คนแก่ก็ต้องดูแล ลูกก็ต้องคอยจัดการ : ปัญหาหนักใจของพ่อแม่ยุคปัจจุบันที่เป็น Sandwich Generation
เมื่อวันก่อนมีโอกาสได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เห็นคุณพ่อคุณแม่คู่หนึ่งอายุราว ๆ เกือบสี่สิบ มีลูกชายกับลูกสาววัยน่ารักน่าชังจูงมือพ่อคนละข้าง ส่วนคุณแม่เข็นรถเข็นคุณยายและมีคุณตาเดินมาข้าง ๆ มันเป็นภาพที่ดูอบอุ่นหัวใจ แต่ในขณะหนึ่งก็เข้าใจอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ทั้งสองท่านนั้นดีเลยว่ามันเหนื่อยขนาดไหน (เพราะผมกับภรรยาก็อยู่ในสถานะนี้เช่นกัน) ในการอยู่ในครอบครัวใหญ่เป็นเจนเนอเรชั่นตรงกลาง
การดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ตรวจสุขภาพทีใช้เวลาเป็นวัน และไม่ใช่แค่เจอหมอคนเดียว ไหนหมอตา หมอหู หมอกระดูก หมอสมอง หมอหัวใจ และอีกสารพัดหมอ ไหนจะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หันไปอีกด้านหนึ่งก็เป็นลูกน้อยที่ต้องไปโรงเรียน เดี๋ยวมีกิจกรรมนู้นนี่นั่น ไหนจะไปเรียนพิเศษ เดี๋ยวเพื่อนชวนไปบ้านงานวันเกิด พาไปเที่ยวช่วงวันหยุด ไม่สบายอยู่บ้านต้องหยุดงานมาดูแล ทุกอย่างมะรุมมะตุ้มไปหมดสำหรับพ่อแม่ในยุคนี้ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Sandwich Generation’
คำว่า ‘Sandwich Generation’ ก็เป็นคำเปรียบเปรยบ่งบอกถึงคุณลักษณะของการอยู่ตรงกลางระหว่างคนแก่ในบ้านที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และเด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตที่อายุน้อยกว่า 18 ปี โดยคุณอยู่ตรงกลางและทุกอย่างคุณต้องเป็นคนจัดการและตัดสินใจเกือบทั้งสิ้น
มีการทำแบบทดสอบโดย Pew Research Center พบว่าตอนนี้ครอบครัวชาวอเมริกันกว่า 23% ถูกจัดว่าอยู่ในสถานะแบบนี้ (ซึ่งถ้านับคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป สัดส่วนนี้สูงถึง 54% เลยทีเดียว) ส่วนในบ้านเรามีข้อมูลจาก สสส. บอกว่าครอบครัวแบบขยายหรือมีสามเจนเนอเรชันอยู่รวมกันนั้นเพิ่มขึ้นจาก 26.5% เป็น 35.7% โดยคนที่เป็นพ่อแม่ที่อยู่ตรงกลางจะคอยช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายอยู่เสมอ
การดูแลคนแก่หรือดูแลเด็ก ๆ ในครอบครัวนั้นเป็นสิ่งจำเป็นและแน่นอนนำมาซึ่งความรู้สึกดีเมื่อครอบครัวอยู่ด้วยกัน แต่ต้องยอมรับความจริงครับว่าการดูแลคนอื่นนั้นใช้พลังงานเยอะมาก ๆ บางทีเหนื่อยกายไม่เท่าไหร่ เหนื่อยใจยิ่งหนักเข้าไปอีก เด็ก ๆ ดื้อยังพอตักเตือนได้ คนแก่ดื้อนี่หาอะไรมาขู่ก็ไม่ฟัง นอกจากเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจแล้ว ต้องคิดถึงสภาพการเงินอีกด้วย เพราะการดูแลทั้งคนแก่ที่ต้องการการรักษาดูแลจากแพทย์ ค่ายา ค่าประกัน ของใช้ต่าง ๆ นานา และเด็กที่ต้องจ่ายค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่าอาหาร เสื้อผ้า ไหนถ้าลูกโตก็มีเรื่องมือถือ รายเดือนเพิ่มมาอีก
มันเป็นความรับผิดชอบที่ห่อหุ้มด้วยศีลธรรมของการเป็นลูกที่ดีของคนแก่ในบ้าน และการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกตัวน้อย ๆ แม้มีเงินเราก็ไม่อยากย้ายออกไปสร้างครอบครัวของตัวเองเพราะรู้สึกผิดที่ไม่ดูแลพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่า แม้จ้างพี่เลี้ยงดูแลเด็ก ๆ ได้ก็เผชิญปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจให้คนอื่นเลี้ยงดูลูกแทนตัวเอง และเหตุผลมากมายร้อยแปดที่ทำให้อยู่สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของหลาย ๆ ครอบครัว
ในประเทศที่ความช่วยเหลือแบ่งเบาปัญหาจากรัฐบาลเรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์ ปัญหานี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปและจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรายงานจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
คำถามคือคนที่เป็น ‘Sandwich Generation’ ควรทำยังไงดีล่ะ?
อย่างแรกเลยครับต้องมองว่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงหรือหลบหนี ต้องยอมรับก่อนเลยว่าโครงสร้างของสังคมและสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันถูกบีบให้มันมาเป็นแบบนี้ เมื่อหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้สิ่งที่ต้องทำคือการหาเวลาพักให้กับตัวเองเท่าที่จะทำได้และขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แน่นอนว่าควรมองหาญาติพี่น้อง หยิบยื่นมือมาช่วยกัน สร้างเป็นเครือข่ายช่วยเหลือ ถ้าคนแก่ที่บ้านมีพี่น้องหรือเพื่อนก็พาเขาไปเข้าสังคมบ้าง ถ้าเรามีพี่น้องที่วางใจได้ก็ลองฝากเด็ก ๆ ไว้สักสองสามชั่วโมงต่ออาทิตย์หาเวลาให้ตัวเองได้ผ่อนคลายก็เป็นเรื่องที่ดี จำเอาไว้ว่า ‘งานนี้ไม่ง่าย และคุณไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด’
เจสสิก้า สเติร์น (Jessica Stern) นักวิจัยปริญญาเอกด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเห็นด้วยกับเรื่องการให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองจริง ๆ อย่างการนอนหลับให้เต็มอิ่ม การกิน การดื่มน้ำ และที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงกับผู้อื่น เธอกล่าวว่า “มันเป็นแรงงานทางอารมณ์ที่เราต้องทุ่มทุกอย่างเลย เราต้องควบคุมอารมณ์ตนเอง มีความฉลาดทางอารมณ์เกี่ยวกับคนอื่น และควบคุมตนเองได้มาก”
มนุษย์วิวัฒนาการตัวเองมาโดยการพึ่งพาและร่วมมือกันในสังคม สร้างความผูกพันอยู่ด้วยกัน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมีความสำคัญต่อสุขภาพจิตที่ดีเกิดขึ้นเมื่อเราได้ดูแลและรักคนอื่นด้วย
นอกจากจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ทำได้คือการระบายความรู้สึกให้คนอื่น ๆ ฟังบ้าง การเจอกับนักจิตวิทยาก็ช่วยได้ หรือถ้าไม่มีก็คุยกับคนรัก คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทก็ได้ แค่ได้ระบายเมื่อรู้สึกเครียดก็ช่วยทำให้ความรู้สึกหนักใจที่แบกเอาไว้เบาลงได้
อีกอย่างหนึ่งที่พอจะช่วยได้คือเรื่องการปรับมุมมองสถานการณ์ที่เป็นอยู่ซะใหม่ แน่นอนว่าการดูแลคนแก่และเด็ก ๆ ในบ้านเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างไม่ต้องสงสัย คำแนะนำคือการมองให้มันสนุก มองว่าดีแล้วที่ได้อยู่ใกล้ ๆ กับคนที่เรารัก (แม้จะกินหัวกันบ้างเป็นครั้งคราวก็ตาม) เครียดบ้าง ผ่อนคลายบ้าง ทะเลากันบ้าง ดีกันบ้างเป็นเรื่องปกติ และอย่าลืมแสดงความรักต่อกันบ่อย ๆ
แน่นอนคุณจะยังคงเหนื่อยจากการเป็น ‘Sandwich Generation’ คนแก่ก็ต้องดูแล ลูกก็ต้องคอยจัดการ แต่เราทำให้มันเบาลงได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี