เมื่อความพลิกผันทางเทคโนโลยี นำไปสู่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
ในความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของโลก เทคโนโลยีกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์นำมาใช้แก้ไขปัญหาและกำจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการใช้ชีวิต จริงอยู่ที่การค้นพบวิทยาการเหล่านั้นสามารถนำพามนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ใหม่ก็มักจะคืบคลานเข้ายึดครองพื้นที่และสวมรอยซ้อนทับสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้า จนถึงขั้นพลิกผันให้สิ่งเดิมนั้นต้องเคลื่อนเข้าสู่ภาวะชะงักงันในระดับที่ค่อยๆ หมดความสำคัญ และเลือนหายไป
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเล่นบิลเลียด (Billiard) ที่เคยได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงเริ่มกระจายสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น มันกลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่แพร่หลายเสียจนไม่สามารถผลิตลูกบิลเลียดออกใช้ได้ทันตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เป็นเพราะตามธรรมเนียมเดิมนั้น ลูกบิลเลียดจะต้องแกะสลักจากงาช้าง ซึ่งนอกจากจะให้น้ำหนักและแรงตกกระทบที่ดีแล้ว ยังมีความสวยงามเป็นอย่างมาก ทว่าความนิยมที่เกิดขึ้นนี้กลับทำให้เกิดขบวนการล่าช้างเพื่อเอางา อันส่งผลกระทบโดยตรงกับการคงอยู่ของจำนวนช้างป่าในธรรมชาติจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทำให้บริษัทฟีแลน แอนด์ โคเลนเดอร์ (Phelan & Collender) ผู้ผลิตลูกบิลเลียดรายใหญ่ในนิวยอร์กเกิดแนวคิดจัดตั้งเงินรางวัลที่สูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ (หรือราว 200,000 กว่าเหรียญสหรัฐ เทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบัน) เพื่อจูงใจให้เหล่านักประดิษฐ์คิดค้นวัสดุทดแทนงาช้างสำหรับการผลิตลูกบิลเลียด
ว่ากันว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เองที่จอห์น เวสลีย์ ไฮแอต (John Wesley Hyatt) ค้นพบพลาสติกที่เรียกว่า ‘เซลลูลอยด์’ (Celluloid) โดยบังเอิญจากอุบัติเหตุ เขาได้รู้ว่าไนโตรเซลลูโลส (Nitrocellulose) อันมีที่มาจากใยฝ้ายนั้น เมื่อได้ผสมกับการบูรและเอทิลแอลกอฮอล์แล้วจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน ก่อนกลายเป็นเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) หรือวัสดุใหม่ที่มีความแข็งแรง เหนียว ทนทานต่อแรงกระแทก ที่สามารถหลอมให้เหลวด้วยความร้อนและนำไปขึ้นรูปใหม่ได้อย่างไม่จำกัด จนสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นวัสดุทดแทนงาช้างในอุตสาหกรรมผลิตลูกบิลเลียดได้นับตั้งแต่นั้น
ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1939-1945) ความต้องการสรรหาวัสดุทดแทนที่มีความคงทนแข็งแรง ต้นทุนต่ำเหมาะกับนำมาใช้ในการสงคราม มีส่วนช่วยให้พัฒนาการของพลาสติกเจริญรุดหน้าเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 1939 วอลเลส คาโรเธอร์ (Wallace Carothers) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดก็สามารถผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพื่อทดแทนการใช้เส้นใยไหม (Silk) ให้กับดูปองท์ (Du Pont) บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกาขึ้นได้สำเร็จเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ ‘ไนลอน’ (Nylon) ที่ถูกใช้เป็นวัสดุสำคัญสำหรับผลิตร่มชูชีพ เชือก และเต็นท์ทหาร
ในขณะที่ฝั่งแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ไนลอนถูกพัฒนาไปสู่การผลิตถุงน่องสำหรับสตรีในช่วงทศวรรษที่ 1940s พร้อมกับการเกิดกระแสนิยมกระโปรงทรงสอบที่มีความยาวแค่เข่า จนทำให้ถุงน่องกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญอันมีความจำเป็นต่อการแต่งกาย การโหมโฆษณาถึงความสวยงามของพื้นผิวที่แวววาวไม่ต่างจากถุงน่องเส้นใยไหม แต่กลับทนทานและไม่ฉีกขาดง่ายเมื่อสวมใส่ กลายเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ถุงน่องไนลอนได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่สุภาพสตรี แม้ว่าราคาต่อคู่จะแพงกว่าถุงน่องแบบเดิมกว่าเท่าตัวก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งให้ผู้หญิงพยายามเสาะหาถุงน่องจากใยสังเคราะห์พลาสติกนี้มาครอบครอง และเมื่อสงครามทำให้ถุงน่องไนลอนอันเป็นที่ปรารถนาต้องขาดแคลน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตจำต้องสนองนโยบายรัฐบาลด้วยการหันไปสนับสนุนการสร้างยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ผู้หญิงหลายคนจึงเริ่มคิดค้นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้พวกเธอได้มาซึ่งความรู้สึกเสมือนกับว่ายังคงได้สวมใส่ถุงน่องไนลอนตามสมัยนิยมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทาสีรองพื้นแบบน้ำ (Liquid Stockings) ที่บริเวณช่วงขาเพื่อทดแทนถุงน่องจริง ไปจนถึงการผลิตอุปกรณ์ประหลาดที่ทำจากดินสอเขียนขอบตา ด้ามจับไขควง และแกนล้อจักรยาน เพื่อช่วยวาดเส้นตะเข็บถุงน่องด้วยตนเองที่ต้นขาด้านหลังให้การลวงตาเลียนแบบนั้นสมจริงยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกับที่ร้านเสริมสวยเพิ่มบริการรับทาสีต้นขาให้แก่สตรีด้วยจุดประสงค์ที่จะลดขั้นตอนและความยุ่งยากของการมีถุงน่องเสมือนของผู้หญิงให้สะดวกและง่ายดายกว่าเดิม
จนกระทั่งวันที่สงครามยุติและบริษัทดูปองท์ผู้ผลิตไนลอนประกาศว่าพร้อมกลับมาระดมกำลังผลิตถุงน่อง ความหวังของเหล่าสุภาพสตรีในช่วงสงครามจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง ทว่าเหตุไม่คาดฝันของความล่าช้าจากระบบการผลิตและการขนส่งทำให้สินค้ากระจายตัวไม่ทั่วถึง และเปลี่ยนแปรให้การรอคอยกลายเป็นความคุ้มคลั่ง จนถึงขั้นเกิดเป็น ‘จลาจลถุงน่อง’ หรือ ‘Nylon Riot’ ที่กินเวลานานกว่า 8 เดือน โดยกล่าวกันว่าในพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) เพียงเมืองเดียวนั้น มีสุภาพสตรีกว่า 40,000 คน ที่ยอมต่อแถวหน้าห้างสรรพสินค้าเพื่อรอคิวซื้อถุงน่องที่มีเหลือเพียงหมื่นกว่าคู่ในสต็อก
กระแสพลาสติกฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นนับจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี้ พัฒนาอย่างต่อเนื่องเมื่อบริษัทดูปองท์ค้นพบเส้นใยสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า ‘โพลีเอสเตอร์’ (Polyester) อันเป็นสารประกอบโมเลกุลชนิดหนึ่ง (Polymer) ที่มาจากผลพลอยได้ของการกลั่นน้ำมันในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Polyethylene Terephthalate หรือ PET) อันเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตขวดน้ำและภาชนะพลาสติก โดยเส้นใยโพลีเอสเตอร์นั้นเมื่อนำมาถักทอเป็นผืนผ้าเพื่อผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มจะปรากฏคุณสมบัติพิเศษที่มีความยืดหยุ่นดี ไม่ยับง่าย ไม่ต้องรีด แถมยังแห้งเร็วกว่าผ้าไนลอนเมื่อซักรีด
ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ทอม วูล์ฟ (Tom Wolfe) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน เฝ้ามองความเคลื่อนไหวของสังคมขณะที่วิทยาศาสตร์กำลังรุดหน้าสู่อนาคต เขาสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับการใช้ชีวิตของผู้คนในอเมริกา แล้วขนานนามยุคนี้ว่า ‘The Me Decade’ ที่สะท้อนให้เห็นความผิดหวังของผู้คนอันเกิดจากผลกระทบของความล้มเหลวทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การที่พวกเขาเหล่านั้นเริ่มละทิ้งสภาวะวุ่นวายภายนอก แล้วหวนกลับเข้าเสาะแสวงหาตัวตนภายใน (The Real Me) เพื่อสร้างความเข้าใจกับตนเอง ก่อนที่จะเปิดเผยความเป็นจริงนั้นให้คนอื่นรับรู้
ความเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นนี้เอง ที่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายจากโพลีเอสเตอร์สอดคล้องกับความต้องการนำมาใช้ผ่านนัยของการเป็นเครื่องมือเพื่อขบถและแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรอบแนวคิดประเพณีนิยมของคนรุ่นก่อน รวมทั้งต่อต้านความล้มเหลวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานั้น เพื่อผลิตสร้างเป็นพื้นที่ของความแตกต่างและเพิ่มความเชื่อมั่นให้อนาคตต่อตนเอง โดยเฉพาะกับการเกิดขึ้นของ Leisure Suit หรือชุดสูทลำลอง ที่โดยรูปทรงประกอบด้วยเสื้อแจ๊กเก็ตตัวหลวมที่มีลักษณะราวกับขยายโครงสร้างมาจากเสื้อเชิ้ตที่มีปกกว้างผิดปกติ ตกแต่งตัวเสื้อด้วยกระเป๋าแปะ (Patched Pocket) ขนาดใหญ่เตะตา พร้อมติดฝากระเป๋าติดกระดุม เพื่อสวมคู่กับกางเกงขากระดิ่งเอวสูงที่มีสีสันและลวดลายสดใสเข้าชุดกัน จนชวนให้ต้องหันไปมองซ้ำ
โครงสร้างของชุดสูทที่จงใจล้อเลียน (Mock) รูปแบบของเครื่องแต่งกายบุรุษแบบดั้งเดิมเช่นนี้ ไม่ต่างจากการประดิษฐ์สร้างนิยามของเครื่องแต่งกายแบบใหม่ที่สอดประสานกับความต้องการที่นำเสนอตัวตนและเอกลักษณ์ของตนเองดังที่คนในยุค 1970s กำลังแสวงหา โดยเฉพาะเมื่อผสานเข้ากับคุณสมบัติของเนื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มีน้ำหนักเบา ดูแลง่าย และราคาถูก Leisure Suit จึงเข้าถึงผู้ชายทุกวัยทุกชนชั้นมากกว่าชุดสูทตามธรรมเนียมดั้งเดิม โดยเฉพาะเมื่อนักแสดงจอห์น ทราโวลตา (John Travolta) สวมสูทลำลองแบบใหม่นี้ในเวอร์ชั่นสีขาวล้วนเต้นรำแบบดิสโก้บนฟลอร์อย่างโดดเด่นในภาพยนตร์ Saturday Night Fever เมื่อปี ค.ศ. 1977 ที่นอกจากจะยิ่งทำให้ Leisure Suit กลายเป็นหนึ่งในตำนานของประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายแล้ว (Iconic Dress) ยังทำให้มันกลายเป็นภาพลักษณ์ของสุภาพบุรุษยุคใหม่ที่ต้องสวมใส่ผ้าใยสังเคราะห์ที่ซื้อได้ง่ายเพียงแค่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต
ปัจจุบันเรากล่าวโทษและแปะป้ายปัญหาของภาวะความเป็นมลพิษ (Toxic) ให้กับพลาสติก ราวกับลืมไปว่าครั้งหนึ่งในอดีตมันได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความสะดวกสบายและทำให้เราสัมผัสได้ถึงอนาคต ดังนั้นในวันที่กระแสธารแห่งยุคสมัยกำลังไหลเปลี่ยน การเริ่มต้นจากตนเองด้วยการการปรับทัศนคติ มองมุมใหม่ แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างเข้าใจตั้งแต่ต้นทาง จึงอาจจะเป็นทางออกสุดท้ายของการอยู่ร่วมกันกับพลาสติกและอนาคตที่ไม่จำเป็นต้องมีใครสูญหาย เพราะถูกแทนที่ไปอย่างตลอดกาล