รองเท้าผ้าใบ Veja นำความยั่งยืนสู่อาชีพกรีดยางในบราซิล
รองเท้าผ้าใบเวชา (Veja) เป็นรองเท้ากีฬาที่มีจำหน่ายในร้านค้าที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ผลิตโดยบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ในประเทศบราซิล โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเวชาขายรองเท้าได้มากกว่า 8 ล้านคู่เลยทีเดียว
ในการผลิตรองเท้านั้น ทางบริษัทจะใช้ยางจากต้นไม้ที่มาจากป่าฝนแอมะซอนของบราซิล และผลิตโดยคนงานในเมืองซึ่งได้รับค่าจ้างมากกว่าคนงานในโรงงานส่วนใหญ่
ถึงแม้ว่าจะต้องการยางจำนวนมากเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ แต่เวชาแตกต่างจากบริษัทเหล่านั้นตรงที่จ่ายค่าแรงเพิ่มและขอให้คนงานกรีดยางอย่างระมัดระวังหรือแบบยั่งยืน เนื่องจากการเก็บยางด้วยวิธีนี้จะทำให้ต้นไม้เติบโตและให้ผลผลิตยางต่อไปได้
ทั้งนี้ ยางเคยเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของบราซิล แต่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาความสำคัญของยางลดลงไปพร้อม ๆ กับราคาของยางด้วย
บางประเทศในแถบเอเชียเริ่มปลูกต้นยางเมื่อหลายปีก่อน และเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว พวกเขาเริ่มขายยางในตลาดโลก แต่ราคายางยังคงตกต่ำลงเนื่องจากมีผู้ขายยางจำนวนมากในเอเชีย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้นำยางออกจากตลาด ซึ่งนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ยางของบราซิลกลับมามีราคาสูงอีกครั้ง
ในช่วงปีค.ศ. 1970 เจ้าของที่ดินชาวบราซิลบางคนเริ่มขายที่บางส่วนของป่าที่มีต้นยางจำนวนมากและบรรดาเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ก็ต้องการถางต้นไม้เพื่อเลี้ยงวัวในพื้นที่นั้น
และเมื่อเวลาผ่านไป ป่าฝนก็มีขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ
ผู้ที่ทำอาชีพกรีดยางบางส่วนคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยกล่าวว่าเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ตัดต้นยางอย่างผิดกฎหมาย ความขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นความรุนแรงจนทำให้ ชิโค เมนเดส (Chico Mendes) นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มคนที่ทำอาชีพกรีดยาง ถูกสังหารในปี 1988 เนื่องจากขัดแย้งกับชาวนาที่เลี้ยงปศุสัตว์
หลังจากการเสียชีวิตของเมนเดส รัฐบาลบราซิลได้สร้างพื้นที่ที่จะปกป้องต้นยาง โดยป่าในพื้นที่เหล่านี้จะไม่ถูกขายไปเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้คนกรีดยางสามารถทำงานต่อไปได้ และเขตป่าสงวนชิโค เมนเดส (Chico Mendes reserve) ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เหล่านี้
ไรมุนโด เมนเดส (Raimundo Mendes) วัย 77 ปี ซึ่งทำงานกรีดยางมาทั้งชีวิต และโรเจอริโอ(Rogerio) ลูกชายวัย 24 ปีของเขาก็เป็นคนกรีดยางด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งคู่เก็บน้ำยางที่เวชาต้องใช้ในการผลิตรองเท้า โดยในปี 2022 พวกเขาได้รับค่าตอบแทนสำหรับยางที่กรีดได้มากกว่ากิโลกรัมละ 4 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่พวกเขาเคยได้รับในอดีตถึง 10 เท่า
โรเจอริโอกล่าวว่าเงินค่าแรงจากเวชานั้น ทำให้คนหนุ่มสาวบางคนกลับมาทำอาชีพกรีดยาง และพวกเขาได้จุดประกายความหวังในการทำงานกับต้นยางอีกครั้ง”
นอกจากนี้แล้วเวชายังจ่ายเงินพิเศษให้กลุ่มสหกรณ์ชาวสวนยาง ซึ่งคนงานสัญญาว่าจะดูแลต้นไม้และสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเงินค่าจ้างและรองเท้าเวชาด้วย
ทั้งนี้ ยางของเวชานั้นมาจาก 1,200 ครอบครัวจากสหกรณ์ท้องถิ่น 22 แห่งที่กระจายอยู่ในห้ารัฐของบราซิลภายในแอมะซอน ซึ่งได้แก่ อะมาซอนนัส, รอนโดเนีย, มาโท โกรส, พารา และอาเคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตป่าสงวนชิโค เมนเดส
ยางทั้งหมดจะถูกส่งไปยังโรงงานซึ่งนำยางไปกลั่นเพื่อใช้ในการผลิตรองเท้า จากนั้นก็จะถูกส่งไปที่โรงงานทำรองเท้าซึ่งคนงานจะผลิตรองเท้าจากผ้าฝ้ายและหนัง แล้วจึงเติมยางที่พื้นรองเท้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเวชาจะประสบความสำเร็จ แต่ยังคงมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน เขตป่าสงวนชิโค เมนเดส ก็มีขนาดเล็กลงแม้ว่าจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล ฟาร์มปศุสัตว์ยังคงมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจในรัฐอาเครมากกว่าการปลูกต้นยางโดยการเลี้ยงปศุสัตว์นั้นคิดเป็นอัตราส่วน 57% ของเศรษฐกิจของอาเคร ในขณะที่ยางมีอัตราส่วนเพียง 1% จากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Minas Gerais Federal University
ที่มา: เอพี