60 ยังแจ๋ว เฟี้ยวฟ้าวสูงวัย หัวใจฟิตเปรี๊ยะ
“สังคมผู้สูงอายุ” เป็นคำที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงนี้ แค่คำว่า “ผู้สูงอายุ” ก็ชวนให้หลายๆ คนจินตนาการถึงไม้ใกล้ฝั่งที่มีชีวิตอยู่เพื่อนับถอยหลังไปสู่ลมหายใจสุดท้าย
...แต่ก็ยังมีลุงป้าวัย (หมด) ฮอร์โมนอีกหลายคนที่เชื่อว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข”
เมื่อขวบปีของชีวิตมาไกลเกินครึ่งร้อย เธอและเขาเหล่านี้ยังคงมีไลฟ์สไตล์สนุกๆ ไม่แพ้คนหนุ่มสาว แต่จะเฟี้ยวฟ้าวขนาดไหน มาติดตามไปพร้อมๆ กัน
ป้าปิ๋ว นุ่งโจงกระเบน เล่นไตรกีฬา
ในความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป “ไตรกีฬา” อันประกอบด้วย ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง น่าจะเป็นเกมกีฬาของคนหนุ่มสาวที่มีพลัง มีทุน และมีเวลา แต่ถ้าเห็น “ป้าปิ๋ว” ความคิดนั้นจะต้องเปลี่ยนไป
เพราะป้าปิ๋วคือคนที่พิสูจน์ว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข และอะไรๆ ก็เป็นไปได้ถ้าหัวใจมันเรียกร้อง
ในวัย 65 ปี ป้าปิ๋วยังออกท่องยุทธจักรแห่งไตรกีฬาอย่างไม่รู้เบื่อ ตั้งแต่ว่ายน้ำ 1.5 กิโลเมตร ในทะเลเปิด ปั่นจักรยานอีก 40 กิโลเมตร และวิ่งอีก 10 กิโลเมตร ทุกๆ ท่วงท่าเป็นไปด้วยความกระฉับกระเฉงไม่แพ้คนหนุ่มสาว หรืออาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ
ในปัจจุบัน “ป้าปิ๋ว” หรือ “ปราณี ถีติปริวัตร” ทำงานบริการชุมชนด้านสาธารณสุข กิจวัตรประจำวันของคุณป้านักไตรกีฬาคือการปั่นจักรยานไปเยี่ยมเพื่อนบ้านเพื่อแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพ
ด้วยรูปร่างที่สมส่วนแม้จะอยู่ในวัยเลยเกษียณและท่าทางคล่องแคล่วผิดกับเพื่อนร่วมรุ่นหลายคน ป้าปิ๋วจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ภาพของป้าปิ๋วในวัย 40 ปี ไม่ต่างจากมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เพราะทำงานหนักมากจนหลายๆ ครั้งที่ตื่นขึ้นมาไม่รู้กลางวันหรือกลางคืน นาฬิกาชีวิตรวน เป็นเหตุให้โรคภูมิแพ้กำเริบ อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย และก้าวร้าว
จนกระทั่งได้รับคำเตือนจากกัลยาณมิตร ป้าปิ๋วจึงเริ่มรู้ตัวว่าถึงเวลาสร้างความสมดุลให้กับตัวเอง หากไม่อยากให้สุขภาพกายและจิตแย่กว่าที่เป็นอยู่
“ป้าปิ๋วเริ่มจากปั่นจักรยานและวิ่งค่ะ สมัยก่อนมีงานแข่งจักรยานในบ่ายวันเสาร์ และวิ่งในเช้าวันอาทิตย์ ก็เดินทางทีเดียวได้ไป 2 งานเลย แล้วตัวเราเองก็ชอบว่ายน้ำมาตั้งแต่เด็ก เลยลองแข่งไตรกีฬากับเขาบ้าง ครั้งแรกที่อ่าวมะนาว” ป้าปิ๋วเล่าย้อนอดีต
ทุกวันนี้ป้าปิ๋วเป็นที่รู้จักในหมู่นักไตรกีฬาและนักวิ่ง เพราะมักจะปรากฏตัวพร้อมกับโจงกระเบนสีสดใสบนอานจักรยานเสือหมอบด้วยท่วงท่าสง่างามและรอยยิ้มรับแสงแดดระอุบนเส้นทางสุดโหด
“ชอบผ้าถุงไทยเพราะระบายอากาศดี ปกติก็ใส่เดินทางไปไหนมาไหนอยู่แล้ว เลยหาวิธีเอามาตัดเป็นกางเกงปั่น ก็ลองมาหลายๆ แบบค่ะ จนมาลงตัวในแบบนี้ เคยมีหนังสือเล่มนึงมาสัมภาษณ์ เขาสรุปให้ว่า “proud to be Thai” ชอบมากค่ะ” ป้าปิ๋วเล่าอย่างอารมณ์ดี
ในอีกบทบาทหนึ่ง ป้าปิ๋วคือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกๆ ทั้ง 3 คน จะพูดว่าเก่งทั้งในบ้านและนอกบ้านก็ไม่เกินจริงไปแม้แต่น้อย เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ป้าปิ๋วพยายามคว้าเงินรางวัลจากการแข่งขันเพื่อมาเยียวยาปัญหาในบ้าน
“ตอนนั้นกำลังดูแลลูกชายที่ป่วยด้วยอุบัติเหตุ และมีคู่กรณีเป็นชาวไทยกะเหรี่ยงที่ต้องดูแลคู่กัน เห็นว่ามีเงินรางวัลจึงขอลูกไปลงแข่ง ป้าหวังแค่ที่ห้า จะเอาเงินรางวัลมาช่วยคู่กรณี แต่ก็ไม่ได้เครียดนะคะ สบายๆ สนุกๆ แต่ตั้งใจทำให้ดีที่สุด สรุปว่าจบการแข่งขันด้วยอันดับ 2 เพราะสมัยนั้นนักไตรกีฬาหญิงมีน้อยมากค่ะ” ป้าปิ๋วเล่า
ในฐานะนักไตรกีฬา ป้าปิ๋วอาจจะไม่มีตารางฝึกซ้อมที่เข้มข้นเหมือนคนอื่น แต่ทุกๆ วันจะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยจักรยานหรือการเดิน และมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสนามซ้อมว่ายน้ำเมื่อมีโอกาส
“ต้องมีชีวิตที่กระฉับกระเฉง เดินทางไปไหนมาไหนด้วยพลังงานของตัวเอง มันเป็นการออกกำลังกายในตัว ป้าปิ๋วพร้อมแข่งตลอดเวลาค่ะ” เจ้าตัวยืนยันความฟิตอย่างมั่นอกมั่นใจ
เมื่อพูดถึงการแข่งขัน หลายๆ คนอาจเข้าใจว่ามันคือการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นและแย่งชิงความเป็นที่หนึ่ง แต่สำหรับป้าปิ๋ว มันคือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพจากนักกีฬาต่างวัยในสนามแข่งขัน กลายมาเป็นเพื่อนที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้อย่างถูกคอ
เส้นทางสายไตรกีฬาของป้าปิ๋วยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะเจ้าตัวยืนยันว่าถ้ายังปั่นได้ เดินได้ ก็จะแข่งไปเรื่อยๆ และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“อายุเป็นเพียงตัวเลข ผู้สูงวัยชาวไทยจะยึดติดกับอายุ ลูกหลานก็ไม่ค่อยให้ไปไหน ทำให้ติดอยู่ใน comfort zone ก็เลยไม่ได้พัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง อยากให้ออกกำลังกายจนเป็นกิจวัตรค่ะ มันเป็นทดสอบและพัฒนาตัวเอง”
ลุงหล่ำ ป๊ะป๋านักปั่น
ถ้าการปั่นจักรยานคือสัญลักษณ์ของฮิปสเตอร์ คุณลุงหล่ำคงเป็นฮิปสเตอร์วัยเกษียณที่ไม่ต้องใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ก็สูดหายใจได้เต็มปอด เพราะร่างกายได้ความฟิตมาจากการปั่น
เกือบ 3 ปี บนอานจักรยาน ระยะทางรวม 38,000 กิโลเมตร มันคือการชุบชีวิตชายคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจนเกือบเป็นอัมพาตแบบถาวร
“พออายุมากขึ้นเราก็อ้วนขึ้น ตอนแรกก็คิดแค่ว่ามันดูไม่หล่อ แต่ไม่ได้คิดเรื่องสุขภาพ จนเป็นหลอดเลือดในสมองอุดตัน แขนขาขยับไม่ได้ ทั้งที่เราอยากจะเดิน แต่เหมือนสมองมันสั่งขาไม่ได้” นั่นคือคำบอกเล่าของ “ลุงหล่ำ” หรือ “วัฒนศักดิ์ ลิขิตอนุภาค” ชายวัย 61 ปี ผู้รักการปั่นเป็นชีวิตจิตใจ
“ผมไม่เคยออกกำลังกาย ทั้งที่รู้ว่ามันควรทำ พอเห็นโลงศพถึงหลั่งน้ำตา ตอนนี้เป็นอาก๋ง อยากจะเห็นหลานๆ เติบโตสักนิดก็ยังดี อยากพาพวกเขาไปเที่ยว คือผมยังอยากมีชีวิตอยู่ ทั้งที่จากสภาพในตอนนั้นควรจะนับถอยหลังมากกว่า”
ใครๆ ก็รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่กว่าที่จะพาตัวเองมาอยู่ในจุดที่ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ อาจต้องรอให้ถึงจุดที่เกือบจะสายเกินไป
“จริงๆ ตอนนั้นเริ่มทำพินัยกรรมแล้ว เริ่มเคลียร์หนี้ เคลียร์ทรัพย์สิน เลยจำได้ว่าเรามีจักรยานพับอยู่ 1 คัน ก็ลองเอามาปั่นเล่นๆ เป็นการออกกำลังกายครั้งแรกในชีวิต ปั่นเรื่อยๆ ไป 30 กิโลเมตร ปรากฏว่ากลับมาถึงบ้านหลับสนิทมาก ตั้งแต่นั้นก็ติดใจ เพราะมันหายใจได้เต็มปอด สดชื่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดีกว่าตอนที่เลิกบุหรี่อีก” คุณลุงนักปั่นเล่า
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เช้าวันใหม่ของลุงหล่ำจะเริ่มต้นด้วยการปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร และจะโกรธมากถ้ามีเหตุให้หยุดปั่น ผ่านการล้มมาแล้วหลายครั้งจนเลิกกลัวที่จะล้ม อาการเจ็บป่วยค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เหนือกว่าคนวัยเดียวกัน
“เคยปั่นจักรยานจากรังสิตไปนครนายก กินข้าวเที่ยงแล้วก็กลับ สบายๆ แรงยังเหลือด้วยนะ”
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 3 ปี ด้วยจักรยานหนึ่งคัน และความพยายามในการเอาชนะตัวเอง ไม่ใช่แค่ร่างกายที่แข็งแรงขึ้น แต่ความภาคภูมิใจในตัวเองที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนก็ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกัน
ลุงหล่ำเล่าว่าโรคภัยไข้เจ็บจะทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม เพราะมันจะมาพร้อมกับความฟุ้งซ่าน ต้องนอนทั้งวัน กลางคืนก็จะไม่หลับ ความคิดไหลไปเรื่อยเปื่อย และส่วนมากก็มักจะเป็นการคิดในทางลบ ซึ่งมันจะทำให้ชีวิตผิดเพี้ยนยิ่งกว่าเดิม
“ถ้าไม่ฟื้นตัว เป็นอัมพาตไปตลอดชีวิตก็คงรับไม่ได้ เพราะรู้แล้วว่าการเป็นภาระคนอื่นมันลำบาก ตอนเราป่วยทุกคนก็เดือดร้อน ซึ่งผมจะไม่เหลือความภูมิใจในตัวเองเลย ถ้าไม่พลิกชีวิตมาเป็นแบบนี้ พอได้ออกกำลังกายแล้วร่างกายเราดี เราก็อยากจะออกไปเที่ยว ออกไปใช้ชีวิต ตอนนี้ไม่กลัวตายแล้ว กลัวอย่างเดียวคือมีเงินไม่พอ” ลุงหล่ำเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
เป้าหมายในวันนี้ของคุณลุงนักปั่นไม่ใช่แค่การปั่นเพื่อสุขภาพ แต่ยังมองไกลไปถึงรายการแข่งขันสุดโหดอย่าง “Audax 200” ที่ต้องปั่นเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตร
“ถ้าคนอื่นทำได้ ผมก็ต้องทำได้ อายุไม่ใช่ปัญหาหรอก ผมจะไม่เป็นคนแก่ที่นั่งนับถอยหลังอายุตัวเองไปวันๆ ทุกวันนี้ผมส่องกระจกแล้วภูมิใจที่ได้เห็นตัวเอง ความรู้สึกแบบนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมมองเห็นแต่โอกาสในการใช้ชีวิต มันทำให้ครอบครัวมีความสุขไปด้วยนะ”
“ปั่นจักรยาน” ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรมบังคับของการเป็นฮิปสเตอร์ แต่มันเปลี่ยนชีวิตได้ เรื่องของลุงหล่ำคือข้อพิสูจน์
ป้าเนเน่ สูงวัยสายแฟนซี
จะมีสักกี่คนที่เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนด้วยชุดแฟนซี มันไม่ง่ายที่จะใส่ชุดพะรุงพะรังไปตลอดทาง แต่มันคือความสุขของ “ป้าเนเน่” ที่สามารถเรียกรอยยิ้มจากเพื่อนร่วมทางได้
“ป้าเนเน่” หรือ “นัยเนตร แสงศักดิ์ศรี” เริ่มก้าวเข้าสู่วงการวิ่งตั้งแต่ 10 ปีก่อน เพราะสามีที่น่ารักป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงชักชวนกันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งในสวนใกล้ๆ บ้านอย่างสม่ำเสมอ
“ตอนที่คุณหมอนัดไปตรวจอีกครั้ง น้ำตาลจาก 300 ลดลงเหลือ 200 และผลตรวจครั้งสุดท้ายก็ปรากฏว่าน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ สามีของป้าไม่ต้องทานยา ไม่ต้องหาหมออีกแล้วค่ะ เป็นเรื่องมหัศจรรย์จริงๆ ขอโม้หน่อยนะคะ แล้วเราก็วิ่งกันมาเรื่อยๆ เพราะกีฬาเป็นยาวิเศษจริงๆ ค่ะ”
ทั้งคู่เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ตั้งแต่ออกกำลังกายก็ไม่เคยต้องไปหาหมออีกเลย ทั้งที่อายุเกือบ 60 ปีแล้ว ในขณะที่คนวัยเดียวกันเริ่มมีโรคประจำตัว เข้า – ออกโรงพยาบาลจนคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ แต่ป้าเนเน่กลับมีเพื่อนใหม่ๆ ในสนามวิ่ง เป็นมิตรภาพต่างวัยที่งอกงามขึ้นจากการดูแลสุขภาพ
ด้วยความเร็ว 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ป้าเนเน่ไม่ใช่คนที่วิ่งเร็วที่สุดในสนาม แต่กลับเป็นคนที่สร้างสีสันได้มากที่สุดคนหนึ่ง งานไหนไม่มีป้าเนเน่ งานนั้นอาจจะเงียบเหงา เพราะป้าเนเน่มักจะมากับชุดแฟนซีที่โดดเด่นสะดุดตา ถ้าจะมีการมอบรางวัลขวัญใจช่างภาพในงานวิ่ง ป้าเนเน่คงเป็นคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง
“เมื่อก่อนก็ใส่เสื้อชมรมวิ่งธรรมดาๆ จนได้ไปเห็นนักวิ่งแฟนซีครั้งแรกก็ชอบ สงสัยเหมือนกันว่าเขาจะวิ่งได้ยังไง แต่ก็อยากแต่งบ้าง ครั้งแรกก็อายๆ ไม่กล้าเดิน แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นความสนุก”
จนถึงตอนนี้ เจ้าตัวสารภาพว่าติดใจการแต่งชุดแฟนซีออกไปวิ่งเพราะใจรัก “กู่ไม่กลับแล้วค่ะ เห็นคนอื่นยิ้มเราก็มีความสุข บางคนวิ่งมาบอกว่าเห็นชุดป้าเนเน่แล้วหายเหนื่อยเลย ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจค่ะ” ปฏิเสธไม่ได้ว่าป้าเนเน่เป็นคนหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศของงานวิ่งเต็มไปด้วยความน่ารักและอบอุ่น
ป้าเนเน่เล่าว่า แรงบันดาลใจในการออกแบบชุดแฟนซีจะมาจากคอนเซปต์งานของผู้จัด แต่ละงานจึงใช้ชุดไม่ซ้ำกัน ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับแต่ละชุดก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใส่อุปกรณ์แฟนซีลงไปมากน้อยแค่ไหน
“ลูกๆ ก็ถามตลกๆ ว่า เมื่อไรแม่จะเลิกแต่งแฟนซี มันเต็มบ้านแล้วนะ ตอนนี้ก็เลยเริ่มเอาชุดเก่าที่มีอยู่มาดัดแปลง แล้วก็เพิ่มสัญลักษณ์ของงานนั้นเข้าไปค่ะ ไปวิ่งที่ราชบุรีก็ทำรูปโอ่งติดไว้ที่หมวก งานที่แม่กลองก็ติดรูปเข่งปลาทู งานที่ภูเขาทองก็มีภูเขาทองบนหัว วิ่งผ่านป้อมตำรวจก็โดนแซวว่าวิ่งช้าเพราะแบกภูเขาทองมาใช่รึเปล่า สนุกดีค่ะ”
ถึงจะผ่านการวิ่งมาราธอน 42.195 กิโลเมตร มาแล้ว 10 ครั้ง ป้าเนเน่ก็มักจะเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายเกือบทุกครั้ง
“ป้าเป็นนักวิ่งที่วิ่งช้าค่ะ เลยไม่ค่อยสนใจเรื่องเวลา เพราะจะวิ่งทักทายเพื่อนๆ ไปตลอดทาง ยิ่งงานไหนมีกองเชียร์เยอะก็จะแวะเต้นกับกองเชียร์ เวลาที่วิ่งกับเวลาที่เต้นน่าจะพอๆ กัน”
เส้นชัยของคนที่วิ่งเร็วที่สุดกับคนที่วิ่งช้าที่สุดคือที่เดียวกัน ถึงแม้คนหนึ่งใช้เวลามากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่จะชื่นชมเมื่อก้าวผ่านเส้นชัย จึงไม่แปลกที่จะมีคนจำนวนมากรอต้อนรับป้าเนเน่ที่เส้นชัย ถึงแม้ว่านักวิ่งคนอื่นๆ จะกลับไปหมดแล้ว
“มาราธอนที่จอมบึง ราชบุรี ป้าเนเน่แอบซาบซึ้งที่น้องๆ มารอต้อนรับจนน้ำตาไหลเลยค่ะ ปลื้มใจมากจนต้องเก็บรูปนี้ไว้เป็นที่ระลึก ตอนนี้เวลาเจอน้องๆ หลานๆ ก็จะถามป้าเน่ว่าจะลงมาราธอนอีกมั้ย ไม่เอาแล้วค่ะ เกรงใจคนรอ วิ่งตั้ง 8 ชั่วโมงกว่า” ป้าเนเน่หัวเราะ
เพราะในสนามแข่งขันไม่ได้มีแค่ความเร็ว การไปถึงจุดหมายก่อนใครก็อาจไม่สำคัญเท่ากับการได้แบ่งปันรอยยิ้มกับคนอื่นๆ ระหว่างทาง
อายุเป็นเพียงตัวเลขเสมอ ตราบใดที่เรายังเชื่อว่าสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้
ขอขอบคุณรูปภาพจาก Refill Marathon, Shutter Running และ Indyrun