จับ 5 สัญญาณ ′สมาธิสั้น-อัลไซเมอร์′ เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ!
ทำอย่างไรไม่เป็น ′ปลาทอง′ ! ′สมาธิสั้น′ กับ ′อัลไซเมอร์′ 5 สัญญาณ เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ
โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช
อีกไม่ถึง 10 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 14 ล้านคน หรือเป็นอัตราส่วนผู้สูงอายุ 1 คนต่อประชากร 5 คน
ไม่ต้องนับถอยหลัง เพราะ ณ ปัจจุบันสถานภาพประเทศไทยกำลังอยู่ใน "สังคมสูงอายุ" และมุ่งสู่ "สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์"
จึงจำเป็นต้องมีการตั้งรับในหลายๆ เรื่อง เช่น สิทธิที่ผู้สูงอายุจะได้รับบริการทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งแม้จะมีการกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องบุคลากรที่ไม่พอเพียงจึงยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดได้ อาทิ กำหนดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุในการรับบริการทางการแพทย์
ในเมื่อสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุที่จนถึงวันนี้ยังอยู่ในระหว่างการ "เตรียมความพร้อม" การใส่ใจในสุขภาพตนเองจึงสำคัญ ควรมีการเฝ้าระวังเสียแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงแต่สุขภาพกาย แต่ยังรวมถึงสุขภาพใจ การใส่ใจในเรื่องของกินอยู่หลับนอน ที่อาจส่งผลต่อภาวะ "สมอง"
เพราะสิ่งแวดล้อมและวิถีของคนปัจจุบันที่เปลี่ยนไป นอนดึกตื่นสาย กินอาหารไขมันมากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น กินเหล้ามากขึ้น กินอาหารขยะมากขึ้น ทำให้เป็นตัวเร่งให้เกิดโรค โดยเฉพาะ "อัลไซเมอร์"
คนรุ่นใหม่แห่ตรวจความจำ
"คุณหมอคะพักหลังดิฉันนึกชื่อใครหลายๆ คนไม่ออกเลยค่ะ บางครั้งจะเดินไปรินน้ำดื่ม พอมีคนทักก็นึกไม่ออกว่ากำลังจะไปทำอะไร ดิฉันเป็นอัลไซเมอร์รึเปล่าคะ?"
เป็นคำถามที่ พญ.ศรินพร มานิตศิริกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่าพบบ่อยมากกับคนไข้ที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา
ถามว่าปัจจุบันจำนวนคนไข้มาหาเพิ่มมากขึ้นมั้ย?
คำตอบคือ "มากขึ้น"! แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น
อัลไซเมอร์ปกติจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ปัจจุบันประชากรไทยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น จึงพบมากขึ้น
และอีกเหตุผลคือ คนไทยเริ่มตระหนักมากขึ้น ให้ความใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เทียบกับเมื่อก่อนถ้าความจำไม่ดี จะมองกันว่าเป็นไปตามอายุ แต่ตอนนี้จะมาหาเร็วขึ้น อายุ 50-60 ปีก็เข้ามาขอรับคำปรึกษาจากหมอแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดี เพราะถ้าพบว่าเป็นอัลไซเมอร์เร็ว สามารถยืดระยะการแสดงอาการออกไปจาก 4-5 ปี เป็น 10 ปี นอกจากจะช่วยคนไข้ในเรื่องของพฤติกรรม ยังช่วยคนดูแลด้วย
ชาร์ตอาหารเมดิเตอร์เรเนียน
"เมื่อก่อนพออายุมากๆคนไข้จะสับสนวุ่นวายเราจะวินิจฉัยคนไข้เป็นจิตเวช ก็จะส่งไปจิตเวช แต่ที่จริงเป็นอัลไซเมอร์ระยะท้ายๆ ซึ่งความจำไม่ดีและมีเรื่องของจิตเวชผสมเข้าไปด้วย เราให้ยารักษาอัลไซเมอร์ กินแล้วเรื่องจิตเวชก็น้อยลง"
ปัจจัยเร่ง ′สมองเสื่อม′
ปกติเกณฑ์อายุที่เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์อยู่ที่ 60-65 ปี แต่ใช่ว่าอายุน้อยกว่านี้จะไม่มีโอกาสเป็น ยังมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากอายุมาก เช่น การสูญเสียความจำระยะสั้น ยิ่งคนในครอบครัวมีคนที่เป็นอัลไซเมอร์ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า กรณีนี้ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
"ไม่อยากบอกอายุอย่างเดียว เพราะบางคนอายุน้อยแต่ถ้ามีปัญหาพฤติกรรมบางอย่าง เช่น หลงทางบ่อยๆ ก็เป็นโรคความจำบางอย่างได้เหมือนกัน" คุณหมอศรินพรบอก และว่า
"อัลไซเมอร์เป็นเรื่องของความจำ แต่คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องความจำ ไม่ได้มีแค่อัลไซเมอร์อย่างเดียว แต่มีเช่น ความจำเสื่อมจากโรคเอฟทีดี โรคนี้สมองส่วนหน้าจะฝ่อลง พบในคนไข้อายุ 40-50 ปี พฤติกรรมเปลี่ยนโดยไม่มีปัญหาเรื่องความจำ"
ทั้งนี้ 5 พฤติกรรมที่ควรเข้ามารับการตรวจวิเคราะห์หาโรคเกี่ยวกับความจำ มีดังนี้
1.มีปัญหาเรื่อง "ความจำระยะสั้น"
2.จำ "ชื่อ" ไม่ได้ เช่น ชื่อญาติใกล้ชิด เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก เห็นปากกานึกชื่อไม่ออก จำได้แต่เอาไว้เขียน
3.มีปัญหาเรื่อง Executive function "ความคิดสร้างสรรค์" คิดอะไรใหม่ๆ ไม่ได้
4.เรื่อง "ทิศทาง" เริ่มมีเรื่องของหลงทาง เช่น เคยขับรถกลับบ้านจู่ๆ จำไม่ได้ ถ้าเป็นมากอย่างตื่นมาเข้าห้องน้ำแล้วกลับห้องตัวเองไม่ถูก
5."ภาษา" มีปัญหาในการใช้คำ เริ่มเรียงประโยคผิด
ไม่ต้องมีปัญหาครบทั้ง 5 ข้อ แค่มี 1 ข้อก็ควรมารับการตรวจ เพราะปัจจุบันโรคมีผลเกี่ยวกับความจำเป็นสิบชนิด บางคนอายุแค่ 40 ปี แต่มีปัญหาความจำสับสน ย้ำคิดย้ำทำ เพราะสมองส่วนหน้าฝ่อ หรือมีปัญหาเรื่องจิตเวช ซึ่งถ้ามาหาที่ตรงนี้จะช่วยได้
′ยาวไม่อ่าน′ ปัญหาที่เกิดได้กับทุกคน
เชื่อกันว่า เป็นเพราะบรรดา "สมาร์ทดีไวซ์" เป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่ไม่ชอบอ่านหนังสือยาวๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ขาดการคิดวิเคราะห์ แต่ในระยะยาวเป็นที่มาของ "สมาธิสั้น"
พญ.ศรินพร มานิตศิริกุล
คุณหมอศรินพรวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ "ยาวไม่อ่าน" น่าจะเป็นเพราะสมาธิมากกว่า
ถ้าเรามี Mental activity คือเอ็กเซอร์ไซส์ความคิดเป็นประจำ พยายามคิด พยายามอ่านหนังสือ พยายามเล่นเกมส์ประจำ ความจำก็จะดี แต่ถ้าคนไม่ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้เหมือนคนไข้ไม่พยายามพัฒนาความจำ สุดท้ายในอนาคตความจำเขาก็ไม่ดีเหมือนคนที่พยายามอ่าน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าความจำไม่ได้ แต่ถ้าเทียบระหว่างคนสองคนที่คนหนึ่งตั้งใจอ่านหนังสือ คิด ตรึกตรอง ย่อมมีความจำดีกว่าแน่นอน
ประเด็นสมาธิสั้น ปัจจุบันเป็นกันมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากความเครียด เพราะมัวแต่ใจจดใจจ่อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ
ตอนนี้ทุกคนทำอะไรรวดเร็ว ทุกอย่างเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เราจะทำอะไรเร็ว ทำอะไรแป๊บๆ ซึ่งเป็นตั้งแต่เด็ก คนไข้บางคนมาหาหมอเพราะนึกว่าความจำไม่ได้ แต่ไปๆ มาๆ พอได้ทำแบบทดสอบที่หมอทำขึ้น กลับพบว่าที่แท้เป็นเพราะสมาธิสั้น ซึ่งเมื่อไปแก้ที่เรื่องสมาธิ ทำจิตบำบัดก็จะช่วยได้
ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้มีการทำวิจัยเรื่องของนั่งสมาธิ ซึ่งเมืองนอกพบว่า มีตัวของทางเดินของเส้นประสาทในการสื่อประสาทมันเยอะขึ้นเมื่อมีการนั่งสมาธิ
สำหรับวิธีป้องกันสมาธิสั้น ถ้าเป็นเด็ก คุณหมอแนะนำให้จำกัดการเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ เลือกเกมที่เกมเน้นฝึกภาษา ไม่ใช่โปรแกรมที่เล่นประเดี๋ยวประด๋าว และควรเป็นเกมที่ทำให้มีปฏิสัมพันธ์
ส่วนถ้าเป็นผู้ใหญ่ การนั่งสมาธิดีที่สุด จะทำให้รวบรวมความคิดได้ ใจจดใจจ่อ เรื่องปวดหัวดีขึ้น สมาธิดีขึ้น ซึ่งในต่างประเทศทั่วโลกกำลังพูดถึง
5 ′ต้อง′ ก่อนอัลไซเมอร์ถามหา
อย่างที่ทราบเราอยู่ในสังคมสูงวัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าวันหนึ่งเราก็ต้องกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกนั้น แต่ทำอย่างไรจึงจะสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวไปไกล ทำให้ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาตำแหน่งเสื่อมของสมองได้ โดยใช้เครื่อง "เพ็ตสแกน" (PET Scan) หรือตรวจหาการลดลงของอะไมลอยด์ (สารสื่อประสาท) เพื่อประโยชน์ของการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งการตรวจเช่นนี้จะทำกับบางเคสเท่านั้น
วิธีที่ดีที่สุด คุณหมอศรินพรบอกว่า ควรต้องรู้จักดูแลตนเองตั้งแต่วันนี้ โดยการควบคุมข้อบ่งชี้ 5 ข้อ คือ
1.คุมความดันโลหิต คุมปริมาณไขมัน และโรคเบาหวาน ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้เสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดทำให้ความจำเสื่อมอันนำไปสู่อัลไซเมอร์
2.ต้องออกกำลังสมองเป็นประจำเช่นพยายามคิด อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ พบคนใหม่ๆ ทำกิจกรรมใหม่ๆ จะช่วยให้พัฒนาความจำ
3.ออกกำลังกาย ทำให้ไขมันดีเพิ่มขึ้น ไขมันไม่ดีลดน้อยลง ก็ช่วยป้องกันเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งส่งผลต่อความจำได้
4.กิน "เมดิเตอร์เรเนียนฟู้ด" คือลดการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด ยกเว้นปลา กินผักให้มากๆ และอาหารที่มีไขมันดี รวมไปถึงผู้ที่กินมังสวิรัติเป็นเวลานานกว่า 3 ปี มีผลทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12
5.ระวังการใช้ยาที่มีผลต่อความจำ เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
ครอบครัวเล็ก ′โฮมเฮลธ์แคร์′ ช่วยได้
เมื่อเรากำลังอยู่ในสังคมสูงวัย ที่ย่างเข้าสู่ยุคสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ต้องรับมืออย่างไร
คุณหมอศรินพรบอกว่า สิ่งสำคัญคือสวัสดิการของรัฐที่จะต้องจัดให้กับผู้สูงอายุมากขึ้นและอย่างทั่วถึง
ตอนนี้ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดเล็กด้วยสวัสดิการที่มีไม่มากนักรัฐบาลอาจต้องจัดให้มี "โฮมเฮลธ์แคร์" เป็นสถานที่รับดูแลผู้สูงอายุในตอนกลางวัน พอตอนเย็นก็มารับกลับบ้าน ไม่ได้ทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่โดยลำพัง
อาจจะดูว่ามีค่าใช้จ่ายมาก แต่ถ้าปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียว แล้วเกิดไม่สบาย เป็นปอดบวม รัฐบาลจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่พูดว่าการดูแลผู้สูงอายุ จะมีก็แต่เอกชน
อัลไซเมอร์ไม่ทำให้คนตาย แต่อัลไซเมอร์ที่ทำให้มีปัญหามากขึ้น คือ ไม่มีคนดูแลแล้วทำให้เป็นปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นแผลกดทับ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
ถ้าให้ความสนใจ อาจจะทำเรื่องโฮมเฮลธ์แคร์ หรือมีคนเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับอัลไซเมอร์กับครอบครัวที่เป็นอัลไซเมอร์ หรืออาจจะตั้งกลุ่มอัลไซเมอร์ อนาคตปอดบวมจะน้อยลง รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียค่ายารักษาโรคติดเชื้อ
เพราะตอนนี้ยารักษาโรคติดเชื้อแพงยิ่งกว่ายารักษาอัลไซเมอร์อีก