สุราก้าวหน้า คืออะไร แล้วใครได้ประโยชน์

สุราก้าวหน้า คืออะไร แล้วใครได้ประโยชน์

สุราก้าวหน้า คืออะไร แล้วใครได้ประโยชน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

          “เช้ากาแฟส้ม กลางวันโซดาใส่น้ำส้ม กลางคืนสุราก้าวหน้าสิครับ” คำกล่าวของว่าที่นายกคนที่ 30 คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้พูดถึงสุราก้าวหน้าซึ่งเป็นนโยบายของพรรคที่จะนำเข้ามาในอนาคต โดยวันนี้เราจะมาพูดถึง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คืออะไร มีข้อเปลี่ยนแปลงอย่างไร และผลพลอยได้มีอะไรบ้าง

          ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ‘สุรา’ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทถูกผูกขาดอยู่กับทุนรายใหญ่ทั้งตลาดรวมไปถึงสายการผลิต สุราก้าวหน้า หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จึงเป็นเงื่อนไขในการขออนุญาตผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะช่วยกระจายรายได้ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการขนาดย่อย และเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถผลิตและจำหน่ายสุราได้อย่างถูกกฎหมาย

พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า

          รูปแบบของ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอมาคือ “ปลดล็อกผลิตสุราเสรี ทลายการผูกขาดนายทุน” โดยรายละเอียดเนื้อหาเน้นไปที่การแก้ไขมาตรการ 153 ที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะ ดังนี้

  • เพิ่มคำว่า “การค้า” ลงในมาตรา 153 เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถผลิตสุราในครัวเรือนได้ จากเดิมคือ “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีฯ” เปลี่ยนเป็น “ผู้ใดจะประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีฯ”
  • ไม่กำหนดเกณฑ์ในการผลิตเหล้าเบียร์ ทั้งกำลังแรงคน และกำลังเครื่องจักร รวมถึงขั้นต่ำที่ต้องผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าถึงได้
  •  ในกรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย
             
    ร่างแก้ไขของก้าวไกลระบุว่า การกำหนดเงื่อนไข แนวทางปฏิบัติ และเกณฑ์การผลิตสุราที่ไม่เหมาะสมถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินเหตุ เป็นการกีดกันประชาชนออกจากการประกอบอาชีพ ซึ่งขัดต่อมาตรา 40 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการประกอบอาชีพ จึงควรปรับกฎหมายให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 

         เหตุผลที่พรรคก้าวไกลผลักดันกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ไม่ใช่แค่เพราะเป็นกฎหมายที่ปลดปล่อยศักยภาพของผู้ผลิตสุราไทยเพียงอย่างเดียว แต่นี่คือหนึ่งในพลังที่ผลักให้ประเทศไทยก้าวหน้าขึ้น สุราก้าวหน้าไม่ใช่แค่เรื่องของนักดื่มหรือผู้ผลิตสุรา แต่ยังสร้างผลต่อเนื่องอื่นๆ ในการสร้างประเทศไทยมากกว่านั้น

4 ผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่เรามีกฎหมายสุราก้าวหน้า

  1. สุราก้าวหน้า ช่วย ‘เพิ่มรายได้เกษตรกร’

    เบียร์-สุราหมักจากข้าว ไวน์ หมักจากพืชพรรณผลไม้ต่างๆ กฎหมายสุราก้าวหน้าจะทำให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าวเก็บไว้ในโกดังมีแต่ราคาลด แต่ถ้าเก็บในไหในขวดบ่มเป็นสุราคุณภาพดี ราคามีแต่ขึ้น” การมีกฎหมายสุราก้าวหน้าจะช่วยให้เราปลดปล่อยศักยภาพและความสร้างสรรค์ ให้นักปรุงสุราจากพื้นที่ต่างๆ สามารถคิดค้นวิธีการของตัวเองในการสร้างสรรค์สินค้าเกษตรให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง ทำให้เกษตรกรต้นน้ำลืมตาอ้าปากได้

  2. สุราก้าวหน้า ช่วย ‘กระตุ้นการท่องเที่ยว’  

    ไม่ใช่แค่รายได้จากสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น สุราก้าวหน้ายังช่วยให้แต่ละท้องถิ่นดึงเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา สุราก้าวหน้าสามารถสร้างเรื่องราวเพื่อเปิดประตูให้เราไปเรียนรู้และทำความรู้จักท้องถิ่นเหล่านี้ กระจายความน่าค้นหาของประเทศไทยไปสู่พื้นที่ต่างๆ ตัวอย่างเช่น จ.แพร่ จะไม่ใช่เพียง “เมืองรอง” ที่รอคอยนักท่องเที่ยว แต่จะกลายเป็น “เมืองหลวงสุราก้าวหน้า” จากความรุ่มรวยของสุราท้องถิ่น และเราไม่ได้เชื่อว่ามีแค่จังหวัดแพร่ แต่เรื่องราวของพืชพรรณ ภูมิปัญญา และความสร้างสรรค์ของท้องถิ่นยังมีแบบนี้อีกทั่วประเทศ สุราก้าวหน้า ประตูที่เปิดพวกเราไปค้นพบศักยภาพเหล่านี้

  3. สุราก้าวหน้า ช่วย ‘กระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย’ 

    ในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดเท่ากัน ประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ประกอบการมากกว่า 20,000 ราย ในขณะที่ไทยแบ่งผลประโยชน์กันในผู้ประกอบการเพียง 7 รายใหญ่เท่านั้น นี่คือประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงการผูกขาดทางอำนาจของกลุ่มทุนในประเทศนี้ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดไม่ให้หน่ออ่อนของเศรษฐกิจรากหญ้าได้เติบโต ถ้าเราสามารถกระจายผลประโยชน์จากมูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไปสู่รายย่อยเพียงแค่ 10% นั่นหมายถึงเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทในแต่ละปีที่จะไปเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโต

  4. สุราก้าวหน้า ช่วย ‘สร้างประเทศที่ไม่ผูกขาด’ 

    พูดให้ถึงที่สุด สุราก้าวหน้าไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของผู้ผลิตสุรากับผู้ดื่มสุรา ไม่ใช่เพียงเรื่องของศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ถูกปลดปล่อย แต่คือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพลังของประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เอาชนะกลุ่มทุนผูกขาดได้ผ่านกลไกสภาตามระบอบประชาธิปไตย

    ในปี 2021 แม้จะมีการระบาด ผับบาร์โดนสั่งปิด แต่ไทยยังทำรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 7.2 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2020 ทำรายได้ 7.3 แสนล้านบาท และปี 2019 อยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า หากอุตสาหกรรมเหล้าไทยเปิดกว้างและเสรีกว่านี้ รายได้จากสุราไทยจะเพิ่มขึ้นไหม เพราะเชื่อว่ามีนักดื่มอีกมากมายทั้งไทยและต่างชาติที่พร้อมจะเปิดประสบการณ์ลิ้มลองเหล้าเบียร์สัญชาติไทยรสชาติใหม่ๆ นอกเหนือจากที่ตลาดมีอยู่ในตอนนี้ 
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook