ฉันแย่มากเลยเหรอ! อึดอัดใจจาก Gaslighting ในที่ทำงาน

ฉันแย่มากเลยเหรอ! อึดอัดใจจาก Gaslighting ในที่ทำงาน

ฉันแย่มากเลยเหรอ! อึดอัดใจจาก Gaslighting ในที่ทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนวัยทำงานจะทราบดีว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “เพื่อนร่วมงาน” นั้น มีอยู่ไม่น้อยที่เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและสร้างความเครียด ความกดดัน ความทุกข์ และความรู้สึกเชิงลบที่ไม่พึงประสงค์ได้หลาย ๆ อย่าง ไม่น้อยไปกว่าความสัมพันธ์รูปแบบอื่นเลย สำหรับหลาย ๆ คน ความสัมพันธ์ในที่ทำงานอาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์รูปแบบอื่นด้วยซ้ำไป ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเพื่อนร่วมงานที่ต้องเจอหน้าและต้องทำงานอยู่ด้วยกันทุกวัน เป็นสาเหตุสำคัญและส่งผลต่อความรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงานของเราเกินครึ่งเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ มีคนที่พยายามจะหาคำนิยามของการกระทำบางอย่างของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกงง ๆ กับตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนที่แย่มากขนาดนั้นเลยหรือ นี่เราเป็นคนผิดจริง ๆ หรือ คือเวลาที่มีปัญหาเรื่องงานหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้น คำพูดหรือการกระทำบางอย่างของเพื่อนร่วมงานทำให้เรารู้สึกว่าความผิดมันมาตกอยู่ที่เราคนเดียว ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง แรก ๆ เราอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่การโดนบ่อย ๆ กรอกหูเช้าเย็น ก็เริ่มทำให้เราไขว้เขว คล้อยตาม จนค่อนแคะสงสัยตัวเอง เริ่มที่จะรู้สึกแย่ เพราะเริ่มเชื่อแล้วว่าเราเป็นแบบที่เขาพูดมา แล้วเราก็จะรู้สึกผิดไปโดยปริยาย

ลักษณะดังกล่าวเรียกกันว่า Gaslighting มีที่มาจาก Gaslight ที่แปลว่าตะเกียงนั่นเอง ถูกนำมาใช้เปรียบกับภาวะที่เรากำลังถูกโน้มน้าวหรือชักใยจากคนอื่น จนรู้สึกสับสนในความสามารถหรือการรับรู้ของตัวเอง สับสนว่าความจริงความลวง อะไรคืออะไรกันแน่

ในภาพยนตร์เรื่อง Gaslight (1944) เรื่องราวของสามีคนหนึ่งที่ต้องการจะฮุบสมบัติของภรรยา โดยพยายามทำให้ภรรยาคิดว่าตัวเองเป็นคนบ้า วิธีของสามีคือแอบหรี่แสงไฟตะเกียงลง และเมื่อภรรยาบอกว่าแสงมันมืดลง สามีกลับบอกภรรยาว่าเธอคิดไปเอง แสงไฟมันก็เท่าเดิมนั่นแหละ แถมยังสร้างสถานการณ์อื่น ๆ อีกที่ให้ผลใกล้เคียงกัน เพื่อที่จะกรอกหูเธอทุกวันว่าเธอคิดไปเอง ทุกอย่างมันปกติดี จนภรรยาสับสน สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นบ้าไปแล้วจริง ๆ จนเธอต้องพึ่งพาสามีไปตลอด กระทั่งสามีควบคุมเธอได้โดยสมบูรณ์

จิตวิทยาที่ใช้ทำร้ายกันทางอ้อม
จริง ๆ แล้วการ Gaslighting กันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ อาจจะเป็นคนรัก ครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ยิ่งกับคนที่มี self-esteem ต่ำ หรือเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำอยู่แล้ว ยิ่งโดนจิตวิทยานี้เข้าครอบงำได้ง่ายขึ้น สำหรับการ Gaslighting ในที่ทำงานนั้น สาเหตุที่ต้องทำร้ายกันอ้อม ๆ ก็เป็นเพราะในโลกของการทำงานนั้น เป็นโลกที่เรามักจะถูกท้าทายคุณค่าและความสามารถอยู่ตลอดเวลา ส่วนเพื่อนร่วมงานก็ใช่ว่าจะทำงานร่วมกันตลอดเวลา พวกเขาสามารถเป็นคู่แข่งเราได้ในหลาย ๆ กรณี เพราะคนรอบข้างไม่ได้เป็นมิตรกับเราทุกคน

เมื่อมีสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกสงสัยหรือไขว้เขวในตัวเอง ก็ทำให้ความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเราสั่นคลอนเป็นธรรมดา ซึ่งเมื่อเรารู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกสงสัยในความสามารถในการทำงานของตัวเอง มันก็ง่ายกว่าที่จะเข้ามาครอบงำเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง หรือแม้กระทั่งทำให้เรายอมแพ้ไปเองก็ได้เช่นกัน เพราะตัวเราเองจะรู้สึกหมดไฟ หมดใจที่จะทำงาน มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมและไม่รู้จะทำงานอยู่ที่นี่ต่อไปทำไม ก็อาจจะลาออกไปเองเพราะไม่ไหวแล้ว

ชวนให้สับสน สงสัย ตั้งคำถามกับคุณค่าในตัวเอง
Gaslighting อาจเป็นคำพูดง่าย ๆ หรือการกระทำที่แสนจะธรรมดา รวมถึงเจตนาจริง ๆ ของคนพูดก็อาจไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นที่จะทำร้ายจิตใจกัน แต่ด้วยวิธีการพูดที่โน้มน้าวให้คนฟังรู้สึกสับสน สงสัย จะเริ่มตั้งคำถามกับคุณค่าหรือความสามารถของตัวเอง มันก็เป็นคำพูดหรือการกระทำที่ปั่นหัวได้ไม่น้อย ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ใช่คำพูดที่เฉพาะเจาะจงกับเรื่องการทำงานเสมอไป แต่เป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทั่ว ๆ ไปก็ได้ ตัวอย่างเช่น “พูดเล่นนิดหน่อยก็ไม่ได้ ซีเรียสไปนะเนี่ย” “คิดเล็กคิดน้อยมากเกินไปแล้ว” เป็นต้น

คือจริง ๆ แล้วมันอาจเป็นคำพูดที่กระทบจิตใจเราจริง ๆ นั่นแหละ แต่พอเห็นเราขึงขังจริงจังขึ้นมา เลยรีบแก้ตัวให้ตัวเองพ้นผิด โดยอ้างว่าแค่พูดเล่น ๆ และการบอกกับเราว่า “ซีเรียสไปนะเนี่ย” หรือ “คิดเล็กคิดน้อยมากเกินไปแล้ว” ก็เป็น Gaslighting ที่พยายามจะบอกว่าตัวเราเนี่ยแหละผิดเองที่ไปถือสาหาความจริงจังกับคำพูดเล่น ๆ ของเขา เมื่อโดนแบบนี้บ่อย ๆ เข้า เราจะเริ่มสงสัยตัวเองแล้วว่าเราเป็นคนใจแคบเกินไปไหม ทำไมถึงไม่เปิดใจรับมุกพูดเล่นของคนอื่นเลย ต้องเก็บมาคิดจริงจัง แล้วทำตัวเครียดจนเสียบรรยากาศ ทำให้คนอื่นอึดอัดไปด้วยทุกที

บั่นทอนให้สูญเสียความมั่นใจ
ไม่แปลกเลยที่พอเราเริ่มนึกสงสัยตัวเองว่าหรือจริง ๆ แล้วเราจะเป็นคนที่ซีเรียสเกินไปอย่างที่เขาว่า พอเราเริ่มไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ ความมั่นคงทางจิตใจเราก็เริ่มสั่นคลอน เริ่มรู้สึกว่าตัวเราเองที่เป็นคนผิดที่คิดมาก และต้องปรับปรุงตัว เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเข้ากับใครเขาไม่ได้ ความรู้สึกแบบนี้เมื่อเกิดขึ้นกับใครก็สามารถบั่นทอนให้สูญเสียความมั่นใจได้หมด ทั้งที่จริง ๆ แล้วเพื่อนร่วมงานคนนั้นควรรักษามารยาทกับเราแต่แรกด้วยการไม่พูดเรื่องที่กระทบจิตใจเราขึ้นมา ยิ่งถ้าไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น ก็ยิ่งไม่ควรจะละลาบละล้วง

หลังจากที่เราสูญเสียความมั่นใจ เราจะเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำ เหมือนปมที่ย้ำให้เรารู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นเรื่องงาน เช่น เราทำตามที่รับบรีฟมาเป๊ะ ๆ ทุกอย่าง (จดไว้ด้วย) แต่เมื่อถึงเวลาส่งงานกลับมีคนบอกว่าเราเข้าใจผิดและทำงานผิด หรือเขาไม่ได้พูดว่าอยากได้แบบนี้เสียหน่อย จนเราจะรู้สึกวิตกกังวลและสับสนเกี่ยวกับความสามารถและประสิทธิภาพของตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองจึงเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เพราะทำอะไรก็ไม่ถูกต้องสักอย่าง จึงกลัวว่าจะทำผิดอีก หมดหวังที่จะทำให้คนอื่นพอใจ ในที่สุดก็โทษตัวเองว่ายังทำได้ไม่ดีพอ

เราเป็นแบบที่เขาว่า หรือเขาทำให้เราคิดแบบนั้น
Gaslighting มีผลกระทบด้านจิตใจมากจริง ๆ ยิ่งถ้าหากเราหัวอ่อน เชื่อตามที่โดนคนอื่นพูดกรอกหูทุกวันโดยทันที สุดท้ายแล้วเราเองจะเป็นฝ่ายที่ย่ำแย่ที่สุดทั้งร่างกายและจิตใจ ที่สำคัญคือมันอาจกลายเป็นเรื่องบาดหมางใหญ่โต จนทำให้เรามีแนวโน้มที่จะถูกคนอื่น ๆ ในแผนกหรือในบริษัทแบนเอาก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเชื่อ รู้สึกผิด หรือต้องรับผิดชอบต่ออะไรบางอย่างที่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันผิดที่เราจริง ๆ เราหาวิธีจัดการกับมันอย่างจริงจังและรวดเร็ว เป้าหมายคือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะเราไม่จำเป็นต้องรับผิดในสิ่งที่เราไม่ผิด

ขั้นตอนแรก เราต้องตั้งสติก่อน จับจุดให้ถูกว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นความผิดของตัวเราที่เรารู้ว่าเราพลาดเอง หรือเป็นเพราะคนอื่นพยายามจะทำให้เรารู้สึกว่าเราผิด มองอย่างเป็นกลาง แบบที่ไม่ได้เข้าข้างตัวเองมากจนเกินไป แล้วก็ไม่ได้กำลังรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองอยู่ ทั้งนี้ ลองค้นหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่พอจะใช้ยืนยันได้ว่าตัวเราก็ทำงานตามที่ได้รับบรีฟมาเป๊ะ ๆ ทุกอย่าง ไม่ได้คิดเองเออเองว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แม้ว่าเราอาจจะนำหลักฐานนี้ไปแย้งกับใครไม่ได้ก็จริง แต่มันก็ช่วยยืนยันว่าเราไม่ได้ทำผิด จะได้เลิกสงสัยในคุณค่าและความสามารถของตัวเอง

เป็นการพยายามแสดงอำนาจเหนือกว่า
ในโลกของการทำงาน เราอาจพูดได้ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” มันอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย แต่ต้องไม่ลืมความจริงของโลก ว่าเราไม่อาจเชื่อใจหรือไว้ใจคนใกล้ตัวได้เสมอไป เพราะคนที่ดูเป็นมิตร จริง ๆ เขาอาจไม่ได้อยากจะเป็นมิตรกับเราเท่าไรก็ได้ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องมารู้สึกแย่เอง การมองโลกตามความเป็นจริงจะช่วยให้เราปลอดภัยได้มากที่สุด ต้องอยู่ให้เป็น อ่านเกมให้ขาด ว่าถ้ามีใครมาทำให้เรารู้สึกสงสัยตัวเองบ่อยขนาดนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว อย่างน้อยที่สุดคือเพื่อให้ตัวเองยังคงมั่นใจและเชื่อตัวเองในสิ่งที่ทำต่อไป ในเมื่อเราไม่ได้ผิดอะไร

บ่อยครั้ง Gaslighting ในที่ทำงาน มีเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการสับสนระหว่างความลวงกับความจริง ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เราจะอ่อนแอลงและรู้สึกประสาท สัมผัสได้ว่ามีสิ่งผิดปกติ แต่อธิบายไม่ได้ว่าคืออะไร จนต้องสรุปว่าคิดไปเอง อย่างไรก็ดี Gaslighting ก็อาจจะไม่ได้หวังผลให้ผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกหลอนเหมือนตัวเองเป็นบ้าแบบในภาพยนตร์ คนที่ Gaslight คนอื่นก็เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง เพราะผลประโยชน์บางอย่าง โดยพยายามเป็นผู้ควบคุม หรือเปลี่ยนให้ความผิดของตัวเอง กลายเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายเข้าใจผิดแทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook