“โรคทรัพย์จาง” ปัญหาสุขภาพทางการเงิน ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน

“โรคทรัพย์จาง” ปัญหาสุขภาพทางการเงิน ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน

“โรคทรัพย์จาง” ปัญหาสุขภาพทางการเงิน ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โรคทรัพย์จาง” นี่คือโรคประจำของการเงินเลยก็ว่าได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีอาการหน้ามืด อ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายขาดวิตามิน M (Money) พูดง่าย ๆ คือ “เงินน่ะมี…แต่มันน้อย” พบได้ทั่วไปในกลุ่มวัยทำงาน และมีการระบาดหนักในช่วงกลางเดือนไปถึงสิ้นเดือน โดยอาการมักจะหายไปในช่วงเงินเดือนออก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรักษาตามอาการ แบบไม่ใส่ใจที่จะรักษาให้หายขาด ซึ่งการจะรักษาให้หายขาดนั้น จำเป็นต้องวางแผนการใช้จ่ายใหม่ ใช้ให้น้อยกว่ารายจ่าย และเมื่อมีรายรับ ให้รีบหักไว้ออมก่อนทันที เพราะถ้าไปรอออมตอนสิ้นเดือน มันก็มักจะไม่มีเหลือมาให้ออมอยู่แล้ว (ให้พอใช้ยังไม่พอเลย)

ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คงไม่ดีแน่ งั้นเรามาเช็กพฤติกรรมทางการเงินของเรากันดีกว่า ว่าสุขภาพทางการเงินเสี่ยงต่อการเป็น “โรคทรัพย์จาง” หรือไม่

คุณเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย
หากทุกวันนี้เรายังใช้จ่ายเงินไปกับการลุ้นโชค เล่นพนัน หวยออนไลน์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมา สูบบุหรี่ ไปเที่ยว ไปสังสรรค์ ขยันชอปปิง กินหรูอยู่สบาย ประหยัดเงินไม่เป็น ล้วนเป็นพฤติกรรมที่กำลังบั่นทอนการเงินของคุณให้ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีเงินเก็บ พฤติกรรมแบบนี้คุณสามารถทำได้นะ ถ้ามันเป็นความสุขของคุณ เงินก็เงินของคุณ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้มันฟุ่มเฟือยเกินพอดี แล้วเดือดร้อนเพราะเงินไม่พอใช้ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องจัดการ

คุณมีเงินไม่พอจ่ายหนี้
สังเกตง่าย ๆ ว่าหากใช้หนี้ไปแล้วมีเงินเหลือใช้น้อยมาก หรือบางคนรายได้ยังไม่พอจะใช้หนี้ได้ครบ แสดงว่ารายได้ของเราไม่ครอบคลุมรายจ่าย เป็นเพราะเรามีพฤติกรรมใช้เงินเกินตัว ใช้เงินเกินรายได้ของตัวเองจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเรื่อย ๆ ทำให้เป็นหนี้ไม่รู้จบ เป็นประเภทลูกหนี้ไม่มี ไม่หนี แต่ไม่มีจ่าย แบบนี้ไม่ดีแน่ ดังนั้นต้องรีบเคลียร์หนี้สิน เพื่อหลุดออกจากวงจรนี้ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นคุณก็จะติดอยู่ในวงจรอุบาทว์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ หาทางลงไม่ได้เสียที

คุณมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่เงินเก็บไม่เพิ่มตาม
บางช่วงเวลาที่มีรายได้เข้ามามากกว่าปกติ เช่น ขายของได้เยอะขึ้น รับงานเพิ่มขึ้น แต่เรากลับใช้จ่ายเยอะตามไปด้วย แสดงว่าเราไม่ได้วางแผนการเงินให้รอบคอบ และมีพฤติกรรมใช้จ่ายตามใจตัวเองจนเกินไป ถ้ายังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ ท่าทางจะไม่ดีต่อสุขภาพทางการเงินแน่ ๆ

คุณไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน
คนที่มีอาชีพอิสระ ไม่ได้มีรายได้ประจำ ควรมีเงินเก็บไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน เผื่อมีเหตุต้องใช้เงินก้อน เช่น จ่ายค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนอื่น ๆ ถ้าวันนี้เรายังไม่มีเงินสำรองเลย หากในอนาคตต้องการใช้เงินแบบเร่งด่วน คงต้องอาศัยหยิบยืมเขาจนเป็นหนี้ขึ้นมาอีก

คุณไม่คิดออมเพื่ออนาคต
ถ้าทุกวันนี้ยังใช้เงินอย่างไร้แบบแผน และไม่เคยนึกถึงยามเกษียณว่า เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว จะหาเงินยังไง หรือจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ยังคงคิดว่าการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว ไว้ค่อยไปเก็บเงินตอนอายุมาก ๆ ช่วงใกล้เกษียณก็ได้ ให้พึงระวังสัญญาณอันตรายใกล้มาเยือนคุณแล้ว

ปัญหา “เงินออม” ไม่เพียงพอ เก็บเงินไม่ได้ และปัญหา “หนี้สิน” ที่กว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหา ปริมาณหนี้ก็เพิ่มพูนเป็นก้อนโตจนไม่สามารถจ่ายไหว ซึ่งถ้าเรามีการตรวจสุขภาพทางการเงินอย่างต่อเนื่องเราก็จะพบปัญหาเหล่านี้ก่อน และแก้ไขได้ทันเวลาและไม่ป่วยเป็น “โรคทรัพย์จาง”

สุขภาพดีหาซื้อไม่ได้ ถ้าอยากแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย เช่นเดียวกันกับความมั่นคงทางการเงิน หากต้องการมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี มีเงินเหลือใช้ ไม่ต้องลำบากในอนาคต เราควรวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ ด้วยการฟิตสุขภาพทางการเงินให้แข็งแรงตามเคล็ดลับต่อไปนี้ที่ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด

1. หมั่นตรวจสุขภาพทางการเงิน
จะช่วยให้บริหารจัดการเงินได้อย่างมีระบบระเบียบมากขึ้น ทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนเราเสียเงินไปกับอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ฟุ่มเฟือย เผลอใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะเปลี่ยนเงินฟุ่มเฟือยส่วนนั้นมาเป็นเงินออม

2. ควบคุมค่าใช้จ่าย
ตั้งเป้าเลยว่าจะควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยวิธีไหน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง อุดรูรั่วตรงไหนให้เงินยังอยู่กับเรามากที่สุด ที่สำคัญคืออย่าเผลอใจใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นเด็ดขาด เพื่อจะได้มีเงินเหลือเก็บออม

3. จัดการหนี้สิน
หากมีหนี้ก็ควรจัดการหนี้ให้หมดโดยเร็วที่สุด และควรกันเงินส่วนที่ต้องจ่ายหนี้แต่ละเดือนให้เพียงพอ และไม่ควรสร้างหนี้เพิ่ม ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม

4. หารายได้เพิ่ม
หากเรามีการจัดการการเงินที่ดีแล้ว แต่รายจ่ายก็ยังแซงรายรับทุกเดือน อนาคตการเงินคงไม่สวยแน่นอน ลองมองหารายได้เสริมที่พอจะทำได้ เช่น ค้าขายออนไลน์ หรือช่วงไหนว่างก็หางานเพิ่ม ให้เรามีรายได้ที่มากกว่าเดิม

5. ต่อยอดเงินออม
เราต้องหมั่นสร้างวินัยการออมเงิน โดยการพยายามบังคับตัวเองให้ออมเงินทุกเดือน หรือถ้าเดือนไหนมีรายได้มากกว่าปกติก็ควรนำเงินที่ได้เพิ่มมาเก็บออมไว้ พยายามออมเงินอย่างสม่ำเสมอและอย่านำเงินออมนั้นไปใช้จ่ายอย่างอื่น

6. ลงทุนให้เงินงอกเงย
หากเรามีเงินออมพอประมาณแล้ว ลองนำเงินออมไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา อาทิ การนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้  สลากออมทรัพย์ หรือหากยอมรับความเสี่ยงสูงได้ สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน เป็นต้น

7. นึกถึงอนาคต
ยิ่งเราอายุมากขึ้น ร่างกายก็มีแต่จะทรุดโทรม เรี่ยวแรงจะหาเงินก็ลดลง ดังนั้นในขณะที่มีแรง มีกำลังสร้างรายได้ เราควรออมเงินเพื่ออนาคตไว้ แก่ตัวไปจะได้มีชีวิตที่สุขสบาย

อยากมีสุขภาพแข็งแรงก็ต้องฟิต หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าอยากเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ ก็ต้องขยันออม และวางแผนการใช้เงินด้วยจะได้ห่างไกลจาก “โรคทรัพย์จาง” ปัญหาทางการเงินที่ไม่มีใครอยากเป็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook