5 ประเด็นบทสนทนา ที่ต้องพูดคุยกัน “ก่อนแต่งงาน”
ตั้งแต่เข้าสู่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา หลาย ๆ คนอาจทันได้เห็นมุกหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ว่า “คนไทยมี 70 ล้านคน ฤกษ์แต่งงานในเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว 69 ล้านคน” จากจุดเริ่มต้นที่เห็นโพสต์ดังกล่าวจากหลาย ๆ แห่งพร้อม ๆ กัน และคอมเมนต์ใต้โพสต์ส่วนใหญ่ก็พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “จริง” จนนำไปสู่การหาคำตอบว่าทำไมเดือนพฤศจิกายนจึงถือเป็นเดือนยอดฮิตที่คู่รักมักจะใช้เป็นฤกษ์ในการสละโสดมากกว่าเดือนอื่น ๆ กล่าวคือคนที่กำลังจะแต่งงาน จึงมักจะเลือกจัดงานแต่งงานกันในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็มีอยู่หลายเหตุผลว่าทำไม ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคู่รักที่กำลังเตรียมที่จะแต่งงานทุกคู่จะต้องแห่กันมาจัดงานแต่งงานกันในเดือนพฤศจิกายนเท่านั้นเสียเมื่อไร
จะแต่งงานกันในเดือนไหนมันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นมันอยู่ที่การเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่หลังการแต่งงานต่างหาก เมื่อพูดถึงการแต่งงาน เป็นเรื่องปกติที่คู่บ่าวสาวจะวาดภาพอนาคตที่สวยงามไว้หลังจากที่ได้เป็นสามี-ภรรยากันอย่างถูกต้องหลังพิธี สามี-ภรรยาป้ายแดงหลายคู่เคยศึกษาการใช้ชีวิตคู่แบบคู่แต่งงานมาก่อน ทั้งการลองอยู่ด้วยกัน การมีที่ปรึกษาเป็นคู่แต่งงานที่แต่งงานมานานหลายปี รวมถึงศึกษาถึงความล้มเหลวในชีวิตคู่จากคนที่เคยแต่งงานแล้วและหย่าร้างแล้วก็มี เพื่อที่จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับคู่ของตนเองว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้ชีวิตคู่ไปถึงจุดนั้น
เพราะ “การแต่งงานไม่ใช่จุดจบของความรัก” จริง ๆ แล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ในฐานะคนรักนั่นเอง เมื่อสถานภาพเปลี่ยนจากคู่รักธรรมดามาเป็นสามีภรรยา ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมชายคาเดียวกันแบบทั้งวันและทุกวัน แน่นอนว่าคงมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่มันไม่เหมือนกับตอนที่อยู่ในสถานะแฟน เมื่อได้เผชิญหน้ากับความจริง ก็จะรู้ว่า “ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ” สำหรับการใช้ชีวิตคู่ ความจริงคือโลกไม่ได้สวยงามขนาดนั้น ดังนั้น ต่อให้คน 2 คนจะรักกันมากแค่ไหน การเดินทางในระยะยาวก็มีปัจจัยที่มากกว่าความรักที่เข้ามาเป็นตัวแปรในความสัมพันธ์
โดยเฉพาะ “การอยู่ด้วยกัน” มีสิ่งที่ต้องปรับเข้าหากันค่อนข้างมาก อะไรที่ไม่ชอบและเคยอดทนได้ พอต้องมาอยู่บ้านเดียวกันมันก็เริ่มที่จะยากลำบากมากขึ้นทุกที เริ่มที่จะไม่มีความสุข แล้วก็ประคับประคองไปต่อแบบฝืน ๆ อะไรที่ปล่อยผ่านได้ก็ปล่อย จนอยู่ในจุดที่ชินกันมากจนเกรงใจกันน้อยลง เมื่อถึงขีดสุดของความอดทนมันก็ไปต่อไม่ได้ ยิ่งฝืนก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง มองหน้ากันด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม แค่ความรักจึงไม่อาจพากันไปรอด ซึ่งถ้าความสัมพันธ์ยังไปไม่ไกลถึงไหน หยุดไว้แค่นั้นจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ก่อนที่จะเป็นเรื่องใหญ่กว่าเดิม
ทำให้คู่สมรสในยุคนี้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายในชีวิตหลังการสมรสแบบที่คนรุ่นก่อน ๆ อาจไม่เคยต้องเผชิญ มีเรื่องหยุมหยิมมากมายที่เราอาจเห็นว่ามันเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ แต่สุดท้ายมันกลับสะสมเรื้อรังจนมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์และการแต่งงานในทุกวันนี้ วิธีหนึ่งที่สำคัญในการประคับประคองชีวิตคู่จึงเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” ทำให้คู่รักที่ตัดสินใจจะแต่งงานกัน อาจต้องมีการสนทนาที่จริงจังและลึกซึ้งแบบที่คู่รักในอดีตไม่เคยต้องพิจารณา เหล่านี้เป็นบทสนทนาสำคัญที่ว่าที่บ่าวสาวควรคุยกันก่อนแต่งงาน เพื่อกำหนดความเข้ากันได้ในระยะยาวของคู่รัก
บทสนทนาที่ 1 เราจะเผชิญหน้ากับความท้าทายร่วมกันอย่างไร
มีปัจจัยหยุมหยิมหลายข้อที่เป็นต้นเหตุแห่งการหย่าร้างสำหรับคู่รักในยุคปัจจุบัน ทำให้คู่รักในปัจจุบันอาจต้องเผชิญกับความท้าทายบางอย่างที่คู่รักในอดีตไม่เคยต้องคำนึงถึงมาก่อน และความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง คู่รักจึงจำเป็นต้องคาดหวังกับมัน
กล่าวคือ คู่รักต้องมีแผนที่จะเผชิญหน้าและวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งเมื่อมันเกิดขึ้น ทั้งคู่ต้องให้คำแนะนำกันและกันได้เมื่อพวกเขาเผชิญกับทางตันว่าจะทำอย่างไรกันดี โดยเมื่อก่อนคู่รักในอดีตอาจใช้วิธีขอคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ในชุมชน แต่คู่รักในปัจจุบันมักจะเป็นคู่รักที่พยายามก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเองอย่างโดดเดี่ยวมากกว่า มีความเป็นปัจเจกสูง จึงต้องมีการสนทนากันก่อนที่จะแต่งงานเกี่ยวกับความคิดของกันและกัน ในประเด็นเรื่องการขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่สามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้ เมื่อคู่คุณต้องเผชิญกับความยากลำบากตามลำพัง
บทสนทนาที่ 2 ครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการแต่งงานของเราแค่ไหน
ใครที่บอกว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน คงจะลืมคิดล่ะสิว่าแต่ละฝ่ายก็มีครอบครัวอยู่เบื้องหลัง ซึ่งครอบครัวของแต่ละฝ่ายนี่แหละที่กลายเป็นอุปสรรคชี้วัดว่าความรักของคนทั้งคู่ว่าจะรุ่งหรือร่วงได้ เพราะหากเปิดตัวคู่รักให้ทางบ้านได้รู้จักแล้ว ครอบครัวอีกฝ่ายเกิดไม่ชอบขึ้นมา ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นทันที บอกเลยว่าความรักแทบจะถึงทางตัน ต้องเข้มแข็ง ต้องมั่นคง ต้องเชื่อใจกัน ต้องพิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์ความดี พิสูจน์ความรักกันอยู่นานกว่าครอบครัวจะใจอ่อน บอกเลยว่าเหนื่อยไม่ใช่เล่น แต่…ย้ำว่าไม่ใช่ทุกคู่ที่จะโชคดี เผลอ ๆ คู่ที่รักพังเพราะพ่อแม่ไม่ปลื้มอาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะคู่แต่งงานที่ยังอยู่อาศัยกับครอบครัวเดิมหลังแต่งงาน โดยมีสมาชิกใหม่อย่างลูกเขยหรือลูกสะใภ้เพิ่มเข้ามา ทำให้มีความซับซ้อนในบ้านมากขึ้น แรก ๆ อาจไม่มีปัญหา แต่หลัง ๆ อาจมีใครสักคนที่รู้สึกว่าครอบครัวเดิมเข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ของคู่คุณมากเกินไป ดังนั้น เป็นเรื่องที่คู่รักต้องพิจารณาก่อนแต่งงาน เกี่ยวกับวิธีการกำหนดบทบาทและขอบเขตที่ชัดเจนของครอบครัวเพื่อลดปัญหาในอนาคต การแต่งงานของคู่คุณควรจะแยกเป็นครอบครัวใหม่หรือไม่ หรือจะอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความซับซ้อน ซึ่งมันอาจสร้างความตึงเครียดให้กับคู่สามี-ภรรยาที่อยากสร้างครอบครัวใหม่เป็นของตัวเอง และทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น สิ่งนี้อาจคุกคามหนักจนถึงจุดตึงเครียดได้เลย
บทสนทนาที่ 3 ในอนาคตเรามีวิสัยทัศน์ร่วมกันหรือไม่
หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการหย่าร้างคือ “ความไม่ลงรอยกัน” เมื่อได้เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่จริงจัง คุณจะพบว่ามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องเผชิญหน้าและเรียนรู้กันไป ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต แนวทางการใช้ชีวิตคู่ ครอบครัว หน้าที่การงาน สถานะทางการเงิน สังคมรอบข้าง ความเข้าใจ และเหนืออื่นใดคือทัศนคติ พวกคุณจะยังมองเห็นกันและกันหรือไม่ในอนาคต ชีวิตคู่ไม่ควรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณต้องละทิ้งความฝันส่วนตัว แต่ความฝันส่วนตัวของคุณจะมีคนรักอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ คุยกันให้รู้เรื่อง สิ่งเหล่านี้จะนำพาคุณไปพบกับความมั่นคงในชีวิตคู่
ความไม่ลงรอยกันมันสามารถจุดติดขึ้นมาได้จากหลาย ๆ ปัจจัยดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งมันค่อนข้างสำคัญ อย่าพูดว่าแค่เรารักกันมากพอเราก็จะมองข้ามไปได้ เพราะเมื่อถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างฝืนจนล้า พวกคุณจะอดทนกับมันต่อไปไม่ไหวหรอก ฉะนั้น ต้องพวกคุณต้องหาวิสัยทัศน์ร่วมกันในอนาคตให้เจอก่อน มันไม่เพียงแต่เป็นมุมมองปัจจุบันของพวกคุณในความสัมพันธ์ แต่ยังรวมถึงศักยภาพของคุณทั้งคู่ที่จะต้องการจะสร้างอะไรร่วมกันด้วย เพื่อการเติบโตไปด้วยกันอย่างแท้จริง จะใช้เวลาร่วมกันในอนาคตอย่างไร อยากอยู่กันที่ไหน อยากจะสัมผัสอะไรด้วยกัน ภาพมันชัดเจนแค่ไหน คู่รักควรที่จะพูดถึงสิ่งที่พวกคุณต้องการว่าอยากให้อนาคตเป็นอย่างไร
บทสนทนาที่ 4 เราสามารถยอมรับอิทธิพลของกันและกันได้หรือไม่
องค์ประกอบในความสัมพันธ์ที่จำเป็นสำหรับชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จ จะมีสิ่งที่เรียกว่า “การยอมรับอิทธิพลของกันและกัน” ซึ่งมันเป็นความสามารถในการยอมรับอิทธิพลของคู่ชีวิตของตัวเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเคารพต่อคู่ชีวิตของคุณ หรืออาจจะพูดว่าเป็นความเต็มใจที่จะเปิดใจรับความคิดเห็นของพวกเขา ฟังให้มากก่อนที่จะตอบโต้ มันเป็นความเข้าใจที่จะยืดหยุ่นและประนีประนอมในความสัมพันธ์ คู่รักที่สามารถยอมรับอิทธิพลของกันและกันได้ มีแนวโน้มที่จะอยู่ด้วยกันและสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในชีวิตแต่งงาน
อย่างไรก็ตาม การยอมรับอิทธิพลของคู่ชีวิตไม่ได้หมายความว่าคุณต้องฝืนจำใจหรือยอมจำนนต่อคู่ของคุณ แบบที่หลับหูหลับตายอมรับทุกอย่างที่พวกเขาเสนอโดยไม่กล้าปริปากแสดงความคิดเห็นของตัวเองหากคุณไม่เห็นด้วย แต่มันหมายความว่าคุณทั้งคู่ยินดีที่จะพูดคุยเพื่อหาจุดกึ่งกลาง รักษาน้ำใจ และความเคารพซึ่งกันและกันในระหว่างกระบวนการต่างหาก นี่จึงเป็นหัวข้อการสนทนาที่สำคัญสำหรับคู่รักก่อนที่จะแต่งงานกัน แต่อันที่จริง คุณอาจเห็นสัญญาณตั้งแต่เริ่มต้นขอเปิดประเด็นสนทนาแล้วก็ได้ว่าคู่ของคุณเต็มใจมากน้อยแค่ไหนที่จะพบกับคุณครึ่งทาง เพราะหากคู่ของคุณดูเหมือนว่าจะพยายามชิงอำนาจเพื่ออยู่เหนือกว่าตั้งแต่ต้น ก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดีในชีวิตคู่แล้ว
บทสนทนาที่ 5 ค่านิยมเกี่ยวกับเงินและรสนิยมเรื่องเซ็กส์เป็นอย่างไร
ว่ากันว่าปัญหาสองข้อแรกที่ทำให้คู่รักที่รักกันมากทะเลาะกันได้ คือเรื่องเงินและเรื่องเซ็กซ์ ทั้งสองเรื่องนี้ถือเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของชีวิตคู่ได้เลยทีเดียว ซึ่งความใหญ่โตของปัญหามันอาจจะไม่ได้จบแค่การเลิกรา เซ็นใบหย่า หรือพูดคุยเรื่องสิทธิ์ในการดูแลลูกแล้วแยกทางกันไปเท่านั้น แต่มันอาจไปจบที่การเป็นคดีความให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเลยทีเดียว เรื่องเงินค่อนข้างชัดเจน แต่ปัญหาเรื่องเซ็กซ์ หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้!
เริ่มที่ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ บอกเลยว่าเป็นมือที่สี่ทำความรักร้าวฉานมานักต่อนักแล้ว กรณีที่รักกันจนถึงขั้นแต่งงาน แต่ วิวาห์ล่ม เทกันในวันงานเพราะสินสอดก็มีให้เห็นเยอะแยะ หรือแค่รักกันมันไม่ได้ทำให้ท้องอิ่ม สุดท้ายเราก็ต้องใช้เงินแลกข้าวแลกน้ำอยู่ดี หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (หรือทั้งคู่) ไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลเสียต่อความรักในระยะยาวแน่นอน หรือเกิดเปรียบเทียบเรื่องเงินกันขึ้นมาก็จบเห่เหมือนกัน บ้างก็ต้องมานั่งเกี่ยงกันทุกเดือนว่าใครจ่ายนั่นจ่ายนี่ หรือประเภทคนหนึ่งหาเงินตัวเป็นเกลียว อีกคนหนึ่งใช้อย่างเดียว แถมปิดบังหนี้สินอีก มันต้องรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบทางการเงินของแต่ละฝ่าย เอาเข้าจริง หลายคู่ยังเข้าใจเรื่องสินสมรสไม่เคลียร์ด้วยซ้ำไป
นั่นทำให้เงินเป็นประเด็นสำคัญที่คู่สามี-ภรรยาต้องหารือกัน ไม่เช่นนั้น ความขัดแย้งทางการเงินอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การหย่าร้าง โดยควรเริ่มต้นพูดคุยกันตั้งแต่ตอนที่พิจารณาจะแต่งงาน คู่รักหลายคู่ไม่มีปัญหาเรื่องการจัดการทางการเงินของตัวเอง แต่จะเผชิญกับความท้าทายในการรวมสินทรัพย์ของพวกเขาเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเงินที่ใช้ในการจัดงานแต่งงาน และเงินที่จะวางเป็นกองกลางสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัว การสื่อสารแบบเปิดเผยและตรงไปตรงมาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพูดคุยเรื่องนี้ และหากคู่รักไม่ได้คุยกันเรื่องเงินในเชิงลึกมาก่อน ก็อาจกลายเป็นช่องว่างในความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขในภายหลัง
เช่นเดียวกันกับเรื่องเซ็กซ์ มันเป็นเรื่องที่สามี-ภรรยาต้องเปิดอกพูดคุยกัน เรื่องพื้นฐานของการเป็นคู่สมรสกันด้วยซ้ำไป หากรสนิยมเรื่องเซ็กซ์ไม่ตรงกันแถมยังไม่เปิดใจที่จะคุยกันอีก ชีวิตคู่ไม่มีทางไปกันรอด ต้องเข้าใจว่าเซ็กซ์หลังการแต่งงานไม่ใช่แค่การมีความสุขทางเพศรสเท่านั้น มันยังหมายถึงการวางแผนเรื่องทายาท การกระชับความสัมพันธ์ ความรัก การเอาใจใส่ ความเบื่อหน่าย รักจืดจาง ความล้มเหลวในความสัมพันธ์ เซ็กซ์มีผลโดยตรงต่อชีวิตการแต่งงานของพวกเขา
นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ช่วยสนับสนุนความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ยืนยันว่าการอยู่ก่อนแต่ง มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการตัดสินใจว่าจะแต่งงานกับคนคนนี้ดีหรือไม่ หากยังไม่แต่งงานและพบว่าเรื่องเซ็กซ์ไปกันไม่ได้ ความเสียหายมันอาจจะน้อยกว่าการแต่งงานกันไปแล้วถึงมารู้เอาทีหลังว่าความต้องการเรื่องเซ็กซ์ไม่ตรงกัน อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เซ็กซ์เป็นองค์ประกอบของชีวิตคู่ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจตอบสนองความต้องการทางเพศของอีกฝ่ายได้ทั้งที่เป็นคู่แต่งงาน มันสามารถเป็นคดีความ ถึงขั้นฟ้องหย่าได้ นี่จึงเป็นอีกบทสนทนาที่ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อนแต่งงาน
การประคับประคองให้ชีวิตแต่งงานประสบความสำเร็จของคนรุ่นนี้นั้นยากกว่าคนในรุ่นก่อน ๆ ไหนจะเรื่องความเป็นปัจเจกที่สูงขึ้นทำให้ต่างคนต่างมีอีโก้สูงแต่ความอดทนต่ำลง แต่งงานกันง่าย แต่หย่าร้างอาจจะง่ายกว่า และหลาย ๆ คนก็ไม่แคร์ด้วยว่าจะต้องแต่งงานอีกกี่ครั้งในชีวิตนี้ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครที่อยากจะแต่งงานบ่อย ๆ ไม่มีใครอยากจะมีชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลว ดังนั้น การมีบทสนทนาทั้งห้านี้อาจเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการใช้ชีวิตคู่ เพื่อให้แน่ใจว่าการแต่งงานจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น