"คลีน"เพื่ออะไร? "ฟิต"ไปไหน? ตรงนี้มีคำแถลงไข อ่านแล้วถามใจดู?!

"คลีน"เพื่ออะไร? "ฟิต"ไปไหน? ตรงนี้มีคำแถลงไข อ่านแล้วถามใจดู?!

"คลีน"เพื่ออะไร? "ฟิต"ไปไหน? ตรงนี้มีคำแถลงไข อ่านแล้วถามใจดู?!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย: กวิสรา ผันนภานุกุล

เจาะเทรนด์สุขภาพ
“ฟิตแอนด์เฟิร์ม-อาหารคลีน” มีอะไรอยู่เบื้องหลัง?

ในระยะหลังมานี้เราคงจะสังเกตเห็นกันได้ว่าคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น เกิดเทรนด์ออกกำลังกาย เพื่อความ “ฟิตแอนเฟิร์ม” และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์อย่าง “อาหารคลีน” โดยที่นับวันเทรนด์สุขภาพก็มาแรงและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

และจากประเด็นที่เรียกได้ว่ากำลังเป็นกระแสสังคม วันนี้เราจะชวนมาลองศึกษาความเป็นมาของมัน และตั้งคำถามไปพร้อมๆ กันว่าจริงๆ แล้ว มีอะไรอยู่เบื้องหลังเทรนด์ฮอตฮิตนี้กันแน่?

สุขภาพดี มีความหมายและความเป็นมาอย่างไร?

ปัจจุบัน องการอนามัยโลกได้ให้ความหมายของคำว่าสุขภาพว่า “สุขภาพ คือ ภาวะแห่งความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยดี ไม่ใช่เพียงแต่ความปราศจากโรค หรือทุพพลภาพเท่านั้น”

เริ่มตั้งแต่ในศตวรรษที่18 ที่แนวความคิดเรื่องสุขภาพมีความสำคัญต่อการขยายตัวของการบริโภค ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ทรัพยากรมนุษย์” และ “ประชากร” ทำให้รัฐต้องหันมาสนใจประเด็นนี้มากขึ้น พร้อมกับการเกิดขึ้นของ “การแพทย์สมัยใหม่” ที่ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นหน้าที่ของแพทย์ในโรงพยาบาล ดังนั้น การที่คนเราจะมีสุขภาพที่ดีได้ต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งการบริโภคเพื่อสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ดี ทั้งในแง่การดำรงชีวิตและกลายเป็นอัตลักษณ์ทางชนชั้น ที่ทำให้ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่าแตกต่างไปจากชนชั้นล่าง

ในปลายศตวรรษที่ 19 ความหมายของการกินอาหารก็ได้เปลี่ยนไปอีก ว่า “การกินอาหารที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีมากกว่าที่จะเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อย” ดังนั้นจึงมีกฎหมายควบคุมอาหารเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ อย่างเช่น กฎหมายควบคุมอาหารและยา เพราะรัฐมองว่าอาหารเป็นตัวสร้างปัญหาสุขภาพและก่อให้เกิดโรคระบาดได้ และหากประชาชนมีสุขภาพไม่ดีย่อมส่งผลต่อ ”การพัฒนา” ของประเทศนั้นๆ

ร่างกายใต้บงการ

ทุกวันนี้การที่คุณจะมี “เฮลตี้ไลฟ์สไตล์” ได้นั้น หมายถึงการมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่อง การกินอาหารที่มีประโยชน์ ได้รับสารอาหารครบถ้วน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เช่น การที่คุณจะต้องกินอาหารมื้อเล็กๆ วันละ 5 มื้อ แทนการกินใหญ่ๆ 3 มื้อ คุณจะต้องหาเวลาเข้าฟิตเนสให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4-5 วัน และหากคุณออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งเพื่อสร้างกล้ามเนื้อร่วมด้วย นั่นหมายความคุณจะต้องมีวินัยมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า

ในเรื่องอาหารคุณจะต้องนับแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน บางคนอาจต้องคำนวนปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยละเอียดหากต้องการเห็นผลชัดเจน ต้องวัดมวลกล้ามเนื้อและไขมันเพื่อวางแผนการกินและออกกำลังกาย เช่นเดียวกับการออกกำลังกายที่มักมีการคิดคำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญไปในแต่ละกิจกรรม เช่น การวิ่งเป็นเวลา 1ชั่วโมงนั้น จะทำให้คุณเผาผลาญไปประมาณ 500 แคลอรี่ เป็นต้น

หากคุณอยาก “สุขภาพดี” ก็อาจจะแปลว่าคุณต้องยอมรับ “ระเบียบวินัย” เหล่านี้ไปปฏิบัติ และทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจหมายถึงการเปลี่ยนชีวิตของคุณไปโดยสิ้นเชิง

มิเชลล์ ฟูโกต์ นักคิดสายสังคมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า “ระเบียบวินัย ได้ใช้เทคนิค 4 ประการ ได้แก่ การสร้างตาราง การกำหนดกระบวนการปฏิบัติการ การบังคับให้ฝึกฝน และการจัดวางกลวิธีต่างๆ โดยอาศัยร่างกายที่ถูกจัดวาง กิจกรรมที่ถูกกำหนด และการฝึกอบรมที่ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ ซึ่งถือได้ว่ากลวิธีเป็นรูปแบบที่พัฒนาสูงสุดของปฏิบัติการแห่งระเบียบวินัย”

และการมี “เฮลตี้ไลฟ์สไตล์” ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี่ ต้องการระเบียบวินัยในระดับสูงมาก ซึ่งอาจมามาสู่ประเด็นขบคิดต่อไปว่า การดำรงชีวิตประจำวันทั่วไปที่เราคิดว่าทำให้สุขภาพดีนั้น เราอยู่ใต้การบงการของอะไรอีก?

นอกจากมี “เวลา” ยังต้องมี “เงิน”

หากคุณต้องการมีสุขภาพดี มีค่าอะไรที่ต้องจ่ายบ้าง? ค่าแรกเข้า ค่าสมาชิกรายเดือนฟิตเนส ค่าเทรนเนอร์ส่วนตัว ค่าชุด รองเท้า และอุปกรณ์ออกกำลังกาย ค่าอาหารคลีนที่มักจะแพงกว่าปกติ หรือบางคนก็ต้องการอาหารเสริมอย่าง เวย์โปรตีน หรือ ยาช่วยเบิร์นไขมัน ซึ่งรวมราคาแล้วคงไม่ใช่ถูกๆ เลย

ในยุคสมัยใหม่ ร่างกายของมนุษย์เองก็ถูกมองเป็น "สินค้า" ชนิดหนึ่ง มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงที่สุดตามกลไลตลาดได้ สอดรับกับความจริงในช่วงหลายปีหลังมานี้ ที่มีการขยายตัวของธุรกิจด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ฟิตเนส เสื้อผ้าออกกำลังกาย อาหารคลีน และอาหารเสริม รวมทั้งคนในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อการมี ”สุขภาพดี”

หากคุณเป็นคนที่รักษาสุขภาพ คุณจะต้องประกอบอาหารด้วยน้ำมันมะกอก แทนน้ำมันถั่วเหลือง รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว ใช้น้ำผึ่งแทนน้ำตาลทราย ต้องรับประทานโปรตีนจากอกไก่ หรือเนื้อไม่ติดมัน กรีกโยเกิร์ตแทนโยเกิร์ตชนิดธรรมดา ส่วนอาหารว่างควรเป็นอัลมอลต์แทนขนม

เราจะเห็นว่า การแทนที่ด้วยอาหารที่ได้ชื่อว่า “สุขภาพ” เหล่านี้ ทำให้เราต้องจ่ายมากขึ้นทั้งนั้น

ในอดีตอาจมีคำกล่าวว่า เงินไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีได้ แต่ ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าธุรกิจสุขภาพต่างสร้าง “ตัวช่วย” ในการสร้างสุขภาพที่ดีออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เราอาจหรือสรุปอย่างหยาบได้หรือไม่ว่า หากคุณมีเงิน คุณก็สามารถซื้อตัวสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน?

แน่นอนว่า การลงทุนในเรื่องสุขภาพถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่หากเราลองมาคิดดูว่า เงินจำนวนมากที่สูญเสียให้กับธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลังมานี้ เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? และเรามีข้อมูลก่อนจะเลือกบริโภคมากพอแล้วหรือยัง?

ว่าแต่ … มันเฮลตี้จริงหรือ?

หากลองสังเกตดูสินค้าทุกวันนี้ เราจะเห็นว่ามีสินค้าจำนวนหนึ่งซึ่งจะมีกลยุทธ์ทางการขายโดยการแปะป้ายโฆษณาว่า “เพื่อสุขภาพ” “คลีน” “ไขมันต่ำ” หรือ “ออร์แกนิค”

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ศึกษาเรื่องโภชนาการอย่างจริงจังแล้ว คุณก็จะรู้ว่า สินค้าบางชนิดในตลาดที่โฆษณาเช่นนั้นอาจกลายเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพแม้แต่นิดเลยก็ได้ เช่น นมไขมันต่ำกลับมีปริมาณน้ำตาลมากกว่านมปกติ และเราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าการนำไขมันออกจากอาหารชนิดนั้นๆ ผ่านกระบวนการทางเคมีอะไรมาบ้าง?

หรือคุณอาจเคยได้ยินคำว่า “กลูเตนฟรี” (gluten free) ซึ่งอาจเป็นเทรนด์ที่คนจำนวนมากเข้าใจว่าจะดีต่อสุขภาพกว่า

แต่แท้ที่จริงแล้ว กลูเตนก็คือโปรตีนชนิดหนึ่ง และการผลิตอาหารที่เรียกว่ากลูเตนฟรีนั้น เริ่มมาจากการที่ร่างกายบางคนไม่สามารถย่อยโปรตีนที่อยู่ในแป้งชนิดนี้ได้ แต่เมื่อกลายมาเป็นเทรนด์แล้วยิ่งทำให้ราคาของมันสูงกว่าอาหารปกติหลายเท่าตัว และหากคนเราไม่รับประทานกลูเตนไปนานๆ กลับกลายเป็นว่าร่างกายก็จะเริ่มไม่รู้จักและไม่สามารถย่อยสารอาหารชนิดนี้ได้ โดยแท้ที่จริงแล้วกลูเตนไม่มีอันตรายต่อผู้ที่ไม่แพ้แม้แต่น้อย

และเมื่อสังเกตดูดีๆ เราอาจพบอาหารที่เพียงแต่แปะป้ายว่า “เฮลตี้” แต่ที่จริงแล้ว "ไม่เลย" อีกเป็นจำนวนมาก

ในแง่ของการออกกำลังกาย เราอาจพบเห็นข้อความให้กำลังใจ ให้คุณผลักดันตนเองไปเรื่อยๆ สู่เป้าหมาย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผู้เริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้จักร่างกายของตนเองดี เกิดอาการบาดเจ็บได้ บางคนก็เข้าใจว่าการออกกำลังกายเยอะๆ แต่กินน้อยๆนั้นจะทำให้ผอมเร็ว แต่กลับกลายเป็นว่าการทำเช่นนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมมากกว่าเสียอีก หรือคนที่หักโหมออกกำลังกาย จนเกิดการอาการ “โอเวอร์เทรน” ก็ทำให้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

ซ้ำร้าย ยังมีอีกโรคหนึ่งซึ่งส่วนมากจะเกิดกับผู้หญิงนั่นก็คือ “อะนอเร็กเซีย” คือ "โรคคลั่งความผอม" ที่ไม่ว่าคุณจะผอมเท่าไรก็มักจะมองว่าตนเองอ้วนอยู่ตลอดเวลา เป็นอาการของคนที่หมกมุ่นกับร่างกายของตนมากเกินไปนั่นเอง ซึ่งรูปร่างและอาการของคนที่เป็นโรคนี้ไม่ใกล้เคียงความ “เฮลตี้” เลยแม้น้อย

ไม่ใช่การลดน้ำหนัก แต่คือ “ไลฟ์สไตล์”

และเมื่อมาถึงตรงนี้เราคงจะพอจบทางได้คร่าวๆ ว่า การลงทุนทางสุขภาพนั้นต้องการทั้งระเบียบวินัย เงิน และเวลา ดังนั้น ใครบ้างที่นิยมมี “เฮลตี้ไลฟ์สไตล์” กันล่ะ

ในความเป็นสมัยใหม่นั้น มีการผูกโยงความหมายเกี่ยวกับร่างกายของเราให้เขากับ อัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจเห็นสื่อต่างๆนำเสนอรูปภาพของนางแบบนายแบบที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีไขมันส่วนเกิน มีซิคแพค มีส่วนโค้งเว้า ซึ่งลักษณะที่ดีเหล่านั้นก็ถูกเชื่อมโยงไปยังความสวยงาม ความอ่อนเยาว์ ฐานะทางสังคม และความมีเสน่ห์น่าดึงดูด ซึ่งนั่นนับเป็นการใช้ร่างกายในการแสดงออกถึงตัวตนของปัจเจกคนนั้นๆ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับ “ตัวตน” และ “ไลฟ์สไตล์” มาก นอกจากนั้นยังต้องเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายในการลงทุนทางสุขภาพที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ก็คือ “ชนชั้นกลาง” ขึ้นไปนั่นเอง

นักคิดอย่าง ฌอง โบริยาร์ด ได้เสนอว่า การบริโภคในปัจจุบันนั้น คือ “การบริโภคเชิงสัญญะ” ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการสร้างคุณค่าและการให้ความหมายมากกว่า ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการอธิบายด้วยทฤษฎีอรรถประโยชน์ หรือ ทฤษฎีความพึงพอใจ ในทางเศรษฐศาสตร์อีกต่อไป

เรื่องนี้สามาถอธิบายได้ชัดเจนมากขึ้นจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารการรับประทานอาหารของผู้ที่มีสิทธิเลือกไม่ได้เพียงเพราะกินเพื่ออิ่มแต่คือการแสดงออกทางสถานะในสังคม หรือเพื่อ “สุขภาพที่ดี” เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกาย ที่เรามักจะเห็นวัฒนธรรมบางอย่างในฟิตเนส ที่กลายเป็นเหมือนแหล่งรวมตัวและจุดนัดพบแห่งใหม่ของผู้รักษาสุขภาพไปแล้ว

แน่นอนว่าการรักษาสุขภาพเป็นเรื่องที่ดีแต่สุขภาพร่างกายของเราภายใต้เทรนด์“ฟิตแอนด์เฟิร์ม-อาหารคลีน”นั้นกลับไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวข้องคุณค่าทางตรงอย่างการ"กินเพื่ออยู่"หรือ"ออกกำลังกายเพื่อแข็งแรง"เท่านั้นแต่ยังสามารถ"อธิบาย"สังคมปัจจุบัน ภายใต้เทรนด์ดังกล่าว และขณะเดียวกัน ตัวสังคมเองก็ยังเป็นตัวกำหนด "คุณค่า" และความรับรู้ของคน ผ่านคำว่า “สุขภาพ” ด่วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่สนใจ “เฮลตี้ไลฟ์สไตล์” ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอันซับซ้อนของโลกสมัยใหม่หรือไม่ การมีข้อมูลที่ถูกต้องและ "รู้เท่าทันกระแส" ที่เกิดในสังคมก็ย่อมมีประโยชน์กว่าเสมอ

และบางทีคุณอาจจะต้องหันกลับมาถามตัวเองดูว่า
คุณออกกำลังกายเพราะอยากมีสุขภาพดีจริงหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook