เคล็ดลับการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง

เคล็ดลับการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง

เคล็ดลับการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ สังคมของเรามีความแตกต่างหลากหลายสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านอายุ (คนต่างเจเนอเรชัน) เพศ (รสนิยมทางเพศ) ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว การศึกษา วัฒนธรรม สังคม ความพิการ ความเจ็บป่วย สถานภาพการสมรส สถานภาพทางสังคม หรือแม้แต่ความเห็นทางการเมือง เพราะแต่ละคนเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน มีแนวความคิดความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน มันจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเรามีความคิดความเชื่อแตกต่างกันไปด้วย เมื่อเชื่อไม่เหมือนกัน เห็นไม่ตรงกัน คิดเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ล้วนทำให้เกิดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมากันได้ เมื่อสื่อสารแล้วไม่ลงล็อกกัน

เวลาที่เราสื่อสารกับคนอื่นแล้วคนอื่นมีความเห็นไม่เหมือนกับเรา จริง ๆ มันเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก ๆ แต่ความเห็นที่แตกต่างกันก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง “ทะเลาะกัน” เสมอไป ภายใต้ความแตกต่าง แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถจะไปเห็นด้วยกับสิ่งต่าง ๆ ได้ทั้งหมดหรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะสามารถมองเห็นเรื่องทุกเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราต่างก็มีชุดความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกัน และเราต่างก็มีกฎเกณฑ์ที่จะสนับสนุนความคิดของตัวเราเองกันทั้งนั้น แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเราจะพยายามเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา เพื่อทำความเข้าใจและเปลี่ยนให้มันกลายแนวทางที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นให้ได้แบบปกติสุข ให้เกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งน้อยที่สุด

1. เปิดใจอย่างไร้อคติ ลดความเป็นตัวเอง
มันออกจะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก การที่คนเรามีชุดความคิดหนึ่งที่ฝังหัวมานานหลายปี หรือตัดสินใจที่จะเลือกข้างเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว มันจะทำให้เรา “เลือกเสพ” เฉพาะข้อมูลที่เราเห็นด้วยเท่านั้น เสพแต่ข้อมูลที่ถูกใจ ข้อมูลที่เราอยากได้ยิน ในขณะเดียวกัน เราก็จะปิดกั้นข้อมูลจากฝั่งตรงข้าม เลื่อนผ่าน มองข้าม ปิดกั้นการมองเห็น ถ้าบังเอิญเห็นก็จะมีความรู้สึกขัดแย้งอยู่ภายในใจ บางคนพยายามปล่อยผ่านได้ แต่บางคนก็แสดงความคิดเห็นออกมา จึงเป็นเรื่องยากที่จะเปิดใจรับฟังข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ตัวเองเชื่ออยู่เดิม เกิดเป็นวิธีการในการจัดการที่ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งของคนยุคนี้ ที่ไม่ชอบ ไม่อยากเห็นอะไรก็บล็อกหรือเลิกติดตามไปซะ

แต่การที่เรามีความเชื่อเพียงด้านเดียวฝังหัว พร้อมกับการขังตัวเองไว้ในกล่องแคบ ๆ เพื่อให้รับรู้แต่ข้อมูลที่เราเห็นด้วยนั้น มันยิ่งเหมือนกับการขุดหลุมฝังตัวเองให้รับรู้ข้อมูลอยู่เพียงด้านเดียว และไม่เคยรับข้อมูลอีกด้านมาประกอบการพิจารณา ข้อมูลจากชุดความคิดเดิม ๆ สะท้อนกลับไปกลับมาในห้องเสียงสะท้อน หนักเข้าก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” ซึ่งปัจจุบัน โซเชียลมีเดียที่เป็นแหล่งรวบรวมทั้งข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข่าวปลอมไว้เป็นจำนวนมาก ก็ได้กลายเป็นตัวกลางในการเผยแพร่ความเชื่อหรือข้อมูลในรูปแบบทฤษฎีสมคบคิดไปด้วยอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง กลายเป็นเรื่องที่ทำให้คนหลายคนพากันเชื่อแบบเป็นตุเป็นตะ เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น การเปิดใจ “ลอง” พาตัวเองออกมาจากการรับข้อมูลเพียงด้านเดียว แล้วเริ่มฝืนตัวเองที่จะรับฟังข้อมูลอีกด้านด้วยการวางอคติ เป็นหนทางเริ่มต้นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้เราเริ่มต้นที่จะฟังและเข้าใจคนอื่น โต ๆ กันแล้วต้องควบคุมตัวเองได้ หากไม่สามารถเริ่มจากด้วยการนั่งคุยกันแบบเห็นหน้ากับอีกฝ่ายได้ ลองเริ่มจากการเปิดใจอ่านข้อมูลอื่นที่ตรงข้ามกับความเชื่อเดิม แรก ๆ เราอาจจะรู้สึกหงุดหงิด หัวร้อน กำหมัด แต่ให้พยายามวางเฉย เป็นกลางให้มากที่สุดตอนอ่าน อย่างน้อยก็คือฝืนอ่านให้จบ แล้วนำมาคิดพิจารณาตามด้วยวิธีการคิดเชิงวิพากษ์ ถึงเราจะยังคงเชื่อในความคิดแบบเดิมของตัวเอง แต่เราก็ยังมีข้อมูลที่มากขึ้น และเป็นข้อมูลอีกด้านที่เราไม่เคยรู้เพราะปฏิเสธมันมาตลอด

2. พยายามที่จะรู้จักอีกฝ่าย
ก่อนจะตัดสินใจตราหน้าหรือติดป้ายอะไรให้กับใคร (ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรไปตราหน้าใครทั้งนั้น) ควรที่จะทำความรู้จักตัวตนของเขาที่อยู่นอกเหนือจากความขัดแย้งที่เป็นประเด็นก่อน อย่าเพิ่งสาดความเกลียดชังใส่ใครทั้งที่เราไม่รู้จักตัวตนของเขา ลองศึกษาชีวิตของเขา เรื่องครอบครัว กิจกรรมยามว่าง ของโปรดปราน ฯลฯ แต่ไม่ควรจะไปเปิดสงครามด้วยการชวนคุยในเรื่องที่คิดต่างกันในทันที พยายามหาในสิ่งที่มีร่วมกันเพื่อจูงใจให้สนิทสนมกันมากพอที่จะเปิดใจคุย อย่าให้ความแตกต่างกลายเป็นอคติกีดกันใครออกจากชีวิต ซึ่งเราอาจจะทำให้เราพลาดที่จะได้รู้จักกับคนที่น่ารักและมีทัศนคติที่น่าชื่นชมก็ได้ รู้จักตัวตนและความคิดของเขาก่อน อย่ารู้แค่สิ่งที่เขากับเราแตกต่างกัน

การพยายามทำความรู้จักอีกฝ่าย อาจจะทำให้เราได้เห็นต้นตอว่าอะไรที่ทำให้เขามีความคิดความเชื่อแบบนั้น เพราะคนเราเติบโตมาไม่เหมือนกัน เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตมาไม่เท่ากัน เจอสภาพสังคมที่หล่อหลอมมาแตกต่างกัน การที่เขาคิดและเชื่อในสิ่งที่ต่างจากเรา มันอาจจะมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาเคยประสบมาเองก็ได้ ไม่ใช่ว่าไปหลงเชื่อโดยไม่ไตรตรองหรือโดนใครล้างสมองมา เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติความเป็นเขา เราอาจจะมองเขาด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันในเรื่องที่ไม่ใหญ่โต เราก็พอจะมองข้ามความผิดใจกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปได้ เพราะเห็นแก่ตัวตนจริง ๆ ของเขาที่เป็นส่วนดี เราจะไม่มองเขาแบบเหมารวมว่าเขาโง่หรือเขาผิด

3. ฝึกคิดด้วยการคิดเชิงวิพากษ์
การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking ทุกวันนี้มักจะปรากฏอยู่ในทักษะอันพึงประสงค์ที่องค์กรต้องการจากคนทำงานด้วย เพราะมันคือทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนที่จะตัดสินหรือเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล วิธีการก็คือให้ลองตั้งคำถามหรือหาข้อโต้แย้งข้ออ้างนั้น ๆ โดยพิจารณาองค์ประกอบ แล้วคิดเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบคอบ อย่าเพิ่งคล้อยตามอะไรง่าย ๆ หากเราฝึกคิดเชิงวิพากษ์ได้ เราไม่มองอะไรแค่เปลือกนอก หรือเพียงเพราะรับสารมาแบบนั้น แต่เราจะมองอย่างลึก ๆ มีการวิเคราะห์อย่างรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งยังมีความยืดหยุ่นพร้อมเปิดรับความคิดเห็นคนอื่น โดยไม่ใช้อคติหรือความเชื่อของตัวเองในการตัดสินทันที

เพราะข้อมูลข่าวสารในยุคนี้มันมีมากมายมหาศาล เราจะรับข้อมูลมาเพียงด้านเดียวแล้วตัดสินใจเชื่อเลยในทันทีไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก แต่เราต้องเปิดรับข้อมูลอย่างรอบด้านและหลากหลาย เพื่อให้สมองของเรามีคลังความรู้มากพอที่จะนำมาพิจารณาเป็นองค์ประกอบและเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของข้อโต้แย้ง หากข้อมูลใด ๆ ยังมีข้อโต้แย้งอื่น ๆ ที่มีเหตุผลและน้ำหนักมากพอมาแย้งให้เห็นเป็นอื่นได้ ก็แปลว่าเราจะเชื่อข้อมูลนั้นโดยทันทีไม่ได้ ไม่มีใครบนโลกนี้ที่จะมีความคิดหรือความเชื่อที่ถูกเสมอไป ไม่มีใครถูกหรือผิดเสมอไป ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่อง ต่อให้มันเคยถูกต้อง แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป มันอาจจะมีอะไรที่เราต้องอัปเดตเพิ่มเติมเหมือนกัน

การคิดเชิงวิพากษ์สามารถฝึกฝนกันได้ โดยจะต้องเริ่มจากการรับสารอย่างตั้งใจ รับสารโดยไม่มีอคติ เป็นกลาง ไม่เอาอารมณ์ตัวเองไปตัดสิน เพื่อให้มีข้อมูลอย่างรอบด้านและมีคลังความรู้มากพอในการนำเข้าสู่กระบวนการคิด ต่อให้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ขัดใจเรา เราอาจไม่ชอบที่ตัวบุคคลที่ส่งสาร หรือแม้แต่สภาวะทางอารมณ์เราจะไม่มั่นคงก็ตาม จากนั้นอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการเรียนรู้และการใช้ชีวิต จากการอ่านมากฟังมาก พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นมาก ส่วนนี้จะเป็นพื้นฐานความรู้ในการพิจารณา ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้พื้นฐานจากข้อมูลและหลักฐาน ถึงจะนำไปสู่การประเมิน การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ

4. เน้นทำความเข้าใจ ไม่ใช่พยายามไปเปลี่ยนใจ
การที่เรามักจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่คุยเรื่องที่อ่อนไหวมาก ๆ กับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่มีความคิด ความเชื่อต่างจากเรา ด้วยกลัวว่าจะทะเลาะกันหรือกลัวว่าจะผิดใจกันแบบตัดญาติขาดมิตร ล้วนแล้วแต่เป็นการหนีปัญหา เพราะถ้าไม่เปิดใจที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าข้อมูลอีกด้านเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องอยู่กันไปโดยมีความขัดแย้งเป็นตัวนำ เป็นเหตุให้อยู่ร่วมกันได้ลำบาก แต่ถ้าเรายังพอที่จะประนีประนอมคุยกันได้ ควรคุยแบบทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต้องพร้อมที่จะเปิดรับข้อมูลอีกด้านว่ามันเป็นอย่างไร เขาคิดแบบไหนถึงต่างจากเรา ไม่ใช่การคุยแบบชวนหาเรื่องทะเลาะ ใช้เหตุใช้ผลคุยกันดี ๆ แล้วพยายามถามอีกฝ่ายว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น

การพูดคุยต้องเน้นเพื่อสร้างความเข้าใจ ฉันเข้าใจเขา เขาเข้าใจฉัน เราเข้าใจกัน โดยไม่จำเป็นที่เราจะต้องเห็นพ้องต้องกันเสมอไป แค่รักษามิตรภาพเท่านั้น ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนใจใคร เพราะนั่นเป็นสิทธิของเขาที่จะคิดและเชื่อแบบนั้น การเปลี่ยนใจคนไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญ ลึก ๆ แล้วต่างฝ่ายต่างก็ยังคงมีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่ดี แล้วก็มีหลักเกณฑ์สำหรับความเชื่อของตนเองทั้งนั้น ไม่ต้องพยายามครอบงำเพื่อเปลี่ยนความคิดคนอื่น ถ้าเขาจะเปลี่ยน เขาจะหาข้อมูลเข้าสู่กระบวนการคิดให้มากขึ้นแล้วเปลี่ยนเอง ความคิดความเชื่อหลาย ๆ อย่างไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่จะใช้วัดได้ว่าใครถูกใครผิด เราจึงทำได้เพียงพยายามเข้าใจกันและกันเท่านั้นเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ เท่านั้นก็พอ

5. เราไม่จำเป็นต้องคิดและเชื่อเหมือนกันก็ได้ แค่ไม่ละเมิดและรู้จักเคารพกัน
สังคมของเรามันใหญ่โตเกินกว่าที่จะทำให้คนทุกคนมีความคิดความเชื่อที่ตรงกัน อันที่จริง มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้คนเราเหมือนกันทุกอย่างตั้งแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ ในเมื่อเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขบนความแตกต่างหลากหลาย แค่ทุกคนเข้าใจว่ามันคือเรื่องส่วนบุคคลที่ใครจะคิดจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ไม่มีใครผิดเพียงเพราะแตกต่างจากคนหมู่มาก ตราบใดที่ความคิดและการกระทำของใครก็ตามไม่ได้ทำให้ผู้ใดเสียหายหรือเดือดร้อน หากเราเข้าใจถึงความแตกต่าง เราจะนิ่งเฉยได้มากขึ้นเมื่อต้องพบเจอกับความคิดและความเชื่อของคนที่แตกต่างไปจากเรา

การเปิดใจ ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันว่าเราแตกต่างกันอย่างไร และอะไรที่สนับสนุนให้เราคิดและเชื่อต่างกัน ความแตกต่างจะไม่เป็นปัญหา ถ้าเรายึดหลักในการเคารพตัวตนและความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ละเมิดกันด้วยการตีตราหรือติดป้ายให้ใครแบบเหมารวม แล้วสาดความเกลียดชังใส่กันเพราะเป็นคนละพวก บางที “การต่างคนต่างอยู่” ใช้ชีวิตกันไปโดยไม่ต้องอยากจะไปโต้แย้งกับใครเขาทุกเรื่อง วางเฉยแล้วทดไว้ในใจบ้าง เวลาที่เห็นอะไรที่ไม่ชอบและขัดใจโดยไม่เปิดสงครามทะเลาะกัน หรือลองเปิดใจให้ได้คิดไตร่ตรองแบบที่อีกฝ่ายคิดบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร รวมไปถึงการยับยั้งการกระทำว่าเราไม่จำเป็นต้องแสดงออกในทุกเรื่องที่เราคิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook