ปราบดา หยุ่น .... ภารกิจใหม่ในระดับนานาชาติ

ปราบดา หยุ่น .... ภารกิจใหม่ในระดับนานาชาติ

ปราบดา หยุ่น .... ภารกิจใหม่ในระดับนานาชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอ่ยชื่อของ "ปราบดา หยุ่น" เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ชอบอ่านหนังสือแล้วจะไม่รู้จัก

เพราะผลงานที่ผ่านมาของเขา ทั้งในฐานะบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น โปรดิวเซอร์ นักแปล รวมถึงนักเขียน

ปราบดาถือเป็นหนึ่งในนักเขียนที่นำเสนอผลงานที่ท้าทายคตินิยมหลังสมัยใหม่ ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ของสังคมและระบบตรรกะที่คุ้นชิน วรรณกรรมร่วมสมัยของเขาสามารถสร้างและครองใจกลุ่มนักอ่านอย่างเหนียวแน่นได้เสมอ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากผลงานในนามปัจเจกแล้ว ปราบดายังมีหมวกอีกใบที่เพิ่มเติมเข้ามา เป็นหมวกของอุปนายก "สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)" ในยุคสมัยที่ "จรัญ หอมเทียนทอง" รั้งตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯในยุคสมัยที่ปราบดาดูแลฝ่ายต่างประเทศได้รับการยอมรับจากคนในวงการหนังสือว่าผลงานเข้มข้นและมีประสิทธิภาพมาก ทั้งในแง่ของการซื้อขายลิขสิทธิ์และการนำเสนอผลงานของนักเขียน-นักวาด และสำนักพิมพ์ไทยสู่สายตาชาวโลก

ดังนั้น นอกจากในฐานะศิลปินผู้สร้างงานแล้ว ในระดับนานาชาติ ปราบดายังได้รับการยอมรับในอีกภารกิจหนึ่งด้วย

โดยล่าสุดในงานประชุมสามัญประจำปี "สมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Publishers Association : APPA)" ที่ประเทศเกาหลีใต้ ปราบดาได้รับคัดเลือกด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย บังกลาเทศ สิงคโปร์ ฯลฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกคนล่าสุด ถือเป็นคนไทยเป็นคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

หลังเดินทางกลับมาจากรับตำแหน่งที่ประเทศเกาหลีใต้ ปราบดา หยุ่น ได้มาเปิดใจกับที่นี่ที่แรกถึงภารกิจใหม่ที่เขาได้รับภารกิจที่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ทั้งแวดวงหนังสือไทยและระดับนานาชาติ

"APPA ย่อมาจาก Asia Pacific Publishers Association ก็คือสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นการรวมตัวของตัวแทนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จากประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ขณะนี้มีสมาชิกอยู่ 15 ประเทศ เริ่มก่อตั้งโดยญี่ปุ่นกว่า 20 ปี มาแล้วครับ" ปราบดาอธิบายถึงข้อมูลเบื้องต้น ก่อนที่จะเล่าเพิ่มเติมว่า

"การเลือกประธานเป็นการเสนอชื่อในที่ประชุมใหญ่เมื่อประธานเก่าหมดวาระ (3 ปี) เมื่อมีการเสนอชื่อแล้วก็โหวตกันในที่ประชุมนั้น ภารกิจหลักๆ ที่ผ่านมาคือการแลกเปลี่ยนความรู้และรายงานสถานการณ์ของวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ของแต่ละประเทศ มีการจัดบูธร่วมในบุ๊กแฟร์ต่างๆ แต่นับแต่นี้คงมีนโยบายเพิ่มขึ้นจากเดิมบ้าง ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป"

ปราบดาเล่าว่า ที่ผ่านมาความสำคัญของ APPA ที่มีต่อธุรกิจสำนักพิมพ์ในระดับนานาชาติและสำนักพิมพ์ไทยยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเชื่อมสัมพันธ์ แต่ขณะนี้ได้มีคณะจัดงาน Taipei International Book Exhibition มาร่วมด้วย และมีประเทศอื่นเริ่มให้ความสนใจ จึงคาดว่าน่าจะมีการปรับตัวให้ขยับขยายกิจกรรมระดับนานาชาติได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยก็จะมีส่วนร่วมด้วยในฐานะที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เป็นสมาชิกอยู่แล้ว

"คำว่าตลาดหนังสือเอเชียแปซิฟิก ก็คือตลาดหนังสือแยกแต่ละประเทศ เพราะเราไม่ได้มีจุดร่วมกันมากนัก ซึ่งก็ถือว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่ APPA น่าจะช่วยพัฒนาได้ ถ้าพูดถึงภาพรวม ตลาดหนังสือหลายๆ แห่งก็มีแนวโน้มคล้ายๆ กันคือกำลังพบกับความท้าทายทางธุรกิจ และมีการให้ความสนใจกับ digital content กันมาก แม้จะยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จนักเมื่อเทียบกับฝั่งอเมริกา แต่ทุกคนก็มองว่ามันคืออนาคต นอกจากนี้ ก็มีประเด็นแตกย่อยออกไปอีก เช่น เรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องการตั้งราคาหนังสือ ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ APPA น่าจะมีบทบาทได้ในทางใดทางหนึ่ง

ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านมอบตำแหน่ง แต่เท่าที่ได้คุยกับคุณ Eric Yang ประธานคนก่อนซึ่งเป็นชาวเกาหลี เราคงจะผลักดันให้มีรางวัลหนังสือระดับเอเชียแปซิฟิกขึ้น ซึ่งจะเป็นวาระใหญ่และสำคัญ ไม่เคยมีการทำมาก่อน สำหรับในทรรศนะส่วนตัว อยากกระชับสัมพันธ์กับประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก หลักๆ คือเกาหลี จีน ญี่ปุ่น กับประเทศเอเชียอื่นๆ มากขึ้นผ่านกิจกรรมหรือเวิร์กช็อปใหม่ๆ หาพื้นที่ในการสื่อสารที่สะดวกขึ้น ทำให้มีการแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสม่ำเสมอและยาวนานขึ้น" ปราบดากล่าวด้วยรอยยิ้ม

"เป็นมิติใหม่ของวงการหนังสือที่น่าจับตา"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook