บุหรี่ สะพานมุ่งสู่ "มะเร็งปอด"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ภาพรวมของการป่วยไข้ด้วยโรคมะเร็งในทวีปเอเชีย คงต้องยกให้ "มะเร็งปอด" เป็นภัยร้ายที่เกิดขึ้นสูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงมาจาก "บุหรี่" ทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่าต่อให้ไม่ใช่สิงห์อมควันก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดจากบุหรี่เช่นกัน
"รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิโรจน์ศรีอุฬารพงศ์" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก ChulaCRC เลขาธิการศูนย์โรคมะเร็งครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีคนไข้ใหม่เป็นมะเร็งปอดประมาณ 19,000 รายต่อปี อีกทั้งตามสถิติคนไข้ที่เข้ามารักษาไม่ว่าจะอยู่ในระยะไหนก็ตาม จะมีอัตราการตายประมาณ 13,000 ราย โดยมีช่วงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 ปีขึ้นไป แต่ถ้ามองภาพรวมทั้งทวีปจะมีคนไข้มะเร็งปอดประมาณ 1 ล้านรายต่อปีและตายราว 9 แสนราย
คนไข้มะเร็งปอดส่วนใหญ่ มักจะแสดงอาการออกมาในระยะแพร่กระจาย 40-50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ยากจากการรู้ตัวช้า ดังนั้น หากคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรไปรับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะละเอียดและเห็นผลกว่าการตรวจคัดกรอง เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้
นายแพทย์วิโรจน์อธิบายว่า การรักษามะเร็งปอดมีด้วยกัน 3 วิธีคือ ผ่าตัด, ฉายรังสี และใช้ยา ทว่าการผ่าตัดกับฉายรังสีจะได้ผลแค่เฉพาะที่เท่านั้น ไม่เหมาะกับการนำมารักษาคนไข้ในระยะแพร่กระจาย ส่วนคนไข้ในระยะแพร่กระจายจะใช้ยากลุ่มเคมีบำบัดและยามุ่งเป้าเข้ามาช่วย
"ถึงปัจจุบันจะมีจำนวนคนสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะลดลง เพราะมีการรณรงค์ที่ค่อนข้างดีในเมืองไทย แต่กลับทำให้มีการสูบบุหรี่ภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจว่าบุหรี่ไม่ได้ทำร้ายแค่คุณคนเดียว แต่ยังทำร้ายผู้คนรอบข้างด้วย อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ในเมืองไทย ยังทำไม่ได้มากเท่าบางประเทศที่ใช้วิธีขึ้นภาษีเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้คนลดการสูบบุหรี่ลง"
นายแพทย์วิโรจน์เพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องของการติดเป็นนิสัยและจิตใจมากกว่ายาเสพติด เพราะสามารถเลิกได้โดยไม่เกิดอาการลงแดง อาจทำใจให้เข้มแข็งหรือหาอะไรมาเคี้ยวแทนการสูบบุหรี่ก็ช่วยได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ก็ยังเข้ารับการปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน