กว่าจะได้ภาพงาม... ตามรอย The Beatles
ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง
ภาพ 4 ซุปตาร์วง The Beatles (เดอะ บีเทิลส์) เดินข้ามทางม้าลายบนถนนสายเล็ก ๆ สายหนึ่ง กลายเป็นหนึ่งในภาพอมตะของวงการเพลง หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นหนึ่งในภาพคลาสสิกที่ติดตาคนทั่วโลก
ถนนสายเล็ก ๆ สายนั้นชื่อว่า Abbey Road หรือถนนแอบบีย์ แต่เดิม Abbey Road เป็นเพียงถนนธรรมดาในเขต Camden (แคมเดน) ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยทางตอนเหนือของลอนดอน
แต่เมื่อวงสี่เต่าทองไปถ่ายปกอัลบั้มบนทางม้าลายหัวถนนสายนี้ในปี 1969 โดยใช้ชื่อถนนเป็นชื่ออัลบั้ม หลังจากนั้นมา Abbey Road ก็ไม่ใช่เพียงแค่ถนนอีกต่อไป แต่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ถึงแม้จะไม่ใช่แลนด์มาร์กสุดแมสอย่างหอนาฬิกาบิ๊กเบนหรือลอนดอนอาย แต่ Abbey Road ก็เป็นสถานที่ในฝันของบรรดาคนรักเสียงดนตรีที่จะต้องไปถ่ายรูปและเช็กอินให้ได้เมื่อมีโอกาสไปเยือนลอนดอน
ด้วยชื่อเสียงและอิทธิพลของภาพปกอัลบั้มAbbeyRoad ที่มีผลต่อเรื่องการท่องเที่ยวและแสดงบทบาทวัฒนธรรม สำนักงานมรดกทางวัฒนธรรมอังกฤษจึงได้ขึ้นทะเบียนให้ทางม้าลายบนถนน Abbey Road เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชั้นที่ 2 ของประเทศเมื่อปี 2010
การไปเยือน Abbey Road นั้นไม่ยากสำหรับคนที่ไปถึงลอนดอนแล้ว เพียงแค่นั่งรถไฟใต้ดินสาย Jubilee (สายสีเทา) ไปลงที่สถานี St. John′s Wood เดินออกจากสถานีจะเจอสี่แยกให้เดินข้ามทางม้าลายไปทางถนน Groove End ให้เดินตรงไปจนกว่าจะเจอวงเวียนและมีถนนเส้นหนึ่งตัดขวางหน้า ทางฝั่งขวามือของวงเวียนนั่นแหละที่เรียกว่า Abbey Road
ระหว่างทางเดินจากสถานีรถไฟใต้ดินไปยัง Abbey Road นั้น มองเพลินดีทีเดียว บ้านเรือนตามข้างทางก็สวยงามตามสไตล์อังกฤษ บรรยากาศเงียบสงบมาก ถ้ามีเสียงพูดคุยดังมาให้ได้ยินบ้าง ก็คงเป็นเสียงที่มาจากคนที่กำลังเดินไปจุดหมายเดียวกัน
พอไปถึงวงเวียน ความเงียบสงบก็กลายเป็นความวุ่นวายทันที เพราะที่นี่มีคนมากมายมาข้ามทางม้าลายเพื่อจะถ่ายรูปให้ออกมาเหมือนภาพต้นฉบับ แต่ความวุ่นวายที่ว่าไม่ใช่ความวุ่นวายที่เป็นพิษเป็นภัยหรือน่ารำคาญ กลับเป็นความวุ่นวายที่น่ารัก เห็นแล้วต้องยิ้มตาม
แต่ละคนเดินข้ามแล้วข้ามอีก ห้ารอบก็แล้ว สิบรอบก็แล้ว กว่าจะได้ภาพที่ถูกใจนั้นไม่ง่าย เพราะด้วยสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ภาพของ The Beatles นั้นมีต้นไม้เขียวชอุ่มข้างทางมองไม่เห็นตึกรามบ้านช่องมากนัก แต่สภาพปัจจุบันทางม้าลายที่เห็นกันอยู่นี้ไม่ใช่ทางม้าลายเดียวกันกับที่ The Beatles ถ่ายปกอัลบั้ม เพราะทางม้าลายอันเดิมนั้นอยู่หน้า Abbey Road Studio ที่ The Beatles ใช้อัดเสียง แต่ต่อมามีการย้ายทางม้าลายเข้ามาตรงแยก ห่างจากจุดเดิมราว ๆ 50 เมตร และห่างจากต้นไม้ด้วย ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่เห็นต้นไม้เขียวปกคลุมมากเหมือนต้นฉบับ
ปัจจัยที่จะทำให้ภาพออกมาคล้ายภาพต้นฉบับนั้นมีอยู่2อย่างหลัก ๆ คือ จังหวะ และมุมกล้อง แน่นอนว่าเมื่อปี 1969 นั้นรถไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ การถ่ายภาพจึงอาจจะง่ายกว่ามาก ถึงแม้จะไม่ต้องขอกั้นถนนอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ในภาพก็จะเห็นว่ามีรถหยุดรอให้เป็นแถวยาว แสดงว่ามีการขอความร่วมมือผู้ใช้ถนนกันในระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวไม่สามารถจะขอให้รถหยุดให้ได้ ก็แล้วแต่ว่าใครจะช่วงชิงจังหวะได้ในช่วงที่มีรถวิ่งน้อย หรือจะเจอคนขับที่มีน้ำใจหยุดให้ แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะถ้ารถคันแรกหยุดให้ รถคันที่ตามมาไม่อยากรอก็บีบแตรไล่รถคันแรก
จากการเฝ้าสังเกตจะเห็นว่า ทันทีที่รถขาดสายคนก็เริ่มวิ่งลงถนน พอเดินไปครึ่งทางรถก็มากันเป็นขบวน อาจจะมีจังหวะที่รถติดไฟแดงอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากถ่ายภาพในจังหวะที่มีรถจอดติดไฟแดง เพราะจะทำให้บดบังทัศนียภาพและทำให้อารมณ์ภาพต่างออกไปมาก
สำหรับมุมกล้อง ถ้าจะให้ภาพออกมาสวยและเห็นบรรยากาศทั้งสองข้างทาง และได้ภาพลึกเข้าไปตามความลึกของถนน ต้องเป็นภาพมุมตรง โดยตากล้องต้องไปยืนกลางถนนให้กล้องขนานกับทางม้าลาย ไม่ใช่ยืนอยู่ข้างถนนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปได้ยากมากที่จะเสี่ยงชีวิตไปยืนอยู่กลางถนนที่รถวิ่งไปวิ่งมาแทบไม่ขาดสาย ฉะนั้น อาจจะต้องยืนข้างถนนแล้วยื่นมือออกไปให้กล้องขนานกับแนวขวางของทางม้าลายให้ได้มากที่สุด
หรือคนที่ไปพร้อมกล้องที่มีเลนส์ซูมได้ไกล ๆ อาจจะออกไปยืนอยู่ตรงวงเวียนแล้วซูมกล้องเข้ามา ก็อาจจะได้มุมที่ดีกว่านิดหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นคนละมุมกับต้นฉบับอยู่ดี ฉะนั้น ถ้าอยากได้ภาพสวย ๆ และมีเวลาว่างมากพอ อาจจะต้องเลือกไปในวันจันทร์-ศุกร์ในเวลาทำงาน เดาว่าน่าจะมีรถวิ่งน้อยกว่าในช่วงเวลาก่อนหรือหลังเลิกงาน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ จะว่าเป็นปัจจัยที่ 3 ก็ได้คือ จำนวนคนในภาพ ถ้าใครมีเพื่อนไปเกิน 5 คนจะดีมาก คนในภาพ 4 คนเท่าจำนวนสมาชิกวงสี่เต่าทอง บวกกับตากล้องอีกหนึ่งคน จะได้ภาพสวยใกล้เคียงต้นฉบับ แต่เท่าที่เห็นในวันนั้นก็ไม่มีกลุ่มไหนเลยที่ไปกันครบจำนวน พอจำนวนคนไม่ครบถึงจะได้มุมกล้องและจังหวะที่ดี ภาพที่ถ่ายออกมาก็ให้อารมณ์ต่างออกไปจากต้นฉบับมากอยู่ดี
ส่วนทริกสำคัญที่จะทำให้โอกาสใช้ทางม้าลายที่มีอยู่น้อยนิดนั้นไม่เสียเปล่า ซึ่งก็มารู้เอาตอนที่เดินไปเดินมาหลายรอบแล้วก็คือ ไม่ต้องเดิน ให้ไปยืนทำท่าก้าวขาแล้วให้ตากล้องกดแชะสักชอตสองชอตก็ได้แล้ว แต่ถ้าเดินไปเดินมาตากล้องอาจจะจับภาพไม่ได้จังหวะที่พอดี ก็จะเป็นการเสียโอกาสไป
ด้วยความที่มีคนอื่นรอคิวใช้ทางม้าลายเดียวกันกับเราอยู่อีกเยอะ ทุกคนจึงควรรีบถ่ายให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เท่าที่ได้เห็นบรรดานักท่องเที่ยวแต่ละคนก็มีน้ำใจกันดี คนที่จะถ่ายซ้ำเทกสอง สาม สี่ ห้า เขาก็จะรอให้คนอื่นถ่ายไปก่อน สลับ ๆ กันไป หลายคนไม่พอใจภาพที่ออกมาซะที ก็ต้องยืนรออยู่ตรงนั้นกันเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง
เมื่อถ่ายรูปข้ามทางม้าลายเสร็จแล้ว ส่วนหนึ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือ การไปเขียนข้อความฝากร่องรอยจารึกว่าได้มาเยือน Abbey Road แล้ว ที่กำแพง Abbey Road Studio ที่อยู่ห่างจากแยกไปอีกหน่อย ส่วนคนที่อยากซื้อของที่ระลึก ที่ Abbey Road ไม่มีขาย แต่ที่มีก็คือตรงหน้าสถานีรถไฟ St. John′s Wood ชื่อร้าน Beatles Coffee Shop ที่ขายทั้งกาแฟและมีของที่ระลึกเกี่ยวกับ The Beatles มากมายให้เลือกเก็บกลับไปฟินกันต่อที่บ้าน
ไม่ว่ารูปที่ถ่ายออกมาจะสวยได้ดั่งใจหรือไม่ เชื่อเถอะว่าการได้ไปเยือนสถานที่ที่คุณใฝ่ฝันก็ย่อมสวยงามอยู่ในความทรงจำทุกครั้งที่คิดถึงมัน