ทางออกของคนที่ความรักจบ แต่ผ่อนบ้านยังไม่จบ
การซื้อที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มักจะเป็นการกู้ซื้อร่วมระหว่างคู่รักหรือสามี-ภรรยา แต่ใจคนเรานั้นยากแท้หยั่งถึงและ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่มีอะไรการันตีว่าจะอยู่กันไปจนชั่วฟ้าดินสลาย เมื่อถึงเวลาต้องแยกย้าย แต่ดันถือหนี้บ้านที่ต้องช่วยกันผ่อน หนทางที่ดีที่สุดคือต้องหาทางออกร่วมกัน ซึ่งมีทั้งแบบแยกกัน แล้วยกให้อีกฝ่ายผ่อนต่อไปเลย หรือขายแล้วเอาเงินมาแบ่งเป็นสองส่วนเท่ากัน ซึ่งทั้งสองวิธีมีวิธีการที่ต่างกันไป ทีนี้มาดูกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
ยกให้อีกฝ่ายผ่อนต่อไปเลยและถอดชื่อผู้กู้ร่วม
การยกให้อีกฝ่ายผ่อนต่อไปเลย หมายถึง คนที่ยกให้ต้องยินยอมที่จะเดินออกมามือเปล่า หรือที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยเขาผ่อน ให้ชื่อไปกู้ร่วมเฉย ๆ แบบนี้ก็ถือว่าจบสวย แต่ก่อนจะจบสวย ๆ เมื่อเลิกกันแล้วก็ต้องไปถอดชื่อตนเองในฐานะผู้กู้ร่วมออก เมื่อตกลงกันแล้วว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผ่อนบ้านหลังนี้ต่อ ให้ไปติดต่อธนาคารเพื่อขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมออก โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ สำหรับคู่ที่จดทะเบียนสมรสกัน ให้นำเอกสารการจดทะเบียนหย่า ทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างอดีตสามี-ภรรยา เพื่อนำไปขอสินเชื่อใหม่สำหรับฝ่ายที่จะผ่อนต่อ และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
หลังจากนั้นไปโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน ซึ่งค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากร และภาษีธุรกิจเฉพาะจะได้รับการยกเว้น เพราะเป็นการกู้ร่วมซื้อบ้านหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว บ้านหลังนี้จึงถือเป็นสินสมรส สำหรับกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นคนถือกรรมสิทธิ์ต่อในฐานะผู้กู้คนเดียว และแจ้งขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมอีกคนออกเนื่องจากการเลิกรากัน จากนั้นธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะผ่อนต่อคนเดียว หากไม่สามารถผ่อนต่อคนเดียวได้ จะต้องหาผู้กู้ร่วมใหม่ที่เป็นเครือญาติของผู้กู้ แต่หากประเมินแล้วว่าสามารถผ่อนต่อคนเดียวไหว ขั้นต่อไป คือทำสัญญาจะซื้อจะขาย และโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของอีกฝ่าย ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาบ้านและที่ดิน
ขายบ้านเพื่อจบปัญหา
ขายบ้านจบปัญหา หากตกลงกันทั้งสองฝ่ายแล้วว่าจะไม่เก็บบ้านหลังนี้ไว้ การขายบ้านเพื่อจบปัญหาก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดีกับทุกฝ่าย เพราะไม่ต้องเป็นภาระในการผ่อนต่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถเคลียร์ยอดหนี้กับธนาคารได้ โดยการขายบ้านอาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กรณีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อขายบ้านได้แล้ว เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากรแสตมป์ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
ข้อมูลจาก : SCB