ภาวะหมดไฟ 3 ประเภทที่ควรระวังและวิธีการรับมือ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักภาวะหมดไฟในการทำงานหรือ Burnout Syndrome กันไปบ้างแล้ว หากสรุปย่อๆ มันคือ คำเรียกของผู้ที่มีอาการเครียดสะสม รู้สีกว่าตัวเองไม่อยากทำงาน ไม่มีสมาธิกับงาน รู้สึกสิ้นหวังทั้งการทำงานและชีวิตประจำวัน
รู้หรือไม่ว่าภาวะหมดไฟในการทำงานก็สามารถแบ่งประเภทได้ โดยหลักๆ มี 3 ประเภทได้แก่ Overload Burnout ,Under-Challenged Burnout , Neglect Burnout เรามารู้จักไปทีละประเภทดีกว่า
1.ภาวะหมดไฟจากงานที่หนักเกินไป Overload Burnout
ภาวะหมดไฟจากงานที่หนักเกินไปมักเกิดขึ้นเมื่อเราทำงานหนักมากเกินไป บางคนก็มาจากการที่ทุ่มเทกับงานมากจนไม่มองสิ่งอื่น ได้รับงานที่หนักเกินกำลัง จนส่งผลเสียต่อสุขภาพและกระทบชีวิตส่วนตัวของเรา
วิธีรับมือกับภาวะหมดไฟประเภทนี้คือ ควบคุมอารมณ์ การพูดให้กำลังใจตัวเอง กำหนดเวลาการทำงานอย่าให้งานมารบกวนชีวิตส่วนตัว พยายามแบ่งเวลาให้กับสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงาน อย่ามองข้ามความต้องการของตัวเอง
2.ภาวะหมดไฟจากงานที่น่าเบื่อ Under-Challenged Burnout
ภาวะหมดไฟประเภทนี้มักเกิดจากความรู้สึกว่างานของตัวเองไม่มีค่า ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อใคร น่าเบื่อ ไม่ท้าทาย วนลูปไปวันๆ อีกทั้งยังรู้สึกว่างานไม่ได้ให้อะไรใหม่ๆ เลยไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่รู้ว่าจะโตไปทางไหนต่อ ทำให้รู้สึกกังวลต่ออนาคตของตัวเองและรู้สึกแย่กับตัวเองในที่สุด
การรับมือเราควรตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ให้กับตัวเอง หาการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเองอาจจะวันละ 20 นาทีก็ได้ ตั้งเป้าในแต่ละเดือนว่าเราจะทำอะไร ลองคุยกับที่ทำงานเพื่อลองโปรเจคงานใหม่ๆ เพื่อเรียกไฟกลับมาอีกครั้ง
3.หมดไฟจากงานที่เยอะเกินไป จนไม่สามารถจัดการได้ Neglect Burnout
งานที่ใหญ่เกินไปจนเกินที่จะรับมือไหว ก็ส่งผลทำให้คนหมดไฟได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากปริมาณงานที่มากเกินจนไม่สามารถทำได้ทันแล้วเราจะรู้สึกจะทำยังไง รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ ตัวเองไม่เก่ง กลายเป็นความรู้สึกที่ไม่อยากสู้ต่อ
วิธีการรับมือแนะนำว่าจดรายการงานที่เกี่ยวข้อง ภาระหน้าที่ต่างๆ ที่เราได้รับ เอาไปคุยกับหัวหน้าหรือทีม เพื่ออธิบายขอแนวทางการจัดการ การช่วยเหลือ เสนอไอเดียที่จะจัดการปัญหาในช่วงนี้ หากจำเป็นก็ขอความช่วยเหลือ ที่สำคัญคืออย่าให้มันกระทบชีวิตประจำวันมากเกินไป
ภาวะหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สำคัญที่สุดคือการหาทางออกที่ดีให้ตัวเอง กำหนดเส้นอย่าให้กระทบชีวิตประจำวัน ขอความช่วยเหลือหรือทางออกกับทีมหรือหัวหน้า หากรู้สึกกระทบตัวเองมากก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางต่อไป