ทำไมคนเราถึงต้องการที่จะมีความรัก
ความรักอยู่กับเราในทุกช่วงชีวิต ความรักแรกที่เราเจอก็คือจากแม่ พ่อ ครอบครัว พอโตมาได้สักช่วงชีวิตความรักที่พบเจอคือเพื่อน และคนรัก ความรักเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ คำถามคือทำไมล่ะ
ความรักคืออะไร?
คำตอบนี้สามารถกระจายออกมาได้หลายมุมมอง เพราะในอดีตคำว่าความรักไม่ได้ถูกผูกไว้กับแค่คนสองคน แต่ผูกไว้กับปัญญา สิ่งของ รวมไปถึงพระเจ้า การที่คนมีความรัก ไม่ได้ถูกมองถึงแค่เพียงการมีคู่เท่านั้น
จริงอยู่ที่ปัจจุบันความรักก็ยังถูกมองอย่างหลากหลาย แต่อดเถียงไม่ได้ว่าจังหวะแรกที่เข้ามาในหัวเมื่อพูดถึง ‘ความรัก’ มันคือความรักของคนสองคนในเชิงคู่รัก
เราพอจะนิยามคำว่า รัก ยังไงได้บ้าง? ตามราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า ‘รัก’ ไว้ถึงการมีใจผูกพันด้วยความห่วงใย, มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา, มีใจผูกพันฉันชู้สาว, ชอบ แต่โดยเจาะจงแล้ว ความรักสามารถหมายถึงความต้องการอย่างเสน่หาและความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งเป็นความหมายของความรักแบบโรแมนติก ความรักที่มีเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในช่วงยุคกลาง คำว่า ‘รัก’ หรือ amor ในภาษาละตินที่มีรากศัพท์มาจาก amus หรือ ‘ตะขอ’ นั้นก็ถูกนำมาใช้ในรูปแบบของการเกี่ยวพันด้านความรัก จนถึงช่วงปัจจุบันที่ความรักมักถูกตราไว้ด้วยการใช้ชีวิตคู่โดยผ่านการแต่งงานหรืออยู่กินกันฉันสามีภรรยา
ความหลากหลายของการนิยามความรักทำให้เป็นเรื่องมีสีสันและน่าค้นหา ประกอบกับความรู้สึกอันซับซ้อนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการยากที่จะนิยามความรักให้แน่นอน ในทางจิตวิทยาเองก็ได้มีทฤษฎีเกี่ยวกับสามเหลี่ยมของความรักอธิบายไว้เช่นกัน
ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love)
โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเยล ได้อธิบายองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความรักไว้ 3 ประการ ดังนี้
ความสนิทสนม (Intimacy) เป็นความรู้สึกผูกพัน เกิดความเข้าใจต่อกัน โดยจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์อยู่ในระยะเวลานาน สามารถมีได้ทุกความสัมพันธ์
ความหลงใหล (Passion)เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความปรารถนา หรือความเสน่หาเป็นแรงขับภายในที่เรียกว่าแรงดึงดูดทางเพศ
ความมุ่งมั่น (Commitment) เป็นการตัดสินใจ เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ทำให้คนเรายังคงอยู่กับใครบางคนและผันแปรไปตามระยะเวลาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายด้วยกัน
จะเห็นได้ว่าปัจจัยในการก่อให้เกิดความรักมีหลากหลายด้านทั้งด้านอารมณ์ ทางกาย และเป้าหมายในอนาคต นอกจากนี้ยังมีในส่วนของสารเคมีในสมองด้วย โดยเฉพาะ โดปามีน (Dopamine) สารแห่งความสุข, ออกซิโตซิน (Oxytocin) สารแห่งความสัมพันธ์ และวาโสเปรสซิน (Vasopressin) สารที่ทำให้รู้สึกอยากใช้ชีวิตร่วมกัน
มีสำนวนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความรัก “ความรักเอาชนะทุกสิ่ง” ของเวอร์จิล “ทั้งหมดที่คุณต้องการคือความรัก” ของเดอะบีทเทิลส์ และต่าง ๆ อีกมากมายที่ล้วนชูความรักเป็นแรงผลักดันให้กับจิตใจ “ถ้าเจอทั้งทีขอคนดี ๆ แล้วกัน” เราก็ต่างคาดหวังให้เจอกับความรักที่ลงตัว หรือชีวิตคู่ที่มาพร้อมกับความสบายใจ ไม่ว่าจะทั้งหนัง ละคร หรือคนใกล้ตัว ก็ต่างบ่มเพาะให้เราคาดหวังกับความรัก มองว่าความรักที่แฮปปี้เอนดิ้งมันมีความสุขมากขนาดไหน เป็นรสชาติความสุขที่หลาย ๆ คนอยากลิ้มลอง
ทำไมเราถึงต้องการที่จะมีความรัก
เกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป ตามศาสนาพุทธการพูดถึงชีวิตคงไม่พ้นวัฏสงสารหรืออีกแง่หนึ่งความต้องการมีความรักคือความต้องการดำรงอยู่ของเผ่าพันธ์ หรืออีกแง่หนึ่งเราอยากมีความรักก็จริงแต่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความรักในแง่ของคู่ชีวิต อาจแค่ต้องการได้รับความรักจากคนที่เราต้องการแค่นั้น
“ความรักทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น” เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่มีความรักที่ดี มักจะพบเจอแต่ความสุข อะไรในชีวิตก็ดูง่ายไปซะหมด พลังแห่งความรักทำให้เราอยากทำอะไรหลาย ๆ อย่างหรือแม้กระทั่งมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตที่มากขึ้น เพราะอยากใช้เวลากับคนรัก ด้วยพลังนี้อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราอยากมีความรัก
จากความหวังที่จะพบคนที่ดี เพื่อบั้นปลายชีวิตที่สมหวังกับคู่ครอง การสมรส การมีครอบครัวที่ดี การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของสังคม จนมาเป็นวัฏจักรชีวิตที่หลาย ๆ คนต้องสัมผัส และเมื่อเราเห็นคนที่สมหวังแล้ว เกิดความรู้สึกอยากมีและออกตามหาคู่ชีวิตต่อ ๆ ไป นี่อาจเป็นวิวัฒนาการโดยธรรมชาติของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่ หรือเป็นการหาความสุขให้ตัวเองในอีกแง่หนึ่งก็ได้
แต่เมื่อมีรักก็ต้องมีทุกข์
หลาย ๆ คนมักคาดหวังกับความรักไว้สูง เพราะทุกครั้งที่เจอคนใหม่ ๆ เราก็จะมองว่าคนนี้แหละที่เราจะอยู่ด้วยไปตลอด วาดภาพอนาคตด้วยกัน แล้วก็ผิดหวังในที่สุด แต่เรื่องแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หากเราเต็มที่ไปแล้วก็ไม่มีอะไรต้องเสียดาย แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีทางเจอคนที่เราวาดฝันไว้
อย่ากลัวความผิดหวังในความสัมพันธ์ เพราะให้ถือคติโลกนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ หน้าร้อนฝนก็ตกได้ เรามีรักก็มีทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวความผิดหวังในความสัมพันธ์ เพราะไม่มีอะไรแน่นอน ภาวะอกหักหรือผิดหวังที่เกิดขึ้นในด้านของความรัก อาจเรียกอีกอย่างได้ว่า Broken Heart Syndrome ซึ่งมีผลต่อจิตใจและความรู้สึก จนทำให้หลาย ๆ คนกลัวที่จะมีความรักไปเลยก็ได้ หากเราสามารถรักอย่างถูกต้อง การรักอย่างไม่ละเลยตัวเอง และมีความสุขกับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ถูกกลืนกินและซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายใคร ๆ ก็ต้องการความรัก ทั้งในแง่ของครอบครัว คนในชีวิต รวมไปถึงความรักแบบโรแมนติกที่วาดฝันกันไว้มากมาย การตามหาความรักที่เราต้องการอาจเป็นเพราะมันเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้เรามีความสุขหรือเดินตามเป้าหมายของชีวิตที่วางไว้ได้ เหตุผลต่าง ๆ มากมายที่เกิดล้วนมีทื่มาที่ไปเสมอ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นให้ไม่เจ็บช้ำในความรักครั้งต่อไป
แท้จริงเราอาจต้องการมีความรักเพื่อหาคนมาปลอบประโลมความรู้สึก คอยอยู่ข้าง ๆ ในวันที่อ่อนล้า แต่ใครคนนั้นอาจไม่ใช่ใครคนอื่นไกล อาจเป็นตัวเราเองนี่แหละที่ให้ความรักกับเราได้ดีที่สุด ความรักที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่แบบที่เราคิด เรื่องราวความรักมันซับซ้อนเกินกว่าจะหาคำตอบที่ตายตัว และอาจจะเจอมันได้โดยที่ไม่ต้องพยายามตามหามันเลย