โดดเดี่ยวและเดียวดาย ทั้งที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย

โดดเดี่ยวและเดียวดาย ทั้งที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย

โดดเดี่ยวและเดียวดาย ทั้งที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเคยรู้สึกไหมว่าทั้ง ๆ ที่คุณกำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองที่แสนจะวุ่นวาย มีผู้คนพลุกพล่านรายล้อมรอบตัวเต็มไปหมด แต่คุณกลับรู้สึกว่าตัวเองกำลังเหงา และบางทีก็รู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมาท่ามกลางผู้คนรอบตัวนับสิบนับร้อยคนเสียอย่างนั้น ทำไมเราถึงรู้สึกโดดเดี่ยวและเดียวดายได้ขนาดนั้นทั้งที่เราไม่ได้อยู่คนเดียว

ความโดดเดี่ยวสัมพันธ์กับความเหงา
ก่อนที่จะข้ามไปที่ความรู้สึกโดดเดี่ยว หลาย ๆ คนล้วนต้องเผชิญกับความรู้สึกเหงามาก่อน ซึ่งถ้าพูดถึงจิตวิทยาของความเหงา นักสังคมวิทยาที่ชื่อว่า Robert S. Weiss ระบุว่าความเหงาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือความเหงาทางสังคม เป็นความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับผู้อื่น ขาดการเจอเพื่อน หรือขาดการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายทางสังคม กับอีกประเภทคือความเหงาทางอารมณ์ เกิดจากการขาดความผูกพันทางอารมณ์ที่ใกล้ชิด ความเหงาประเภทนี้เกิดขึ้นได้แม้จะมีผู้คนอยู่รอบตัวเรา แต่กลับไม่ช่วยให้ความเหงาลดลง หรือมันอาจทำให้รู้สึกเหงาขึ้นได้อีก เพราะเราไม่ได้ถูกเติมเต็มให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ความเหงา จึงเกิดขึ้นมาเมื่อระดับของการรับรู้และความต้องการของเราไม่ตรงกัน เราต้องการการเติมเต็มทางความรู้สึก ในขณะที่เราก็รับรู้ได้ว่าที่มีอยู่มันไม่เพียงพอที่จะเติมเต็ม แต่ถึงความเหงาจะทำให้เรารู้สึกไม่ดี แต่ความเหงากลับจำเป็นต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ ความเจ็บปวดจากการต้องอยู่เพียงลำพัง เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราต้องแสวงหา “เพื่อน” เพื่อให้มาคลายความเหงาลง พอมนุษย์มีเพื่อน มนุษย์ก็เริ่มที่จะอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นสังคม จนมีการสร้างความปลอดภัยบางอย่างขึ้นมาจากการรวมตัวกัน นี่เป็นทฤษฎีที่ John Cacioppo นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยา เสนอเป็นทฤษฎีขึ้นมา

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ ทั้งที่เรามีการติดต่อทางสังคมกับผู้คนอื่น ๆ มากมาย และก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้น ๆ แต่ทำไมเราถึงยังรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนมากมายได้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก เรามีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มคนเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน หรือไม่มีเลย! ในอีกมุมหนึ่ง เราเป็นคนที่กำลังเฝ้ามองการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนเหล่านั้นอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ล่ะก็ แปลว่าความต้องการทางสังคมของเราไม่ได้ถูกตอบสนอง เราขาดทั้งความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรู้สึกเหงา

จะเห็นได้ว่าการที่เรารู้สึกเหงา มีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพของความสัมพันธ์มากกว่าปริมาณของผู้คนที่รายล้อมเราอยู่ ต่อให้คนมากมายแค่ไหน แต่ถ้าไม่เกิดความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ ไม่มีการมีส่วนร่วม ไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และไม่มีกระบวนการที่ทำให้รู้สึกว่าใครสักคนเป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ มันก็ย่อมเกิดเป็นความเหงาขึ้นมา และความเหงาที่ซึมลึกจนกัดกินใจของเรา ก็จะกลายเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ขาดความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์กับผู้อื่นไปเลย เหมือนเราอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ ต่อให้มีคนมากมายรายล้อม เราก็ไม่รู้สึกว่าเรามีใคร

ความโดดเดี่ยว เกิดขึ้นเพราะขาดความเชื่อมโยงกับผู้อื่น
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสังคม ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความต้องการการยอมรับ ถูกจัดอยู่ในลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากความต้องการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง ก็อาจนำไปสู่ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้อย่างง่ายดาย ความเหงาและความโดดเดี่ยวจึงเป็นความรู้สึกที่ท้าทายสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ ตรงที่มันต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์จากทั้ง 2 ทาง ถ้าอีกฝ่ายไม่ตอบสนองหรือเราเองไม่รู้สึกอิน มันย่อมไม่เกิดความเชื่อมโยง

ความรู้สึกโดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเรา “ขาดความเชื่อมโยง” กับบุคคลอื่น ๆ นั่นหมายความว่าต่อให้เราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายแค่ไหนก็คงไม่ได้ช่วยอะไร ตราบใดที่เราไม่ได้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เราก็ยังคงรู้สึกโดดเดี่ยวและเดียวดายอยู่ดี

ความโดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกที่เราตระหนักได้ว่า “มีเราอยู่แค่เพียงคนเดียว” นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้รับการเติมเต็มให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม มันจึงแตกต่างกับความเหงาจากการที่เราแยกตัวจากสังคม เพราะความโดดเดี่ยวเป็นความเหงาที่เกิดจากการอยู่ในสังคม แต่กลับไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับใครเลย เหมือนเราเอาตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ท่ามกลางผู้คนเยอะแยะ แต่เข้าไปนั่งอยู่เฉย ๆ โดยที่เราไม่ได้มีความรู้สึก “ใกล้ชิด” ทางความรู้สึกกับใครสักคนในนั้น นั่งมองคนอื่น ๆ เขามีปฏิสัมพันธ์กัน ในขณะที่ก็มีผู้คนที่เดินเฉี่ยวตัวเราไปมา แต่มันไม่มีความอบอุ่นในหัวใจ

ดังนั้น ความโดดเดี่ยวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราแยกตัวเองออกจากสังคม แต่มันเกิดขึ้นเพราะเราอยู่ในสังคม โดยที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวกกับใครเลยต่างหาก ซึ่งถ้าหากพยายามหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากตัวของเราเอง อาจเป็นไปได้ว่าเราเป็นคนที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร แบบว่าเรารู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ แต่เรากลับไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจในแบบเดียวกับที่เราคิด หรือสื่อสารออกไปแล้วคนอื่นกลับเข้าใจไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเรา จึงนำมาซึ่งความเข้าใจผิดและห่างเหิน ทำให้เราโดนกันให้ออกห่างจากคนอื่นไปเรื่อย ๆ เพราะสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล

นอกจากนี้ ความรู้สึกโดดเดี่ยวยังเกิดขึ้นได้จากการที่เราเป็นคนกลัวการมีความสัมพันธ์ได้ด้วย เริ่มมาจากการที่เรารู้สึกไม่ไว้วางใจคนอื่น เมื่อเขาเข้าหา เราจะถอยห่าง หรือความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ ก็เลยไม่กล้าเริ่มต้นเข้าหาคนอื่น ซึ่งตรงส่วนนี้มีความสัมพันธ์กับการเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองและรับรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ ด้อยค่าตัวเอง ทัศนคติที่มองว่าตัวเอง “ไม่ดีพอ” มาพร้อมกับความเชื่อที่ว่าเราไม่มีดีพอให้ใครมาสนใจ เมื่อต้องเข้าหาใครก็จะมีความรู้สึกประหม่ามาก ๆ และยังรู้สึกไปเองด้วยว่าคนอื่นจะคาดหวังในสิ่งที่เราดีไม่พอ เขาจะผิดหวังในที่สุด เลยทำให้เราไม่กล้าที่จะเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับใคร แม้แต่มิตรภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายคนก็ยังปฏิเสธ

หรือบางทีอาจเป็นเพราะเราเป็นคนที่ชอบพึ่งพาคนอื่นมากเกินไปก็ได้เช่นกัน เมื่อเราประเมินคุณค่าและความสำคัญของตัวเองผ่านการกระทำของคนอื่นเท่านั้น แล้วคาดหวังว่าคนอื่น ๆ จะต้องแสดงออกต่อเราแบบนี้ ๆ เราถึงจะรู้สึกมีคุณค่า มีความสำคัญ หรือมีความรู้สึกใกล้ชิดกับใครสักคนขึ้นมา ในทางกลับกัน ถ้าสิ่งที่คนอื่นปฏิบัติต่อเราไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเราแล้วล่ะก็ เราจะรู้สึกผิดหวัง รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ จึงสร้างกำแพงขึ้นมาขวางกั้นตัวเองให้ออกห่างจากคนอื่นมากขึ้นไปอีก จนกระทั่งถูกความรู้สึกโดดเดี่ยวเข้าครอบงำในที่สุด

และในอีกกรณีที่ผู้คนสมัยนี้เป็นกันมาก คือการพยายามสร้างความสัมพันธ์ปลอม ๆ ขึ้นมาโดยเน้นที่ปริมาณไม่ใช่คุณภาพ สังเกตได้จากการที่คนเหล่านี้จะดูเหมือนมีเพื่อนมีคนรู้จักเยอะ เป็นคนเฟรนด์ลี่ที่เป็นเพื่อนกับใครก็ได้ แต่เอาเข้าจริงกลับพบว่าตัวเองไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่พิเศษกับใครเลย ไม่กล้าที่จะบอกว่าตัวเองสนิทกับใครด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่สนิทด้วย ดังนั้น คนมากมายที่รู้จักแต่เพียงผิวเผิน ไม่มีใครสักคนที่รู้สึกสนิทใจด้วย ความรู้สึกดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นเวลาที่เรามีปัญหา อยากปรึกษาใครสักคน แต่ดันไม่รู้ว่า “จะบอกใครดี” คนมากมายที่รู้จัก ไม่มีใครเลยที่เราจะกล้าโทรหาหรือคุยด้วยได้ ทั้งที่มีข้อมูลสำหรับติดต่อครบทุกช่องทาง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเพื่อนเยอะมาก แต่ไม่มีใครที่สนิทด้วยเลยสักคน อยากให้คุณลองมองย้อนไปถึงพฤติกรรมก่อนหน้านี้ของตัวเองว่าคุณเคยพยายามไม่เป็นตัวของตัวเองเพื่อให้ตัวเองได้มีเพื่อนหรือเปล่า บางทีคุณอาจพยายามเข้าไปในสังคมที่ตัวเองไม่คุ้นเคย ลองก้าวออกมาจาก comfort zone เพื่อแสวงหามิตรภาพใหม่ ๆ เจอผู้คนใหม่ ๆ แน่นอนว่าคุณได้รู้จักกับคนอื่น ๆ มากขึ้น มีการแลกช่องทางติดต่อกัน ติดตามโซเชียลมีเดียของกันและกัน แต่มันกลับไม่ใช่เพื่อนในแบบที่คุณต้องการ ความรู้สึกที่เหมือนจะมีแต่ไม่มี ความรู้สึกที่ต้องมานั่งตระหนักว่าเรากับเขารู้จักกันดีพอที่จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังไหม นี่แหละที่ทำให้คุณเหงายิ่งกว่าการไม่มีเพื่อนสักคน และรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก

ถ้าหากเรามีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มาก ๆ ท้ายที่สุดแล้วมันจะยิ่งทำให้เรา “รู้สึกเหนื่อยในการเข้าสังคม” เพราะแต่ละคนที่เราไปสร้างความสัมพันธ์แบบเฉพาะหน้าเพื่อเน้นปริมาณ เราจะขาดขั้นตอนของการพัฒนาความสัมพันธ์ ต้องเข้าใจว่ากว่าเราจะเป็นเพื่อนที่ซี้กับใครสักคนได้เนี่ย มันไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก มันต้องมีความเข้ากันได้ในทุก ๆ ด้าน แม้แต่จุดที่แตกต่างกัน มันก็จะต้องส่งเสริมในส่วนอีกฝ่ายขาดไปได้ ซึ่งมันต้องดูกันไปยาว ๆ ซึ่งถ้าเราไม่มีขั้นตอนของการพัฒนาความสัมพันธ์กับใคร ทุกคนก็เป็นได้แค่เพื่อนทั่ว ๆ ไปที่เราจะไม่สนิทใจพอที่จะคุยเรื่องยาก ๆ ได้ แถมการอยู่ท่ามกลางเพื่อนเยอะ ๆ โดยที่ไม่มีใคร “พอดี” ที่จะสนิทด้วยจริง ๆ มันอาจจะทำให้เราเหนื่อยมากขึ้น และวนกลับมาที่ความรู้สึกโดดเดี่ยวในที่สุด!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook