ปลุกชีวิตไพ่ทาโรต์ กับ PimDit สตูดิโอคีย์แคปแบรนด์ไทยที่อยากให้คนใช้สนุกทุกครั้งที่ได้พิมพ์

ปลุกชีวิตไพ่ทาโรต์ กับ PimDit สตูดิโอคีย์แคปแบรนด์ไทยที่อยากให้คนใช้สนุกทุกครั้งที่ได้พิมพ์

ปลุกชีวิตไพ่ทาโรต์ กับ PimDit สตูดิโอคีย์แคปแบรนด์ไทยที่อยากให้คนใช้สนุกทุกครั้งที่ได้พิมพ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักเขียน : กุลธิดา สิทธิฤาชัย

หากคุณหลงใหลเสียงคีย์บอร์ด ชอบของน่ารักกุ๊กกิ๊ก อยากเพิ่มโชคด้านการงานสุดปัง น่าจะหลงรักคีย์แคปจาก PimDit ได้ไม่ยาก 

PimDit หรือพิมพ์ดีด คือสตูดิโอออกแบบคีย์แคปแบรนด์ไทยที่กำลังท้าทายความเชื่ออยู่ 3 ข้อ

หนึ่ง คีย์บอร์ดที่มีต้นกำเนิดจากเกมเมอร์ก็สามารถน่ารักได้ — PimDit ดีไซน์คีย์แคปคอลเลกชันแรกด้วยคอนเซ็ปต์ ‘มูเตลู’ โดยหยิบเอาไพ่ทาโรต์มาตีความใหม่ แถมยังใช้แม่สีสดใสที่ใครเห็นก็ต้องพูดว่า ‘น่ารัก!’

สอง คนใช้คีย์บอร์ดกลไกหรือ Mechanical Keyboard ไม่จำเป็นต้องเป็นเกมเมอร์เท่านั้น — แรกเริ่ม Mechanical Keyboard ถือเป็นคีย์บอร์ดที่มีความแม่นยำในการกดอย่างมาก ทำให้เป็นที่นิยมของเหล่าเกมเมอร์ แต่ด้วยดีไซน์ความน่ารักเกินห้ามใจของ PimDit ทำให้ลูกค้า ตั้งแต่วัยเรียนและวัยทำงานต่างก็โดนตกไปตามๆ กัน 

สาม การทำธุรกิจกับเพื่อนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากเข้าใจหน้าที่ของแต่ละคน — แบรนด์ PimDit เกิดขึ้นมาจากกลุ่มเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยจากคณะสถาปัตย์ ได้แก่ บูม-ณัฐธัญธร รดิศวงศ์ มาร์ค-รัฐกัญจน์ โลหะจรูญ และ เบนจา-พัทธนันท์ รัตนโสภณ ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาจนเกิดเป็นคีย์แคปแบรนด์ไทยจากความรู้ด้านธุรกิจเกือบเป็นศูนย์ 

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้เราแม้ไม่ได้อยู่วงการเกมเมอร์หรือกลุ่มจัดโต๊ะคอม ก็ตกหลุมรักคีย์แคปที่แสนจะน่ารักนี้เข้าอย่างจัง 

ในวันที่ Mechanical Keyboard กำลังมาแรง สวนทางกับผู้ผลิตคีย์แคปเจ้าของชาวไทยที่มีไม่กี่เจ้า เราชวนไปรู้จักเบื้องหลังคีย์แคปแบรนด์ไทยสุดน่ารักที่ใครไม่มูก็ใช้ได้ พร้อมไปเรียนรู้การทำธุรกิจฉบับผู้เล่นหน้าใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสนุก!


“เราสามคนเป็นคนที่ไม่อยากทำงานประจำ”
ย้อนกลับไปมาร์คเล่าว่า PimDit เป็นโปรเจกต์ที่อยู่ในความคิดตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งเกิดจากความชื่นชอบจัดแต่งโต๊ะคอมเหมือนกับเด็กสถาปัตย์คนอื่นๆ การรวมทีมจึงเกิดขึ้นจากการพูดคุยกับบูม เพื่อนสมัยมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย ก่อนชักชวนเบน เพื่อนที่ได้มาเจอในคณะเดียวกันมาทำธุรกิจด้วยกัน

จุดร่วมของทั้งสามคนนอกจากการเรียนคณะเดียวกันแล้ว ยังเป็นความตั้งใจอยากทำธุรกิจของตัวเองและหันหลังให้กับงานประจำที่พบว่าไม่ใช่ทางของพวกเขาด้วย


บูม: “ผมกับมาร์คทำงานประจำมาแล้ว ซึ่งพบว่าไม่ชอบ เลยออกมาทำอะไรกันเองดีกว่า ส่วนเบนก็ไม่อยากทำเพราะไม่ชอบสถาปัตย์เหมือนกัน” 

มาร์ค: “PimDit เป็นโปรเจกต์ที่ผมคิดว่าน่าทำมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว คือผมเรียนสถาปัตย์ แล้วทุกคนจะต้องมีคอมไว้ทำงาน การมีอุปกรณ์ใช้งานกับคอมพิวเตอร์เลยเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็กสถาปัตย์ มันก็เลยเห็นศักยภาพรอบตัวเต็มไปหมดเลย เลยรู้สึกว่าทำแล้วน่าจะเวิร์ก”

นอกจากการหยิบของที่อยู่ใกล้ตัวมาเป็นทำแบรนด์สินค้าของตัวเองแล้ว ทั้งสามคนยังเห็นว่ากระแสการจัดโต๊ะคอมพิวเตอร์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างมาก ขณะที่การทำคีย์แคปในไทยยังมีผู้เล่นในตลาดน้อย ทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าโปรเจกต์นี้เมื่อมกราคมที่ผ่านมา

บูม: “หลังจากนั้นเรามานั่งคุยว่าถ้าเราทำคีย์แคป จะทำอะไรได้บ้าง มาร์คก็เป็นคนทำสไลด์ให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าถ้าเราจะลุย คีย์บอร์ดมันมีกี่แบบ แล้วคนนิยมแบบไหน แล้วแบบไหนที่มันจะทำให้คีย์บอร์ดออกมาน่ารักที่สุด เราก็ทำเรื่องกว้างๆ ก่อน เสร็จปุ๊บเราก็มาลองดูว่าคอนเซ็ปต์อาร์ตของเราจะทำยังไงให้น่ารัก และทำให้คนสนใจ”

มาร์ค: “การจัดโต๊ะคอมหรือกระแสอุปกรณ์ Mechanical Keyboard กำลังมาแรง ส่วนคนที่ทำพวกอุปกรณ์ตกแต่งหรือคีย์แคปขายในประเทศไทยน้อยมากถ้าเทียบกับต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เราดึงของสวยๆ จากต่างประเทศแล้วเราเลเซอร์ภาษาไทยลงไป ซึ่งราคาสูงมาก” 

หลังจากที่พูดคุยกันอย่างไม่จริงจังประมาณ 6-7 เดือน ทั้งการรีเสิร์ช สเกตช์ภาพร่าง และติดต่อโปรดักชัน โปรเจกต์คีย์แคปที่เคยลอยอยู่ในอากาศก็เริ่มเป็นรูปร่างขึ้น โดยมีมาร์กเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์คอยดูภาพรวม บูมดูแลฝั่งโปรดักชันและมาร์เก็ตติ้ง ส่วนเบนรับหน้าที่เป็นดีไซเนอร์หลัก


“บางคนไม่มี Mechanical Keyboard ด้วยซ้ำ แต่ซื้อคีย์แคปเพราะอยากใช้”
คีย์บอร์ดกลไก (Mechanical Keyboard) มักเป็นที่รู้จักในแวดวงของเหล่าเกมเมอร์ ด้วยความพิเศษในการทำงานที่ใช้กลไกของปุ่ม (Switch) ทำให้คีย์บอร์ดประเภทนี้แยกการทำงานกันชัดเจนในปุ่มแต่ละตัว หากมีปุ่มบนคีย์บอร์ดพังก็สามารถซ่อมได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนยกแผง ต่างจากคีย์บอร์ดปุ่มยางทั่วไป 

แต่นอกเหนือจากนี้ที่ทำให้คีย์บอร์ดกลไกได้ใจนักเล่นเกมนิ้วไว เป็นเพราะคีย์บอร์ดประเภทนี้ให้ความแม่นยำสูง การตอบสนองรวดเร็ว รวมถึงความทนทานที่ยาวนานทำให้เป็นคีย์บอร์ดที่เหล่าเกมเมอร์เลือกใช้ได้ไม่ยาก แม้จะแลกด้วยราคาที่สูงขึ้นก็ตาม

บูม: “ตอนแรกเรามองกลุ่มลูกค้าไปที่คนทำงาน และคนที่ใช้คีย์บอร์ดทั่วไปมากกว่าเกมเมอร์ เพราะน่าจะกว้างและเข้าถึงได้มากกว่า แต่เอาเข้าจริงก็มีลูกค้าหลากหลายแบบมากกว่าที่เราคิด” 

ทุกวันนี้ Mechanical Keyboard ไม่ได้มีราคาสูงจนเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไปแล้ว แถมจุดเด่นของคีย์บอร์ดนี้คือเราสามารถสนุกไปกับการปรับแต่งคีย์แคป (พลาสติกที่ครอบอยู่บนสวิตช์) ทั้งการสัมผัสและเสียงได้เอง ทำให้หลายๆ คนเลือกใช้คีย์บอร์ดเป็นแฟชั่นประดับโต๊ะกันมากขึ้น


มาร์ค: “ผมว่ามันคือความสนุก มันคือความสะดวกสบายด้วยในการใช้งาน อย่าง Keychron ก็จะมีฟังก์ชันที่สะดวกมากๆ เช่นการกดปุ่มเดียว เพื่อเปลี่ยนจากหน้าจอหนึ่งไปอีกหน้าจอหนึ่ง จากเครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องหนึ่ง หรือการรองรับระบบทั้ง Windows และ iOS ที่รองรับการเชื่อมต่อได้ง่ายดายมาก 

“อีกอย่างผมว่าคือความสนุกที่เราได้ใส่อะไรที่เราชอบลงไป แล้วได้แสดงเอกลักษณ์ พอเราไปทำงาน แล้วเห็นโต๊ะคอมแล้วเรารู้ว่ามีความเป็นเราอยู่ในนั้น ผมว่าความสนุกมันอยู่ตรงนั้น”

บูม: “ผมว่าเป็นอัตลักษณ์ของเขา ว่าเขาเอ็นจอยกับสิ่งที่เขารู้สึกว่ามีแพสชันด้วย อย่างบางคนที่เขาซื้อคีย์บอร์ดของเราไป เพราะสีที่พวกเราเลือกใช้เป็นสีประจำตัวเขา สมมุติเราทำงานกับ Mechanical Keyboard ที่เราเปลี่ยนปุ่มแล้ว บางทีมองมันก็มีความสุขแล้ว ก็ช่วยผ่อนคลายได้ มันเหมือนเป็นการแสดงตัวตนออกมาผ่านเครื่องใช้ต่างๆ”

“คีย์แคปที่สดใส สบายตา คนใช้แล้วสนุก”
ชื่อพิมพ์ดีดถูกคิดจากเบน ดีไซเนอร์ประจำสตูดิโอ ที่มาจากชื่อวิชาพิมพ์ดีดในสมัยเรียน แถมยังเป็นคำไทยง่ายๆ แต่ติดหู

PimDit เป็นแบรนด์ที่ตั้งใจทำคีย์แคปที่ต่างจากคีย์แคปในตลาดที่เน้นที่เหล่าเกมเมอร์ที่มีความเท่คูลอยู่ในคีย์บอร์ด ด้วยคอนเซ็ปต์ น่ารักและเข้าถึงง่าย


มาร์ค: “แบรนด์เราอยากทำอะไรที่มันสดใสน่ารัก มีชีวิตชีวา เราอยากสร้างโลกให้ทุกอย่างมันมีชีวิตขึ้นมา” มาร์คเล่า

บูม: “ถ้าสังเกตงาน จะเห็นว่าเราจะใส่ตาเข้าไป ใส่ลายเส้นให้ดูสดใส มันไม่ได้มีคีย์แคปที่น่ารักสดใส เราเลยเห็นช่องว่างของตลาด และวางตัวเองในแนวทางนี้ อยากให้มันสดใส สบายตา คนใช้แล้วสนุก คำว่าน่ารักมันกว้างกว่าคำว่าเท่ มันเลยเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า” 

เมื่อคอนเซ็ปต์หลักคือความสดใสเข้าถึงง่าย ขั้นต่อไปคือการหาธีมให้กับคีย์แคปคอลเลกชันแรก แม้ดีไซเนอร์หลักอย่างเบนจะอินเรื่องมูเตลูอย่างมาก แต่ก็ไม่ลืมที่จะหยิบความกุ๊กกิ๊กใส่เข้าไป แถมยังซ่อนความหมายเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในคีย์แคปแต่ละปุ่ม เหมือนเป็น Easter Egg สำหรับผู้ใช้ด้วย


มาร์ค: “ก่อนหน้านี้เราหาแนวทางการทำคีย์แคป ซึ่งมันก็มีหลายอย่าง แล้วเบนอยากวาดอะไรที่เกี่ยวกับมูทั้งหมดเลย ตอนนั้นน้องก็อิน ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังเยอะ มีทั้งมูแบบพราหมณ์ไหม หรือมูแบบไทยๆ 

“สุดท้ายแล้วเราพยายามเอามาจับดูว่าอะไรจะมาเป็นคาแรกเตอร์การ์ตูนได้เยอะ แล้วดูดีที่สุด ไพ่ทาโรต์ค่อนข้างตอบโจทย์ที่สุด เพราะว่ามันมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนอยู่แล้วในไพ่แต่ละใบ ทั้งดาบ ถ้วย เหรียญ สามารถดึงส่วนประกอบในไพ่ทาโรต์มาเล่นได้ง่าย 

“แล้วเรื่องการเปลี่ยนคีย์ให้มันเรียงลำดับความหมายรูปแบบต่างๆ ก็ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราจะทำ ก็เลยใช้ไพ่ทาโรต์เป็นคอนเซ็ปต์แรกในการสร้างขึ้นมา” 

บูม: “เราพยายามใส่ดีเทลและกิมมิกเข้าไปในตัวงานด้วย สีต่างๆ มันก็มีความหมายต่างกัน แล้วก็จัดเรียงได้หลายแบบ พยายามสื่อสารให้คนเข้าใจว่าแต่ละสีมันมีความหมายนะ เช่น เหรียญก็เกี่ยวกับการเงิน หรือดาบเรื่องการสื่อสาร ทำให้คนอินมากขึ้น แล้วก็รู้สึกสนุกในการแต่งคีย์บอร์ดและการทำงาน เช่น วันนี้อยากเน้นเรื่องความรักจังเลย ก็สามารถเอาใส่เข้าไปได้” 

ในคอลเลกชันมูเตลู ประกอบไปด้วยคาแรกเตอร์หลัก 4 ตัว คือ ถ้วย หัวใจ ดาบ เหรียญ อ้างอิงจากไพ่ทาโรต์ที่ถูกดีไซน์ใหม่ให้น่ารัก สดใสขึ้นด้วยลายเส้นและแม่สีสดใส ทั้งคอนเซ็ปต์และการดีไซน์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้คีย์แคปคอลเลกชันนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้เพิ่งปล่อยตัวออกมาได้ไม่กี่เดือน แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดี จนมียอดสั่งซื้อถึง 350 ออเดอร์ไปแล้ว

“เจอทุกปัญหาทุกแบบที่คิดว่าคนทำธุรกิจต้องมี”
มาร์คและบูมบอกว่าพวกเขาเริ่มทำธุรกิจนี้จากการที่ไม่รู้อะไรเลย นอกจากเห็นว่าน่าจะเวิร์กเลยลองทำ

มาร์ค: “ผมว่ามันยากทุกขั้นตอน ยากตั้งแต่เราจะหาไฟล์ทำงานยังไง ติดต่อกับโรงงานไหน แล้วเราจะเช็คคุณภาพได้ยังไง ระบบการขนส่งเป็นยังไง จะทำแพ็กเกจจิ้งยังไงในทุนที่น้อยมาก มีทุกปัญหาเลยที่จะเป็นไปได้ 

“จริงๆ โพรเซสที่ทำตัวนี้ทั้งหมด รวมออกแบบ ผลิตทั้งหมดแล้ว มันจะอยู่ 2 เดือน แต่ว่าเวลาที่เหลือคือความผิดพลาดที่นั่งแก้กัน” อาร์ตไดเร็กเตอร์ประจำสตูดิโอเล่าพลางหัวเราะ

บูม: “มันเริ่มจากศูนย์ที่เราไม่รู้อะไรเลย บางทีก็ต้องให้โรงงานช่วยเช็กด้วย บางทีไฟล์มีปัญหา เราลืมใส่ตัว H เข้าไป มันมีเยอะมาก แต่พอเรารู้ขั้นตอนการทำงาน มันจะง่ายขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังข้อผิดพลาดอยู่ หลายๆ อย่างที่หน้างาน บางทีมันก็ต้องใช้ไหวพริบเฉพาะตัว แต่สำหรับตัวนี้กว่าจะเรียนรู้ใช้เวลานานมาก”


นอกจากการทำคีย์แคปแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ยังเป็นวิธีการทำงานร่วมกันกับเพื่อนของตัวเอง ที่ใครๆ ก็บอกว่า “เป็นไปได้ยาก” แต่พวกเขาก็เชื่อว่าการได้พูดคุยกันพร้อมเคารพการตัดสินใจในหน้าที่ของแต่ละคนจะทำให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้พร้อมความสัมพันธ์ที่ดีด้วย

บูม: “ผมมองในฝ่ายที่จัดการภาพรวม ทำกับเพื่อนมันก็ดีในแบบของมัน ไม่ใช่ว่าทำกับเพื่อนแล้วเดี๋ยวก็ทะเลาะกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจกันมากแค่ไหนมากกว่า อย่างผมกับมาร์ค และเบน เราก็รู้นิสัยกันอยู่แล้ว เราก็พยายามจะไม่ไปกดดันในสิ่งที่เขารู้สึกอึดอัดอยู่แล้ว และพยายามเปิดกว้าง แล้วก็คุยกันมากกว่า 

“เวลาคุยกันเราก็พยายามหาค่ากลาง ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้กลางขนาดนั้น มันก็ต้องมีแบบ มึง กูว่าไม่เวิร์กหรอก อย่าทำเลย” 

มาร์ค: “คือถ้าเป็นมุมผมที่รู้จักทั้งคู่ คือบูมและเบนไม่ได้รู้จักกันตั้งแต่แรก แต่ผมรู้จักสองคนนี้มานาน ในมุมมองผม ผมจะรู้สึกว่าผมไม่ได้รู้จักคนนี้แค่แบบรู้จัก แต่สนิทกันมาก แล้วผมค่อนข้างรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง ถึงจะโกรธแต่ก็ไม่เกลียดกัน ก็เลยรู้สึกว่าการทำงานมันไม่ได้สร้างปัญหาอะไร”

บูม: “เราอาจจะต้องคิดในมุมของอีกคน เช่น ถ้าผมเป็นมาร์คผมจะคิดแบบไหน เวลาทำงานอะไรออกมาก็ค่อนข้างง่าย สบาย ถึงแม้ว่าจะมีเถียงกันบ้าง แต่สุดท้ายก็จบที่ห้องประชุม มันไม่ได้มีอะไรที่ติดค้างกัน เหมือนเราสนิทกันมากๆ แล้วไม่ต้องมาทะเลาะกัน มันคุยกันได้มากกว่า”


“ในความกดดันมันก็มีความเป็นอิสระ”
หลังจากปล่อย ‘มูเตลู’ คีย์แคปคอลเลกชันแรกซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นเสียงเดียวกันว่า น่ารัก สตูดิโอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนไปสะดุดตาเข้ากับ Loga แบรนด์เกมมิ่งเกียร์ของไทยที่มีสไตล์โดดเด่น และชักชวนให้พวกเขามาร่วมออกแบบคีย์แคปด้วย

มาร์ค: “คอลเลกชันหน้าจะเป็นการคอลแล็บกับ LOGA เพราะทางนั้นมีโปรเจกต์เกี่ยวกับมูเตลูอยู่แล้ว แล้วพอเราออกสายมูเตลูออกมา เขาเลยสนใจ ซึ่ง LOGA จะมีคอนเซ็ปต์เฉพาะของเขาอยู่แล้วคือความเป็นไทย เขาเลยอยากเอาความเป็นไทยมาผสมกับความเป็นมูเตลู ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ไทยมูเตลูที่ทำกับ LOGA”

บูม: “เราได้งานมาว่าอยากได้เซตคีย์แคปที่มันเข้ากับทุกตัวที่เขาผลิตออกมาได้ มันก็เป็นโจทย์ของเราว่าจะทำยังไงให้เป็นมูเตลูแบบไทย ที่เข้ากับของเขาที่เป็นลายไทยที่เขาทำมาตั้งแต่แรก” 

มาร์ค: “งานนี้เขาให้อิสระเรามาก แค่ให้ตรงตามโจทย์ก็พอแล้ว มันอาจจะมีข้อจำกัดบ้างนิดหน่อย แต่มันก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่ไม่มีตัวเราในนั้น”


นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้อาจเรียกได้ว่า PimDit ถือเป็นคีย์แคปที่ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีตั้งแต่คอลเลกชันแรกที่ปล่อยออกมา แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็สร้างความกดดันเล็กๆ ให้กับธุรกิจหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่สนามนี้จริงจังเหมือนกัน อย่างไรก็ตามพวกเขาก็เตรียมใจและพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน

มาร์ค: “การทำธุรกิจของตัวเองมันรู้สึกดีที่เราลงแรงไปแล้วเราได้อะไรที่เป็นของเรากลับมา แต่ก็ต้องบอกเลยว่าสิ่งที่ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้คือแรงกดดัน มันกดดันกว่าที่คิดไว้เยอะ จากตอนแรกที่คิดว่าจะมีความชิว แต่พอหลายๆ อย่าง มันมีบริษัทอื่นเข้ามาด้วย กลายเป็นว่ามีแรงกดดันเยอะหลายๆ ด้าน

“ส่วนใหญ่ก็จะเป็นจากตัวเอง เพราะว่าอันแรกมันออกมาดีด้วย เลยกดดัน อันต่อไปเราก็อาจจะกดดันตัวเองว่าควรจะทำให้ดีเท่าอันแรกที่เป็นมาตรฐาน 

บูม: “แต่ถามว่าชอบกว่างานประจำไหม คิดว่าคงตอบว่าใช่ จริงๆ ในความกดดันมันก็มีความเป็นอิสระมากกว่า เหมือนทุกอย่างที่เราทำมันขึ้นอยู่กับตัวเรา อาจจะมีความกดดันมาจากลูกค้า แต่ทุกอย่างคือเราเป็นคนตัดสินใจ เราควรทำยังไงต่อ 

“ผมไม่ได้กลัวการเติบโตเร็ว มันเป็นสิ่งที่ไม่เจอในตอนนี้แต่ในอนาคตมันเป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้ว ไม่ว่าในอนาคตเราจะทำแผ่นรองเมาส์หรือคีย์แคปคอลเลกชันอื่นๆ เราก็พยายามทำให้ทุกงานออกมาดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้อยู่แล้ว” บูมทิ้งท้าย


ภาพ: รัชเศรษฐ์ ชวัลปัญญวัฒน์

ขอบคุณสถานที่: Sunny Flavour Cafe 

https://maps.app.goo.gl/EBWVHc1gh9a2Yo47A

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook