เมื่อคุมอาหารแล้วหลุด ควรไปต่ออย่างไรให้ ‘สุขภาพดี’
เป็นปกติที่คนเราจะปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพเป็นเวลานานแล้วเกิดการ “กลับไปที่เก่า” หรือกลับไปมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิม ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทางสุขภาพที่มี วันนี้มาดูแนวทางและเคล็ดลับที่ทำให้เราสามารถดำรงพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพเอาไว้ได้แบบยั่งยืน
ทบทวนถึงปัญหาทางสุขภาพตนเองอีกครั้ง
แต่ละคนจะมีปัญหาและความเสี่ยงทางสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน การทบทวนเพื่อหาเหตุที่ต้องปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพเป็นการเน้นย้ำว่าสิ่งใดที่จำเป็นต้องทำเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นการให้คุณค่ากับตนเอง และมีแนวโน้มที่ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมมากขึ้น
วางแผนเมนูอาหารหรือเตรียมการล่วงหน้า
การวางแผนล่วงหน้าว่าในแต่ละวัน แต่ละมื้อ ว่าจะกินอะไร วิธีนี้จะช่วยให้การควบคุมอาหารทำได้ง่ายขึ้น เพราะเราจะวางแผนในการซื้อหาอาหาร และป้องกันปัญหาการซื้ออาหารนอกแผนได้ เพราะในชีวิตจริงหลังจากเราเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว เรามักหลุดซื้ออาหารที่ไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ การวางแผนตุนอาหารพร้อมบริโภค อุ่นรับประทาน สะดวกเตรียมอย่างง่าย หรือกระทั่งอาหารว่างจำพวกธัญพืช ผลไม้ นมต่าง ๆ เอาไว้ในตู้เย็นจะช่วยให้รักษาพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมต่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
ระวังการจำกัดตนเองมากเกินไป
การบังคับให้ตนเองต้องหลบเลี่ยงจากอาหารบางชนิด แม้เป็นสิ่งที่ชอบจะก่อปัญหาในระยะยาวได้ โดยเราจะรู้สึกโหยหาและอาจกินในปริมาณเกินพอดีได้เมื่อมีโอกาสหรือเมื่อความอดทนสิ้นสุดลง ให้รวมเอาอาหารที่ชอบเข้ากับมื้ออาหารที่ปรับให้สมดุลและดีต่อสุขภาพได้ โดยใช้หลักการ “ปรับ” แทน “งด” กล่าวคือปรับลดอาหารที่อยากกินแต่ไม่ดีต่อสุขภาพลง และเพิ่มของอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถเลือกกินได้อย่างมีความสุขและดีต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งสุขภาพกายและใจ
อย่าผูกติดการให้รางวัลกับตนเองเข้ากับการกินสิ่งที่ชอบ
หลายคนมักให้รางวัลกับตนเองเมื่อประสบความสำเร็จด้านต่าง ๆ ด้วยการ “กิน” ซึ่งความเป็นจริงนับว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการผูกเอาความสุขเข้ากับการกินอาหาร สร้างเงื่อนไขว่าการกินปกติทั่วไปนั้น ไม่ก่อความสุขให้เทียบเท่าการกินสิ่งที่ชอบจริง ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วเราสามารถมีความสุขได้กับการกินอาหารทุกมื้อ รวมทั้งเราสามารถรวมเอาอาหารที่ชอบมากินได้ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข ฉะนั้น การให้รางวัลตนเองควรเปลี่ยนไปเป็นในทางอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์กีฬาที่ชอบ คอร์สเรียนที่สนใจ อุปกรณ์เทคโนโลยีที่หลงใหล การตามใจตนเองในการแต่งกายหรือซื้อเสื้อผ้า เป็นต้น
ทำพฤติกรรมที่พอทำได้ ไม่จำเป็นต้องดีที่สุดหรือสมบูรณ์แบบ
เราต้องแยก “สิ่งที่ต้องทำ” กับ “สิ่งที่อยากเป็น” ออกจากกันเสียก่อน เพราะความปรารถนาทางสุขภาพนั้น ย่อมไม่มีใครที่อยากทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย แต่การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อแลกมาซึ่งสุขภาพที่ดี เช่น เลือกกินอาหารตามคำแนะนำ เพิ่มการออกกำลังกายหรือการขยับร่างกายนั้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกฝืนใจ เหนื่อย ลำบากใจหรืออดทนกับพฤติกรรมที่ไม่ชอบทำ
เราอาจต้องปรับบางส่วนของพฤติกรรมให้อยู่บน “ความพอดี” เช่น เราทุกคนรู้ดีกว่าการกินอาหารทอด มักทำให้ร่างกายได้รับไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก และทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ หากคนนั้นชอบกินอาหารทอด การให้ตัดขาดเลยย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากทำได้ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นก่อนกลับไปกินชดเชยในช่วงเวลาที่หายไปอีก “ความพอดีของพฤติกรรม” จึงเป็นการกินอย่างเข้าใจ กินอาหารทอดได้เป็นบางวันในปริมาณที่พอเหมาะ กินควบคู่กับอาหารที่ปรุงด้วยวิธีอื่นผสมผสานกันในมื้อ จะทำให้ลดปริมาณไขมันในมื้อลงได้ โดยยังได้กินของทอดอย่างที่ชอบเช่นเดิม และลดปริมาณลงด้วยตนเองอย่างเข้าใจ
หัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพนั้น อยู่ที่ความยั่งยืนในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเข้าใจในพฤติกรรม ความชอบของตนเองอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการล้มเลิกของพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และสามารถรักษาความต่อเนื่องของการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพได้
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมตรวจประเมินสุขภาพร่างกายตนเองด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การชั่งน้ำหนัก (หากมีเครื่องชั่งที่วัดได้มากกว่าน้ำหนัก เช่น เปอร์เซ็นต์ไขมัน กล้ามเนื้อ ได้ยิ่งดี) รอบเอว และความดันโลหิต เมื่อใดที่พบว่าค่าต่าง ๆ ออกนอกเกณฑ์ปกติ ก็จะต้องรีบเตือนตัวเองในการปรับพฤติกรรมดึงตัวเองกลับมา
สามารถติดตามบทความและข้อมูลอ้างอิงต่อได้ที่ www.raipoong.com
ที่มา : สสส. และเครือข่ายคนไทยไร้พุง