สนทนาจรรโลงใจ ชวนคุยยามว่างต้องไม่เครียดกว่าเดิม
การทักทายพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน นอกจากจะเริ่มต้นสั้น ๆ แบบ Small Talk ที่มุมกาแฟในช่วงเช้าก่อนเริ่มงานแล้ว ระหว่างวันก็คงจะเป็นเรื่องปกติที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างโต๊ะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะเป็นช่วงที่มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งชวนพักเบรกด้วยการนำขนมขบเคี้ยวมาแบ่งปันเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ และระหว่างนั้นก็ชวนคุยสนุกสนานเฮฮากันไป
แต่ช่วงนี้ เวลาพูดคุยเรื่องอะไรอาจต้องระมัดระวังสักนิด เพราะข่าวสารบ้านเมืองในช่วงนี้มีแต่เรื่องหนักหน่วง ชวนเศร้าใจและหดหู่ ลำพังเสพข่าวมาก็เครียดพอแรงแล้ว ยังจะต้องมาคุยเรื่องเครียด ๆ ช่วงระหว่างพักเบรกจากงานอีก แบบนั้นปวดหัวแย่เลย ดังนั้น ช่วงเวลาพักเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการทำงานแบบนี้ ชวนกันพูดคุยแต่เรื่องจรรโลงใจสนุกสนานบ้างดีกว่า ช่วงที่ควรผ่อนคลาย การพูดคุยกันต้องไม่เครียดกว่าเดิมนะ
ชวนคุยเรื่องตลกขบขัน/สร้างแรงบันดาลใจ
ในช่วงเวลาพัก แล้วได้มีโอกาสสนทนาพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้าง ๆ ถ้าอยากได้บรรยากาศสนุกสนาน ผ่อนคลายจากงานตรงหน้าบ้างสัก 5-10 นาที การชวนกันคุยเรื่องตลกขบขันเป็นอะไรที่เข้าท่าสุดแล้ว อาจจะเป็นไวรัลมุกตลกที่กำลังดังอยู่ในเวลานี้ หรือเรื่องตลก ๆ ที่ประสบพบเจอมาเมื่อเช้า คลิปน้องหมาน้องแมวตลก ๆ น่ารัก ๆ ทว่าให้หลีกเลี่ยงมุกตลกสังขารที่บูลลี่ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาของผู้อื่น มุกตลกเหยียดเพศ เราอาจตลกแต่คนอื่นอาจไม่รู้สึกตลก เพราะฉะนั้นอย่าทำลายบรรยากาศดี ๆ เลย ถ้าไม่รู้จะคุยมุกอะไร คุยอะไรที่มันสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันก็ได้นะ
หลีกเลี่ยงข่าวสารสักพัก
การเป็นคนใฝ่รู้หมั่นเสพข่าวสาร และรู้ทันสถานการณ์บ้านเมือง จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะจะได้อัปเดตเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ ๆ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้ข่าวสารในบ้านเราทั้งจากหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และจากโซเชียลมีเดียนั้นออกจะมีแต่เรื่องหนักหน่วงเกินไปหน่อย ขนาดที่ว่าตามเสพมาก ๆ เข้าอาจมีจิตตกได้เลย แล้วถ้ายังเอาข่าวต่าง ๆ มาเป็นประเด็นในการสนทนากันอีก มันก็ยิ่งพาเครียดเข้าไปใหญ่ เพราะแต่ละคนก็มีมุมมองความคิดของตนเองเกี่ยวกับข่าวนั้น ๆ ตามประสบการณ์ชีวิต ยิ่งทำให้อินกับข่าวหนักกว่าเดิม หัวสมองทำงานหนักน่าดูเลยล่ะ
อย่าแสดงตรรกะวิบัติ
กลุ่มคนที่คุยด้วยแล้วน่าปวดหัวมากที่สุดประเภทหนึ่ง คือกลุ่มคนที่ชอบใช้ตรรกะวิบัติในวงสนทนา เอาเข้าจริงคนกลุ่มนี้อาจจะไม่รู้ตัวเองอยู่ก็เป็นได้ว่ากำลังใช้เหตุผลทั้งที่มันไม่เป็นเหตุเป็นผลอยู่ ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าตรรกะตัวเองวิบัติหรือไม่ ก็มีวิธีหนึ่งที่จะช่วยเลี่ยงสถานการณ์ที่น่าอึดอัดได้ นั่นก็คือ การพูดให้น้อยลง ไม่จำเป็นที่จะต้องอยากแสดงความคิดเห็นกับคนอื่น ๆ ในวงสนทนาทุกเรื่อง เรื่องไหนไม่แน่ใจก็หาข้อมูลก่อนจะได้ไม่โป๊ะ รวมถึงคิดก่อนพูดให้มาก ๆ ลองคิดแบบย้อนกลับดูก็ได้ว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกันจริงไหม แล้วทุก ๆ อย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
อย่าเสียมารยาทในการพูดคุย
มารยาทในการพูดคุย หลักการที่ง่าย ๆ ที่สุดคือ การเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี พูดก็ต่อเมื่อมีช่องให้พูด อย่าพูดแทรกพูดสอด ไม่พูดพาดพิงบุคคลที่ 2 3 4 ระมัดระวังคำหยาบโลน ภาษากายระหว่างการสนทนา และไม่ถามคำถามที่ชวนเสียมารยาททั้งหลาย ที่จะทำให้คนถูกถามรู้สึกอึดอัดใจที่จะต้องตอบ ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างตั้งใจ เพียงแค่การรักษาบรรยากาศการสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่นตลอด 10 นาทีที่ได้พักพูดคุย ไม่เกิดการโต้เถียงหรือทะเลาะกันขึ้นมาก่อน มันก็เป็นการสนทนาที่สัมฤทธิ์ผลแล้วไม่ว่าจะคุยกันด้วยเรื่องอะไรก็ตาม