึกอยู่ และนิยามอารมณ์เหล่านี้ให้เขาเข้าใจว่ามันคืออะไร รับฟังและรับรู้ถึงอารมณ์เหล่านั้นว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกมันไม่ได้ผิด มันเป็นเรื่องธรรมชาติและช่วยกันหาทางแก้ไขหาวิธีรับมือ

ลองจินตนาการถึงการไปรับลูกที่โรงเรียน เขาขึ้นรถมาหน้าบูดบึ้ง ปิดประตูเสียงดัง แทนที่จะรีบสรุปด่าก่อนเลยว่ามารยาทไม่ดี สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่เขากำลังเป็นอยู่ก่อน

“เหมือนลูกกำลังอารมณ์เสียใช่ไหมนะ เกิดอะไรขึ้นรึเปล่า?”

หลังจากที่เขาอธิบายให้ฟัง เล่าให้ฟังคุณก็รับรู้ถึงอารมณ์ของลูก “อ่าาา...แบบนี้เอง พ่อ/แม่เข้าใจแล้วหล่ะว่าทำไมหนูถึงไม่พอใจ” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเห็นดีเห็นงามหรือตัดสินว่าลูกผิดในทันที เพียงแค่คุณรับรู้แล้วบอกว่าสิ่งที่ลูกรู้สึกนั้นโอเค แล้วหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ คุยกันด้วยเหตุผล เด็กจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์และรับมือกับมันได้ดีมากขึ้น

3.    ปล่อยให้ลูกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยไม่ตักเตือนแต่เนิ่น ๆ

ถ้าพ่อแม่ไม่เตือนแล้วใครจะเตือน? นี่คือคำกล่าวที่จริงเสมอ ถ้าลูกลงไปในนอนดิ้นกับพื้นเพื่อจะเอาอะไรก็ตามที่เขาอยากได้…อย่าเพิกเฉยครับ

ไม่ได้หมายความว่าต้องจับมาตีตรงนั้นเพื่อให้เข็ดหลาบ ไม่ใช่ทำเขาอายสายตาที่กำลังมองอยู่ ไม่ใช่นะครับ อย่างแรกสูดหายใจลึก ๆ หาวิธีทำให้เขาสงบลงให้ได้ก่อน แล้วก็พาไปนั่งคุยกันที่เงียบ ๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ลองถามสามคำถามนี้ครับ

1.    เกิดอะไรขึ้น?

2.    รู้สึกยังไง?

3.    คิดว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นทำให้คนอื่น (หรือคนที่อยู่รอบ ๆ ตัว) รู้สึกยังไง?

สามคำถามนี้นอกจากจะแค่รับทราบความรู้สึกของลูกแล้ว มันยังช่วยทำให้เขาได้เข้าใจถึงจิตใจคนอื่นที่อยู่รอบข้างด้วย รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีผลต่อจิตใจคนอื่น คนที่อยู่ในสังคมว่ามีความรู้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนาความสามารถทางด้านอารมณ์

คำถามหนึ่งที่โคดีถูกพ่อแม่ถามอยู่บ่อย ๆ คือแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกมีสัญญาณของโรคหลงตัวเองอยู่รึเปล่า?

วิธีทดสอบง่าย ๆ ที่สุดคือการสังเกตและตั้งคำถามกับลูกระหว่างที่อ่านหนังสือหรือดูการ์ตูนก็ได้ บางช่วงที่เรื่องราวกำลังดำเนินไปอยู่นั้นก็ถามลูกว่า ‘หนูว่าตัวละครตัวนี้รู้สึกยังไงอยู่นะ?’ ถ้าลูกตอบว่าเขาคงเศร้าแน่เลย หรือคงกำลังโมโหอยู่ แสดงว่าลูกน่าจะโอเค แต่ถ้าลูกบอกว่าไม่รู้ ไม่สนใจว่าพวกเขารู้สึกยังไง ก็แสดงว่างานเข้าแล้ว มีสิ่งที่ต้องพยายามแก้ไขโดยด่วน

ถ้ารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถก็ต้องลองคุยกับคุณหมอจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญดูน่าจะเป็นทางออกที่ดี

สิ่งหนึ่งที่โคดีเน้นย้ำกับพ่อแม่เสมอคือว่าแม้มันเป็นโรคที่มีปัจจัยหลักต้นตอมาจากครอบครัว แต่มันก็รักษาและป้องกันได้ด้วยความเอาใจใส่ของคนในครอบครัวเช่นเดียวกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook