นี่(อาจจะ)เป็นโฉมหน้าของ นักพากย์หนังกลางแปลงรุ่นสุดท้าย ให้เสียงภาษาไทยโดย ‘ครอบครัวศิริเวช’

นี่(อาจจะ)เป็นโฉมหน้าของ นักพากย์หนังกลางแปลงรุ่นสุดท้าย ให้เสียงภาษาไทยโดย ‘ครอบครัวศิริเวช’

นี่(อาจจะ)เป็นโฉมหน้าของ นักพากย์หนังกลางแปลงรุ่นสุดท้าย ให้เสียงภาษาไทยโดย ‘ครอบครัวศิริเวช’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักเขียน : จันจิรา ยีมัสซา

“อย่าลืมนะครับ คำคืนนี้พบกันที่… พบกับภาพยนตร์สามเรื่องควบ…”

นักพากย์สำหรับวงการภาพยนตร์ไทยมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไม่แพ้นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ ในยุคหนึ่งชื่อของนักพากย์เคยได้รับการนำเสนอขึ้นบนจอขนาดใหญ่เคียงข้างไปกับชื่อหนัง นี่เป็นเสี้ยวหนึ่งของอิทธิพลที่นักพากย์สดประกอบหนังเร่ หนังขายยา หรือหนังล้อมผ้า เคยยิ่งใหญ่และอยู่ในใจผู้ชมรุ่นปู่ย่าจนมาสุดที่รุ่นพ่อแม่ของเรา 

มนต์ที่เคยขลังถูกเทคโนโลยีลดทอนลงจนทำให้นักพากย์สดในอดีตเป็นเพียงกิจกรรมเสริมสร้างสีสันให้กับการฉายหนังกลางแปลงเท่านั้น ความหวังที่จะหาคนสืบสานต่อไปหลังจากรุ่นของ โรจน์-ปัทมมนตรี ศิริเวช แห่ง Master Studio ลูกชายคนที่สองของคุณพ่อซ้ง-ประสงค์ ศิริเวช นักพากย์ฉายา เด็กชายซ้ง ประจำหน่วยฉายบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการคนนี้ ดูจะเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด นอกจากไม่สามารถยึดเป็นอาชีพประจำ ยังต้องอุทิศเวลาและลงเงินลงแรงกันเองด้วยใจรัก  

จุดนัดพบ ‘มะขามสแควร์’ แห่ง ‘ศาลาเฉลิมกรุง’


แต่เดิมหลังศาลาเฉลิมกรุงเป็นแหล่งรวบรวมนักพากย์กลางแปลง สำหรับเจ้าภาพที่ไปรับฟิล์มมาเพื่อนำไปฉายคนไหนยังไม่มีนักพากย์ประจำจอก็ต้องมาเลือกกันที่นี่ เป็นศูนย์รวมนักพากย์ที่นั่งรอกันอยู่ที่ต้นมะขาม จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘มะขามสแควร์’ 

ในอดีต ตลาดบำเพ็ญบุญเป็นย่านที่คึกคักมาก คนจากทั่วทุกสารทิศก็ต้องมาจอดรับฟิล์มหนังกันที่นั่น แต่ปัจจุบันทุกอย่างหายไปแทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว หลังจากที่มีสื่อใหม่เข้ามา เช่น วิดีโอ ซีดี จนมาถึงยุคดิจิทัล


จากงานเสริมกลายเป็นงานที่ทำต่อในวัยเกษียณ

จากข้าราชการประจำในกรมอู่ทหารเรือที่ต้องการหารายได้เพิ่มเพื่อจุนเจือครอบครัว คุณพ่อซ้งจึงเลือกงานเสริมรับหน้าที่คุมกระเป๋าฟิล์มหนังสำหรับฉายสำหรับ จอศิริมงคล ควบคู่กันไปในตอนกลางคืน จนถึงเวลาแจ้งเกิดเมื่อนักพากย์ประจำไม่มาโชว์ตัว The show จึงต้อง must go on เขาจึงได้จับไมค์พากย์ครั้งแรกราวๆ ปี 2519 แล้วก็ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไปเฉยๆ สามารถแสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจ ทำได้ดีจนนักพากย์เดิมกระเด็นหลุดเก้าอี้ 

“ในตอนนั้นย่านบางบ่อถ้าเอ่ยชื่อ เด็กชายซ้ง รู้จักกันหมด ในบริเวณบางบ่อมี 4 จอ จอที่ผมพากย์พัฒนาช้ากว่าเพื่อนแต่เป็นจอที่งานชุกที่สุดเพราะคนติดใจนักพากย์”

ภาพยนตร์เรื่องดังในสมัยนั้นที่พากย์เมื่อไหร่ก็เอาชนะจอคู่แข่งได้ทุกครั้งที่คุณพ่อซ้งถือไมค์คือเรื่อง Commando (1985) นำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ชื่อของ เด็กชายซ้ง เป็นที่รู้จักในวงการ จึงทำให้ต้องตระเวนพากย์มากกว่าร้อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกชนกับหนังใหม่ได้สบาย

เด็กติดตามขึ้นมาพากย์คู่กับครูคนแรกในหัวใจ


โรจน์ ปัทมมนตรี ที่ปัจจุบันบริหารดูแล Master Studio เติบโตขึ้นมาเห็นพ่อของเขาเดินสายพากย์หนังสร้างความสุขและเรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมเกือบทุกคืน เป็นครูคนแรกที่เปิดโลกให้เขารู้จักกับอาชีพนักพากย์ แต่ด้วยความที่ยุคสมัยของหนังกลางแปลงกำลังมาถึงช่วงท้ายจึงทำให้ต้องพับความฝันและเดินหน้าค้นหาที่ทางของตัวเองที่ยังไม่พ้นเรื่องราวของภาพยนตร์ 

แต่ก็ไม่วายแอบลับคมฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอเพื่อรอวันที่จังหวะฉายแสงความสามารถมาถึง รวมถึงไม่หยุดไขว้คว้าโอกาสใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วยการส่งประกวดโครงการเกี่ยวกับการพากย์เสียงซีรีส์ทางโทรทัศน์ ควบคู่ไปกับการทำเดโมเพื่อส่งไปให้ทีมอันดับหนึ่งของวงการในขณะนั้นซึ่งก็คือ ‘ทีมพากย์พันธมิตร’ 


“ระหว่างที่รอผลการประกวดเลยทำส่งเดโมไปให้ที่พันธมิตร อาโต๊ะ-ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ ตอนนั้นผลิตดีวีดีอยู่ด้วยพอดีจึงหาเบอร์ติดต่อจากกล่องเพื่อส่งเดโม แต่กว่าจะคล่องและพอใจกับเสียงที่พากย์ก็ใช้เวลารวมๆ สามเดือนถึงจะส่งเดโมแรกไปให้ฟัง โดยเลือกหนังเฉินหลงมาพากย์เสียงให้เองทุกคาแรกเตอร์ พากย์ยาวรวดเทคเดียว 15 นาที”

แม้สุดท้ายฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมาจะยังไม่ยังไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่จะเป็นนักพากย์ของพันธมิตร แต่ก็ได้รับข้อปรับปรุงให้นำไปพัฒนาต่อในการวางเสียงตัวละครให้เหมาะกับบุคลิก เขาไม่ยอมแพ้ รับมาแก้ไขและขอส่งเดโมใหม่อีก ด้วยความพยายามหลังจากนั้นอีกสามเดือนก็เดินทางมาถึงประตูด่านแรกของการเป็นนักพากย์ภายใต้ชื่อ พันธมิตร ในฐานะเด็กฝีก 

“ในวันนั้นแอร์เย็นเฉียบ ผมเจออาติ่ง อาเกรียง อาโต๊ะ พันธมิตร เสียงแต่ละคนหนักแน่นเหมือนเปิดลำโพง ผมที่ยังเป็นมือใหม่เสียงยังบางกว่ารุ่นใหญ่ ได้ลองพากย์หนึ่งประโยคซึ่งเป็นประโยคตัดสิน อาๆ เขาฟังแค่ประโยคเดียวก็รู้ว่ายังไม่ได้ แต่ก็พากย์จนจบเรื่องถึงเดินมาบอกให้เข้ามาฝึก ผมจึงเริ่มตั้งต้นใหม่กินเวลาเกือบๆ สองปีที่เป็นเด็กฝึกของพันธมิตร”

ถ้าในภาพยนตร์จีนมีวัดเส้าหลินที่เป็นด่านหินพิสูจน์ความแข็งแกร่ง ทีมพันธมิตรในขณะนั้นก็เป็นโรงเรียนนักพากย์อันดับต้นๆ ของประเทศที่โหดและกดดันไม่แพ้กัน ถึงแม้ โรจน์ ปัทมมนตรี จะเลือกสู้เพื่อสิ่งที่ฝันทุ่มเทเวลาหลังจากงานประจำฝึกฝน ตื่นเช้าเข้าสตูดิโอ ว่ายน้ำเพื่อขยายให้ปอดเปล่งเสียงได้ดีขึ้น จนกลายเป็นเด็กฝึกที่ อาโต๊ะ พันธมิตร ต้นแบบที่เขานับถือเปิดใจยอมรับและพาติดตามไปด้วยเวลาพากย์หนังที่ไหนๆ แต่เขาก็ยังไม่สามารถขึ้นมายืนรับบทพากย์หลักได้สมความตั้งใจ

ก้าวแรกสู่งานพากย์ในเส้นทางของตัวเอง

จุดเปลี่ยนในเส้นทางเด็กฝึกทีมพันธมิตรของ โรจน์ ปัทมมนตรี มาถึงเมื่อพบว่าตัวเองเป็นภูมิแพ้ ทำให้เวลาอยู่ในห้องติดเครื่องปรับอากาศเสียงจะขึ้นจมูก จนโอกาสแสดงความสามารถมาถึงอีกครั้งจากการได้รับบทพากย์สามบรรทัด แต่เขาก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองให้กับทีมพันธมิตรและอาโต๊ะ ที่เป็นไอดอลของเขาได้สำเร็จ 


“การได้พากย์แค่สามบรรทัดแม้จะเป็นบทเล็กของพันธมิตรถือว่ายากมากเพราะมีอาๆ อีกหลายคนในทีมที่เป็นตัวเลือก ด้วยความตื่นเต้นเลยทำให้ผมยังพากย์ไม่ได้ ระหว่างนั่งรถกลับผมโดน อาโต๊ะ ดุจนเกือบจะร้องไห้ เขาเลยเปลี่ยนมาพูดด้วยความเอ็นดูให้กลับไปรักษาภูมิแพ้ให้หายแล้วให้กลับมาพากย์ใหม่”

แต่ในระหว่างนั้นเส้นทางนักพากย์ของเขากลับไปเติบโตได้ดีเมื่ออยู่นอกทีมที่เขาใฝ่ฝันจะเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อทราบว่าติดหนึ่งในสามของการประกวดพากย์เสียงภาพยนตร์ที่ส่งไปทำให้ได้รับการติดต่อให้มาช่วยพากย์กับทีมใหม่ กลายเป็นว่าเขาสามารถพากย์ได้ดีและไม่กดดันเท่ากับตอนที่ฝึกอยู่กับพันธมิตร ด้วยการทำงานที่แตกต่างกันและไม่มีรุ่นใหญ่มาทำให้เกร็งจนขาดความมั่นใจ โรจน์ ปัทมมนตรี จึงค้นพบแนวทางที่เหมาะกับตัวเองนับแต่นั้นมา

“ทุกวันนี้เวลาแบ่งตัวละครให้นักพากย์ลงเสียงจะดูละเอียดไปจนถึงบทตัวประกอบ เรามีวัตถุดิบชั้นดีอยู่ในมือแล้ว ถึงจะเป็นตัวประกอบก็จะดูหน้าคาแรกเตอร์จับคู่กับนักพากย์ ด้วยความที่ผมผ่านมาหมดแล้วจากสมัยที่เป็นเด็กฝึก เคยเจอการแบ่งตัวที่ไม่เปิดดูหนังเลยก็มีใช้วิธีแบ่งเพื่อให้ไม่ชนกัน ไม่ดูตามคาแรกเตอร์ บางครั้งเด็กได้บทคนแก่ก็ต้องดัดเสียงเพื่อให้เข้ากับตัวละคร เป็นเพราะการแบ่งที่เรียงตามลำดับอาวุโสหรือเลือกตัวเอกเก็บไว้กันเอง การทำงานที่ Master studio จะใช้เกณฑ์ตามอายุตัวละครและนักพากย์” 

ในระหว่างที่เป็นเด็กฝึกทำให้ได้เห็นว่าการทำงานที่ดีเป็นอย่างไร การทำงานแบบลวกเป็นแบบไหน แล้วจึงเอามาประยุกต์โดยยึดหลักการที่ว่าจะไม่ทำในแบบที่ทรยศอาชีพต้วเอง โดยถือได้ว่าเป็นสตูดิโอพากย์เสียงเจ้าแรกๆ ที่เริ่มจับภาพยนตร์และซีรีส์จีน ปั้นจนแจ้งเกิดในตลาดผู้ชมในไทย

จับทางให้ถูกก่อนกระแสมาถึง

ตลาดคอนเทนต์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายทาง Master Studio เลือกซีรีส์จากจีนเป็นเป้าหมายหลักตั้งแต่ยังไม่บูมเพราะพวกเขามองเห็นอนาคตว่านี่จะเป็นเทรนด์ที่กำลังจะกลับมา โดยการร่วมงานกับ WeTV บริษัทที่มีซีรีส์จีนโด่งดังอยู่ในมือ และฉายเกือบพร้อมกันกับที่ประเทศจีนห่างกันเพียงหลักสัปดาห์ ความช่างสังเกตและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้เสียงพากย์จากสตูดิโอของเขาติดหูและเป็นที่จดจำ


“ความพิเศษของแอปฯ WeTV คือการมีตัววิ่งให้แฟนๆ ส่งความคิดเห็นเข้ามาได้ จะชมหรือติได้ทันทีที่ฉาย รับฟีดแบ็กมุกตลกที่คนดูชอบเป็นพิเศษได้แบบเรียลไทม์ จุดนี้ทำให้ย้อนกลับไปในบรรยากาศแบบเดียวกับการฉายภาพยนตร์แบบกลางแปลง เพราะการอยู่ท่ามกลางคนดูสามารถสะท้อนให้เห็นรีแอ็กชันเมื่อยิงมุกตลกที่สอดแทรกสร้างสีสันไปด้วย” 

การพากย์กลางแปลง ถ้าเล่นมุกที่จอแรกแล้วคนขำนักพากย์ก็จะรู้ได้ว่ามุกนี้เวิร์ก เอาไปใช้ต่อหรือขยี้ต่อให้ตลกมากขึ้นได้ การไม่ได้รับรีแอ็กชันจากผู้ชมจึงทำให้คลำทางไม่ถูก ไม่รู้ว่าผู้ชมจะชอบหรือไม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจ เมื่อได้เห็นรีแอ็กชันของผู้ชม ทำให้นักพากย์ตัดสินใจใส่มุกที่ไม่ยัดเยียด หรือทดลองมุกใหม่ๆ ที่เข้ากับปัจจุบันลงไปในหนังโบราณ เพื่อดูว่าจะได้ผลดีหรือไม่ 

“ผมพบว่าคนดูรับได้แต่ต้องทำให้พอดี ไม่ยัดเยียด ต้องจับจังหวะให้ดี กลายเป็นว่าจากที่ไม่สามารถพากย์กับพันธมิตรได้ แต่ประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้สั่งสมมาในตอนนั้นก็เพื่อมาใช้กับการเป็นเจ้าของงานในวันนี้ การซึมซับจังหวะหนัง การแทรกมุกตลกที่ถูกต้องเหล่านี้ได้มาจากโรงเรียนที่ชื่อพันธมิตรนั่นเอง นอกจากพ่อที่เป็นครูคนแรกในวงการนักพากย์ก็มี อาโต๊ะ นี่แหละที่เป็นที่หนึ่งยกขึ้นหิ้งไว้”

จนทำให้เมื่อนึกถึงซีรีส์หรือภาพยนตร์จากประเทศจีน ชื่อของ Master Studio จะลอยขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ถึงแม้จะไม่สามารถประกาศชื่อออกไปได้ตรงไปตรงมา แต่เสียงของพวกเขาก็เป็นลายเซ็นที่คนจำได้โดยไม่ต้องประกาศชื่อทีมที่ช่วยพากันสร้างชื่อให้สตูดิโอมาได้ด้วยกัน

เสน่ห์ของหนังกลางแปลงที่มีนักพากย์เป็นตัวชูโรง


สมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเสียงลงในภาพยนตร์นักพากย์มีความจำเป็นอย่างมากเพราะคือตัวจุดประกายของจอ ถ้าผู้ชมชื่นชอบและติดใจคนก็จะแห่ตามมาดูกันทุกคืน แค่เอ่ยชื่อนักพากย์คนก็เตรียมเสื่อมาปูกันแล้ว 

หนังกลางแปลงแบบพากย์สดสำหรับ โรจน์ ปัทมมนตรี เขามองว่าเป็นรากเหง้างานพากย์ปัจจุบันที่มีพัฒนาการขึ้นมาจากการพากย์เสียงในโรง ทดลองนำโทรโข่งมาใช้ในหนังเงียบ คิดหานำดนตรีมหรสพมาประกอบระหว่างการฉาย ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคมีซาวนด์ประกอบหนังแบบปัจจุบัน เมื่อก่อนนั้นถ้านักพากย์คนไหนดัง บางคนได้มีชื่อใหญ่พอๆ กับชื่อหนังเลยด้วยซ้ำ อย่างเช่น โกญจนาท (สมศักดิ์ สงวนสุข) นักพากย์สายอีสานในอดีต ร่วมพากย์หนังเรื่องอะไรคนไม่สนเนื้อเรื่องหรือผู้กำกับ คนจะตามไปดูเขา ด้วยความที่สอดแทรกมุกไหลลื่น และสามารถพากย์คนเดียวได้ทุกบทบาท หรือสามารถพากย์หนังอินเดียให้คนดูร้องไห้ก็เคยทำได้มาแล้ว


“นักพากย์รุ่นครูพากย์คนเดียว เสียงผู้ชาย ผู้หญิง บางคนสามารถพากย์ให้ผู้ชมร้องได้ตามไปด้วย ต้องใช้ความสามารถมากถึงจะทำได้ ถ้าหนังตลกก็ต้องขยี้ให้สุด หนังซึ้งก็ต้องทำให้คนอินจนผู้ชมร้องไห้ตามได้ อีกหนึ่งเสน่ห์ของหนังกลางแปลงในยุครุ่งโรจน์ ผู้ชมจะแห่กันมาชมจำนวนมาก ร้านค้าตั้งขายของกันละลานตา สร้างสีสันให้ค่ำคืนไม่หลับใหล เดินขายปลาหมึกย่าง อ้อยควั่น โอเลี้ยง ถั่วต้ม บางครั้งฉายกันยาวๆ จนฟ้าสว่าง เป็นอีกโลกของเด็กคนหนึ่งที่ติดตามคุณพ่อไปทำงานในอาชีพนักพากย์ ในงานวัดมีชิงช้าสวรรค์ เนรมิตเมืองขึ้นมา ดื่มด่ำบรรยกาศได้แบบเต็มอิ่ม ฉายหนังจีน หนังไทย หนังฝรั่ง ประชันกับเวทีลิเกหรือเวทีงิ้วแม้เสียงตีกันไปมาแต่คนก็ยังสนุก” 

ปีที่แล้วในเทศกาล กรุงเทพกลางแปลง ทีม Master Studio ได้สร้างความฮือฮาด้วยการพากย์หนังอินเดียเรื่อง RRR ที่มีความยาวสามชั่วโมง จนเป็นข่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ของผู้ประกาศข่าวชื่อดัง สรยุทธ สุทัศนะจินดา จนเกิดมีมประโยคเด็ด “นี่กูเด็กคลองเตยนะเว้ย” ที่มาจากคุณพ่อซ้งเป็นคนคิดขึ้นมา ดึงความสนผู้ชมให้ตรึงอยู่กับจอแม้ฝนจะตกอยู่นอกโดม


“คืนวันนั้นบรรยากาศเหมือนได้ย้อนกลับไปยุค 30 ปีที่แล้ว เหมือนคลิปที่คนดูหนังอินเดียฮือฮา ปรบมือชอบใจ วันนั้นเป็นแบบนั้น”

วันนี้และอนาคตของวงการนักพากย์หนังกลางแปลง

หนังกลางแปลงถูกลดความสำคัญลงมาแต่ยังมีอยู่ หนึ่งในอีเวนต์พิเศษที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุคทองของการฉายหนังแบบนี้ได้มีประสบการณ์ร่วมคืองาน ‘กรุงเทพกลางแปลง’ จะเห็นได้ว่าเกือบทุกครั้งที่จัด แม้จะมีอุปสรรคเรื่องฝนฟ้ามาขัดขวางบ้าง แต่คนก็ให้ความสนใจชักชวนกันมาเป็นจำนวนมากกว่าการฉายปกติ 

แต่ด้วยความที่ โรจน์ ปัทมมนตรี และทีมเลือกที่จะพากย์สดเพราะต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ จึงทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายกันเองเมื่อมีงานติดต่อเข้ามา

“จริงๆ แล้วการได้ออกไปพากย์คือกำไร ได้ไปเที่ยววัด ไหว้พระ สนุกเฮฮา กว่าจะถึงเวลาพากย์สองทุ่ม เหมือนได้พาทีมไปพักผ่อน บางคนไม่เคยมีประสบการณ์ พากย์ไม่เก่ง พอได้พากย์กลางแปลงจะช่วยขยายปอด เพราะมันหยุดกลางคันไม่ได้บังคับให้ทำไปจนจบสองชั่วโมง ถ้าเกิดท้อ พากย์ผิด คนดูไม่พอใจก็ต้องแก้ไขเพื่อทำต่อให้จบ”

บทบาทนักพากย์ โดยนักพากย์ เพื่อบันทึกอาชีพงานพากย์
บท กำจร ในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักพากย์ ที่ โรจน์ ปัทมมนตรี ภาคภูมิใจ แม้จะปรากฏอยู่ในเรื่องไม่นานแต่ก็เป็นซีนสำคัญในฐานะนักพากย์อาชีพที่ได้มีโอกาสร่วมแสดง


“บทนี้เป็นบทของผม หวังว่าจะได้เล่น” 

เขาบอกกับทีมคัดเลือกนักแสดงหลังจากเข้ามาแคสติ้งบทนี้

ในเรื่อง กำจร อยู่ในหน่วยหนังเร่ในชื่อกัมปนาท คู่แข่งกับหนังขายของ มานิตย์ ที่นำแสดงโดย เวียร์ ศุกลวัฒน์ นักพากย์ 5 เสียง เป็นบทที่เล่นประกบกับ ณัฐ ศักดาทร ซึ่งอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของการฉายหนังโดยนำนักพากย์ผู้หญิงเข้ามาร่วมทีม 

“เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าอิ่มเอมกับบรรยากาศที่พาเราย้อนไปยังวันวานได้อย่างสมบูรณ์แบบ พี่อุ๋ย นนทรีย์ พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากผลงานสร้างชื่อทั้ง 2499 และ นางนาก ที่สามารถพาผู้ชมนั่งไทม์แมชชีนไปร้านตัดผมเก่ายุค ’60s เนรมิตบรรยากาศต่างๆ ขึ้นมาใหม่ได้ไม่มีข้อติ” 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง มนต์รักนักพากย์


คุณพ่อซ้งย้ำว่าลูกชายคนที่สองของตัวเองนี้ถือเป็นนักพากย์หนังกลางแปลงรุ่นสุดท้ายที่ได้เคยพากย์จริงจัง ตั้งแต่ตอนที่ฝึกอยู่กับพันธมิตรก็ออกไปพากย์หนังกลางแปลงเกือบทุกคืนเมื่อมีหนังไปฉายที่ศาลเจ้า ถึงแม้ในยุคของ โรจน์ ปัทมมนตรี จะพาน้องในทีมไปทดลองสนามพากย์สดที่หนังกลางแปลงบ้างตามวาระเพื่อหาประสบการณ์ แต่เขาเป็นรุ่นที่เคยออกไปพากย์กลางแปลงเต็มเรื่องจนจบอยู่หลายปี การแสดงของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการเอาส่วนผสมจากประสบการณ์ส่วนตัวและของคุณพ่อซ้งไปใช้ เป็นความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้นำอาชีพของตัวเองไปบันทึกอยู่ในแผ่นฟิล์ม 


“การได้เอาความเป็นพ่อไปบันทึกในแผ่นฟิล์ม แม้พ่อผมจะไม่ได้เล่นเองก็เหมือนได้เล่นอยู่ด้วย เพราะสิ่งที่ผมแสดงออกไปก็เป็นส่วนผสมของเขาครึ่งหนึ่งของผมครึ่งหนึ่ง”

นอกจากนี้ คุณพ่อซ้งและลูกชายยังได้มีส่วนในการไกด์เสียงให้กับตัวละครนำชายของเรื่อง โดยหนึ่งในฉากนั้นก็คือการโฆษณาขายยานั่นเอง

ไม้ต่อไปของนักพากย์หนังกลางแปลงที่ยังมองไม่เห็นคำตอบ


ด้วยความที่การพากย์สดในปัจจุบันเป็นเพียงการสร้างสีสันให้กับการฉายหนังกลางแปลง การออกไปพากย์แต่ละครั้งจึงมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย คนที่จะมารับไปต้องใช้ใจ สิ่งที่สองพ่อลูกทำอยู่เป็นงานอนุรักษ์ไม่ใช่สิ่งที่สร้างรายได้ ถ้านักพากย์ที่จะก้าวเข้าวงการนี้ไม่มีความชำนาญเวลาออกไปพากย์สนามจริงก็จะไม่สามารถทำให้ผู้ชมสนุกได้

“พอเจออุปกรณ์ที่ไม่ดี ปรับไมค์ไม่เหมาะสม พวกผมก็ต้องทนพากย์ต่อ บางทีปรับไมค์ไม่ดีกลับมาพากย์หนังปกติที่เป็นอาชีพประจำไม่ได้เลยก็มี ในมุมมองผมเห็นใครที่จะทำตรงนี้ได้ไหมตอนนี้ยังไม่น่ามี แต่ถ้ามีก็จะดีใจมากที่มีคนสืบสานต่อ สำหรับผมจะมีหรือไม่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการทำทุกช่วงเวลาให้คุ้มค่าสมกับที่อยากทำมาตั้งแต่เริ่ม”


พากย์ด้วยความสุข


จากฟีดแบ็กที่ได้รับจากงานกรุงเทพกลางแปลงปีที่แล้ว ประกอบกับหนังมนต์รักนักพากย์ในปีนี้ อาจจะช่วยสร้างกระแสอาชีพนักพากย์ให้เกิดขึ้นได้ช่วงหนึ่ง


“ตอนนี้ผมอยู่ในจุดที่ไม่เดือดร้อน มีความตั้งใจอยากทำเพื่ออนุรักษ์การพากย์กลางแปลงนี้ไว้ด้วยใจจึงเป็นความสุขได้พาคุณพ่อด้วยวัย 75 ได้ทำในสิ่งที่เขารัก ผมไม่ได้ต้องการชื่อเสียงเพราะงานพากย์คืออาชีพ เห็นคุณพ่อมีรอยยิ้ม คนดูสนุกเราก็มีความสุข ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ได้ออกไปหาความตื่นเต้นทำให้ไฟในตัวไม่มอด” 

ถึงแม้ทั้งคู่จะผ่านการพากย์สดรวมกันแล้วหลายร้อยครั้ง แต่ทุกครั้งที่ได้ออกไปพากย์ก็ยังตื่นเต้นเมื่อเห็นผู้ชมมารอชมกันจำนวนมาก เพราะพากย์ร้อยครั้งยังไงก็ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันทั้งผู้คนและสถานที่ 

“เวลาที่ไปถึงหน้างานก่อนพากย์ ต้องเดินศึกษาชื่อสถานที่ เจ้าภาพ คนดัง ผู้หญิงแถวนี้คนไหนปากแซ่บ เพื่อเอาหยอดใส่ในบทพากย์หนัง นี่เป็นเคล็ดลับที่จะเอามาเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ จึงได้ยินการแซวแม่ค้า แซวหลวงพ่อ เหล่านี้เป็นการใช้ไหวพริบและการสังเกตรอบตัว” 

อาชีพนักพากย์ สำหรับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นรุ่นสุดท้ายอย่าง โรจน์ ปัทมมนตรี คือสิ่งที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก อัดเสียงลงเทปคาสเซ็ตฝึกฝนด้วยตัวเอง เขาค้นพบว่าก่อนที่จะเบนเส้นทางมาสายการพากย์นี้เต็มตัว ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้เข้าวงการก็หมกหมุ่นหยิบจับทำอย่างอื่นก็ไม่รักและทำได้ไม่ดี เมื่อโดนติก็ถอดใจทนไม่ได้ 

“พอมาพากย์โดนครูบาอาจารย์ดุแรงแค่ไหนเราทนได้เพราะเราอยากทำให้สำเร็จ อยากเก่งขึ้นและไม่เคยโกรธ นั่นทำให้รู้ว่าเมื่อได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักผมจะทำมันได้จนถึงวันตาย ไม่มีคำว่าเหนื่อย นอนตีหนึ่งตีสองตื่นเช้าก็ยังได้ตื่นมาทำสิ่งที่ตัวเองรักได้ทุกวัน แบ่งตัวละคร เตรียมบทพากย์ให้นักพากย์ เพราะความรักนี่แหละที่เป็นแรงกระตุ้นให้ตื่นมาทำสิ่งนี้ได้ทุกวัน งานพากย์ให้ความภูมิใจ ความมั่นใจ ชื่อเสียง ส่วนเรื่องเงินจะตามเองทีหลัง ที่มาสเตอร์เฟื่องฟูอยู่ในทุกวันนี้เพราะแนวทางของผมที่มีความสุขกับทุกวันที่อยู่กับงานพากย์”


สุดท้ายนี้คุณพ่อซ้งจบหัวข้อการสนทนาในครั้งนี้ไว้อย่างอบอุ่นด้วยประโยคที่ว่า 

“ผมมีความสุข ได้เห็นลูกมาสืบสาน เขาเดินมาไกลในระดับนี้ได้ กูก็ตายตาหลับแล้ว สบายใจและมีความสุขที่เห็นลูกทำได้” 


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook