กับดักหนี้คนรุ่นใหม่ เป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน
ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่มนุษย์เงินเดือนสามารถมีสินเชื่อส่วนบุคคลได้ง่ายขึ้นทั้งสินเชื่อจากบัตรเครดิต สินเชื่อเงินกู้ส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน ทำให้คนรุ่นใหม่ทั้งมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ประกอบการรายย่อย มักเป็นหนี้เร็วตั้งแต่อายุ 25-29 ปี และเป็นหนี้นานเพราะอยู่ในวงจรของการกู้ที่ไม่รู้จบ
ซึ่งนิสัยที่ใช้เงินโดยไม่วางแผน จ่ายง่าย จ่ายคล่อง กลายเป็นกับดักที่ทำให้คนวัยทำงานต้องแบกภาระหนี้สินเกินตัว ดังนั้น เรามาดูกันว่านิสัยอะไรบ้างที่ควรหยุดเพื่อไม่ให้คุณกลายเป็นหนี้ระยะยาว และแก้ปัญหาหนี้ไม่พ้นตัว
เป็นหนี้เร็ว: เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน (อายุ 25-29 ปี) พนักงานมากกว่า 58 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้ และมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี้เสีย (NPL : Non- Performing Loan) โดยส่วนใหญ่ คือ หนี้จากบัตรเครดิต รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เมื่อขาดการวางแผนการเงินที่รอบคอบ อาจกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี ก็มีอัตราการเป็นหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และบางส่วนมักเป็นหนี้ที่ไม่สามารถสร้างรายได้
เป็นหนี้เกินตัว: เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ของลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน เมื่อเงินเดือนออกแล้ว จึงต้องนำเงินเดือนเกินกว่าครึ่งไปจ่ายหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต และหนี้ส่วนบุคคล
เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลครบถ้วนหรือถูกต้อง: หลายครั้งที่ลูกหนี้ได้รับข้อมูลไม่ครบ และไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสาร หรือลูกหนี้ไม่ได้ศึกษา หรือทำความเข้าใจเงื่อนไขให้ดี
เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น: อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดหนี้สิน คือปัจจัยความจำเป็นรอบตัวต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เท่าไหร่ กว่า 62 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนไทย มีเงินออมฉุกเฉินไม่พอใช้ และหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้รายได้ลดลงกะทันหัน 20 เปอร์เซ็นต์ จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้สิน ทำให้ต้องไปกู้เงินทั้งในและนอกระบบ
เป็นหนี้นาน: หนี้บัตรและหนี้ส่วนบุคคลสามารถผ่อนจ่ายขั้นต่ำได้ ทำให้ลูกหนี้มักเลือกผ่อนชำระในขั้นต่ำ ทำให้เป็นหนี้นานกว่าที่ควร นอกจากนี้มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระอยู่ โดยเฉลี่ย 415,000 บาทต่อคน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากภาคการเกษตรที่พักชำระหนี้นั่นเอง
เป็นหนี้เสีย: จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าแทบทุกข้อนั้นสามารถนำไปสู่ปัญหาหนี้เสียได้ โดยในประเทศไทยมีลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย และเกือบครึ่งของจำนวนนี้ (4.5 ล้านบัญชี) เป็นหนี้เสียในช่วงของโรคระบาด COVID-19
เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น: เมื่อเป็นหนี้เสียจนสายเกินแก้แล้ว มักจะเกิดปัญหาการเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ของบัญชีหนี้เสียที่ถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีจะจบด้วยการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด แต่ก็ยังคงปิดหนี้ไม่ได้
เป็นหนี้นอกระบบ: อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหาหนี้หนักขึ้น คือการเป็นหนี้นอกระบบ โดย 42 เปอร์เซ็นต์ ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท ซึ่งเกิดจากการที่มีรายได้ไม่แน่นอน, ขาดความรู้เรื่องการเงิน, ขาดหลักประกัน, เลือกกู้นอกระบบเอง หรือขอสินเชื่อในระบบจนเต็มวงเงินแล้ว
ข้อมูลจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย