Late Bloomer ความสำเร็จที่ไม่ต้องรีบ ไปช้า ๆ ก็มั่นคงได้

Late Bloomer ความสำเร็จที่ไม่ต้องรีบ ไปช้า ๆ ก็มั่นคงได้

Late Bloomer ความสำเร็จที่ไม่ต้องรีบ ไปช้า ๆ ก็มั่นคงได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่เราเห็นความสำเร็จของผู้อื่นได้ง่าย ๆ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (แม้ว่านั่นจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวที่ใครสักคนเลือกที่จะให้คนอื่นเห็น) ทำให้เราได้เห็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนอื่นผ่านหน้าฟีดอยู่บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันเรามักจะไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตัวเองสักเท่าไรนัก เกิดเป็น “การเปรียบเทียบ” ตัวเราเองกับคนอื่น “เราอายุเท่ากัน เขามีบ้าน มีรถ มีเงินล้าน แต่ฉันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง”

โลกหลังจากที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างสูง และมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่เราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จกันได้ง่ายเพียงแค่ไถฟีด รวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่กับเสี ยงสะท้อนในโลกของตนเอง ความอยากได้ อยากมี อยากประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด คนในสังคมมีความกระหายที่จะประสบความสำเร็จกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ ทำให้คำว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” กลายเป็นเป้าหมายในชีวิตของคนยุ คใหม่ที่ต้องพาตนเองไปสู่ ความสำเร็จให้ได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อที่จะได้เป็นคนเก่ง เป็นคนสุดยอด เป็นต้นแบบของคนอื่น

หลายคนอายุเพียงแค่ 20 ต้น ๆ หรือเพิ่งเรียนจบมาหมาด ๆ ก็ถูกสภาพสังคมโดยรอบหล่อหลอมและกดดันให้ต้องหาความสำเร็จเป็นของตัวเองให้ได้สักอย่าง พยายามที่จะเป็นมนุษย์อัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย โดยไม่ต้องสนใจวิธีการหรือความเสี่ยงใด ๆ รวมถึงไม่ได้มองถึงความยั่งยืนในอนาคตด้วย ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวบางคนก็สมหวัง บางคนกำลังจะไปถึง และบางคนก็ผิดหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือมีคนจำนวนไม่น้อยที่บาดเจ็บจากการแข่งขันที่จะเติบโตให้เร็ว ๆ อีกทั้งยังนั่งโทษโอกาสและสั งคมที่ทำให้ตนเองเป็นแบบคนอื่นไม่ได้เสียที

แต่จริง ๆ แล้ว ความสำเร็จจำเป็นต้องถูกกำหนดด้วยช่วงอายุของเราอย่างนั้นหรือ จำเป็นแค่ไหนที่ต้องรีบประสบความสำเร็จให้ได้ก่อนอายุ 30 ปี ถ้าไม่สำเร็จแปลว่าเราล้มเหลวหรือเปล่า แล้วทำไมเราถึงเอาความสำเร็จของเราไปผูกโยงไว้กับคนอื่น ๆ ต้องรอให้เขาบอกว่าเราประสบความสำเร็จล่ะ ต่อให้เราต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลวเป็นร้อยเป็นพันครั้ง เราก็อาจไปถึงฝั่งฝันที่เป็นฝั นของเราเองด้วยตัวเราเองหรือเปล่า ไม่ต้องพึ่งพาการยกย่องชื่นชมจากโลกโซเชียลหรือคนรอบข้างนี่นา ถูกไหม?

ใคร ๆ เขาประสบความสำเร็จหมดแล้ว มัวทำอะไรอยู่
ค่านิยมในการ “ประสบความสำเร็จให้เร็ว” กำลังครอบงำสังคม เนื่องจาก “อายุ” กลายเป็นตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของคน ยิ่งประสบความสำเร็จตอนอายุน้อยเท่าไร ก็ยิ่งน่าทึ่ง ดังที่เรามักจะเห็นปรากฎการณ์สังคมแห่กันไปยกย่องชื่นชมคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยคือคนที่เจ๋ง คนที่เก่ง คนที่สุดยอด แต่ในทางกลับกัน มันก็อาจทำให้เกิดคำถามว่าพวกคนที่อายุมากกว่าคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้นมัวทำอะไรอยู่ รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน เขาประสบความสำเร็จกันแล้ว แต่คนที่อายุมากกว่าทำไมจึงยังไม่ประสบความสำเร็จ

รู้หรือไม่? ว่าเราสามารถชื่นชมบุคคลที่ประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกมาเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อให้พวกเขารู้สึกแย่หรือด้อยค่า เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่คนเหล่านั้นจะใช้ชีวิตปกติธรรมดาตามสปีดของเขาเอง พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องรู้สึกว่าตัวเองช้ากว่าคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นค่านิยมที่สังคมสร้างขึ้นมาเอง แล้วคาดหวังให้ทุกคนต้องเป็นตามนั้น ซึ่งมันไม่ยุติธรรมที่จะต้องกำหนดมาตรฐานดังกล่าวเพื่อใช้ตราหน้าว่าใครเป็นคนล้มเหลว

การที่คนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตตามกรอบที่สังคมวาดไว้ สิ่งที่ใคร ๆ บอกว่าดี ทำให้เราจึงเชื่อและทำตามโดยไม่มีข้อแม้ แต่เราเคยลองกลับมาพิจารณาดูดี ๆ หรือไม่ ว่าสิ่งที่ใครก็ไม่รู้บอกว่าดี จริง ๆ แล้วมันดีสำหรับเราจริงหรือ? มันไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ทุกคนจะต้องมาแข่งขันกันเพื่อรีบประสบความสำเร็จให้เร็วที่สุด Late Bloomer หรือคนที่ประสบความสำเร็จช้า ก็ควรจะมีที่ยืนของตัวเองที่จะค่อย ๆ เติบโต ถึงจะช้ากว่าคนอื่นแต่ก็มั่นคง หรือต่อให้จะไม่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาล้มเหลวเช่นกัน

เราจำเป็นมากแค่ไหนที่ต้องพยายามใช้ชีวิตให้เหนื่อยมาก ๆ เพื่อบอกกับคนอื่นว่าเราพยายามเต็มที่แล้ว จำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำให้ชีวิตที่จริง ๆ แล้วมันเรียบง่าย ดูซับซ้อนและเร่งรีบไปหมดทุกอย่าง เราทุกคนมีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน มีคุณค่า มีความถนัดในแบบฉบับตัวเอง และมีจังหวะชีวิตเป็นของตัวเอง จำเป็นแค่ไหนที่ต้องวิ่งไล่ตามคนอื่นให้ทัน ในเมื่อเราไม่ได้มีชีวิตเพื่อแข่งขันกับใคร เราแค่มีชีวิตเพื่อ “ใช้ชีวิต” เท่านั้นเอง

ดังนั้น ใช้ชีวิตที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวอย่างคุ้มค่า ลองใช้ชีวิตให้ช้าลง หยุดพักบ้างเพื่อดื่มด่ำกับความสวยงามรอบตัวเอง คนเราควรมีชีวิตอยู่อย่างมีเป้าหมาย โดยเป้าหมายนั้นมีไว้พุ่งชนก็จริง แต่บางครั้งก็ช่างมันบ้างก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าเป้าหมายนั้นทำให้เราไม่มีความสุขที่จะวิ่งพุ่งชนมัน!

เหนือสิ่งอื่นใด เราอาจต้องทำความเข้ าใจกันใหม่ด้วยว่าทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ล้ำหน้าไปมาก และการดูแลตนเองก็ทำให้ คนเราสามารถทำงานได้จนถึงอายุ 70 ปี ดังนั้นอายุ 50 ไม่ใช่วัยใกล้เกษียณ คนอายุ 40 ก็ไม่ได้แก่เกินแกง หากเป็นวัยที่พร้อมทั้งด้านวุฒิ ภาวะทั้งทางอารมณ์และมากด้วยประสบการณ์ เรายังมีเวลาเหลือเฟืออีกตั้ง 20-30 ปีที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะต้ องรีบผลักดันและกดดันตนเองให้ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 30 ปีไปทำไม ค่อย ๆ ใช้ชีวิตไปก็ได้ แค่ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำให้เต็มที่ แค่นั้นก็เติมเต็มแล้ว

สำเร็จได้ ไม่เห็นต้องรีบ ทำได้จริงหรือ?
เพราะสังคมในยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความเร่งรีบไปหมดทุกอย่าง รีบโต รีบเรียน รีบจบ รีบทำงาน รีบสำเร็จ รีบรุ่ง รีบรวย อันที่จริง หลาย ๆ ชีวิตที่ถูกติดแท็กความรีบไว้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งของวงจรเริ่มมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ที่บางคนยังมีทัศนคติแบบเก่าว่า “รีบมีลูก จะได้โตทันใช้” ซึ่งทำให้เด็กที่เติบโตมาในทัศนคติแบบนี้ถูกติดแท็กความรีบทุกอย่างข้างต้น เพราะพวกเขาต้อง “รีบพึ่งพาได้” นั่นจึงทำให้พวกเขาต้องรีบโต รีบเรียน รีบจบ รีบทำงาน รีบสำเร็จ รีบรุ่ง รีบรวย เพื่อที่จะรีบทดแทนบุญคุณ โดยเจ้าตัวแทบไม่มีช่องว่างสำหรับหายใจหายคอในแต่ละช่วงวัยของชีวิตด้วยซ้ำไป

การเร่งรีบแบบนั้น มันมีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง คนที่สามารถรีบประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่อายุยังน้อย หลายคนถูกอวยยศให้กลายเป็นโมเดลของความกตัญญู ทำให้คนที่กดดันตัวเองและเร่งรีบที่จะประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ต้องพบกับคำพูดถากถางบั่นทอนกำลังใจ “ดูลูกบ้านนั้นสิ อายุน้อยกว่าแกอีก เขาเลี้ยงพ่อแม่ได้แล้ว พ่อแม่เขาไม่ต้องทำงานแล้ว!” ดังนั้น เมื่อเห็นคนรอบตัวประสบความสำเร็จนำหน้าไปก่อนแล้ว และยังต้องมาเจอคำพูดแบบนี้อีก หลายคนจึงเกิดความรู้สึกแย่กับตัวเอง ดูถูกตัวเองว่าไร้ค่า เพราะคิดว่าช่วงอายุเท่านี้ ตัวเองควรมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้แล้ว ในขณะที่เรายังไม่รู้เลยว่าตัวเองเกิดมาทำไม ชอบอะไร และอยากทำอะไร

สังคมเราเล่านิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า เพื่อสอนเด็กว่าเต่าไม่เคยยอมแพ้แม้ตัวเองจะช้ากว่า ในขณะที่กระต่ายประมาทคู่ต่อสู้มากเกินไป แต่ความย้อนแย้งก็คือสังคมเรายกย่องกระต่ายมากกว่าเต่า เราปลาบปลื้ม ชื่นชม ยกยอคนทะเยอทะยานที่พุ่งสามารถก้าวขึ้นสู่ที่สูงได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปล่อยให้คนที่ค่อย ๆ เติบโตได้เติบโตอย่างสวยงามตามแบบที่พวกเขาควรเป็น แต่กลับดูแคลนและเปรียบเทียบความพยายามของพวกเขามากกว่า ทั้งที่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้พยายามน้อยกว่าที่ประสบความสำเร็จเสียหน่อย อาจจะเพราะจังหวะและโอกาสที่ไม่เอื้อให้พวกเขาก็ได้

คนในสังคมมักมองข้าม (หรือเหยียบ) คนที่ประสบความสำเร็จช้าว่าไม่พยายาม พยายามไม่พอ ทั้งที่ความจริงแล้วทุกอย่างมันต้องใช้เวลา คนเราเกิดมามีความแตกต่างหลากหลาย หลาย ๆ คนที่พรสวรรค์เป็นทุนเริ่มต้นที่ดี แต่บางคนยังต้องพึ่งพาพรแสวง ทำให้พวกเขาอาจต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวตน ความชอบ ฝึกฝน และพัฒนาตนเองที่มากกว่า ดังนั้น ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่พยายาม แต่เพราะ “ชีวิตคนเรามันไม่ได้เท่าเทียมกันขนาดนั้น บางคนก็มีชีวิตเหมือนถนนลูกรังที่ขรุขระ มีคนที่วิ่งแทบตาย แต่ท้ายที่สุดก็เจอกับหน้าผาสูงชัน”

ขอเป็นคนธรรมดาที่ไม่ต้องวิ่งตามทุกคนบนโลกจะได้ไหม
แน่นอนว่าการมองเห็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันประสบความสำเร็จนำหน้าเราไปหลายก้าว ในขณะที่ตัวเราเองยังค่อย ๆ ตะเกียกตะกาย ดิ้นรน ปีนป่าย ให้หลุดพ้นจากวังวนเดิม ๆ มือลื่นบ้าง ก้าวพลาดบ้าง ทำให้ตกลงมาอยู่ที่เดิม การก้าวไปข้างหน้าได้ทีละนิด ๆ ที่แทบไม่ต่างอะไรจากการย่ำอยู่กับที่ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง สร้างความรู้สึกทางลบในจิตใจ ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข ไม่พึงพอใจในชีวิต เริ่มโทษตัวเองว่าเรามันคนไม่เอาไหน พวกขี้แพ้ จนเกิดความสงสัยในตัวเองว่าเรามีความสามารถจริงหรือ เราเป็นพวกไร้ความสามารถหรือเปล่า เริ่มไม่มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ก่อเกิดเป็นความเครียด และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา

หลายคนอาจมองว่านั่นเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการไม่พึงพอใจในตัวเอง เพราะคนเหล่านี้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เหนือกว่า จึงรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าแล้วเป็นทุกข์ไปเอง ถ้าเพียงแค่ไม่สนใจความสำเร็จของคนอื่น ไม่ด้อยค่าตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น ทุกอย่างก็จบ นั่นอาจจะเป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะความจริงเบื้องหลังของคนเหล่านี้ไม่ใช่แค่พวกเขาไม่พึงพอใจในตัวเองด้วยตัวเอง แต่มันยังรวมถึงความกดดันจากบุคคลรอบข้างด้วย สายตาดูแคลนจากคนในครอบครัวที่เร่งเร้าอยู่ทุกเช้าค่ำ คำถามเดิม ๆ ที่ถามเช้าถามเย็นว่าเมื่อไรจะซื้อบ้าน เมื่อไรจะมีรถ เมื่อไรจะแต่งงาน หรือแม้กระทั่งเมื่อไรจะตอบแทนบุญคุณด้วยการเลี้ยงดูพ่อแม่ได้

ด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่พวกเขาต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน มันทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะหยุดวิ่งตามคนอื่นได้ ต่อให้มันจะไม่ใช่ความปรารถนาของพวกเขาเองก็ตาม พวกเขาไม่สามารถที่จะเป็นคนธรรมดา ๆ ที่ใช้ชีวิตให้ช้าลง ท่ามกลางความคาดหวังจากคนใกล้ตัวที่ต้องการให้พวกเขาเป็นพิเศษ ทั้งที่คนใกล้ตัวควรจะเป็นคนที่เข้าใจพวกเขามากที่สุดว่าพวกเขาเป็นใคร ต้องการทำอะไร และจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทนทุกข์ทรมานขนาดนี้จากความคาดหวังที่คนอื่นปาใส่ การประสบความสำเร็จช้าไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว แต่พวกเขาจะกลายเป็นคนที่ถูกตราหน้าว่าล้มเหลวในสายตาของคนในครอบครัว ที่คาดหวังอยากเห็นพวกเขาประสบความสำเร็จเพื่อตอบสนองตัวเอง

“ทำไมฉันถึงเป็นคนธรรมดา ๆ ไม่ได้” นั่นสิ ทำไมล่ะ ทำไมเราจะต้องรีบประสบความสำเร็จขนาดนั้น ในวัยเลข 3 ขอแค่มีงานทำ มีเงินพอใช้แบบไม่ขัดสน ไม่เดือดร้อน เลี้ยงดูตัวเองได้ ไปเที่ยวในที่ที่อยากไป หรือนอนโง่ ๆ ดูหนังดูซีรีส์ แต่ทำไมฉันถึงต้องกดดันตัวเองเพื่อที่จะประสบความสำเร็จอย่างคนอื่นเขาให้ได้ในอายุเท่านี้ “ขอไปนั่งโง่ ๆ ริมทะเลฎ จึงไม่ใช่คำพูดในเชิงตลกขบขันของใครหลาย ๆ คน แต่มันเป็นความรู้สึกที่อยากจะทิ้งความหนักหน่วงที่แบกเอาไว้ แล้วไปทำอะไรที่มันชิล ๆ แบบนั้นจริง ๆ หลายคนทุกข์ทรมานจากการวิ่งตามความสำเร็จมากเกินไป

“ฉันไม่อยากเป็นคนเก่ง ฉันแค่อยากเป็นคนรวย” น่าจะเป็นอีกข้อความที่สื่อถึงการอยากเป็นคนธรรมดา (ที่รวย) ได้เป็นอย่างดี ในชีวิตที่เราล้วนต้องแข่งขันกับอะไรต่ออะไรมากมายเพื่อให้มีเงินมากพอที่จะดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน ต้องเหนื่อยดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเร็ววันก็ยิ่งดี พยายามเป็นคนที่ไม่ธรรมดา เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในเร็ววัน เพราะเชื่อว่ามีสายตาจากที่อื่นคอยจับจ้องอยู่ตลอดว่าเราจะใช้ชีวิตได้ดีสักแค่ไหน

จริง ๆ แล้วการเป็นคนธรรมดานั้นไม่ได้ผิดอะไรเลย คนเราย่อมเติบโตเป็นตัวเองและสวยงามในแนวทางของตัวเอง แต่เรากลับถูกหล่อหลอมให้ต้องไหลตามยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ ยนไปของสังคม เป้าหมายในชีวิตคือต้องพาตนเองไปสู่ ความสำเร็จให้ได้ ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ไม่ต้องสนใจวิธีการ มองข้ามความเสี่ยง และไม่ได้หยั่งถึงความยั่งยืนที่ จะเกิดขึ้น ซึ่งเป้าหมายเช่นนี้บางคนก็ไปถึง บางคนเกือบถึงแล้วอีกนิดเดียว แต่บางคนก็ไปไม่ถึง แล้วมานั่งโทษโอกาสและสั งคมที่ทำให้ตนเองเป็นไม่ได้ แบบคนอื่น

นั่นทำให้ทัศนคติในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่นั้นกำลังเปลี่ยนไป พวกเขารู้สึกว่ามันน่าเศร้าเกินไปที่ชีวิตที่มีอยู่แค่ชีวิตเดียว แถมชีวิตก็สั้นเกินกว่าจะให้แรงกดดันทางสังคมมาบังคับทิศทางชีวิต พวกเขาจะทำในแบบที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น สนใจแรงกดดันรอบตัวให้น้อยลง เลิกบีบคั้นตัวเองว่าต้องรีบประสบความสำเร็จให้ได้เร็ว ๆ ภายในอายุ 30 ปี พวกเขาแค่อยากจะเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตธรรมดาให้หมดไปในแต่ละวัน ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าที่จำเป็น เพราะเอาเข้าจริง มันก็เหนื่อยไม่ใช่เล่นที่ต้องวิ่งตามความสำเร็จให้ได้ในเร็ววัน ชีวิตอุดมคติแบบนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ต่อให้ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ พวกเขาก็รอช่วงเวลาที่สุกงอมที่สุดของตัวเองได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook