กฎเหล็ก 10 ข้อ สำหรับมนุษย์เงินเดือนเพื่อความยั่งยืนทางการเงิน
ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในทุกวันนี้ ไม่มีอะไรแน่นอนในอาชีพการงานว่าจะมั่นคงแค่ไหน แต่คุณสามารถสร้างความมั่นคงให้กับตนเองได้ด้วยการรู้จักจัดการรายได้ของตนเองตั้งแต่ปีแรกที่ทำงานและทำให้เป็นนิสัย ด้วยกฎเหล็ก 10 ข้อ หากทำได้ตามนี้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจแค่ไหน คุณก็จะสามารถรอดได้ทุกสถานการณ์
1. ยึดมั่นในกฎ 50/30/20
แบ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างชัดเจนว่าในแต่ละเดือนใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง กฎ 50/30/20 แบ่งได้ตามนี้คือ
50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าอาหารในแต่ละวัน ค่าเดินทาง เป็นต้น
30 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง เช่น ค่าเที่ยว ค่าชอปปิง เป็นต้น
20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เป็นเงินสำหรับออมเพื่อเป้าหมายในอนาคต
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือคุณต้องมีความชัดเจนในการแบ่งส่วนเงินเหล่านี้เทียบรายได้ในแต่ละเดือน ถ้าเกิดว่าคุณมีรายได้มากขึ้นก็ต้องแบ่งเงินให้อยู่ในกฎ 50/30/20 อยู่เช่นเดิม
2. ต่อรองเงินเดือนให้ชัดเจนก่อนที่จะตกลงทำงาน
ต้องคำนวณออกมาว่าเงินเดือนเท่าไรคุณถึงจะอยู่รอดได้ถึงสิ้นเดือน และยังพอมีแบ่งไว้ตามกฎ 50/30/20 ด้วย แน่นอนว่าการต่อรองนั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเนื้องานและความสามารถของคุณเองด้วย
3. ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด
ทำตารางค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดเอาไว้ว่าคุณใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน วิธีนี้จะทำให้รู้ได้ทันทีว่าคุณใช้เงินในวันนั้นเกินตัวไปหรือไม่ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงินในวันต่อไปได้เลย ดีกว่ามาตกใจว่าเงินไม่พอเอาตอนท้ายเดือน
4. ทำประกัน
ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันรถยนต์ ล้วนเป็นการลงทุนกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน การไม่ทำประกันอาจจบลงด้วยการเสียเงินเสียทองจำนวนมาก การทำประกันสินค้าต่าง ๆ ก็ช่วยให้คุณประหยัดเงินได้เช่นกัน เช่น ถ้าหากเราซื้อสินค้าที่มีประกัน เมื่อสินค้านั้นเสียหายระหว่างอยู่ในระยะประกัน เราจะไม่ต้องเสียค่าซ่อมสินค้านั้น คุณต้องชั่งใจดูว่าจะยอมเสียเงินล่วงหน้าเพื่อประกันอนาคต หรือจะเสียเงินจำนวนมากในภายหลังเมื่อเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมา
5. แยกบัญชีเงินออมกับค่าใช้จ่ายออกจากกัน
สร้างบัญชีสำหรับการออมขึ้นมาให้แยกกับบัญชีที่ใช้รับเงินเดือน เมื่อได้รับเงินเดือนแล้ว ก็นำจำนวนเงินที่จะใช้ออมไปฝากไว้ในบัญชีนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการนำเอาเงินออมมาใช้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
6. ตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง
กำหนดเป้าหมายออกมาให้ชัดเจน โดยตั้งคำถามคุณต้องการอะไรในอนาคต ต้องออมเงินเท่าไร ยิ่งกำหนดวันได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยทำให้คุณมีวินัยในการออมมากขึ้น และไม่ไขว้เขวไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
7. รู้เสมอว่าจ่ายเงินไปกับอะไร
ต้องตรวจดูตามความเป็นจริงว่าคุณมีค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นหรือไม่ เช่น ค่า Memberships ของแม็กกาซีนที่คุณไม่ค่อยจะได้อ่าน หรือค่าสมัครรายเดือนของเว็บไซต์ที่คุณไม่ค่อยได้เข้าไปดูซักเท่าไรนัก ฯลฯ ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ก็ควรจะตัดมันออก
8. มีเงินเก็บเยอะเป็นเรื่องดี
ไม่ว่าคุณจะต้องการหรือสนใจการลงทุนแบบไหนก็ตาม การสร้างเงินให้โตจากการลงทุนนั้นต่างก็ต้องมาจากการที่คุณสามารถออมเงินได้ก่อนถึงจะมีเงินที่จะนำไปลงทุนต่อยอดได้ และยิ่งมีเงินเก็บในบัญชีเยอะ เราก็ยิ่งจะมีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย ทีนี้ค่อยมาคิดว่าจะทำยังไงให้เงินส่วนนี้ที่ออมไว้ เพิ่มพูนขึ้นยิ่งกว่าเดิมเพื่อช่วยต่อยอดเงินออมขึ้นไปอีก
9. มั่นคงกับงาน
บางครั้งคุณอาจจะไม่ได้โชคดีเจองานที่ชอบและใช่ตั้งแต่ครั้งแรก แต่อย่าเพิ่งท้อใจเปลี่ยนงานไปก่อน เพราะการด่วนตัดสินใจเปลี่ยนงานบ่อย ๆ นั้น อาจมีผลกระทบต่อโอกาสในการทำงานในอนาคตของคุณด้วย
10. หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่เกินตัว
ช่วงเดือนแรก ๆ ของการทำงาน จะต้องมีการทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานใหม่และหัวหน้าใหม่ อาจจะต้องมีการพบปะสังสรรค์กันบ้าง คำแนะนำคือให้ระวังการใช่จ่ายที่เกินตัว และควรเลือกไปเฉพาะงานที่จำเป็นเท่านั้น