“สังเวียน” สุราพื้นบ้านไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
“งานเลี้ยงหากไม่มีเหล้ามันจะไปสนุกอะไร” เป็นวลีฮิตที่หลายคนมักพูดติดปากเมื่อไปร่วมงานสังสรรค์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุรา หรือ เหล้า เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ขาดไม่ได้เมื่อเกิดงานรื่นเริงต่าง ๆ และอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน แต่กลับเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่สุราแบรนด์ไทยกลับมีตัวเลือกให้บริโภคน้อย ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคสุราที่นำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า
รู้หรือไม่ ว่าในประเทศไทยก็มีสุราพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย อีกทั้งยังมีมาตั้งแต่โบราณอีกด้วย โดยในปัจจุบันหลายจังหวัดในประเทศไทยก็มีการให้ความสนใจ และมีการผลิตสุรากันอย่างจริงจัง โดยสุราพื้นบ้านที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้น “เหล้าสังเวียน” ที่ถูกกล่าวถึงโดยพิธา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก “เหล้าสังเวียน” และสุราพื้นบ้านไทย
สุราพื้นบ้าน คืออะไร?
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องของเหล้าสังเวียน เราคงจะต้องมาทำความรู้จักกับสุราพื้นบ้านกันก่อน โดยสุราพื้นบ้าน คือสุราที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย และมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต ซึ่งสุราพื้นบ้านแต่ละชนิดก็มีวิธีการผลิตแตกต่างกันออกไป จนสามารถแยกเป็น 4 ประเภทได้ ดังนี้
-
สาโท สาโทเป็นเหล้าแช่ที่ทำจากข้าว นำมาหมักกับลูกแป้ง จนเกิดการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล หลังจากนั้นน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ โดยสาโทมีปริมาณแอลกอฮอล์ 15 ดีกรี
-
อุ หรือเหล้าไห เป็นเหล้าที่ทำจากข้าวเหนียว และมีส่วนผสมของแกลบ โดยใช้กรรมวิธีการหมักลงในไหและปิดให้สนิท เมื่อจะดื่มก็จะต้องดื่มด้วยหลอด มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 5-10 ดีกรี
-
น้ำตาลเมา หรือกระแช่ เป็นเหล้าที่ได้จากการหมักน้ำตาลสด เริ่มจากการที่ชาวบ้านจะนำกระบอกไม้มารองน้ำที่ไหลออกมาจากการปาดต้นตาล โดยชาวบ้านจะนำไม้เคี่ยม ไม้พะยอม หรือไม้ตะเคียนใส่ไว้ในกระบอกไม้ จากนั้นน้ำตาลสดจะเริ่มทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นยีสต์ตามธรรมชาติ และจะผลิตแอลกอฮอล์ออกมา โดยใช้เวลา 1 วันในการหมักน้ำตาลสดให้เป็นกระแช่ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้ ประมาณ 6-9 ดีกรี
-
เหล้าขาว หรือเหล้ากลั่น ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด เป็นเหล้าที่ได้จากการหมักน้ำตาลจากข้าว ข้าวโพด หรืออ้อย โดยน้ำตาลอ้อยจะมีความหอม หวาน และมีคุณภาพกว่ากากน้ำตาลชนิดอื่น ๆ ต่อจากนั้นจะมีการเติมยีสต์เข้าไป เพื่อให้ยีสต์กินน้ำตาลจนหมดแล้วคายแอลกอฮอล์ออกมา จากนั้นจึงนำแอลกอฮอล์ที่ได้ไปผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อให้มีดีกรีสูงขึ้น โดยเหล้าขาวจะต้องปราศจากเครื่องย้อม ทำให้เหล้าขาวมีปริมาณแอลกอฮอล์ถึง 40 ดีกรี
ซึ่งปกติแล้วผู้คนในชุมชนก็มักจะนิยมใช้สุราเป็นองค์ประกอบของพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าสุราอยู่ควบคู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องด้วยเรื่องของกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย ชาวบ้านจึงผลิตและดื่มกันเอง มากกว่าใช้ในการค้าขาย แต่เมื่อประเด็น “สุราก้าวหน้า” ถูกกล่าวถึงขึ้นมา ก็ทำให้สุราพื้นบ้านไทยถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “เหล้าสังเวียน”
เหล้าสังเวียน สุรากลั่นชื่อดังจากจังหวัดสุพรรณบุรี
“สังเวียน” เป็นสุรากลั่นจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีวิธีการผลิตโดยการใช้น้ำหวานจากอ้อยสดมาหมักให้เกิดแอลกอฮอล์แล้วนำไปกลั่น
ที่มาของคำว่า “สังเวียน” เป็นชื่อของคุณปู่ที่เสียชีวิตไปแล้วของนายทวีชัย ทองรอด หรือ “ช้าง” ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ อีกทั้งคุณปู่ยังเป็นคู่ชีวิตของคุณย่าที่เคยผลิตสาโทขายในอดีต ตั้งแต่ตัวนายทวีชัยที่เป็นหลานยังไม่เกิด การตั้งชื่อนี้ จึงเป็นการระลึกถึงคุณปู่ ที่แสดงถึงความรักและสิ่งที่ทั้งคู่เคยทำด้วยกันมานั่นเอง
ในด้านของตัวนายทวีชัยเองก็มีการศึกษาด้านการผลิตเบียร์จากอังกฤษ เคยทำงานในบริวผับ (Brewpub) ขนาดใหญ่ของไทยอยู่หลายปี โดยบริวผับ คือเบียร์ที่ไม่ได้บรรจุขวดขายแต่จะผลิตใส่ถัง และมีหัวปั๊มจ่ายเบียร์สด ในปัจจุบันยังทำเบียร์ดื่มเองและทำแบรนด์เหล้าสังเวียนอย่างจริงจัง
โดยแบรนด์เหล้าสังเวียน ถูกกล่าวถึงในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในประเด็นสุราก้าวหน้า จากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ประชาชนพากันแห่ค้นหา และในช่วงเย็นก็มีการแชร์ระบุว่า “ขณะนี้เหล้าสังเวียนหมดโรงงานแล้ว”
พิธา กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลถูกปลดล็อก ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้ ซึ่งจะนำไปเชื่อมกับนโยบายเศรษฐกิจทำให้สินค้าการเกษตรกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา
แต่นอกจากเหล้าสังเวียนแล้ว ก็ยังมีแบรนด์ไทยอีกแบรนด์หนึ่งที่ถูกกล่าวถึง ซึ่งนั่นก็คือ Kilo Spirits อีกหนึ่งแบรนด์ไทยจากจังหวัดกระบี่
Kilo Spirits สุรากลั่นอันดามันจากจังหวัดกระบี่
สำหรับ Kilo Spirits เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ถูกกล่าวถึง โดย Kilo Spirits เป็นแบรนด์สุรากลั่นจากจังหวัดกระบี่ ก่อตั้งในปี 2017 เป็นสุรากลั่นโรงที่ 5 ในจังหวัดกระบี่ เริ่มต้นจากสามีชาวอังกฤษและภรรยาชาวไทยที่คบหากันมานานกว่า 20 ปี แต่มาเริ่มคิดจะทำสุรากลั่นจริง ๆ ช่วงก่อนล็อกดาวน์ครั้งแรก ทำให้พวกเขาต้องเรียนคลาสออนไลน์และเดินทางไปดูงานตามโรงเหล้าที่ต่างประเทศหลังจากคลายล็อกดาวน์
สำหรับแบรนด์ Kilo Sporots มีเหล้าทั้งหมด 2 ตัว ได้แก่ จินและวอดก้า โดยมีแผนที่กำลังจะทดลองทำเหล้ารัมจากน้ำตาลเพิ่มอีก 1 ตัว เหล้าของโรงงานจะใช้น้ำอ้อยสดคั้นแล้วจากเกษตรกรในจังหวัดกระบี่ ที่ทางโรงได้รับสมัครเกษตรกรเข้ามาเป็นพนักงาน และใช้น้ำอ้อยนั้นเป็นวัตถุดิบหลักในการหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ จากนั้นนำไปกลั่นทั้งหมด 3 รอบเพื่อให้ได้แอลกอฮอล์ 95% แล้วจึงนำหัวเชื้อนี้ไปบ่มหรือเจือจางให้ได้กลิ่น ได้รสชาติ ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่ต้องการต่อไป
โดยพวกเขามีความฝันอยากเห็นเหล้าของไทย วางคู่กับสุรานำเข้าได้อย่างเต็มภาคภูมิ และสุราไทยได้ส่งออกไปให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง
เหล้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
จากที่หยิบยกมา แสดงให้เห็นว่าสุราพื้นบ้านไทยก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยม และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีในทางเศรษฐกิจได้ หากว่าได้รับการสนับสนุนและมีความเปิดกว้างในเรื่องของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสองแบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้น ในประเทศไทยก็ยังมีแบรนด์ต่าง ๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
- ISSAN RUM อีสานรัม เหล้าหนองคาย อีสานรัมแบรนด์ ที่เคยได้รางวัลเหรียญเงินจากเวทีระดับโลก IWSC (International Wine and Spirit Competition) ปี 2014
- Onson (ออนซอน) เหล้าสกลนคร เหล้าที่เจ้าของมาเปิดร้านอาหารที่สกลนคร โดยคอนเซ็ปต์ของร้านต้องมีการใช้ผลิตภัณฑ์ของสกลนครทั้งหมด
- ตำนาน สุราชุมชน ของจังหวัดตราด
- โคโยตี้ลำก้า สุราชุมชนจากเชียงใหม่
- The Spirit of ChaiyaPhum เหล้ารัมจากชัยภูมิ
- KHAN (ขาล) และ Kaeng Sua Ten (แก่งเสือเต้น) เหล้ากลั่น จังหวัดแพร่
- Gin Tara จินธารา เหล้ากลั่นจากกลุ่มวัยรุ่นแถวพุทธมณฑล
- ม้าแก้วมังกร สุราชุมชนอุตรดิตถ์ ผลิตจากสับปะรด
ซึ่งนอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็ยังมีแบรนด์สุราท้องถิ่นไทยอีกมากมาย ที่พร้อมจะก้าวไปสู่อีกระดับ ถ้าไม่ถูกผูกขาดจากผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งยังกฎหมายการโฆษณาที่เปิดช่องให้แบรนด์ใหญ่แต่ปิดปากคนตัวเล็กไม่ให้ผู้บริโภคได้รู้จักผลิตภัณฑ์
สรุป
ปัจจุบันสุราไทยกำลังถูกให้ความสนใจจากสื่อต่าง ๆ จากเอกลักษณ์เฉพาะตัว และประโยชน์ของมัน ที่นอกเหนือจากการดื่มเพื่องานรื่นเริงสังสรรค์ ก็ยังสามารถนำไปประกอบอาหารต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นยารักษาโรคจากสมุนไพรที่อยู่ในตัวเหล้าได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย และการผูกขาดการผลิตจากผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้แบรนด์สุราไทย ถูกจำกัดให้เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวบ้านด้วยกันเท่านั้น
หากว่าได้รับการยอมรับ และมีกฎหมายที่สนับสนุน ก็จะสามารถทำให้สุราไทยถูกพัฒนามากกว่าเดิม เพราะในปัจจุบัน สุราไทยเป็นเพียงภูมิปัญญาชาวบ้านเท่านั้น แต่ถ้านำความรู้ของผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจังมาช่วยพัฒนา จะสามารถทำให้สุราไทยได้รับการพัฒนาไปไกลกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นจะต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้การควบคุม เพราะถ้าหากดื่มมากเกินไปก็อาจก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หรือทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้